สมุนไพรเพื่อสุขภาพ/น้ำฝาด โอสถครั้งพุทธกาล

สมุนไพรเพื่อสุขภาพ/โครงการสมุนไพรเพื่อการพึ่งพาตนเอง มูลนิธิสุขภาพไทย www.thaihof.org

น้ำฝาด โอสถครั้งพุทธกาล (จบ)

ดังได้นำเสนอไว้เมื่อคราวก่อน ขอเกริ่นไว้ครั้งนี้อีกครั้งเพื่อเชื่อมโยงว่า ในพระไตรปิฎกบันทึกเกี่ยวกับน้ำฝาดที่เป็นยาสมุนไพรไว้ตอนหนึ่งซึ่งพระผู้มีพระภาครับสั่งว่า

“ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตน้ำฝาดที่เป็นยา คือ น้ำฝาดสะเดา น้ำฝาดโมกมัน น้ำฝาดขี้กา น้ำฝาดบอระเพ็ด น้ำฝาดกระถินพิมานหรือน้ำฝาดที่เป็นยาชนิดอื่นที่มีอยู่ ซึ่งไม่ใช่ของเคี้ยวของฉัน รับประเคนแล้วเก็บไว้ได้จนตลอดชีพ เมื่อมีเหตุจำเป็น ภิกษุจึงฉันได้ เมื่อไม่มีเหตุจำเป็น ภิกษุฉัน ต้องอาบัติทุกกฎ”

ในพระไตรปิฎกกล่าวไว้แต่เพียงว่านำน้ำฝาดมาดื่มแก้ไข้ มิได้มีรายละเอียดถึงตำรับยา แต่ได้นำเสนอสรรพคุณของน้ำฝาดจากสมุนไพรแต่ละชนิดไว้แล้วเมื่อครั้งที่ผ่านมา ได้แก่ น้ำฝาดสะเดา น้ำฝาดโมกมัน ในคราวนี้จะกล่าวถึง น้ำฝาดขี้กา ที่ยังนำเสนอไม่จบกระบวนความและน้ำฝาดที่เหลืออีก

ดังนี้

นํ้าฝาดขี้กา ที่บันทึกไว้ในพระไตรปิฎกฉบับหลวงแล้ว ยังกล่าวถึง น้ำฝาดกระดอม (Gymnopetalum chinense (Lour.) Merr.) ด้วย ซึ่งคล้ายกับว่าใช้สมุนไพรทั้ง 2 ชนิดแทนกันได้

เมื่อพิจารณาลักษณะต้นพบสมุนไพรทั้ง 2 ชนิดนี้ เป็นไม้เลื้อยเหมือนกัน และที่ไม่มีเนื้อไม้และเปลือก

เวลานำมาใช้ยาส่วนใหญ่จะใช้ผลแห้งเป็นส่วนของการปรุงยาสมุนไพร

หากดูจากภูมิปัญญาดั้งเดิมก็น่าจะเป็นการนำผลแห้งไปเผาให้ได้เถ้าแล้วนำมาละลายน้ำใช้ทำเป็นยาน้ำฝาด ไม่ใช่การทำน้ำฝาดที่ทำจากเปลือกไม้

เมื่อมาดู ขี้กา สมุนไพรต้นนี้หมายถึงขี้กาได้ถึง 3 ชนิด คือ

1) “ขี้กาดง” หรือ “กระดอม” หรือ ชื่อวิทยาศาสตร์ Gymnopetalum chinense (Lour.) Merr.

2) ขี้กาที่มีชื่อเรียกภาคกลางว่า “แตงโมป่า” มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Gymnopetalum scabrum (Lour.) W.J.de Wilde & Duyfjes

3) ขี้กาที่มีชื่อเรียกในภาคกลางว่า “กระดึงช้างเผือก” ชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Trichosanthes tricuspidata Lour. ขี้กาชนิดนี้ มีลำต้นแข็ง มีขนาดเล็ก

แต่ขี้กา 2 ชนิดแรกเป็นไม้เถาที่ไม่มีเนื้อไม้ จึงไม่น่าจะจัดอยู่ในหมวดน้ำฝาดเป็นยาตามนิยามของราชบัณฑิต ที่บอกว่าใช้แก่นและเปลือกนำมาแช่น้ำ

แต่น่าจะเป็นการใช้ผลแห้งตามภูมิปัญญาดั้งเดิม

คราวนี้ถ้าค้นข้อมูลรายชื่อพรรณไม้เมืองไทยของกรมป่าไม้ จะระบุว่าพืชในเมืองไทยที่มีชื่อว่าขี้กา มีอยู่จำนวน 4 ชนิด

1) Adeniapenangiana var. parvifolia (Pierre ex Gagnep.) W.J.de Wilde เป็นไม้เถามีเนื้อไม้ มีชื่อเรียกในภาคกลางว่า “ขี้กา” ในอินเดียใช้เป็นยาแก้เจ็บหน้าอกและเจ็บตามเนื้อตัว

2) Capparis siamensis Kurz. มีชื่อเรียกในภาคกลางว่า “พุงแก” เป็นไม้ยืนต้นขนาดเล็ก ส่วนใหญ่ใช้เป็นยารักษาโรคในเด็ก

3) Strychnosnux-blanda A.W. Hill มีชื่อเรียกในภาคกลางว่า “ตูมกาขาว” ตำรายาสมุนไพรพื้นบ้านของจังหวัดอุบลราชธานี จะใช้แก่นของต้นตูมกาขาวเข้ายากับเครือกอฮอ (เถาบอระเพ็ด) ต้มกับน้ำดื่มเป็นยาแก้เบาหวาน นอกจากนี้ ยังมีสรรพคุณเป็นยาแก้ปวดเมื่อยตามร่างกายด้วย

4) Strychnosrupicola Pierre ex Dop เป็นไม้เถามีเนื้อไม้ มีชื่อเรียกในภาคกลางว่า “ขี้กาเครือ” แต่ก็พบว่ามีสมุนไพรอีกชนิดหนึ่งที่มีลักษณะคล้ายเถาขี้กามากๆ เรียกกันว่า เถาอีนูนหรือเครือผักสาบ มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Adeniaviridiflora Craib และชนิด Adeniaheterophylla (Blume) Koord. ซึ่งมีลูกขนาดเท่ากำปั้น ขึ้นเป็นพวง เวลาสุกมีสีแดงคล้ายผลขี้กา

ในภูมิปัญญาสมุนไพรของชาวอีสาน ใช้แก่นเป็นยาแก้ปัสสาวะที่เป็นหนอง ยังใช้ในตำรับยาอื่นๆ ของอีสานด้วย เช่น เอาเครือผักสาบและเครือง้วนหมู (Dregeavolubilis (L.f.) Benth. exHook.f.) แช่น้ำกิน ในต่างประเทศใช้ส่วนของรากแช่น้ำดื่ม แก้กระเพาะอาหารผิดปกติ

จะพบว่า ขี้กา ที่บันทึกไว้ในครั้งพุทธกาลนั้น อาจเป็นพืชสมุนไพรได้หลายชนิด แต่ก็ยืนยันได้ว่ามีการใช้มาถึงปัจจุบัน

นํ้าฝาดบอระเพ็ด (Tinosporacrispa (L.) Hook. f. & Thomson) แม้จะเป็นพืชไม่มีแก่นและเปลือก ตามนิยามที่บอกว่าน้ำฝาดทำมาจากแก่นหรือเปลือก แต่ก็มีการนำเอาลำต้นขนาดเล็กมาใช้เป็นยาบำรุงธาตุ แก้ไข้ ไข้ทรพิษ ทำให้เจริญอาหาร บำรุงน้ำดี ดับพิษปวดแสบปวดร้อน แก้พิษฝีดาษ

และปัจจุบันยังมีการนำมาใช้ช่วยลดน้ำตาลในเลือด

แลถือเป็นยาอายุวัฒนะที่สืบต่อมายาวนาน

นํ้าฝาดกระถินพิมาน (Acacia tomentosa Willd.) กระถินพิมานเป็นไม้ยืนต้นขนาดกลาง แก่นใช้แก้ปวดหู แก้ฝีในหู ดับพิษไข้กาฬ แก้ไข้พิษ แก้โรคผิวหนัง ส่วนของรากใช้แก้พิษแมลงสัตว์กัดต่อย เช่น ตะขาบ แมงป่อง และแก้ไฟลามทุ่ง

หากได้อ่านมาทั้ง 2 ตอน จะเห็นว่าพันธุ์ไม้ทั้ง 5 ชนิดที่พระพุทธองค์ทรงอนุญาตให้พระภิกษุรับประเคนเป็นยาสมุนไพรนั้น พืชทั้งหมดเป็นต้นไม้ที่สามารถนำมาเก็บไว้ใช้ได้ตลอดเวลา

และถือว่าเป็นกลุ่มสมุนไพรที่สามารถเยียวยาความเจ็บป่วยที่เกิดขึ้นได้ตลอดเวลา

หากเรานำความรู้ครั้งพุทธกาลมาต่อยอดและช่วยกันปลูกสมุนไพรเหล่านี้ทุกที่ก็เป็นการส่งเสริมการพึ่งตนเองได้ด้วย