ฟังเสียงค้าน พ.ร.บ.การศึกษาฯ ‘หัวหน้า ร.ร.-ใบรับรอง’ ลดศักดิ์ศรีครู? / การศึกษา

การศึกษา

 

ฟังเสียงค้าน พ.ร.บ.การศึกษาฯ

‘หัวหน้า ร.ร.-ใบรับรอง’ ลดศักดิ์ศรีครู?

 

เป็นกระแสขึ้นมาอีกรอบ หลังนายเอกชัย กี่สุขพันธ์ ประธานคณะกรรมการมาตรฐานวิชาชีพ (กมว.) ออกมาเปิดเผยรายละเอียดร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. … ฉบับล่าสุด ซึ่งอยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมการกฤษฎีกา

สาระสำคัญหนึ่งในร่างกฎหมายฉบับดังกล่าว กำหนดชื่อตำแหน่งผู้บริหารสถานศึกษาใหม่ จากปัจจุบันใช้ “ผู้อำนวยการโรงเรียน” มาเป็น “หัวหน้าสถานศึกษา”

และเปลี่ยนจาก “ใบอนุญาตประกอบวิชาชีพ” เป็น “ใบรับรองการประกอบวิชาชีพครู” พร้อมยกเลิกใบประกอบวิชาชีพผู้บริหารสถานศึกษา

ส่งผลให้อนาคตผู้ที่จะเข้าสู่ตำแหน่งผู้อำนวยการโรงเรียน หรือหัวหน้าสถานศึกษา ไม่จำเป็นต้องมีใบอนุญาตผู้บริหาร

ขณะที่ กมว.รับลูก เร่งยกร่างมาตรฐานตำแหน่งผู้บริหารสถานศึกษาใหม่ เปิดกว้างให้ผู้ที่จบปริญญาโทสาขาอื่น หรือจบปริญญาตรีที่มีประสบการณ์ สอนและการบริหาร เข้าสู่ตำแหน่งหัวหน้าสถานศึกษาได้…

 

ไม่ทันข้ามวัน เกิดแรงต้านทั้งจากองค์กรครู และนักวิชาการด้านการศึกษา ซึ่งกลุ่มที่ออกมาต้านเรื่องนี้ เป็นกลุ่มเดิมที่เคยคัดค้านร่าง พ.ร.บ.ฉบับเดียวกัน ที่เสนอให้ใช้ชื่อตำแหน่ง “ครูใหญ่” แทน “ผู้อำนวยการโรงเรียน” และเปลี่ยน “ใบอนุญาตประกอบวิชาชีพ” เป็น “ใบรับรองความเป็นครู” กระทั่งกฤษฎีกาตีตก ส่งกลับให้กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เริ่มกระบวนการใหม่

สาเหตุหลักที่ทำให้เกิดความไม่พอใจ เพราะทำให้ครู ผู้บริหารและคนแวดวงการศึกษา รู้สึกว่าการปรับถ้อยคำดังกล่าว เป็นการไปลดทอนศักดิ์ศรีความเป็นครู ซึ่งถูกยกให้เป็นวิชาชีพชั้นสูง ขณะเดียวกันยังกังวลประเด็นสอดไส้ที่จะส่งผลให้สิทธิประโยชน์ที่เคยได้เคยมีในปัจจุบันหดหายไปในอนาคต

มองกันไปถึงขั้นว่า รัฐบาลไม่จริงใจ “ตั้งธง” ที่จะลดศักดิ์ศรี ลดคุณค่าความเป็นครู

พร้อมประกาศเคลื่อนไหว หากยังเดินหน้ากำหนดเรื่องดังกล่าวไว้ในกฎหมายการศึกษาอีก!!

 

ขณะเดียวกันองค์กรครู อาทิ เครือข่ายองค์กรวิชาชีพครูไทย (ค.อ.ท.) สมาพันธ์สมาคมครูแห่งประเทศไทย (ส.ค.ท.) สมาคมผู้บริหารโรงเรียนมัธยมแห่งประเทศไทย (ส.บ.ม.ท.) สหภาพครูแห่งชาติ (ส.ค.ช.) ชมรมผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาแห่งประเทศไทย (ช.ผอ.สพท.) สมาคมผู้บริหารสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาแห่งประเทศไทย (ส.บ.พท.) และองค์กรเครือข่ายผู้ประกอบวิชาชีพทางการศึกษาทั่วประเทศ ยังเรียกร้องให้นายเอกชัยลาออกจากตำแหน่งเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) และประธาน กมว.เลยทีเดียว

โดยนายวีรบูล เสมาทอง ประธานสมาพันธ์สมาคมครูแห่งประเทศไทย (ส.ค.ท.) บอกชัดว่า ไม่เห็นด้วยเพราะเป็นการลดศักดิ์ศรี ลดสถานะทางสังคม แม้จะเปิดช่องให้เปลี่ยนคำเรียกอื่นได้ แต่เมื่อ พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. … ซึ่งเป็นกฎหมายแม่กำหนดให้เรียกแล้ว กฎหมายลูกก็จะต้องออกกฎหรือระเบียบให้สอดคล้องไปในทิศทางเดียวกัน

ส่วนการเปลี่ยนมาใช้ใบรับรองการประกอบวิชาชีพครู แทนใบอนุญาตฯ นั้น ก็อาจเปิดช่องให้คนที่ไม่ได้เรียนครูเข้ามาสอนได้

แล้วคนเหล่านี้จะมีจรรยาบรรณวิชาชีพหรือไม่

หากเป็นเช่นนั้น อาจทำให้ผู้ปกครองและนักเรียนขาดความเชื่อมั่นต่อครูในอนาคต

 

ขณะที่นายอดิศร เนาวนนท์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา (มร.นม.) บอกว่า อยากให้ถอย โดยเฉพาะกรณีที่จะเปลี่ยนใบอนุญาตฯ เป็นใบรับรองการประกอบวิชาชีพครู หรือเปลี่ยนมาใช้ชื่อตำแหน่งหัวหน้าสถานศึกษา เพราะคำเหล่านี้อาจทำให้ครูไม่มีความเชื่อมั่นในวิชาชีพ เป็นการลดศักดิ์ศรีความเป็นครู แม้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะออกมายืนยันว่า ไม่ทำให้กระทบสิทธิที่จะได้รับ แต่กระทบความเชื่อมั่น ดังนั้น อยากให้ถอย และปรับเปลี่ยนถ้อยคำใหม่ การทำสิ่งใดก็ตามต้องทำให้เกิดความเชื่อมั่นและเกิดการยอมรับ ยกเว้นมีเจตนาจะเปลี่ยนชื่อตำแหน่งและใบรับรองเพื่อลดเงินประจำตำแหน่ง ซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่ควรทำ

ส่วนการเข้าสู่ตำแหน่งผู้บริหารสถานศึกษาใหม่ ไม่ต้องมีใบอนุญาตผู้บริหารสถานศึกษา และเปิดกว้างให้ผู้ที่จบปริญญาโททุกสาขา หรือผู้ที่จบปริญญาตรี แต่มีประสบการณ์สอนและการบริหารสามารถเป็นผู้อำนวยการสถานศึกษาได้นั้น ส่วนตัวเห็นด้วย และพยายามต่อสู้เรื่องนี้ในแวดวงวิชาการมานาน จากประสบการณ์บริหารพบว่า ผู้ที่ประสบความสำเร็จในการบริหาร ไม่จำเป็นต้องมีใบอนุญาตทางการบริหาร เพราะมีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพอยู่แล้ว เช่นเดียวกัน บุคลากรทางการแพทย์ที่มีใบอนุญาตฯ เพียงใบเดียว ก็สามารถขึ้นเป็นผู้บริหารโรงพยาบาลได้

“การกำหนดให้ผู้บริหารโรงเรียนต้องมีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพผู้บริหาร ส่งผลให้ครูต้องไปเรียนปริญญาโทบริหารการศึกษา กลายเป็นสิ่งที่พะรุงพะรัง ผมเห็นด้วยอย่างยิ่งที่ควรจะต้องยกเลิก เพราะความสำเร็จที่ผ่านมา ไม่ได้ชี้ชัดว่าคนที่เรียนบริหารการศึกษา หรือคนที่มีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพบริหารจะประสบความสำเร็จ โดยเฉพาะปัจจุบัน การจะบริหารโรงเรียนต้องอาศัยศาสตร์หลายแขนง โดยเฉพาะหน้าที่หลักของผู้บริหารโรงเรียน คือการบริหารหลักสูตรและการเรียนการสอน ดังนั้น ต้องให้คนที่มีประสบการณ์ด้านการเป็นผู้สอนที่ประสบความสำเร็จทางด้านวิชาการ และให้ผู้ช่วยและรองผู้อำนวยการที่ทำหน้าที่ตรงนี้มาก่อนเข้าสู่ตำแหน่งผู้อำนวยการโรงเรียน ส่วนทักษะด้านการบริหารคน ด้านการประสานงานจะต้องเติมเข้ามาในภายหลัง” นายอดิศรกล่าว

ที่ผ่านมาไม่มีสิ่งใดการันตีได้เลยว่า ผู้ที่มีใบอนุญาตทางด้านบริหารซึ่งเชื่อมโยงไปถึงการเรียนปริญญาโท จะสามารถทำงานได้ประสบความสำเร็จ แต่กลับทำให้สถาบันการศึกษาเปิดสอนปริญญาโท สาขาบริหารการศึกษา ทำมาหากินกันเป็นล่ำเป็นสัน คนแห่ไปเรียนเพราะจบง่าย และรอสอบผู้บริหารกันอย่างเดียว แทนที่จะทำหน้าที่สอน ทำงานด้านวิชาการ วิเคราะห์หลักสูตรให้เชี่ยวชาญ

เป็นการบิดเบือนโครงสร้างการเรียนต่อสถาบันอุดมศึกษามายาวนาน

 

เท่าที่ดูจากข้อถกเถียง ที่เกี่ยวข้องกับกฎหมายฉบับนี้ ยังไม่พบเรื่องใดที่เชื่อมโยงกับคุณภาพการศึกษา

ทั้งที่ร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. … ถือเป็นกฎหมายสำคัญ ใช้เวลายกร่าง ฟังความเห็น ปรับแก้แล้วไม่ต่ำกว่า 4 ปี สาระสำคัญคงไม่ใช่มีแค่การปรับชื่อตำแหน่งผู้บริหารสถานศึกษา หรือใบอนุญาตฯ เท่านั้น แต่หัวใจหลักคือคุณภาพการศึกษา ที่ตีความหมายกว้างไปถึงเรื่องหลักสูตร การปรับการเรียนการสอน ที่ต้องสอดคล้องกับการพัฒนาผู้เรียนในศตวรรษที่ 21

คงจะเป็นการดี หากทุกฝ่ายมองที่เป้าหมายหลัก คือคุณภาพการศึกษา ที่ถึงตัวผู้เรียนอย่างแท้จริง ไม่เสียเวลามาเถียงประเด็นยิบย่อยเกี่ยวกับผลประโยชน์ของครูและผู้บริหาร

จนกลายเป็นข้อขัดแย้ง ถ่วงให้กฎหมายการศึกษาฉบับสำคัญต้องล่าช้าออกไปอีก

เพราะหากทะเลาะกันจนเข้าสู่การพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎรไม่ทันสมัยประชุมนี้ตามที่รัฐบาลส่งสัญญาณมา กฎหมายลูกซึ่งสำคัญไม่แพ้กัน อย่างร่าง พ.ร.บ.สภาครูและบุคลากรทางการศึกษา พ.ศ. … คงไม่มีวันได้คลอด

กระทบมากที่สุดคือคุณภาพการศึกษาชาติ และคุณภาพผู้เรียน ที่ต้องรอต่อไป

ดังนั้น หากเรื่องใดไม่ใช่สาระสำคัญ ก็ไม่ควรเสียเวลางัดข้อกันให้เป็นเรื่องเป็นราว!!