ครบ 4 ปี ปฏิรูปประเทศ : ตามไปดูอะไรในกอไผ่ / บทความพิเศษ สมชัย ศรีสุทธิยากร

สมชัย ศรีสุทธิยากร

บทความพิเศษ

สมชัย ศรีสุทธิยากร

ศูนย์วิจัยการเมืองและการพัฒนา มหาวิทยาลัยรังสิต

 

ครบ 4 ปี ปฏิรูปประเทศ

: ตามไปดูอะไรในกอไผ่

 

6เมษายน พ.ศ.2560 คือวันที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 ประกาศใช้และมีบทบัญญัติในมาตรา 259 ของหมวด 16 การปฏิรูปประเทศ ให้การดำเนินการปฏิรูปประเทศมีผลสัมฤทธิ์ที่คาดหวังจะบรรลุภายใน 5 ปีนับแต่รัฐธรรมนูญประกาศใช้

เท่ากับว่า ถึงวันนี้ผ่านพ้นไปครบ 4 ปีแล้ว และจะกำหนดครบห้าปีในวันที่ 5 เมษายน พ.ศ.2565 หรืออีกไม่ถึงหนึ่งปีข้างหน้า

มีอะไรในกอไผ่ของการปฏิรูปเปลี่ยนแปลงประเทศ จึงเป็นเรื่องที่สมควรตามเข้าไปดู

 

ออกกฎหมาย ตั้งกรรมการ ประกาศแผน

ยกเลิกกรรมการ ยกร่างแผนใหม่

26 กรกฎาคม พ.ศ.2560 พ.ร.บ.แผนและขั้นตอนการดำเนินการปฏิรูปประเทศได้ถูกประกาศในราชกิจจานุเบกษา เขียนไว้ชัดเจนในมาตรา 7 ว่า แผนการปฏิรูปประเทศอย่างน้อยต้องประกอบด้วย (1) แผน ขั้นตอน และวิธีการดำเนินการปฏิรูปประเทศ (2) กำหนดระยะเวลาในการดำเนินการ (3) กำหนดหน่วยงานที่รับผิดชอบ (4) วงเงินงบประมาณและแหล่งเงิน (5) ผลสัมฤทธิ์ในเวลาห้าปี และ (6) การเสนอแก้ไขกฎหมายที่จำเป็น

หลังจากนั้นได้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านต่างๆ รวม 11 ชุด เมื่อวันที่ 15 สิงหาคม พ.ศ.2560 และนำแผนเข้าสู่การเห็นชอบของคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 13 มีนาคม พ.ศ.2561 ก่อนที่จะประกาศแผนในราชกิจจานุเบกษาให้ทราบทั่วไปในวันที่ 6 เมษายน พ.ศ.2561

แต่พอถึง 16 กรกฎาคม พ.ศ.2563 ก็มีประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี ยกเลิกคณะกรรมการปฏิรูปประเทศและแต่งตั้งคณะกรรมการปฏิรูปประเทศชุดใหม่ เพิ่มขึ้นมาเป็น 13 ชุด นำไปสู่การเสนอแผนปฏิรูปประเทศฉบับปรับปรุงเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรีเมื่อ 6 ธันวาคม พ.ศ.2563 และประกาศในราชกิจจานุเบกษาเมื่อ 25 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2564

เท่ากับที่ผ่านมา 4 ปี การปฏิรูปประเทศวนเวียนอยู่กับการตั้งกรรมการ ยกร่างแผน นำไปปฏิบัติ ยกเลิกกรรมการ ตั้งกรรมการใหม่ ยกร่างแผนใหม่ หรือนี่คือการปฏิรูปประเทศไทย

เปิดรายงานการปฏิรูปประเทศประจำปี 2563

 

สํานักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมชาติ ในฐานะหน่วยงานเลขานุการของคณะกรรมการปฏิรูปประเทศ ได้จัดทำรายงานสรุปผลการดำเนินงานปฏิรูปประเทศของหน่วยงานของรัฐ ประจำปี 2563 เป็นรูปเล่มสี่สีงดงามหนา 594 หน้าเสนอต่อรัฐสภา

สิ่งที่สรุปในรายงานเบื้องต้น คือความสำเร็จของเรื่องและประเด็นปฏิรูปที่กำหนดไว้ทั้งหมด 173 เรื่อง อยู่ในระดับสีเขียว คือบรรลุเป้าหมายเพียง 16 เรื่อง หรือคิดเป็นร้อยละ 9.25

เป็นระดับสีเหลืองหรือใกล้เคียงในการบรรลุเป้าหมาย 78 เรื่อง หรือคิดเป็นร้อยละ 45.09

ส่วนที่เป็นระดับสีส้ม คือยังมีความเสี่ยงในการบรรลุเป้าหมายมี 65 เรื่อง หรือคิดเป็นร้อยละ 37.57

และกลุ่มสุดท้ายที่เป็นระดับสีแดง หรืออยู่ในขั้นวิกฤตในการบรรลุเป้าหมายมี่ 14 เรื่อง หรือคิดเป็นร้อยละ 8.09

หากประเมินอย่างหยาบๆ คือสีเขียวและสีเหลืองอยู่ในโซนผ่านรวมแล้ว ร้อยละ 54.34

ส่วนสีส้มและสีแดงอยู่ในโซนตก คิดเป็นร้อยละ 45.66

แต่หากเทียบกับเวลา 4 ปีในกรอบ 5 ปี สิ่งที่ควรทำได้ ควรเป็น ร้อยละ 80 หรือ 4 ใน 5 มิใช่เพียงแค่พ้นครึ่งมาเล็กน้อยเช่นนี้

เมื่อลงไปในรายละเอียดของเรื่องที่ทำบรรลุเป้าหมาย 16 เรื่อง กลับพบว่ามีเพียง 4 ด้านใน 12 ด้านที่มีผลสัมฤทธิ์ คือด้านกฎหมายจำนวน 2 เรื่อง ด้านเศรษฐกิจ 8 เรื่อง ด้านสิ่งแวดล้อม 1 เรื่อง และด้านพลังงาน 5 เรื่อง

ส่วนในรายละเอียดของเรื่องที่อยู่ในสถานะวิกฤต 14 เรื่องนั้น กระจายอยู่ใน 6 ด้าน คือด้านการเมือง 1 เรื่อง ด้านกฎหมาย 1 เรื่อง ด้านเศรษฐกิจ 4 เรื่อง ด้านสิ่งแวดล้อม 4 เรื่อง ด้านสาธารณสุข 2 เรื่อง และด้านพลังงาน 2 เรื่อง

 

ปฏิรูปด้านการเมือง

: รายงานไม่ก้าวหน้า ปฏิบัติยิ่งแย่กว่า

การปฏิรูปด้านการเมือง ควรเป็นด้านที่ต้องให้ความสำคัญสูงสุด เพราะหากการเมืองดี จะทำให้เรามีคณะบริหารบ้านเมืองที่ดี มีความรู้ความสามารถมาปกครองบ้านเมือง มีฝ่ายนิติบัญญัติที่มีคุณภาพในการออกกฎหมายที่เป็นประโยชน์และตรวจสอบการทำงานของรัฐบาลได้อย่างมีประสิทธิภาพ

รายงานการปฏิรูปด้านการเมืองกลับตีโจทย์ดังกล่าวไม่แตก ไม่มีประเด็นใดที่เกี่ยวกับการพัฒนากลไกฝ่ายการเมืองให้มีคุณภาพ แต่มุ่งไปยังประเด็นสำคัญ 5 ประเด็นคือ

1) การเสริมสร้างวัฒนธรรมทางการเมืองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข

2) กลไกแก้ไขปัญหาความขัดแย้งโดยสันติวิธี

3) การกระจายอำนาจปกครองท้องถิ่น

4) การเลือกตั้งที่สุจริตและเที่ยงธรรม

และ 5) การสร้างรัฐธรรมาธิปไตย

ใน 5 ประเด็นดังกล่าว ประเด็นที่ประเมินว่าประสบความสำเร็จมีเพียงประเด็นที่หนึ่งเพียงประเด็นเดียว แต่รูปแบบโครงการต่างๆ กลับเป็นเรื่องกิจกรรมการเรียนการสอน การฝึกอบรมที่เพียงแต่สอดแทรกเนื้อหาเกี่ยวกับการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขเท่านั้น เป็นการแสดงความสำเร็จในด้านกระบวนการ (Process) มากกว่าพิจารณาผล (Results) ที่เกิดขึ้น

ในประเด็นที่สอง กลไกแก้ไขปัญหาความขัดแย้งโดยสันติวิธี เป็นประเด็นที่รายงานว่าอยู่ในขั้นวิกฤตที่จะไม่บรรลุเป้าหมายมากที่สุด ซึ่งหากเปิดดูในตัวแผนปฏิรูปด้านการเมืองจะเห็นได้ชัดเจนว่าเป็นประเด็นเดียวที่มีแต่แนวคิดเชิงกลยุทธ์ แต่ไม่ปรากฏรายละเอียดด้านกิจกรรมที่ต้องดำเนินการ ไม่มีหน่วยงานรับผิดชอบ ไม่มีงบประมาณ ไม่มีเป้าหมายและตัวชี้วัดความสำเร็จใดๆ เลย

ดังนั้น จะแสวงหาความสำเร็จจากสิ่งที่แม้คนวางแผนยังสามารถมองเห็นได้ก็คงเป็นเรื่องยากยิ่ง แนวคิดที่อยากปรองดองสมานฉันท์ แก้ไขความขัดแย้ง ลดการเผชิญหน้า ส่งเสริมแนวทางสันติวิธีต่างๆ นานา จึงเป็นเพียงแนวคิดที่ดูดีแต่ขาดการปฏิบัติ และไม่มีผลงานใดๆ ในเรื่องดังกล่าวจนได้การประเมินในระดับวิกฤต

อีก 3 ด้านที่เหลือ แม้จะได้รับการประเมินในระดับสีส้มที่แปลว่ายังคงอยู่ในระดับเสี่ยงที่จะบรรลุเป้าหมาย

แต่เมื่อยิ่งลงไปอ่านในรายละเอียดจะพบว่า การกำหนดกิจกรรมต่างๆ ยังมีลักษณะเป็นงานประจำของหน่วยงานราชการ

มิใช่กิจกรรมที่สะท้อนให้เห็นการเปลี่ยนแปลงในทางปฏิรูปใดๆ

การกระจายอำนาจการปกครองท้องถิ่น ยังเน้นการอบรมบุคลากรท้องถิ่น การรณรงค์ให้ประชาชนตื่นตัวในการเลือกตั้งท้องถิ่น การสร้างมาตรฐานคุณธรรมจริยธรรมในการทำงาน

แต่แผนขั้นตอนการกระจายอำนาจและงบประมาณกลับไม่มีการกำหนดเป้าหมายเวลาที่ชัดเจน ปล่อยให้เป็นไปตามยถากรรม

ตัวเลขสัดส่วนรายได้ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นต่อรายได้ของรัฐบาลในช่วง 4 ปีที่ผ่านมาจึงเพิ่มไม่ถึงร้อยละ 1 จากร้อยละ 29.36 ในปี 2560 เป็นร้อยละ 30 ในปี 2563

เช่นเดียวกับประเด็นปฏิรูปด้านการเลือกตั้ง กิจกรรมปฏิรูปถูกตีความเป็นกิจกรรมการอบรมประชาชน และกิจกรรมรณรงค์ต่างๆ ของ กกต.ที่เคยทำกันมาอย่างไรเมื่อสิบยี่สิบปีก่อนก็ทำเช่นนั้น นำงานประจำที่เคยทำมาใส่ในรายงานให้เห็นเป็นงานปฏิรูป

ทั้งๆ ที่การป้องกันปราบปรามการทุจริตการเลือกตั้ง ทำให้การเลือกตั้งมีคุณภาพ หลุดพ้นจากบ่วงการซื้อเสียงกลับไม่มีการดำเนินการใดๆ ให้เห็น

ในประเด็นสุดท้าย การสร้างรัฐธรรมาธิปไตยเพื่อให้ได้ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองมีความรู้ความสามารถ มีคุณธรรมและจริยธรรม มีระบบในการควบคุมและตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐอย่างมีประสิทธิภาพ สิ่งที่เขียนไว้ในแผนดูเป็นสิ่งที่เพ้อฝัน เช่น การให้คณะรัฐมนตรีประกาศเจตนารมณ์ในการทำงานการเมืองแบบสร้างสรรค์ รวมทั้งขอขมาประชาชนหากมีการทำสิ่งผิดพลาด การให้มีการรายงานประเมินความสำเร็จในการทำงานตามนโยบายรัฐบาลปีละ 1 ครั้ง การให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการตรวจสอบการทำงานของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ทุกเรื่องล้วนไม่มีเค้าลางของความพยายามในการดำเนินงาน

ทั้งหมดคือเพียงแค่ 1 ใน 12 ด้านของการปฏิรูปประเทศ ที่อ่านในรายงานตรงไหน ล้วนแล้วแต่เห็นปัญหาอุปสรรค

แลไปในกอไผ่จึงไม่ใช่แค่ไม่มีอะไร แต่สิ่งที่เห็นล้วนเป็นสิ่งเน่าเสีย