ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 23 - 29 เมษายน 2564 |
---|---|
เผยแพร่ |
บทความพิเศษ
จักรกฤษณ์ สิริริน
‘หุ้น IPO’ หลบไป
SPAC ‘บริษัท เช็คเปล่า จำกัด’
มาแรงแซงทุกความเชื่อ
สําหรับ “เซียนหุ้น” คงไม่ต้องแจกแจงความหมายของคำว่า IPO
แต่สำหรับคนนอกวงการหุ้นแล้ว อธิบายเร็วๆ ได้ว่า IPO ย่อมาจาก Initial Public Offering
หมายถึง การเปิดขายหุ้น “ครั้งแรก” ให้กับประชาชนทั่วไป เพื่อนำบริษัทเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ครับ
โดยตลาดหลักทรัพย์เป็นผู้ออกกฎเกณฑ์ และเป็นผู้อนุญาตการจดทะเบียนดังกล่าว
ส่วนกระทรวงพาณิชย์เป็นหน่วยงานกำกับดูแลการแปรสภาพ จากบริษัทจำกัดเป็นบริษัทมหาชน สำหรับการ IPO
“เซียนหุ้น” จึงคุ้นเคยกับ IPO เป็นอย่างดี ในฐานะหุ้นของบริษัทใหม่ที่เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์
ซึ่งเคยมี IPO หลายตัวที่ทำกำไรให้ “เซียนหุ้น” อย่างเป็นกอบเป็นกำตั้งแต่วันแรกที่เข้าตลาด
และก็มี IPO อีกหลายตัวเช่นกัน ที่พา “เซียนหุ้น” ลงเหว!
ดังนั้น “หุ้น IPO” จึงเป็นได้ทั้ง “เทวา” และ “ซาตาน” เป็นได้ทั้ง “หมี” และ “กระทิง”
ตาดีได้-ตาร้ายเสีย!
อย่างไรก็ดี แม้ “หุ้น IPO” จะเป็นเหมือนเรื่องทั่วๆ ไป คือมีทั้งข้อดี-ข้อเสีย
ทว่า “หุ้น IPO” ก็ยังคงเป็นที่จับจ้องมองตามอยู่เสมอ ยามเมื่อมีการเปิดตัวบริษัทมหาชนใหม่ๆ เข้าตลาดหลักทรัพย์
พูดถึง “หุ้น IPO” แล้ว มันก็อยู่ของมันดีๆ
แต่แล้ว วันดีคืนดี จู่ๆ โลกการเงินกลับต้องหันมาทำความรู้จักกับ SPAC หรือ “บริษัท เช็คเปล่า จำกัด” ที่กำลังมาแรงแซงทางโค้ง
ทิ้งห่าง “หุ้น IPO” อย่างไม่เห็นฝุ่นอยู่ในเวลานี้
SPAC ย่อมาจาก Special Purpose Acquisition Company
SPAC หรือ “บริษัท เช็คเปล่า จำกัด” (Blank-Check Company) หมายถึง ธุรกิจระดมเงินจากนักลงทุน โดยจะมีการเข้าไปจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์รอไว้ก่อน
จากนั้นก็ไปไล่ซื้อ หรือควบรวมกิจการกับบริษัทที่มีแวว ก่อนที่จะปั้นให้บริษัทนั้นๆ กลายเป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ในเวลาต่อมา!
การที่ “บริษัท เช็คเปล่า จำกัด” กลายเป็นกระแสในแวดวงการเงินโลกในขณะนี้ ผมคิดว่ามาจากปัจจัย 2-3 ประการ
ประการหนึ่ง เกิดจากความเบื่อหน่ายขั้นตอนยุ่งยากของกระบวนการ IPO ที่กินเวลายาวนาน ไม่ว่าจะเป็น Road Show โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การที่ต้องข้องเกี่ยวกับหน่วยงานของรัฐมากมาย
ประการหนึ่ง คือความผันผวนของมูลค่า “หุ้น IPO” ยุคหลังที่ไม่สวยหรูเหมือนช่วงเวลาก่อนหน้านี้ ทำให้ความเชื่อมั่นที่มีต่อ “หุ้น IPO” ในอดีตลดลงเป็นอย่างมาก
การเกิดขึ้นของ SPAC จึงเป็นทั้งการปลดล็อกทุกอุปสรรค และเป็นทั้งการลบล้างทุกความเชื่อที่มีต่อ “หุ้น IPO” ลงไปอย่างสิ้นเชิง
เพราะ SPAC ได้ทำให้การแปลงร่างเป็น “บริษัทมหาชน” นั้น ง่ายกว่าเดิมมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งการไม่ต้องถูกตรวจสอบเท่ากับการทำ IPO
ทำให้ในปัจจุบัน บริษัทหลายแห่งต้องการที่จะเข้าเป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ผ่าน SPAC มากขึ้นเรื่อยๆ
ปัจจัยสำคัญอันหนึ่ง ก็คือเสน่ห์อันเหลือล้นของ SPAC ในรูปของ “ผลตอบแทนก้อนงาม” สำหรับนักลงทุนผู้ที่ “ลงเงินก้อนแรก” ให้กับ SPAC
ซึ่งหลังจากกลายเป็นบริษัทมหาชนแล้ว นักลงทุนจะได้ส่วนแบ่งมากถึง 20% ไม่ว่าบริษัทที่ถูกซื้อ หรือควบรวมกิจการมาจะมีผลประกอบการอย่างไรก็ตามหลังจากนั้น!
แปลไทยเป็นไทยก็คือ จะเจ๊า จะเจี๊ยะ หรือจะเจ๊ง ก็เรื่องของเอ็ง!
ทุกวันนี้ เราจึงเห็นนักลงทุนระดับโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งบริษัทจำนวนมาก ได้พากันยกย่อง SPAC ดุจดั่ง Hero ผู้มากอบกู้สถานะทางการเงิน และช่วยย่นระยะเวลา “การเข้าตลาด” ได้เป็นอย่างมาก
ถึงขั้นมองกันว่า SPAC หรือ “บริษัท เช็คเปล่า จำกัด” เป็น “ทางลัด” ในการระดมทุนเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์เลยทีเดียว
อันที่จริง ประเด็น SPAC นี้มิใช่เรื่องใหม่แต่อย่างใด เพราะเป็นบริษัทประเภทหนึ่งที่มีอยู่ในโลกการเงินมานานแล้ว
แต่การที่ SPAC ได้รับความสนใจเป็นพิเศษจากนักลงทุน และบริษัทต่างๆ ในช่วงเวลานี้ ผมคิดว่าเกิดจากปัจจัยของ COVID-19 ที่ทำให้ภาคธุรกิจพยายามหาทางออกท่ามกลางสภาวะปัญหาเศรษฐกิจ
แม้ว่า SPAC จะมีสภาพเป็นเพียง “บริษัทที่มีแค่เปลือก” หรือ Shell Company ที่หมายถึงบริษัทที่มีแต่โครงครอบ ไม่มีสินทรัพย์ ไม่มีพนักงานอย่างชัดเจน
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง SPAC สามารถนำบริษัทเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ได้โดยที่ไม่ต้องมีธุรกิจ ไม่ต้องมีลูกค้า หรือไม่มีแม้แต่ผลประกอบการใดๆ เลยก็ตามที!
ในฝั่งอเมริกา ความโด่งดังชั่วข้ามคืนของ SPAC ในยุค COVID-19 ก็คือการปรากฏชื่อเสียงเรียงนาม Richard Branson เจ้าของ Virgin Galactic หรือ Colin Kaepernick นักอเมริกันฟุตบอลชื่อดังของทีม San Francisco 49ers เข้าร่วมกับ SPAC
รวมถึง Jason Robins DraftKings เจ้าของธุรกิจพนันกีฬาออนไลน์ Bill Ackman นักลงทุนชาวอเมริกัน ผู้จัดการกองทุน Hedge funds และ CEO ของ Pershing Square Capital Management นักเทนนิสชั้นนำของโลก Serena Williams หรือ Paul Ryan อดีตประธานสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐ เป็นต้น
ขณะที่ฟากยุโรป Bernard Arnault อภิอัครมหาเศรษฐีชาวฝรั่งเศส เจ้าของ LVMH หรือ Luxury Brand ชื่อดังคือ Louis Vuitton ก็กำลังจะก่อตั้งบริษัทในลักษณะ SPAC ร่วมกับคนดังและเจ้าสัวยุโรปคนอื่นๆ ด้วยเช่นกัน!
ทางเอเชียของเราก็ไม่น้อยหน้า โดยเฉพาะอย่างยิ่ง Grab บริษัทขนส่งยุคใหม่สัญชาติ “สิงคโปร์” กำลังเจรจากับ SPAC ในกลุ่มบริษัทการเงิน Altimeter Capital Management LP
เพื่อนำ Grab เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ ด้วยมูลค่า 40,000 ล้านดอลลาร์!
ยังไม่นับ Gojek และ Tokopedia “ซูเปอร์ยูนิคอร์น” แห่ง “อินโดนีเซีย” (อ้างจากบทความ “อินโด” โชว์ Unicorn “ไทย” มีแต่ “ม้าป่วย” ของผมใน “มติชนสุดสัปดาห์” ฉบับที่ 2096) ก็กำลังพิจารณาที่จะเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ New York ผ่าน SPAC เช่นกัน
แม้ว่าในปี ค.ศ.2020 ที่ผ่านมา ตลาดหุ้น New York มีการเสนอขายหุ้นใหม่ให้ประชาชนเป็นครั้งแรก หรือ IPO รวมทั้งสิ้น 194 ครั้ง
คิดเป็นมูลค่าการระดมทุนมากถึง 67,000 ล้านดอลลาร์ ถือเป็นสถิติการทำ IPO ที่ดีที่สุดตั้งแต่ปี ค.ศ.2014
ขณะเดียวกัน SPAC หรือ “บริษัท เช็คเปล่า จำกัด” ก็สามารถระดมทุนแบบ IPO ได้ใกล้เคียงกัน คือ 64,000 ล้านดอลลาร์
โดย ณ ขณะนี้ ที่เข้าสู่ไตรมาส 2 ของปีใหม่ ค.ศ.2021 หรือผ่านมาได้เพียง 4 เดือน บริษัทที่จัดตั้งขึ้นในรูปแบบ SPAC สามารถระดมทุนไปได้แล้วเกือบ 46,000 ล้านดอลลาร์
ถือเป็นปรากฏการณ์ที่เป็นสัญญาณบ่งชี้ว่า ความร้อนแรงของ “บริษัท เช็คเปล่า จำกัด” น่าจะยังคงพุ่งทะยานต่อไปในโลกการเงินแห่งอนาคตอย่างแน่นอน
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หากพิจารณามูลค่าการเข้าซื้อ หรือควบรวมกิจการของบริษัทประเภท SPAC และบริษัทเอกชนรายย่อยอื่นๆ ในช่วง 4 เดือนแรกที่ผ่านมาของปี ค.ศ.2021 นี้
ที่มีมูลค่ารวมสูงกว่ามูลค่าการเข้าซื้อ หรือควบรวมกิจการตลอดทั้งปี ค.ศ.2020 ที่ผ่านไปอีกด้วย!
ชี้ให้เห็น Trend ใหม่ว่า “หุ้น IPO” คงต้องหลบไปชั่วคราว เพราะ SPAC หรือ “บริษัท เช็คเปล่า จำกัด” กำลังมาแรง แซงทุกความเชื่อนั่นเองครับ!