การลุกขึ้นสู้ของประชาชน! ประวัติสังเขปการประท้วง / ยุทธบทความ สุรชาติ บำรุงสุข

ศ.กิตติคุณ ดร.สุรชาติ บำรุงสุข

ยุทธบทความ

สุรชาติ บำรุงสุข

 

การลุกขึ้นสู้ของประชาชน!

ประวัติสังเขปการประท้วง

 

“ขบวนการประชาชนและการจลาจลเป็นสิ่งเก่าแก่เท่ากับอารยธรรมของมนุษยชาติ และมีมาก่อนที่ทวิตเตอร์จะถูกสร้างขึ้นเสียอีก การปลุกระดมผู้เห็นต่างอาจใช้วิธีการบอกต่อ จากปากสู่ปาก หรือแม้กระทั่งใช้สัญญาณควันเพื่อรวบรวมคนในการลุกขึ้นต่อสู้กับอำนาจรัฐ”

Eduardo Paes

 

การลุกขึ้นสู้ของประชาชนในรูปแบบของ “การประท้วงใหญ่” เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นในระบบการเมืองของหลายประเทศ

และอาจถือเป็นวิกฤตทางการเมืองหนึ่งที่รัฐบาลเผด็จการต้องเผชิญอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

เพราะรัฐบาลเผด็จการมักมีปัญหาความชอบธรรมในตัวเอง และถ้าการประท้วงใหญ่เดินไปถึงจุดที่ไม่สามารถควบคุมได้แล้ว ภาวะที่เกิดขึ้นจะเป็นเสมือนกับ “การเติมเชื้อไฟ” อย่างดีให้แก่การกบฏภายใน

หากพิจารณาจากบริบททางประวัติศาสตร์แล้ว เราอาจสรุปได้ด้วยข้อสังเกตประการหนึ่งว่า การประท้วงขนาดใหญ่ที่เกิดขึ้นคือ การส่งสัญญาณถึงความต้องการของภาคประชาสังคมที่ใช้วิธีการกดดันในรูปแบบของการประท้วงเพื่อให้รัฐดำเนินการปฏิรูปทางการเมือง โดยเฉพาะการเปิดการเมืองให้มีสิทธิเสรีภาพมากขึ้น

ดังนั้น การประท้วงใหญ่จึงเป็นดังจุดเริ่มต้นของการเปลี่ยนแปลงใหญ่ทางการเมือง และไม่ว่าการประท้วงเช่นนี้จะประสบความสำเร็จหรือไม่ก็ตาม ดังจะเห็นได้ว่า การสามารถรวมคนจำนวนมาก จนทำให้เกิดการประท้วงขนาดใหญ่ได้ ย่อมเป็นเส้นเวลาการเมืองที่สำคัญของสังคมนั้น

หากย้อนกลับไปดูในอดีต เราจะเห็นตัวอย่างสังเขปของการประท้วงใหญ่ที่ส่งผลในทางการเมือง

ประท้วงระบอบซาร์รัสเซีย

 

การประท้วงใหญ่ต่อระบอบการปกครองแบบเผด็จการของพระเจ้าซาร์ในรัสเซียในต้นปี 1917 แต่ความดึงดันจะที่เหนี่ยวรั้งการเปลี่ยนแปลงเช่นนี้นำไปสู่การเผชิญหน้าระหว่างประชาชนกับอำนาจรัฐของพระเจ้าซาร์อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

คงปฏิเสธไม่ได้ว่าสภาวะของความเป็นรัฐบาลอำนาจนิยมในระบอบการปกครองเก่าที่ไร้ประสิทธิภาพเป็น “เชื้อไฟ” อย่างดีกับการประท้วง

แม้จะเกิดการปราบปรามด้วยกำลังตำรวจ แต่ก็เป็นเพียงชัยชนะชั่วคราว

เพราะเมื่อตำรวจเปิดการยิงใส่ผู้ชุมนุมแล้ว ทหารส่วนหนึ่งได้ตัดสินใจเข้าร่วมการประท้วงกับประชาชน

จนสุดท้ายรัฐบาลของพระเจ้าซาร์ต้องสิ้นสุดลง

การประท้วงในปี 1917 สะท้อนให้เห็นว่า คำสั่งในการปราบปรามผู้ประท้วงไม่ใช่คำตอบของชัยชนะทางการเมือง

และเมื่อตำรวจลั่นกระสุนสังหารประชาชนบนถนน เมื่อนั้นความตายของประชาชนบนถนนได้เป็นปัจจัยที่ดึงให้กำลังพลในกองทัพให้เข้าร่วมกับประชาชนในการต่อต้านระบอบเก่า

และเมื่อทหารเข้าร่วมกับประชาชนในการต่อต้านระบอบการปกครองเดิมแล้ว

รัฐบาลในระบอบนั้นก็เดินทางไปสู่จุดจบ และนำไปสู่เหตุการณ์สำคัญของโลกในตันศตวรรษที่ 20 คือ “การปฏิวัติรัสเซีย”

ประท้วงเพื่อเอกราชอินเดีย

 

การเรียกร้องเอกราชของอินเดียที่นำโดยมหาตมะคานธี ในช่วงเวลาจากปี 1930 ถึงปี 1947 ก็อาศัยการประท้วงใหญ่เป็นเครื่องมือในการต่อสู้กับเจ้าอาณานิคมอังกฤษ

การประท้วงครั้งนั้นได้กลายเป็นตัวแบบสำคัญของการประท้วงในแบบที่เป็น “อหิงสา”

และกลายเป็นแรงกดดันอย่างสำคัญกับรัฐบาลลอนดอน จนต้องสละอำนาจการปกครอง

นำไปสู่การได้รับเอกราชของอินเดียในเวลาต่อมา

การประท้วงเป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญของการต่อสู้เพื่อเรียกร้องเอกราชเสมอ

และแน่นอนว่าในบางประเทศ การประท้วงที่ไม่ประสบความสําเร็จจะยกระดับขึ้นไปสู่การต่อสู้ด้วยกำลังอาวุธ

ดังเช่นสงครามเรียกร้องเอกราชในเวียดนาม หรือในแอลจีเรีย เป็นต้น

เดินสู่วอชิงตัน

 

การเรียกร้องสิทธิของคนผิวดำในสังคมอเมริกันภาคใต้ ที่นำโดย ดร.มาร์ติน ลูเธอร์ คิง ในช่วงทศวรรษ 1960 เปิดการเคลื่อนไหวด้วยการใช้การประท้วงใหญ่เป็นเครื่องมือของการเรียกร้อง

ดังจะเห็นได้ว่าในที่สุดแล้วการชุมนุมประท้วงใหญ่ที่เรียกว่า “การเดินสู่วอชิงตัน” (March on Washington) ในปี 1963 เป็นหนึ่งในภาพประวัติศาสตร์การเมืองที่สำคัญของสังคมอเมริกันในการต่อสู้เรื่องความเท่าเทียมของสีผิว

รวมทั้งการต่อสู้ในเรื่องของสิทธิในการทำงาน

การชุมนุมใหญ่ที่วอชิงตันดึงนักเคลื่อนไหวทางการเมืองจากมุมต่างๆ ของสังคมอเมริกันเข้าร่วมการต่อสู้

อันถือเป็นชัยชนะครั้งสำคัญของการเรียกร้องสิทธิทางการเมือง

โดยมีวลีทองจากคำกล่าวของ ดร.คิง ว่า “I have a dream” (ฉันมีความฝัน) เป็นมรดกของการต่อสู้

การประท้วงครั้งนี้มีคนเข้าร่วมมากกว่าสองล้านหกแสนคน

และเป็นแรงกดดันสำคัญให้รัฐบาลอเมริกันออกกฎหมายสิทธิพลเมืองในปี 1964 และกฎหมายสิทธิการเลือกตั้ง 1965

กฎหมายนี้คุ้มครองสิทธิของคนผิวสี

และกฎหมายนี้เป็นหลักประกันว่า คนผิวดำมีสิทธิทางการเมืองที่จะมีตัวแทนของพวกเขาในรัฐบาล

ฤดูใบไม้ผลิที่ปราก

 

การต่อสู้เพื่อให้เกิดความเป็นเสรีนิยมได้พามวลชนเป็นจำนวนมากลงบนถนนในกรุงปราก ในปี 1968

โดยผู้นำเชโกสโลวะเกียพยายามผลักดันให้เกิดการปฏิรูปทางการเมือง เพื่อให้ประชาชนมีเสรีภาพและสิทธิทางการเมือง

แต่การปฏิรูปเช่นนี้ถูกผู้นำสหภาพโซเวียต

มองว่าเป็น “การต่อต้านการปฏิวัติ” (counterrevolution) และเป็นภัยคุกคาม และนำไปสู่การส่งกำลังทหารพร้อมรถถังเข้าสลายการชุมนุมที่ปราก

การส่งกำลังทหารโซเวียตเพื่อยุติกระบวนการสร้างประชาธิปไตยครั้งนี้ เป็นคำตอบที่ชัดเจนว่าการเรียกร้องเสรีภาพและสิทธิทางการเมืองในค่ายสังคมนิยมเป็นสิ่งที่จะไม่ได้รับอนุญาตจากโซเวียตเป็นอันขาด

แม้การชุมนุมของประชาชนไม่มีทางที่รับมือกับอำนาจของรถถังโซเวียตได้เลย

แต่ความพ่ายแพ้ของผู้ชุมนุม ไม่ได้ทำให้เครดิตทางการเมืองของการต่อสู้ลดลง และได้รับการยกย่องให้เป็น “ฤดูใบไม้ผลิที่ปราก” (The Prague Spring)

หรือถือเป็น “ฤดูใบไม้ผลิทางการเมือง” ของโลกสมัยใหม่

ต่อต้านระบอบชาห์

 

ระบอบอำนาจนิยมของอิหร่านเผชิญกับวิกฤตการเมืองครั้งสำคัญในปี 1978-79 เมื่อประชาชนเป็นจำนวนมากตัดสินใจออกมาบนถนนอย่างไม่เกรงกลัวกับการปราบปราม

จนระบอบเก่าที่เข้มแข็งต้องล้มลง และนำไปสู่การจัดตั้งสาธารณรัฐอิสลามในต้นปี 1979

การประท้วงนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงใหญ่ครั้งนี้ เกิดผลอย่างมีนัยอย่างสำคัญ

จนถูกเรียกว่า “การปฏิวัติอิหร่าน”

และเป็นมากกว่าฤดูใบไม้ผลิ

ประท้วงใหญ่ในฟิลิปปินส์

 

การโค่นล้มรัฐบาลเผด็จการของประธานาธิบดีมาร์กอสในฟิลิปปินส์ในปี 1986

ก็ใช้การประท้วงใหญ่เป็นเครื่องมือ

และการประท้วงที่เกิดขึ้นในกรุงมะนิลากลายเป็นการรวมคนในสาขาอาชีพต่างๆ ที่ไม่ยอมรับรัฐบาลเผด็จการ

ออกมาสู่เวทีการประท้วงบนถนน

ประท้วงเผด็จการทหารในชิลี

 

การประท้วงเช่นนี้ยังเห็นได้จากการต่อสู้กับรัฐบาลเผด็จการทหารของประธานาธิบดีปิโนเชต์ในชิลีในปี 1988

แม้ระบอบการปกครองของทหารในชิลิจะมีความเข้มแข็ง

แต่การประท้วงใหญ่ก็เป็นสัญญาณของความคลอนแคลนของอำนาจของทหาร

หรือเป็นสัญญาณของการที่สังคมไม่กลัวกับอำนาจรัฐเผด็จการ

และคนกล้าที่จะออกมาบนถนนเพื่อแสดงความเห็นต่าง

คนงานประท้วงคอมมิวนิสต์โปแลนด์

 

การก่อการประท้วงใหญ่ของคนงานท่าเรือในโปแลนด์ในปี 1980 จนถึงปี 1989 ที่ไม่เพียงทำให้รัฐบาลของพรรคคอมมิวนิสต์โปแลนด์ต้องเผชิญปัญหาความชอบธรรมเท่านั้น

หากยังส่งผลถึงอำนาจทางการเมืองของรัฐบาลสหภาพโซเวียตในการควบคุมโปแลนด์อีกด้วย

จนอาจต้องถือว่า การประท้วงใหญ่ที่เกิดขึ้นในโปแลนด์

คือสัญญาณการเริ่มต้นของอำนาจของโซเวียตที่เริ่มถดถอยลง

และเป็นดังจุดเริ่มต้นที่สำคัญของการสิ้นสุดของสงครามเย็นในปลายปี 1991

การประท้วงแบ่งแยกผิว

 

การต่อสู้กับลัทธิแบ่งแยกผิวในแอฟริกาใต้ในช่วงทศวรรษ 1980 ได้ใช้การประท้วงใหญ่เป็นเครื่องมือของการต่อสู้เช่นกัน

จนในท้ายที่สุดได้ทำให้รัฐบาลของคนผิวขาว

ต้องสิ้นสุดลง

ฤดูใบไม้ผลิกลางทะเลทราย

 

หนึ่งในปรากฏการณ์การประท้วงครั้งสำคัญของการเมืองโลกร่วมสมัยคือ การลุกขึ้นสู้ของชาวอาหรับ

ที่เริ่มต้นขึ้นจากการประท้วงใหญ่ในตูนิเซียในช่วงปลายปี 2010

และขยายตัวไปสู่อียิปต์ในต้นปี 2011

และขยายตัวไปในโลกตะวันออกกลาง จนต้องถือเป็นเหตุการณ์สำคัญของโลกในศตวรรษที่ 21 ที่การประท้วงใหญ่ของประชาชนนำไปสู่การล้มระบอบเผด็จการในโลกอาหรับ

จนถูกเรียกว่าเป็น “อาหรับสปริง” หรือเป็นดังการมาของ “ฤดูใบไม้ผลิในโลกอาหรับ” (The Arab Spring)

แม้ในอีกด้านของอาหรับสปริงอาจจะไม่ประสบความสำเร็จ เช่น ลิเบีย และซีเรีย เป็นต้น

การต่อสู้ด้วยการ “ลงถนน” ของคนเป็นจำนวนมากในโลกอาหรับได้กลายเป็นแรงบันดาลใจทางการเมืองครั้งสำคัญสำหรับการต่อสู้เรียกร้องประชาธิปไตยในเวทีโลก

แม้ความสำเร็จจะไม่เกิดขึ้นทั่วทั้งภูมิภาคได้จริง และในที่สุดรัฐประหารจะหวนคืนในการเมืองอียิปต์ในปี 2013

แต่ภาพการต่อสู้ของชาวอาหรับก็ยังเป็นตัวแทนของการต่อสู้กับระบอบเผด็จการเสมอ

ฤดูใบไม้ผลิบนเกาะเล็ก

 

การประท้วงใหญ่ที่เกิดขึ้นตั้งแต่ปี 2014 และประท้วงใหญ่อีกครั้งในปี 2019 ต่อการขยายอิทธิพลของจีนในฮ่องกง

จนทำให้รัฐบาลฮ่องกงมีความเป็นอำนาจนิยมมากขึ้นนั้น สะท้อนให้เห็นถึงการรวมคนระหว่างนักศึกษากับประชาชนฮ่องกง ที่พวกเขาไม่ยอมรับต่อความพยายามที่จะทำให้ฮ่องกงอยู่ภายใต้รูปแบบการปกครองของรัฐบาลปักกิ่ง

เพราะหลักการเดิมที่ถูกนำเสนอคือ “หนึ่งประเทศ สองระบบ”

การประท้วงใหญ่ในฮ่องกงได้รับการยกย่องว่าเป็น “ฮ่องกงสปริง”

แต่ดูเหมือนทุกคนจะรู้ดีว่า การต่อสู้ของพวกเขาไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะประสบชัยชนะ

เพราเขาต่อสู้กับรัฐบาลอำนาจนิยมที่เข้มแข็งที่สุดคือ รัฐบาลของพรรคคอมมิวนิสต์จีน ที่มีจุดยืนที่ชัดเจนที่จะไม่ยอมรับการปฏิรูปทางการเมืองในฮ่องกง

ขณะเดียวกันก็ไม่ยอมรับที่ฮ่องกงจะมีทิศทางที่เป็นเสรีนิยมมากขึ้น

จีนต้องการฮ่องกงที่อยู่ภายใต้การควบคุมอย่างเข้มงวดของคณะผู้บริหารที่เป็น “ปีกนิยมจีน”

หรือเป็นฮ่องกงที่มีแต่ “ฤดูหนาว” เท่านั้น

ฤดูใบไม้ผลิที่เมียนมา

 

การชุมนุมใหญ่หลังรัฐประหาร 2021 ในเมียนมา ที่ประชาชนจากสาขาอาชีพต่างๆ และจากกลุ่มการเมืองต่างๆ วันนี้คนไม่กลัวการปราบปราม

แม้จะมีการเสียชีวิตเป็นจำนวนมากก็ตาม

แต่คนก็ยังลงถนนไม่หยุด จนเป็นเสมือน “ฤดูใบไม้ผลิ” กำลังเบ่งบาน

และพิสูจน์ถึง “อำนาจประชาชนกับอำนาจปืน”

 

เหตุการณ์ที่ถูกหยิบยกมาในข้างต้นก็เพื่อชี้ให้เห็นถึงบทบาทของปัจจัยการประท้วงใหญ่ในสังคมที่มีความคาดหวังว่าจะนำไปสู่ความเปลี่ยนแปลงทางการเมือง

แม้ในบางกรณีผลสืบเนื่องอาจจะไม่ได้เป็นไปตามความหวังเช่นใน “ฤดูใบไม้ผลิที่ปราก” แต่ภาพการลุกขึ้นสู้ของประชาชนเป็นจำนวนมาก ที่กล้าท้าทายต่อระบอบเผด็จการ ก็ต้องถือว่าความอบอุ่นของฤดูใบไม้ผลิกำลังมาเยือนแล้ว

ขอเพียงประชาชนกล้าลุกขึ้นสู้ ฤดูหนาวที่หนาวเหน็บจะผ่านพ้นไปอย่างแน่นอน…

ขอคารวะต่อการต่อสู้เรียกร้องเสรีภาพและประชาธิปไตยของประชาชนทั่วทุกมุมโลก!