กลุ่มไลน์ผู้ปกครอง ‘นิสิต’ / หลังลับแลมีอรุณรุ่ง ธงทอง จันทรางศุ

ธงทอง จันทรางศุ

หลังลับแลมีอรุณรุ่ง

ธงทอง จันทรางศุ

 

กลุ่มไลน์ผู้ปกครอง ‘นิสิต’

 

บ่อยครั้งที่ผมอ่านหนังสือเกี่ยวกับเหตุการณ์ในอดีตย้อนหลังไปประมาณสักสามชั่วคน ผมจะมีความรู้สึกในใจว่า อายุขัยของคนไทยสมัยก่อนไม่ยืนยาวนัก

จากรูปถ่ายเก่าแก่ที่มีหลงเหลืออยู่บ้าง อายุเพียงแค่ 50 ปีก็ดูแก่หงำเหงือกเต็มที

ใครมีอายุผ่านเขต 60 ปีไปได้ก็ต้องเฉลิมฉลองกันเป็นการใหญ่ เพราะโดยค่าเฉลี่ยแล้วอายุของคนทั้งประเทศไม่ได้ยืนยาวถึงเพียงนั้น

แตกต่างจากยุคสมัยนี้ ที่คนไทยของเราอายุยืนขึ้นมาก หลายคนอายุ 90 ปี 100 ปีแล้ว แต่ยังกระฉับกระเฉงและมีฤทธิ์อยู่พอสมควรเลยเดียว

เมื่ออายุเฉลี่ยของคนไทยครั้งกระนั้นมีสภาวะดังกล่าว จึงอาจเป็นไปได้ว่า นาฬิกาชีวิตของคนยุคนั้นเดินเร็วกว่าคนสมัยนี้มาก

ผมหมายความและขอขยายความว่า ชีวิตช่วงเด็กของคนไทยหรือชาวสยามครั้งก่อนมีเส้นขีดคั่นชัดเจนเพื่อเปลี่ยนฐานะจากความเป็นเด็กเข้าสู่ความเป็นวัยรุ่น

ด้วยพิธีโกนจุก โดยเฉลี่ยแล้วเด็กชายจะโกนจุกกันที่อายุ 13 ปี

ขณะที่เด็กหญิงจะน้อยกว่านั้นเล็กน้อย อาจจะอยู่ที่อายุ 11 หรือ 12 ปีเป็นประมาณ

 

ก่อนโกนจุก เด็กๆ จะวิ่งเล่นเป็นลิงทโมนอย่างไรก็ได้ ผ้าผ่อนจะมีน้อยชิ้นก็ไม่ต้องระมัดระวัง แต่เมื่อโกนจุกแล้ว ถ้ายังทำตัวเหมือนอย่างแต่ก่อนก็ย่อมเกิดเรื่องใหญ่ขึ้นเป็นแน่

หลังจากโกนจุกแล้ว ผมสังเกตว่านาฬิกาชีวิตช่วงนี้วิ่งเร็วมากขึ้นไปอีก

ผู้คนสมัยนั้นจำนวนไม่น้อยต้องเริ่มทำงานช่วยเหลือครอบครัวหรือหาเลี้ยงชีพตัวเองแล้ว ตั้งแต่เวลาที่อยู่ในช่วงอายุที่สมัยนี้เรียกว่าเป็นวัยรุ่น เพราะเวลานั้นยังไม่มีโรงเรียนหรือระบบการศึกษาอย่างเป็นทางการที่เก็บงำเด็กไว้ในระบบจนอายุ 18 ปีอย่างปัจจุบัน

เมื่อรับผิดชอบชีวิตของตัวเองได้มากขึ้น บางคนก็มีเหย้ามีเรือน มีลูกเต้าไปตามธรรมชาติปรารถนา

ถ้ายังไม่มีเรือนไปเสียก่อน ผู้ชายทั่วไปโดยค่าเฉลี่ยแล้วก็จะบวชพระสักพรรษาหนึ่งก่อนแล้วจึงออกเรือน

นั่นหมายความว่า จะแต่งงานอย่างเป็นทางการที่อายุประมาณ 21 หรือ 22 ปี

แน่นอนครับว่า เจ้าบ่าวส่วนใหญ่ย่อมแสวงหาเจ้าสาวที่อายุน้อยกว่าตัวเอง นัยว่าจะทำให้ชีวิตกระชุ่มกระชวยเป็นพิเศษ เจ้าสาวส่วนมากจึงอายุไม่ถึง 20 ปี อย่างสำนวนที่บอกว่า สิบห้าหยกๆ สิบหกหย่อนๆ อะไรทำนองนั้น

เวลาผ่านไปไม่เท่าไหร่ จากผัวหนุ่ม-เมียสาวในวันนั้น ประเดี๋ยวก็กลายเป็นพ่อตา-แม่ยาย หรือพ่อผัว-แม่ผัว มีลูก-หลานวิ่งเล่นเต็มบ้านยั้วเยี้ยไปแล้ว

เผลออีกแป๊บเดียว ก็ต้องนิมนต์พระมาสวดศพที่บ้าน หรือมิฉะนั้นก็ยกศพไปตั้งที่วัดเสียแล้ว

 

ว่าโดยย่อ ผมจึงรู้สึกว่าสังคมไทยในกาลก่อน ช่วงเวลาที่เป็นเด็กต่อเนื่องกับเวลาที่เป็นวัยรุ่น ถ้านำมาเปรียบกับยุคสมัยปัจจุบันแล้วจะพบว่า จะมีความสั้นยาวแตกต่างกัน

วัยรุ่นสมัยก่อนมีวิถีชีวิตและโอกาสที่จะเติบโตขึ้นเป็นผู้ใหญ่ รับผิดชอบครอบครัวของตัวเองได้เร็วกว่าวัยรุ่นที่เราพบเห็นเดินถนนอยู่ในวันนี้

ถ้าจะทำการศึกษาวิจัยว่าสาเหตุเกิดขึ้นจากอะไรก็เห็นจะได้ผลงานวิจัยหลายเล่ม

แต่คิดแบบโดยไม่ต้องวิจัยก็จะพบว่า เพราะลูก-หลานของเราอยู่ในโรงเรียนมากขึ้น จบจากโรงเรียนก็เรียนต่อมหาวิทยาลัย จบปริญญาตรีแล้วหลายคนยังต้องต่อปริญญาโท ปริญญาเอกไปอีก

แค่คิดก็เหนื่อยแล้วครับ

ในวัยเรียนก่อนจบปริญญาตรี ซึ่งมีอายุเฉลี่ยอยู่ที่ 22 ปี เด็กจำนวนไม่น้อยยังต้องพึ่งพาอาศัยครอบครัวส่งเสียให้เล่าเรียน ความห่วงใยและความผูกพันระหว่างพ่อ-แม่ลูกจึงยาวนานกว่าความรู้สึกเรื่องเดียวกันในครั้งก่อน

รู้สึกกันบ้างไหมครับว่า ในสังคมเมืองทุกวันนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับผู้มีอันจะกินทั้งหลาย คุณพ่อ-คุณแม่ตามประคับประคองและเป็นห่วงเป็นใหญ่ลูกชาย-ลูกสาวของตัวเองยาวนานเป็นพิเศษ

หลายครอบครัวคุณพ่อ-คุณแม่แทบจะไปนั่งเรียนหนังสือกับลูกด้วยเลยทีเดียว

 

เมื่อไม่กี่วันมานี้ผมได้รับทราบด้วยความประหลาดใจว่า ผู้ปกครองหรือคุณแม่ของนิสิตคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่ผมยังทำหน้าที่เป็นอาจารย์พิเศษสอนหนังสืออยู่ ท่านมีกลุ่มไลน์สำหรับติดต่อกันเองในระหว่างผู้ปกครอง

แปลกใจแล้วก็ต้องอยากรู้ต่อไปว่า ท่านมาพบติดต่อครั้งแรกกันอย่างไร จึงจะมีไลน์ไอดีของกันและกันได้ เพราะนึกว่าลูกหลานคงไม่อยากให้มีไลน์กลุ่มนี้เป็นแน่

ถามไถ่ได้ความว่า ในการปฐมนิเทศนิสิตแรกเข้า นอกจากการพบปะให้ข้อมูลกับนิสิตเองเกี่ยวกับเรื่องการศึกษาและการใช้ชีวิตในมหาวิทยาลัยแล้ว ยังมีการ “ประชุมผู้ปกครอง” ของนิสิตด้วย

มองในแง่มุมที่ดี การที่คณาจารย์ได้พบผู้ปกครองและผู้ปกครองได้รับทราบข้อมูลว่า ทุกวันนี้การศึกษาวิชากฎหมายเขาทำกันอย่างไร ชีวิตของนิสิตมหาวิทยาลัยไม่เหมือนชีวิตนักเรียนโรงเรียนมัธยม ทางเลือกของชีวิตหลังจบการศึกษาแล้วในอนาคตมีอะไรบ้าง ทั้งหมดนี้ย่อมเป็นคุณประโยชน์ที่ผู้ปกครองจะได้มีความเข้าใจได้ถูกต้องว่าอะไรจะเกิดขึ้นต่อไปจากนี้บ้าง

ในมุมมองอย่างนี้ พบกันครั้งเดียวก็พอครับ พบแล้วก็แยกย้ายกันกลับบ้าน ต่างคนต่างไปจัดการชีวิตของตัวเอง

แต่ผลที่เกิดขึ้นจริงนี่สิครับ น่าดูมาก

 

ท่านผู้ปกครองจำนวนหนึ่งยังคุ้นเคยกับแนวทางที่ท่านเคยทำมาตอนเป็นผู้ปกครองเด็กนักเรียนชั้นมัธยม คือต้องมีการแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารกันระหว่างผู้ปกครองด้วยกัน จะได้สอบถามตามข่าวว่าเรื่องไหนจริง เรื่องไหนเท็จ เราควรจะกำกับดูแลส่งเสริมลูก-หลานของเราอย่างไร หรืออะไรทำนองนี้ ท่านจึงตั้งไลน์กลุ่มดังว่าขึ้น

ทั้งหมดนี่เดาเอาเองนะครับ

แต่เพียงเท่าที่มีหลักฐานชัดเจนว่า เมื่อลูกของท่านผู้ปกครองท่านหนึ่งสมัครรับเลือกตั้งในองค์กรกิจกรรมนิสิต ท่านผู้ปกครองก็ลงมือช่วยหาเสียง ด้วยวิธีแจ้งไปในไลน์กลุ่ม เพื่อบอกผู้ปกครองคนอื่นว่า ขอให้ไปบอกลูกของแต่ละคนให้เลือกลูกของท่านเถิด พร้อมทั้งอธิบายขยายความอีกนิดหน่อยว่า ไม่ควรเลือกกลุ่มอื่นเพราะอะไร

ด้วยน้ำเสียงประมาณว่า “ไม่เลือกเรา เขามาแน่”

อะไรจะสยดสยองถึงเพียงนี้

ฟังเรื่องนี้แล้ว ผมชักไม่แน่ใจว่าเหตุการณ์นี้เกิดขึ้นในมหาวิทยาลัยระดับชาติหรือในโรงเรียนอนุบาลหมีน้อยกันแน่

 

ผมไม่มีลูกของตัวเอง แต่นึกบอกกับตัวเองว่า ถ้าผมมีลูก และลูกผมเป็นนิสิตในมหาวิทยาลัย ผมจะไม่ทำอย่างนี้เป็นอันขาด

ในมุมมองของผมแล้ว วันเวลาของนิสิต-นักศึกษาในมหาวิทยาลัยเป็นช่วงเวลาที่ดีที่สุดช่วงหนึ่งของชีวิต ที่คนรุ่นหนุ่ม-รุ่นสาวจะได้เรียนรู้วิชาการและประสบการณ์ต่างๆ ด้วยสติปัญญาและวิจารณญาณของเขาเอง ที่นี่จะเป็นเหมือนสนามซ้อมรบ หรือเวทีสำหรับฝึกฝนเตรียมตัวเองให้พร้อมสำหรับการใช้ชีวิตต่อไปในวันข้างหน้า

และผมยังหวังต่อไปด้วยว่า ชีวิตในวันข้างหน้าของเขาเหล่านั้นจะไม่ได้เป็นไปเพื่อประโยชน์ส่วนตนแต่โดยลำพัง หากแต่จะต้องเป็นไปเพื่อประโยชน์ในวงกว้างกว่านั้น ไปจนถึงที่สุดคือเพื่อประโยชน์ของเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน

ถ้าไปไกลไม่ได้ถึงขนาดนั้น เอาแต่เพียงเมื่อเรียนจบแล้วสามารถเลี้ยงชีพตัวเองได้ ไม่เป็นปัญหาหรือสร้างแรงถ่วงให้เกิดขึ้นในโลกจนเกินสมควร แค่นั้นก็น่าพอใจแล้วไม่ใช่หรือครับ

บรรยากาศทั้งหลายในมหาวิทยาลัยจึงต้องเป็นไปเพื่อเกื้อกูลความมุ่งหมายนี้

ในขณะที่คุณพ่อ-คุณแม่ต้องไม่ทำความประพฤติอย่างผู้ปกครองโรงเรียนอนุบาลหมีน้อย ครูบาอาจารย์และผู้บริหารมหาวิทยาลัยก็ต้องไม่อยู่โรงเรียนอนุบาลหมีน้อยเหมือนกัน

 

ยิ่งไปกว่านั้น ผู้มีหน้าที่ในระดับสูงกล่าวโดยเฉพาะคือระดับนโยบาย ที่ดูแลการอุดมศึกษาของประเทศ ก็ต้องตระหนักว่า มหาวิทยาลัยที่แท้ควรมีบทบาทแตกต่างจากโรงเรียนอนุบาลหมีน้อยอย่างไร แล้วทำหน้าที่ของตัวเองให้ดีที่สุดเพื่อส่งเสริมให้เกิดมหาวิทยาลัยที่มีคุณภาพขึ้นให้จงได้

ผู้ใหญ่ของบ้านเราจำนวนไม่น้อยมีแนวโน้มที่จะเห็นเด็กผู้เป็นลูกหลานไม่เติบโตเป็นผู้ใหญ่เสียที จนเข้าเรียนมหาวิทยาลัยแล้ว ยังนึกว่าลูกของตัวเองเรียนอยู่โรงเรียนอนุบาลอยู่ร่ำไป

อาจจะพอเหมาะพอสมกระมังครับ ที่ทำให้เด็กเป็นเด็กแบบยาวนาน ไม่ต้องเป็นผู้ใหญ่เสียที ผู้ใหญ่ทุกวันนี้จะได้เป็นผู้ใหญ่ไปเรื่อยๆ ไม่ยอมแก่ยอมเฒ่าหรือปลดเปลื้องภาระลงเสียบ้าง

มีความสุขดีจะตายไป

คงมีประโยชน์บ้างนะครับ ถ้ามีใครจะช่วยสำเนาบทความเรื่องนี้ของผม ไปแปะไว้ในไลน์กลุ่มของท่านผู้ปกครองดังที่ผมกล่าวถึงมาข้างต้นบ้าง

อ่านแล้วอย่าเพิ่งโกรธนะครับ คิดทบทวนหลายๆ รอบ แล้วค่อยโกรธกัน

โกรธมาก ความดันขึ้นสูงมาก อันตรายนะครับ

เตือนกันไว้ด้วยความปรารถนาดี