หลังเลนส์ในดงลึก : สายพันธุ์

ม.ล.ปริญญากร วรวรรณ

สิ่งที่ผมทำในงานเขียนและภาพคือ “อ้างอิงจากเรื่องจริง” เรื่องจริงต่างๆ ผมได้จากการเฝ้าดู ศึกษาเรียนรู้โดยมีสัตว์ป่าเป็นดังคล้าย “ครู” ผู้สอน รวมทั้งเหล่าคนทำงานในป่าที่พวกเขาต่างก็ “สอน” สิ่งต่างๆ ได้ตลอดเวลา ผมบอกใครๆ เสมอว่าผมทำงานในส่วนที่ง่ายที่สุดนั่นคือแค่กดชัตเตอร์

การทำตัว “ให้ว่าง” พอที่จะรับสิ่งที่พวกเขาสอนสำหรับผมคือสิ่งจำเป็น “ชุดข้อมูลจริง” อีกอย่างที่ผมได้รับคือคือจากน้องๆ ในทีม พวกเขาศึกษาเรื่องราวของสัตว์ป่าและแหล่งอาศัย รวมทั้งพืชพันธุ์ต่างๆ มาโดยตรง เมื่ออยู่ในป่าเราใช้เวลากว่า 80 เปอร์เซ็นต์ พูดคุยกันถึงสัตว์ป่า เล่างานวิจัยที่ไปอ่านพบหรือมีส่วนร่วมในการศึกษาสู่กันฟัง

ผมรับรู้เรื่องรา รู้ว่าราเป็นจุดเริ่มต้นของการเจริญเติบโตของต้นไม้อย่างไร เมื่อฉัตรพรรษ หนึ่งในทีมไปช่วยน้องทำวิจัยเรื่องนี้ นอกจากเรื่องสัตว์เลื้อยคลาน สัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำ กบเขียด โดยเฉพาะงูต่างๆ ฉัตรพรรษ ประกาศตลอดเวลาว่า “ผมรักงูด้วยเหตุผลที่ใครๆ เกลียดและกลัวพวกมันครับ”

ผมใช้ความรู้ของ ยิ่งบุญ ซึ่งศึกษานิเวศวิทยาของหมีควาย มาใช้ในการเฝ้ารอสัตว์ป่า หมีสอนให้เขารู้ว่าแหล่งอาหารตามฤดูกาลเป็นสิ่งที่สัตว์ป่าจะเดินทางไป

โดม อธิบายเรื่องการครอบครองอาณาเขตของสัตว์ต่างๆ รวมถึงนกว่ามีลำดับชั้นเช่นไร เขตหากิน เขตหวงห้าม ที่ห้ามผู้ใดบุกรุก

พูดๆ กันมาเนิ่นนานแล้วว่าการศึกษาไม่มีวันหมดสิ้นเมื่อเราเปิดรับ ยิ่งรู้มากขึ้นดูคล้ายจะเป็นเรื่องธรรมดาที่คนจะรู้สึกว่ารู้น้อยเต็มที

 

งานของเราในป่าห้วยขาแข้งยังไม่เสร็จ หลังคาบ้านที่พักในป่าทุงใหญ่นเรศวรรั่วหลายจุด

ผมจัดหาใบตองตึงมาจากหมู่บ้านและฝากให้ชิดชัย ที่เราเรียกเขาเล่นๆ ว่าผู้รับเหมาจัดการเปลี่ยนให้

“ขอเวลาไปอยู่ขาแข้ง 3 เดือนนะครับ” ผมบอกหัวหน้าเขต สมปอง ทองสีเข้ม ก่อนย้ายไปรับตำแหน่งใหม่ แต่ดูเหมือนว่าเราต้องใช้เวลามากขึ้นกว่านั้นเพราะมีภารกิจต้องกลับไป “ซ่อมงาน” ในป่าทุ่งใหญ่นเรศวรด้านตะวันตกด้วย

“ไปฝั่งตะวันตกหน้าฝนนี่นะครับ สนุกแน่ๆ” ยิ่งบุญ พูดยิ้มๆ

“กลับมาเก่งแน่ๆ” ผมบอกเขา เป็น “เด็กท้ายรถ” เดินทางในป่าทุ่งใหญ่นเรศวรด้านตะวันตกเป็นบทเรียนล้ำค่า เพราะได้ฝึกฝนกับผู้เชี่ยวชาญอย่างแท้จริง

 

ป่าห้วยขาแข้งคล้ายเป็น “เมืองหลวง” ไม่เพียงเป็นเมืองหลวงของสัตว์ป่า นักวิจัย รวมทั้งช่างภาพต่างล้วนมุ่งหน้ามาที่นี่ สิ่งหนึ่งที่แตกต่างอย่างสิ้นเชิงของผมในการทำงานอยู่ในป่าห้วยขาแข้ง กับป่าทุ่งใหญ่นเรศวรคือโอกาสในการพบปะกับผู้คน ทั้งนักวิจัยและเหล่าช่างภาพ ในป่าทุ่งใหญ่ไม่ค่อยมีใครไปเยือนหรือปักหลักทำงานวิจัย แต่ในป่าห้วยขาแข้งไม่เป็นเช่นนั้น

ช่วงเวลานี้ในพื้นที่ซึ่งผมตั้งใจจะเข้ามาปักหลัก ผมพบกับทีมทำสารคดีจากสถานีโทรทัศน์ของประเทศญี่ปุ่นช่องหนึ่ง

พวกเขามีผู้ประสานงานชาวไทยและที่ปรึกษาร่วมมาด้วย “ที่ปรึกษาร่วม” ของทีมคือชายชาวอเมริกันผู้อยู่เมืองไทยมานาน นอกจากจะเป็นช่างภาพระหว่างผมกับเขารู้จักกันมากว่า 20 ปี และเป็นที่รู้ๆ กันโดยทั่วไปว่าระหว่างเขากับผมเรามี “ทัศนะ” อันไม่ต้องกันสักเท่าไหร่

แต่เมื่อต้องเดินอยู่บนหนทางเส้นเดียวกันมาเนิ่นนาน ดูเหมือนเราจะเลี่ยงการพบปะกันไม่พ้น หลายปีก่อนที่พบกันเขาเรียกผมว่า “หมาจิ้งจอกลำพัง”

“เราเป็นพวกหมาไน” เขาว่า

ความแตกต่างระหว่างหมาป่าสองชนิดนี้คือ หมาไนเป็นนักล่าซึ่งมีประสิทธิภาพ ใช้ความมีพวกมากไล่ล่าเหยื่อได้บ่อย ส่วนหมาจิ้งจอก การล่าเพียงลำพังของมันนั้นต้องใช้เทคนิค รวมทั้งการเฝ้ารอมาก

เขาเป็นช่างภาพสัตว์ป่าที่ผลิตหนังสือได้รวดเร็วมีออกมาหลายเล่ม เดินทางไปทั่วทุกผืนป่า อาจเพราะความ “โผงผาง” ทำให้เขาไม่เป็นที่ชื่นชอบของคนในป่าสักเท่าใด เมื่อพบกันเขามักจะบ่นถึงเรื่องราวต่างๆ ทั้งเรื่องระบบ เรื่องคน และอื่นๆ สารพัด

กระนั้นก็เถอะ เขาก็ทำงานมาอย่างจริงจังต่อเนื่อง

 

“เป็นอย่างไรบ้างไม่ได้พบกันนาน คิดถึงนายมาก เราติดตามข่าวนายตลอดนะ ตอนนี้อยู่ทุ่งใหญ่ใช่ไหม” เขาทักทายเมื่อพบกัน เขาเป็นอีกผู้หนึ่งซึ่งอยู่เมืองไทยมานานรู้จักวัฒนธรรม ประเพณีและพูดภาษาไทยได้อย่างคล่องแคล่ว โดยเฉพาะคำไม่สุภาพต่างๆ

แต่เมื่อพบกันเขาจะใช้ภาษาบ้านเกิดกับผม เขาเล่าให้ฟังว่าตอนนี้กำลังทำหนังสือภาพสัตว์ป่าอีกเล่ม เป็นเรื่องราวของสัตว์ป่าในประเทศอินเดียและประเทศไทย

“เราถ่ายรูปเสือโคร่งในอินเดียได้ 29 ตัวนะ สวยงามมากๆ” เขาพูดด้วยดวงตาเป็นประกาย ทุกครั้งที่พบกันส่วนใหญ่ผมจะเป็นฝ่ายฟัง

“เดือนที่แล้วโดนกระทิงชาร์จ” เขาเล่า

“เดินไปเจอกะทันหันมันวิ่งเข้ามาหาเราเลย เราล้มตัวลงนอนราบ กระทิงกระโจนข้ามตัวเราไป เราเลยรอดจากการบาดเจ็บมาได้” เขาทำหน้าจริงจัง

“นายจำไว้นะวิธีนี้ช่วยได้ ล้มตัวลงนอนเลย” วันรุ่งขึ้นเขาพบกระทิงตัวนี้บนด่านใกล้ๆ ตายเพราะถูกเสือโคร่งล่า

“เป็นกระทิงแก่มากแล้ว ตาบอดข้างหนึ่งด้วย” กระทิงตัวนั้นค่อนข้างป่วย จึงไม่แปลกใจนักที่มันจะดูก้าวร้าวและเข้าโจมตี

“นี่เพื่อนรักของผม” เขาแนะนำผมกับเพื่อนช่างภาพชาวญี่ปุ่น

 

ว่ากันตามจริงสัตว์ป่าต่างชนิดกันหรือแม้แต่เป็นชนิดเดียวกันก็ตาม พวกมันจะอยู่ร่วมในพื้นที่เดียวกันได้ การอยู่ร่วมกันนั้น สัตว์ป่าจะอยู่แบบเคารพกติกา ไม่ล่วงล้ำอาณาเขตกันโดยไม่จำเป็น

“พวกมันจะมีเขตที่หากินและเขตหวงห้ามและมีพื้นที่ซึ่งใช้ร่วมกันนะครับ” โดมเล่า

“อย่างต้นไทร สัตว์หลายชนิดมารุมกิน ความจริงมีการแบ่งชัดเจน ตัวใหญ่ๆ อยู่กิ่งใหญ่ พวกตัวเล็กๆ น้ำหนักน้อยไปกินตามกิ่งก้านเล็กๆ ชะนีมาตั้งแต่เช้า ค่างมาสายหน่อย ลิงมาบ่ายๆ” โดม อธิบายอย่างเห็นภาพชัดเจน

“สัตว์ผู้ล่าอย่างเสือโคร่ง เสือดาว นี่อยู่ในพื้นที่เดียวกันได้เพราะเหยื่อเป็นคนละประเภท เสือโคร่งล่ากระทิง วัวแดง สมเสร็จ กวางตัวเต็มวัยไปจนถึงลูกช้าง ส่วนเสือดาวก็จะล่าขนาดย่อมลงมา”

ในสังคมของสัตว์ป่าที่เรามักมองเห็นแต่ภาพดิบเถื่อน

แท้จริงพวกมันอยู่ร่วมกันได้อย่างมีระเบียบ

 

ผมนิ่งฟัง “เพื่อนรัก” คุยแม้จะไม่ค่อยเห็นด้วยในทรรศนะของเขาสักเท่าใด แต่นี่คือผู้ชายอายุ 72 ปี ผู้ทำงานอย่างมุ่งมั่นเอาจริง จนผมยอมรับและชื่นชมเขาอยู่ในใจ

บนถนนเส้นนี้ไม่กว้างนัก ผืนป่าก็คล้ายจะแคบเกินกว่าจะหลีกเลี่ยงกันพ้น

“เราจะติดต่อนายได้อย่างไร” เขาถามก่อนจาก

“ไม่ได้หรอก เราเป็นหมาจิ้งจอกลำพัง ติดต่อไม่ได้” ผมตอบ เขายิ้มกว้าง เราจับมือลา

ในผืนป่าแคบๆ เราอยู่ร่วมกันได้เพราะแท้จริงแล้วเราเป็นสัตว์คนละสายพันธุ์ที่เดินบนหนทางเส้นเดียวกัน