กรองกระแส/บทบาท สถานะ 30 บาทรักษาทุกโรค สมบัติประชาชน

กรองกระแส

บทบาท สถานะ 30 บาทรักษาทุกโรค สมบัติประชาชน

กรณีการวอล์กเอาต์ระหว่างประชาพิจารณ์ร่าง พ.ร.บ. “บัตรทอง” กำลังสร้างความสับสนและสร้างความเข้าใจผิดให้กับ คสช. และรัฐบาลเป็นอย่างมาก

แรกที่เกิดขึ้นในพื้นที่ภาคใต้อาจยังเฉยๆ

แต่พลันที่เกิดขึ้นในพื้นที่ภาคเหนือและตามมาด้วยในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ คำแถลงอันมาจากทำเนียบรัฐบาลดำเนินไปอย่างจับแพะชนแกะ

เพราะเห็นว่าเป็นภาคเหนือ เพราะเห็นว่าเป็นภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

ในความสับสนในความเข้าใจผิดนั้นแม้จะเกิดการวอล์กเอาต์ระหว่างประชาพิจารณ์ในพื้นที่กรุงเทพมหานครขึ้นก็ยังไม่ก่อให้เกิดความเข้าใจอย่างถูกถ้วน

ทั้งๆ ที่ทั้งหมดนี้ล้วนมี นพ.พลเดช ปิ่นประทีป ร่วมรับผิดชอบอยู่ก็ตาม

ความเข้าใจที่นำไปสู่บทสรุปว่าการวอล์กเอาต์เป็นกระบวนการของ “กลุ่มการเมือง” มาจากความหลงและเข้าใจผิดโดยแท้

1 เข้าใจผิดต่อกรณี “บัตรทอง” 1 เข้าใจผิดต่อความรู้สึกของ “ประชาชน”

เพราะคิดว่าโครงการ 30 บาทรักษาทุกโรค เริ่มในรัฐบาลพรรคไทยรักไทย และต่อเนื่องมายังรัฐบาลพรรคพลังประชาชน พรรคเพื่อไทย จึงคิดว่าเป็นโครงการของพรรคไทยรักไทยและจำเป็นต้องเปลี่ยนแปลงหรือกระทั่งทำลาย

ทั้งๆ ที่ในความเป็นจริง ไม่ใช่

30 บาทรักษาทุกโรค

มีรากจาก หมอหงวน

โครงการ 30 บาทรักษาทุกโรค ก่อรูปขึ้นจากบทเรียนและความจัดเจนของ “หมอชนบท” เป็นการประสานความเป็นจริงของการสาธารณสุขของสังคมไทย เข้ากับประสบการณ์และวิธีการบริหารจัดการในแบบสมัยใหม่

แนวคิดนี้ปรากฏอย่างเป็นระบบผ่าน นพ.สงวน นิตยารัมภ์พงศ์

ได้มีความพยายามเสนอแนวคิดนี้ต่อฝ่ายการเมืองตั้งแต่ยุค นายชวน หลีกภัย แห่งพรรคประชาธิปัตย์ เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขและนายกรัฐมนตรีมาแล้ว แต่ไม่ได้มีการขานรับและนำไปปฏิบัติ

ต่อเมื่อมีการจัดตั้งพรรคไทยรักไทย และคนของพรรคไทยรักไทยรับรู้เรื่องนี้จึงนำเอาแนวคิดนี้บรรจุเป็นนโยบาย 1 ของพรรค และปรับแต่งเป็น “30 บาทรักษาทุกโรค”

“30 บาทรักษาทุกโรค” เป็นปัจจัย 1 ทำให้พรรคไทยรักไทยได้รับเลือก

เมื่อจัดตั้งรัฐบาลหลังการเลือกตั้งเดือนมกราคม 2544 โครงการ 30 บาทรักษาทุกโรค ได้ปรากฏเป็นนโยบาย 1 นโยบายสำคัญของรัฐบาล โดยมี นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี เป็นคนขับเคลื่อนในฐานะรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข

โครงการ 30 บาทรักษาทุกโรค จึงได้เติบใหญ่และพัฒนามาเป็นหลักประกันสุขภาพแห่งชาติในปัจจุบัน

พัฒนาการ 30 บาท

พัฒนาการนโยบาย

นับแต่หลังการเลือกตั้งเดือนมกราคม 2544 เป็นต้นมา แม้ว่าโครงการ 30 บาทรักษาทุกโรคจะผลักดันผ่านกระบวนการทางการเมืองโดยพรรคไทยรักไทย กระนั้น ความเป็นจริงที่จะต้องยอมรับร่วมกันก็คือ โครงการนี้มิได้เป็นของพรรคไทยรักไทยอีกแล้ว

ตรงกันข้าม ได้มีการสืบทอดและพัฒนาโดยรัฐบาลหลายรัฐบาล

ไม่ว่าจะเป็นรัฐบาล พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ ไม่ว่าจะเป็นรัฐบาล นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หรือแม้กระทั่งรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา

มีความหงุดหงิดไม่พอใจ มีความต้องการเปลี่ยนแปลงดำรงอยู่

แต่ความเป็นจริงที่ต้องยอมรับว่าคือ ไม่มีรัฐบาลใดสามารถโค่นล้มทำลายโครงการ 30 บาทรักษาทุกโรค ลงได้

อาจมีการเปลี่ยนแปลงบ้างในบางรายละเอียด แต่ “จิตวิญญาณ” ยังคงอยู่

อาจมีการปรับแต่งชื่อจาก 30 บาทรักษาทุกโรค โดยปรากฏผ่านคำว่า “บัตรทอง” และที่สุดก็เรียกอย่างรวบยอดว่า “หลักประกันสุขภาพ” แต่ความรับรู้ร่วมก็คือ ทั้งหมดคือโครงการอันมาจาก “30 บาทรักษาทุกโรค”

ความหมายก็คือ 30 บาทรักษาทุกโรค ได้กลายเป็น “สมบัติร่วม” เป็นความต้องการ “ร่วม” ของประชาชน

บทบาท ความหมาย

30 บาทรักษาทุกโรค

มีความต้องการ มีความพยายามที่จะปรับแต่ง แปรเปลี่ยน รายละเอียดและแนวทาง “30 บาทรักษาทุกโรค” เกิดขึ้นจริง

ไม่ว่ายุค พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ ไม่ว่ายุค พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา

แต่ความพยายามเหล่านั้นเด่นชัดอย่างยิ่งว่าต้องล้มเหลว และจะต้องล้มเหลวเหมือนกับที่เคยล้มเหลวมาแล้ว ปัจจัยสำคัญก็คือ ประชาชนไม่ยอม เพราะพวกเขาเห็นว่า 30 บาทรักษาทุกโรค เป็นประโยชน์ เป็นคุณกับพวกเขา

30 บาทรักษาทุกโรค ได้กลายเป็นสมบัติร่วม นโยบายร่วมของประชาชนไปแล้ว