เสรีภาพทางวิชาการไทยเสื่อมถอย เมื่อชนชั้นนำ พึ่งพิงอำนาจดิบ / บทความในประเทศ

บทความในประเทศ

 

เสรีภาพทางวิชาการไทยเสื่อมถอย

เมื่อชนชั้นนำ พึ่งพิงอำนาจดิบ

 

“การเสื่อมถอยของเสรีภาพทางวิชาการที่เกิดขึ้นในเวลานี้ มันเกิดขึ้นพร้อมกับการพังสลายของระบบความรู้ที่จะรองรับอำนาจ และผลประโยชน์ในสังคมไทย คุณจะเห็นชะตากรรมของชนชั้นนำที่ต้องอาศัยแต่อำนาจดิบ ผ่านกฎหมาย ผ่านปืน ผ่านตำรวจควบคุมฝูงชน ในการผดุงรักษาอำนาจเอาไว้ เพราะไม่มีระบบความรู้ที่รองรับเพียงพอ ดังนั้น ภายใต้ระบอบที่กดขี่เสรีภาพทุกอย่าง เราจะเรียกร้องแต่เสรีภาพทางวิชาการอย่างเดียวไม่ได้ รวมทั้งการลิดรอนเสรีภาพทางวิชาการ ที่มันลึกละเอียดชนิดที่อาจมองไม่เห็นก็ได้”

นี่คือทัศนะของ ศ.ดร.นิธิ เอียวศรีวงศ์ นักวิชาการอิสระ จากเวทีเสวนาเรื่อง “เสรีภาพทางวิชาการ ในสภาวะเสื่อมถอย” เนื่องในโอกาสตีพิมพ์หนังสือ “80 ปี นิธิ เอียวศรีวงศ์ ปัญญาชนสยามยุคเปลี่ยนผัน” ที่คณะรัฐศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์

 

เมื่อวันที่ 5 เมษายน 2564

ในระหว่างที่ร่วมเวทีเสวนา ศ.ดร.นิธิ เอียวศรีวงศ์ กล่าวว่า เสรีภาพทางวิชาการมันสัมพันธ์กับความรู้และระบบความรู้ ความหมายคือ การอยากรู้ อยากถาม อยากให้คนอื่นรู้อย่างไรก็สามารถทำได้ แต่ความรู้นั้นมันสัมพันธ์อยู่กับอำนาจของกลุ่มคนในสังคม ความรู้ชนิดหนึ่งให้อำนาจกับคนกลุ่มหนึ่ง อีกชุดให้อำนาจคนอีกกลุ่มหนึ่ง ขณะเดียวกันก็มีสถานะทางสังคมและเศรษฐกิจมาเกี่ยวข้องกับความรู้ด้วย เพราะฉะนั้น ความรู้นั้นจะดำรงอยู่ได้จึงต้องมีกลไกอื่นๆ ช่วยพยุง เพราะความรู้คืออำนาจที่มีระบบ ซึ่งอยู่รอบความรู้นั้นช่วยพยุงไว้ ในทุกสังคม ความรู้จึงไม่ใช่สิ่งที่เสรีแต่จะถูกกำกับควบคุมเสมอในทุกสังคม มากบ้างน้อยบ้าง ที่สำคัญมากกว่าคือควบคุมโดยใคร

อาจารย์นิธิชี้ให้เห็นว่า ความรู้ที่พยุงอำนาจและผลประโยชน์ในไทยกำลังพังลง อย่างไม่มีทางควบคุมได้ นอกจากจะอาศัยวิธีป่าเถื่อนเท่านั้น

“สำหรับไทยในปัจจุบัน ความรู้ที่พยุงโครงสร้างอำนาจและผลประโยชน์กำลังพังลง แบบที่ไม่ชู 3 นิ้วก็พัง ความจริงที่เคยเชื่อก็ถูกตั้งคำถาม โดยมีเหตุผลอ้างอิงที่น่าเชื่อถือกว่าความรู้เดิมที่เคยให้ไว้ทั้งสิ้น ในปัจจุบันไม่เหลือใครที่จะสามารถควบคุมระบบความรู้ที่มีในสังคมได้ สมัยก่อนเราเชื่อว่าอธิการบดีจะควบคุมได้ในการส่งผ่านความรู้สู่คนรุ่นหลังในมหาวิทยาลัย แต่ ณ ปัจจุบัน ไม่สามารถควบคุมระบบความรู้ในสถาบันการศึกษาไว้ในมือได้อีกต่อไป ด้วยเหตุนี้ความรู้ที่เคยเป็นอยู่ในสังคมไทยจึงไม่มีทางพยุงไว้ได้ จนต้องอาศัยอำนาจรัฐ นั่นคือเหตุผลที่รัฐมนตรีว่าการอุดมศึกษาต้องออกมาคุกคามอาจารย์มหาวิทยาลัย เพราะทางรอดทางเดียวคือการคุกคามเสรีภาพทางวิชาการ จึงทำให้เสรีภาพทางวิชาการเสื่อมถอย เพราะมันไม่มีทางเลือกอื่น นอกจากใช้วิธีการป่าเถื่อนเท่านั้น” ศ.ดร.นิธิกล่าว

อาจารย์นิธิกล่าวต่อว่า อำนาจทุกสังคมที่ดำรงอยู่ได้ก็ด้วยความรู้และระบบความรู้ ในอดีตเคยมีระบบความรู้พยุงอำนาจไว้ แต่เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงอำนาจก็มีการปรับเปลี่ยนความรู้ ซึ่งชนชั้นนำไทยประสบความสำเร็จอย่างมากในอดีต

 

ขณะที่ ศ.ดร.วรเจตน์ ภาคีรัตน์ อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มธ. หนึ่งในผู้ร่วมเวทีเสวนา ได้ย้ำว่า เสรีภาพทางวิชาการไม่ได้หมายความว่ามีได้เฉพาะนักวิชาการ แต่ใครๆ ก็สามารถมีได้ เพียงแต่ว่าต้องมีวิธีการที่สามารถค้นหาความรู้ที่เป็นระเบียบ

การจำกัดเสรีภาพทางวิชาการจะแปลความหมายเป็นอย่างอื่นไม่ได้นอกจากว่า ต้องการให้เราโง่อยู่ต่อไปเรื่อยๆ

เสรีภาพทางวิชาการเป็นคุณค่าสำคัญในระบอบประชาธิปไตย และโลกวิวัฒน์ไปไม่ได้ถ้าเกิดว่าในสังคมการเมืองนั้นๆ ไม่ยอมรับให้มีเสรีภาพดังกล่าวดำรงอยู่

อาจารย์วรเจตน์เล่าถึงวิวัฒนาการของการคุ้มครองเสรีภาพทางวิชาการ ซึ่งบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญไทย 4 ฉบับ เริ่มต้นจากรัฐธรรมนูญ 2517 ก่อนหายไปพักใหญ่ แล้วกลับมาปรากฏอีกครั้งในรัฐธรรมนูญ 2540, 2550 และ 2560 โดยในปี 2517 มีการอภิปรายถกเถียงกันในชั้นจัดทำรัฐธรรมนูญว่า ควรมีการกำหนดขอบเขตเสรีภาพทางวิชาการหรือไม่

ดร.วรเจตน์มองว่า รัฐไทยไม่ถึงขนาดเต็มใจให้มีและคุ้มครองเสรีภาพทางวิชาการมากนัก และยังเกิดปัญหากระทบต่อเสรีภาพทางวิชาการ ทั้งจากการใช้อำนาจของรัฐ และประชาชนที่ไม่เข้าใจวิธีการทำงานทางวิชาการ รับไม่ได้กับการนำเสนอบางอย่าง เพราะรู้สึกว่าเป็นการลบหลู่ ดูหมิ่น ทำให้ความรู้ทางวิชาการจมอยู่กับความเชื่อเดิมๆ

เพราะฉะนั้น เสรีภาพทางวิชาการจึงเป็นอะไรที่สังคมไทยมีปัญหาทั้ง 2 มิติ ทั้งจากรัฐและจากคนอื่นด้วย เพราะว่ารัฐนอกจากจะไม่ไปก้าวล่วง ไม่ไปแทรกแซง ยังต้องมีหน้าที่คอยคุ้มครองให้คนที่ทำงานทางวิชาการสามารถทำงานไปได้โดยปลอดภัย ไม่งั้นจะกลายเป็นว่าการรับรองเสรีภาพทางวิชาการจะเหมือนเขียนเอาไว้ว่า บุคคลมีเสรีภาพทางวิชาการ แต่พึงระมัดระวังว่าอาจถูกตีหัว อาจถูกเผาหุ่น อาจถูกดำเนินคดี อาจถูกเรียกรายงานตัว

อย่างไรก็ตาม ศ.ดร.วรเจตน์ยอมรับว่า เอาเข้าจริงสังคมไทยไม่เคยมีเสรีภาพทางวิชาการ เพราะบางเรื่องยังมีเพดานในการพูด โดยเฉพาะวิชาประวัติศาสตร์ เพราะหากไปสืบค้นหลักฐานในอดีต ตีความ แล้วเสนอออกมากระทบกับความเชื่อเดิม ก็จะทำให้มีปัญหาตามมา

สาขาวิชานิติศาสตร์ก็เช่นกัน เพราะเกี่ยวพันกับอำนาจในทางกฎหมาย หากไม่มีเสรีภาพทางวิชาการแล้วเกิดไปวิพากษ์วิจารณ์คำพิพากษาศาล ก็จะเจอกฎหมายตระกูลหมิ่น ตั้งแต่หมิ่นกษัตริย์ หมิ่นศาล ยันหมิ่นบุคคลธรรมดา

สิ่งเหล่านี้คือปัญหาที่ทำให้ไม่สามารถใช้เสรีภาพทางวิชาการได้เต็มที่ เพราะมีกรอบกฎหมายและกรอบวัฒนธรรมกำกับอยู่

ด้วยเหตุนี้การสร้างบรรยากาศความหวาดกลัวจึงเป็นการคุกคาม กระทบเสรีภาพทางวิชาการอีกแบบหนึ่ง

 

ตัวอย่างการสร้างบรรยากาศแห่งความกลัวในแวดวงวิชาการกรณี อธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ลงนามในคำสั่งลับแต่งตั้งคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงวิทยานิพนธ์ในหัวข้อ การเมืองไทยสมัยรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม ภายใต้ระเบียบโลกของสหรัฐอเมริกา (พ.ศ.2491-2500) ของ ผศ.ดร.ณัฐพล ใจจริง หลัง ศ.ดร.ไชยันต์ ไชยพร อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ อ้างตรวจพบความผิดพลาดในรายการอ้างอิง

ตามด้วยกรณี ม.ร.ว.ปรียนันทนา รังสิต หลานสาวของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาชัยนาทนเรนทร ยื่นฟ้องต่อศาลแพ่งเรียกค่าเสียหายเป็นเงิน 50 ล้านบาทจาก ผศ.ดร.ณัฐพลผู้เขียนวิทยานิพนธ์, รศ.ดร.กุลลดา เกษบุญชู มี้ด อาจารย์ที่ปรึกษาวิทยานิพนธ์ และสำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกัน ผู้ตีพิมพ์เผยแพร่ข้อมูล

อาจารย์วรเจตน์วิเคราะห์ว่า กรณี ผศ.ดร.ณัฐพล ว่ามีจุดผิดพลาดอยู่ 1 จุด คือการแปลข้อความคลาดเคลื่อนไป แต่ที่กลายเป็นปัญหาลุกลามบานปลาย เป็นผลจากบริบททางสังคมและการเมืองในปัจจุบัน เพราะปฏิเสธไม่ได้ว่าหนังสือทั้ง 2 เล่ม ขอฝันใฝ่ในฝันอันเหลือเชื่อ, ขุนศึก ศักดินา และพญาอินทรี เป็นหนังสือขายดีที่ได้รับความนิยมในหมู่เยาวชนคนหนุ่ม-สาว ซึ่งการเข้ามามีปฏิสัมพันธ์ทางการเมืองแบบไม่เคยมีมาก่อนของเยาวชนคนรุ่นหนุ่ม-สาว ทำให้เกิดสภาพการณ์แบบพยายามเบรก

ศ.ดร.วรเจตน์ยังตั้งคำถามต่อการดึงอาจารย์ที่ปรึกษาไปเป็นผู้ต้องหาร่วมในคดี รวมถึงการใช้สิทธิตามกฎหมายของผู้ฟ้อง เนื่องจากจุฬาฯ สั่งปกปิดวิทยานิพนธ์ไปแล้ว และสำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกันได้นำวิทยานิพนธ์มาตีพิมพ์เป็นหนังสือ 2 เล่ม จึงอยากถามว่า แล้วอาจารย์ที่ปรึกษาไปเกี่ยวอะไรด้วยกับการตีพิมพ์หนังสือ 2 เล่มนั้น

“มันคือการสร้างความรู้สึกต่อนักวิชาการในมหาวิทยาลัยทั้งหลายหรือไม่ว่า ใครก็ตามที่จะรับเป็นที่ปรึกษางานเขียนเกี่ยวกับสิ่งเหล่านี้ ต้องระวังตัวให้ดี คุณอย่าพลาด ถ้าคุณพลาดจะเจอปัญหาเหล่านี้ ผมว่ามันมากกว่าการฟ้องคดีปกติ แต่มีลักษณะของการสร้างบรรยากาศขึ้นมา” ศ.ดร.วรเจตน์กล่าว

เพราะฉะนั้น เวลาเราพูดถึงเสรีภาพทางวิชาการมันคือส่วนหนึ่งมัน คือจิ๊กซอว์ของภาพรวมทั้งหมดของบริบทในทางสังคมและการเมืองที่กำลังเกิดขึ้นอยู่ในขณะนี้ ศ.ดร.วรเจตน์ย้ำให้ฟังอีกครั้ง

จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับอาจารย์ณัฐพลนั้น วรเจตน์มองว่า เป็นส่วนหนึ่งของความพยายามทำให้เกิดความสงบเรียบร้อยในความหมายที่เป็นความมั่นคง ซึ่งรัฐก็จะมีความอ่อนไหวมากๆ ถ้าล้ำเส้นอาจจะมีปัญหาตามมา

เห็นใจอาจารย์ณัฐพลที่บังเอิญมีความผิดพลาด 1 จุดเกิดขึ้นในบริบทนี้พอดี จึงเหมือนเป็นเหยื่ออันโอชะของความรู้แบบใหม่ ที่จะมาท้าทายความรู้แบบเดิมที่ดำรงอยู่