สังคมผู้ชายเป็นใหญ่ในญี่ปุ่น กับยุคสมัยที่เปลี่ยนแปลง /บทความต่างประเทศ

บทความต่างประเทศ

 

สังคมผู้ชายเป็นใหญ่ในญี่ปุ่น

กับยุคสมัยที่เปลี่ยนแปลง

 

ในช่วงที่ผ่านมาประเทศญี่ปุ่นเกิดกระแสดราม่าเกี่ยวกับการ “เหยียดเพศหญิง” ผุดขึ้นมาอย่างต่อเนื่อง

ไม่ว่าจะเป็นกรณีนายฮิโรชิ ซาซากิ ผู้อำนวยการฝ่ายความคิดสร้างสรรค์ รับผิดชอบพิธีเปิดและปิดมหกรรมกีฬาโตเกียว โอลิมปิก 2020 ที่ออกมาเสนอไอเดีย “Olympig” หรือหมายถึง “โอลิมปิกหมู” พร้อมเสนอให้นักแสดงตลกหญิงร่างอวบมาร่วมโครงการ

นอกจากนี้ ยังมีกรณีนายโยชิโระ โมริ ประธานคณะกรรมการผู้จัดมหกรรมกีฬาโตเกียวโอลิมปิก ให้ความเห็นเกี่ยวกับผู้หญิงว่า “พูดมากเกินไปในที่ประชุม”

ไม่เพียงเท่านั้น เมื่อสัปดาห์ก่อนยังมีกรณีนายกเทศมนตรีเมืองโอซาก้า ที่ออกมาให้สัมภาษณ์เชิงเหยียดเพศ ถึงมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19 โดยเสนอว่า ให้ “ผู้ชาย” ไปซื้อของเข้าบ้านแทน “ผู้หญิง” เพราะผู้หญิงมักใช้เวลากับการซื้อของนานกว่า

การให้ความเห็นลักษณะเหยียดเพศจากบรรดาข้าราชการระดับสูงส่งผลให้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์โต้กลับอย่างหนักโดยเฉพาะจากคนรุ่นใหม่รวมถึงกลุ่มผู้หญิงชาวญี่ปุ่น จนนายซาซากิ รวมถึง นายโมริ ต้องลาออกจากตำแหน่งไป

 

กรณีดังกล่าวสะท้อนสังคม “ผู้ชายเป็นใหญ่” ฝังรากในวัฒนธรรมญี่ปุ่นมาอย่างยาวนาน ความเหลื่อมล้ำระหว่าง “ชาย” และ “หญิง” ในญี่ปุ่นสะท้อนผ่าน ดัชนีความเหลื่อมล้ำทางเพศ ประจำปี 2021 จัดโดยการประชุมเศรษฐกิจโลก (ดับเบิลยูอีเอฟ) จัดให้ญี่ปุ่นอยู่ในอันดับ 120 จากทั้งหมด 156 ประเทศ แม้แต่ประเทศไทยยังอยู่ในอันดับที่สูงกว่าคืออันดับ 79

Global Gender Report รายงานว่านับจนถึงปี 2020 สัดส่วนผู้หญิงที่ครองตำแหน่งผู้นำระดับสูงในญี่ปุ่นมีเพียง 15 เปอร์เซ็นต์ ขณะที่สัดส่วนผู้หญิงในรัฐสภาญี่ปุ่นนั้นมีสัดส่วนเพียง 14 เปอร์เซ็นต์ของจำนวนเก้าอี้ทั้งหมด นับว่าน้อยมากๆ หากเทียบกับค่าเฉลี่ยของโลกที่จะอยู่ที่ 25 เปอร์เซ็นต์ ขณะที่ค่าเฉลี่ยเฉพาะทวีปเอเชียเองก็ยังสูงถึง 20 เปอร์เซ็นต์

ทัศนคติของผู้ชายยุคเก่ายังคงมองว่าผู้หญิงนั้นควรเป็นเพศที่เป็นแม่บ้าน หรือหากอยู่ในสถานที่ทำงานหรือเข้าร่วมประชุมก็ควรที่จะนั่งเงียบๆ ไม่ต้องออกความคิดเห็นใดๆ

ทัศนคติลักษณะนี้ผู้สันทัดกรณีมองว่ามีรากเหง้ามาจากการเปลี่ยนแปลงสังคมญี่ปุ่นในช่วงปลายทศวรรษที่ 40 จนถึงปลายทศวรรษที่ 80 ที่เศรษฐกิจของญี่ปุ่นเติบโตขึ้นอย่างก้าวกระโดด และส่วนสำคัญเลยก็คือกลุ่มผู้ชายวัยทำงานที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจญี่ปุ่นให้กลายเป็นชาติที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 2 ของโลก รองจากสหรัฐอเมริกา

กลุ่มคนที่มีแนวคิดและเสนอความคิดเห็นที่ก่อดราม่า อย่างซาซากิและโมรินั้น เป็นคนในเจเนอเรชั่นที่เรียกว่า “ดันไค โนะ เซได” หรือกลุ่มคนในยุค “เบบี้บูมเมอร์” ในภาษาอังกฤษ

และกลุ่มเบบี้บูมเมอร์นี้เองก็เป็นคนรุ่นที่นำประเทศญี่ปุ่นให้ก้าวขึ้นมาสู่เวทีโลกได้หลังจากญี่ปุ่นแพ้สงครามโลกครั้งที่ 2

ด้วยทัศนคติในยุคนั้นทำให้หญิงชาวญี่ปุ่นถูกวางตำแหน่งแห่งที่ให้ทำหน้าที่แม่บ้าน ดูแลลูก หรือถ้าทำงานในสำนักงานก็จะมีตำแหน่งเลขานุการเท่านั้น

 

อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันสังคมญี่ปุ่นเปลี่ยนแปลงไปมาก ท่ามกลางเศรษฐกิจญี่ปุ่นที่ซบเซาอย่างต่อเนื่อง ตลาดแรงงานที่ไม่มั่นคง คนทำงานเงินเดือนไม่ขึ้น ความฝันที่จะมีบ้านเป็นของตัวเองแทบจะเป็นไปไม่ได้

ตำแหน่งงานพาร์ตไทม์ และลูกจ้างชั่วคราวพุ่งสูงขึ้น แน่นอนว่า ส่งผลกระทบกับชีวิตความเป็นอยู่ของ “ผู้หญิง” ที่มีสัดส่วนทำงานพาร์ตไทม์มากถึง 39 เปอร์เซ็นต์ จากแรงงานหญิงทั้งหมดในตลาด เทียบกับผู้ชายที่สัดส่วนเพียง 14 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น ขณะที่รายได้จากการทำงานพาร์ตไทม์นั้น คิดเป็นสัดส่วนเพียง 40 เปอร์เซ็นต์ของรายได้พนักงานประจำ

โทโมมิ อินาดะ อดีตรัฐมนตรีกลาโหมหญิงของญี่ปุ่น ระบุว่า ทัศนคติที่มีต่อผู้หญิงของชายยุคเก่านั้นสะท้อนปัญหาเชิงโครงสร้างอำนาจในญี่ปุ่น ที่ซึ่งผู้หญิงและเสียงข้างน้อยนั้นไม่ได้รับการเปิดโอกาสให้แสดงออกเท่าใดนัก

อินาดะระบุว่า ปัญหาคือความเชื่อที่ว่าการเมืองนั้นเป็นเรื่องของผู้ชาย และว่า

“ความเชื่อที่ว่าผู้หญิงที่ดีต้องรู้จักประพฤติตัวและไม่ทำตัวโดดเด่นยังคงมีอยู่ในทุกวันนี้”

 

รัฐบาลญี่ปุ่นก็พยายามแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางเพศ โดยวางแผนเพิ่มจำนวนผู้หญิงในตำแหน่งบริหารในตลาดแรงงานทั่วประเทศ ให้ได้สัดส่วน 30 เปอร์เซ็นต์ ภายในปี 2020 แต่แผนนั้นก็ต้องล่มไปและเมื่อปีที่ผ่านมาก็ต้องประกาศเลื่อนเป้าไปเป็นปี 2030 แทน

แน่นอนว่าการเปลี่ยนทัศนคติสังคมที่ฝังรากมาอย่างยาวนานไม่ใช่เรื่องง่าย แม้แต่ผลสำรวจของสำนักข่าวเกียวโด เมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ยังพบว่า สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหญิงจำนวนมากถึง 60 เปอร์เซ็นต์นั้นยังคิดว่าการเพิ่มจำนวนผู้หญิงในสภาให้เพิ่มขึ้นเป็น 35 เปอร์เซ็นต์ภายในปี 2025 นั้นยังคงเป็นเรื่องยาก

อย่างไรก็ตาม สังคมในยุคโซเชียลมีเดีย ยังคงเป็นความหวังที่อาจสร้างความเปลี่ยนแปลงในสังคมญี่ปุ่นได้

โดยเฉพาะเสียงวิพากษ์วิจารณ์จากทวิตเตอร์ ที่มีผู้ใช้งานในญี่ปุ่นจำนวนมากถึง 51 ล้านบัญชี ก็เป็นแรงต้านทานแนวคิดเก่าๆ ได้เป็นอย่างดี

 

สื่อสังคมออนไลน์เป็นส่วนสำคัญในการรวบรวมกลุ่มก้อนทางการเมืองเช่นกลุ่มเคลื่อนไหว “No Youth, No Japan” ที่มีโมโมโกะ โนโจ นักศึกษาเศรษฐศาสตร์ ในวัย 23 ปี เป็นผู้ก่อตั้ง มีเป้าหมายในการให้ความรู้ทางการเมือง และโน้มน้าวให้เยาวชนออกมาใช้สิทธิเลือกตั้งเพื่อเปลี่ยนแปลงสังคม

โดยกลุ่ม “No Youth, No Japan” ผู้ติดตามในอินสตาแกรม จำนวนมากถึง 60,000 คน

อย่างไรก็ตาม แม้ญี่ปุ่นจะผ่านกฎหมายลดอายุผู้มีสิทธิเลือกตั้งจาก 20 ปี เป็น 18 ปีแล้วเมื่อปี 2015 เพิ่มจำนวนคนรุ่นใหม่ให้เข้ามาใช้สิทธิเลือกตั้งได้เพิ่มขึ้น 2.4 ล้านคน

แต่จำนวนคนวัย 18-19 ปี ยังคงออกมาใช้สิทธิคิดเป็นสัดส่วนเพียง 46.8 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น

โนโจพูดถึงอีกปัญหาของสังคมญี่ปุ่นก็คือการมีส่วนร่วมทางการเมืองของคนรุ่นใหม่ที่ยังคงน้อย หากเทียบกับคนรุ่นใหม่ในสหรัฐอเมริกาหรือยุโรป วัยรุ่นชาวญี่ปุ่นหมดความสนใจในการเมืองในสถานการณ์ปัจจุบัน จึงไม่คิดที่จะเข้าคูหาเลือกตั้ง ขณะที่คนกลุ่มนี้ก็เป็นกลุ่มคนที่มีแนวคิดอนุรักษนิยม ที่มีความหวาดระแวงในวงการการเมืองและนักการเมือง

อย่างไรก็ตาม สำหรับโนโจแล้วกระแสสังคมที่กดดันให้ประธานผู้จัดโอลิมปิกลาออกจากตำแหน่ง รับผิดชอบกับคำพูด ก็เป็นจุดเริ่มต้นที่ดี การแก้ไขปัญหาทัศนคตินี้ไม่ใช่เรื่องของผู้ชายยุคเก่าที่มีอำนาจเท่านั้น แต่จำเป็นที่จะต้องปฏิรูปพฤติกรรมหลายๆ อย่าง

รวมถึงระบบที่ค้ำจุนคนกลุ่มนี้อยู่ด้วย