Trend ใหม่นักสะสม จากไพ่ Pok′mon ใบละ 10 ล้าน ถึงกระเป๋า Hermes คุณก็เป็นเจ้าของได้! / บทความพิเศษ จักรกฤษณ์ สิริริน

บทความพิเศษ

จักรกฤษณ์ สิริริน

 

Trend ใหม่นักสะสม

จากไพ่ Pok′mon ใบละ 10 ล้าน ถึงกระเป๋า Hermes

คุณก็เป็นเจ้าของได้!

โลกของ “นักสะสม” กว้างใหญ่ไพศาล และมีมูลค่าทางเศรษฐกิจที่สูงมาก ซึ่งเป็นที่รู้กันว่า “ของสะสม” บางอย่างนั้น ราคาสูงจนคนธรรมดาไม่มีสิทธิ์ฝัน

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “งานศิลปะระดับโลก” ที่ “มีน้อยชิ้น” ตามหลัก Demand vs Supply

เพราะเมื่อ “ความต้องการ” หรือ Demand มีมากกว่า “จำนวนสินค้า” หรือ Supply “ตัวสินค้า” ก็ย่อมมี “ราคาสูงขึ้น”

Scott Lynn เจ้าของ Start-up ซื้อ-ขายงานศิลปะ Masterworks จึงอาสาอุดช่องว่างดังกล่าว

“Masterworks จะทำหน้าที่ตัวกลางเพื่อรวบรวมนักลงทุนรายย่อยที่รักในงานศิลปะ” Scott Lynn กระชุ่น

Masterworks เปิดโอกาสให้คนส่วนใหญ่ที่ไม่มีปัญญาเป็นเจ้าของ “งานศิลปะระดับโลก” แต่ “รักงานศิลปะ” สามารถ “ร่วมลงทุน” เป็น “เจ้าของร่วม” ใน “งานศิลปะระดับโลก” ที่หลากหลาย Scott Lynn กล่าว และว่า

“ด้วยเงินทุนที่น้อย และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง ด้วยวิธีการที่ง่าย”

“หน้าที่ของผมก็คือ การที่ต้องทำให้ลูกค้าของผมแน่ใจว่าการลงทุนในงานศิลปะเหล่านั้น จะมีผลตอบแทนที่เป็นไปตามคาดการณ์ และมีความเสี่ยงในระดับที่พวกเขาสามารถรับได้” Scott Lynn ชี้

Masterworks จะเปิดให้นักลงทุนรายย่อยเข้ามาเลือกดูผลงานศิลปะต่างๆ ผ่านทางเว็บไซต์ เมื่อลูกค้าติดตาต้องใจ “ชิ้นไหน” ก็สามารถ “ซื้อหุ้นศิลป์” ชิ้นนั้นได้ทันที

โดยลูกค้าสามารถ “ซื้อหน่วยลงทุน” มาก-น้อยเพียงใดก็ได้!

ด้วยเม็ดเงินลงทุนเริ่มต้นที่ 500 ดอลลาร์ (ประมาณ 15,000 บาท) ขึ้นไป เราก็มีสิทธิ์ในการเป็น “เจ้าของบางส่วน” หรือ Fractional Ownership ของ “ชิ้นงานศิลปะระดับโลก” ได้

พูดอีกแบบก็คือ Masterworks เป็น Start-up ผู้ริเริ่ม Business Model ใหม่ ที่ทำให้ “คนจำนวนมาก” มีโอกาสเป็น “ผู้ลงทุน” หรืออีกนัยก็คือ มีโอกาสเป็น “เจ้าของงานศิลปะระดับโลก” ได้นั่นเอง

Masterworks จึงถือเป็นผู้รื้อสร้างแนวความคิดเก่าๆ เชื่อกันต่อๆ มาว่า “งานศิลปะระดับโลก” นั้น ผู้มีสิทธิ์เป็นเจ้าของมัน จะมีก็แต่เฉพาะ “อภิอัครมหาเศรษฐี” เท่านั้น

ปัจจุบัน Masterworks มีงานศิลปะชั้นนำระดับโลกมากถึง 15 ชิ้นในครอบครอง เช่น ภาพวาดของ Pablo Picasso, Claude Monet, Andy Warhol, Jean-Michel Basquiat เป็นต้น

นับจาก Scott Lynn ก่อตั้ง Masterworks เมื่อปี ค.ศ.2010 ตราบจนปัจจุบัน Start-up ของเขาได้รับความสนใจจากนักลงทุนหน้าใหม่มากกว่า 10,000 คนต่อเดือน และมีเงินลงทุนหมุนเวียนเดือนละกว่า 30 ล้านดอลลาร์

 

เช่นเดียวกับ Masterworks ของ Scott Lynn ล่าสุด Michael Karnjanaprakorn เจ้าของบริษัท SkillShare ที่โด่งดัง ปัจจุบัน ได้เปิดธุรกิจใหม่ที่ดำเนินกิจการคล้ายกับ Masterworks ของ Scott Lynn นั่นก็คือ Otis

Michael Karnjanaprakorn ระบุว่า บริษัท Otis ของเขาเริ่มต้นขึ้น หลังจากธุรกิจที่ SkillShare ประสบความสำเร็จอย่างสูง

“Otis ก่อตั้งเมื่อปี ค.ศ.2020 เราเริ่มต้นด้วยการเสนอขายสิทธิ์การร่วมเป็นเจ้าของผลงานศิลปะของศิลปินชื่อดังนามว่า Banksy”

ที่มูลค่า “หุ้น” ในผลงานของ Banksy มีมูลค่าเพิ่มขึ้นมากถึง 70% จาก 20 ดอลลาร์ มาเป็น 34 ดอลลาร์ ทำให้ในปัจจุบัน สนนราคาค่างวดของผลงานชิ้นดังกล่าวอยู่ที่ 722,000 ดอลลาร์ (ประมาณ 21,660,000 บาท)

Michael Karnjanaprakorn บอกว่า Otis เป็น Online Platform ที่เปิดให้ “นักลุงทุนรายย่อย” โอนเงินเพียง 20 ดอลลาร์ (ประมาณ 600 บาท) เพื่อสิทธิ์การเป็น “เจ้าของบางส่วน” หรือ Fractional Ownership ใน “ของสะสม”

โดย “ของสะสม” เหล่านั้น มีตั้งแต่ไพ่ Pok?mon เสื้อบาสพร้อมลายเซ็น Kobe Bryant ไปจนถึงกระเป๋า Hermes

Michael Karnjanaprakorn ชี้ว่า ลูกค้า Otis ของเขาทุกคนสามารถร่วมลงทุนใน “ของสะสม” มูลค่าแพงลิบลิ่วด้วยเม็ดเงินเพียงเล็กน้อยได้

“วิธีการของเราคล้ายกับ Masterworks ของ Scott Lynn ก็คือ Otis จะเปิดให้นักลงทุนรายย่อยเข้ามาเลือกดูของสะสมผ่านทาง App มือถือเช่นเดียวกับ Masterworks”

เมื่อลูกค้าติดตาต้องใจของสะสมชิ้นไหน ก็สามารถ “ซื้อหุ้นของสะสม” ชิ้นนั้นได้ทันที

โดยลูกค้าสามารถ “ซื้อหน่วยลงทุน” มาก-น้อยเพียงใดก็ได้!

 

Michael Karnjanaprakorn บอกว่า ลูกค้า Otis ของเขา ล้วนเป็นคนรุ่นใหม่อายุประมาณ 25 ถึง 35 ปี

Otis จึงถือเป็นผู้นำเสนอเทคโนโลยียุคใหม่เพื่อให้คนธรรมดามีสิทธิ์จับต้อง “ของสะสม” มากขึ้นผ่าน App มือถือรายแรกๆ ของโลกเลยก็ว่าได้

เพราะโดยทั่วไปแล้ว “ของสะสม” ก็เหมือนกับ “งานศิลปะ” หรือ “งานวรรณกรรม” และไม่ต่างไปจาก “ภาพยนตร์” หรือ “ดนตรี”

ที่ชิ้นงานระดับ Masterpiece นั้น “มีไม่มาก”

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง กระเป๋า Brand name รุ่น Limited หรือ “รุ่นหายาก” นอกจากนี้ ยังมี “ของสะสม” จาก “วงการกีฬา” “วงการเกม” แม้กระทั่ง “วงการการ์ตูน”

เหมือนประกาศโฆษณารับซื้อเหล้าเก่า กระเพาะปลาเก่า ของไทย (ฮา)

เพราะตามปกติแล้ว “ของสะสม” ล้ำค่าเหล่านี้ มักตกอยู่ในมือของ “อภิอัครมหาเศรษฐี” ที่โลกนี้มีอยู่กันไม่กี่คนเท่านั้น!

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อเร็วๆ นี้ ได้มีการเปิดประมูลกระเป๋า Hermes รุ่น Birkin (ปี ค.ศ.1984)

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อเร็วๆ นี้ ได้มีการเปิดประมูล “ไพ่ Charizard” (ปี ค.ศ.1999)

“ไพ่ Charizard” เป็น “ไพ่กระดาษรุ่นแรก” ของชุด “ไพ่ Pok?mon”

Charizard คือตัวละครใน Pok?mon ขวัญใจเด็กยุค 90 ที่ล่าสุด มีผู้ชนะการประมูลไปได้ด้วยสนนราคาที่สูงถึง 300,000 ดอลลาร์ (ประมาณ 10 ล้านบาท)

 

John-Paul Smith นักยุทธศาสตร์การลงทุนชื่อดังของธนาคาร Deutsche Bank บอกว่า ทุกวันนี้กระแสการลงทุนในสินทรัพย์ทางเลือกของบรรดานักลงทุนรายย่อย เช่นของ Otis หรือ Masterworks ได้ทำให้เพดานราคา “ของสะสม” พุ่งขึ้นอย่างต่อเนื่อง

“ปัจจุบันมีหลายปัจจัยที่ทำให้สินทรัพย์ทางเลือกเหล่านี้ได้รับความสนใจเป็นอย่างมากจากนักลงทุนรายย่อย จนทำให้สนนราคาของสะสมในตลาดประมูลพุ่งสูงขึ้นอย่างเห็นได้ชัด” John-Paul Smith กล่าว และว่า

ปัจจัยสำคัญก็คือ “ความง่าย” ของการเข้าสู่ช่องทางการลงทุน ที่มีลักษณะเป็น Online Platform หรือ App บนโทรศัพท์มือถือ ซึ่งแน่นอนว่า ย่อมโดนใจคน Generation ใหม่

“โดยเฉพาะอย่างยิ่ง App มือถือทั้งของ Masterworks และทั้งของ Otis ที่ลูกค้าส่วนใหญ่เป็นคน Generation ใหม่ ที่มีความคุ้นเคยกับ App มือถือ”

สามารถ “ซื้อหุ้นของสะสม” โดยลูกค้าจะ “ซื้อหน่วยลงทุน” มาก-น้อยเพียงใดก็ได้!

ที่สำคัญก็คือ คน Generation ใหม่ นิยมชมชอบธุรกิจรูปแบบใหม่ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง Otisและ Masterworks ที่ได้กลายเป็น Trend ใหม่ของนักสะสมในวันนี้ ที่เปิดใครก็ได้ สามารถเป็นเจ้าของ “ไพ่ Pok?mon ใบละ 10 ล้าน” ได้!

 

อย่างไรก็ดี John-Paul Smith เตือนคน Generation ใหม่ว่า การควักกระเป๋า “ซื้อหน่วยลงทุน” เป็น “มูลค่าหุ้นของสะสม” ควรเป็นการจัดสรรปันส่วนจากรายได้ที่มี

“ไม่ควรกู้ยืมเงินมา และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง ไม่ควรนำเงินออมที่ตั้งใจจะใช้ช่วงหลังเกษียณมาลงทุนในสินทรัพย์ทางเลือกเหล่านี้” John-Paul Smith กล่าว และว่า

เพราะแม้จะดูเหมือนว่า ผลตอบแทนจากธุรกิจ “ซื้อหน่วยลงทุนของสะสมราคาแพง” อย่าง Masterworks หรือ Otis จะน่าเย้ายวนใจเพียงใด

“แต่คน Generation ใหม่ หรือแม้แต่คน Generation เก่าก็ตาม ไม่ควรนำเงินบำเหน็จบำนาญมาลงทุนในสินทรัพย์ทางเลือกเหล่านี้” John-Paul Smith ทิ้งท้าย