20 ปีการแต่งงานอย่างถูกกฎหมาย ของคู่รักเพศเดียวกันครั้งแรกของโลก / บทความต่างประเทศ

Dutch couple Gert Kasteel and Dolf Pasker pose for Reuters as they look back on their wedding 20 years ago in the world's first legally-recognised same-sex wedding and on the state of LGBT rights two decades on, in Weesp, Netherlands March 31, 2021. Picture taken March 31, 2021. REUTERS/Piroschka van de Wouw

บทความต่างประเทศ

 

20 ปีการแต่งงานอย่างถูกกฎหมาย

ของคู่รักเพศเดียวกันครั้งแรกของโลก

 

เมื่อวันที่ 1 เมษายน ปี ค.ศ.2001 หรือราว 20 ปีก่อน “เกิร์ธ คาสตัล” และ “ดอล์ฟ ปาสเตอร์” ร่วมสร้างประวัติศาสตร์เป็นคู่รักร่วมเพศที่แต่งงานกันอย่างถูกต้องตามกฎหมายเป็นครั้งแรกของโลกในประเทศเนเธอร์แลนด์

เกิร์ธและดอล์ฟเป็นคู่รักร่วมเพศ 1 ใน 4 คู่ (ชาย 3 คู่ และหญิง 1 คู่) ที่จัดงานแต่งงานหลังเวลาเที่ยงคืนย่างเข้าสู่วันที่ 1 เมษายน ในปี 2001 โดยมีนายกเทศมนตรีกรุงอัมสเตอร์ดัม เมืองหลวงของเนเธอร์แลนด์ เป็นประธานในพิธี

และการแต่งงานครั้งนั้นก็เป็นข่าวดังไปทั่วโลก

“มันดีกว่ามากที่จะบอกกับคนอื่นๆ ได้ว่า เขาคือสามีของผม เขาคือคนรักของผม” ดอล์ฟระบุขณะนั่งดูอัลบั้มรูปและข่าวงานแต่งงานในวันนั้นที่ลงหนังสือพิมพ์ซึ่งทั้งคู่ตัดเก็บไว้เป็นความทรงจำ

“มันช่วยผมยอมรับตัวเองได้” ดอล์ฟเล่า

คู่รักทั้ง 4 คู่ที่เข้าพิธีสมรสในวันนั้นเรียกได้ว่า ผ่านการทดสอบจากกาลเวลาทั้งหมด มีเพียงแฟรงก์ วิตบรูด ชายหนึ่งในนั้นเท่านั้นที่เสียชีวิตไปจากอาการโรคหัวใจในปี 2011 หรือ 10 ปีหลังการแต่งงาน ด้วยวัย 55 ปี

ทุกๆ คนที่สร้างประวัติศาสตร์ในวันนั้นมองกลับไปอย่างภาคภูมิใจที่ได้เป็นจุดเริ่มต้นที่จะยกระดับสิทธิของกลุ่มคนแอลจีบีบีที มาจนถึงทุกวันนี้

 

เฮนก์ โครล สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่สนับสนุนกฎหมายการแต่งงานของคนรักร่วมเพศ ที่ผ่านมติของสภาประเทศเนเธอร์แลนด์ เมื่อปี 2000 กล่าวถึงกฎหมายการแต่งงานของคนเพศเดียวกันที่เดินทางมายาวนานถึง 20 ปีว่า

“มีคนบอกผมว่า เนเธอร์แลนด์จะเป็นประเทศแรกและประเทศสุดท้าย ประเทศอื่นๆ ในโลกนี้ไม่ทำตามคุณหรอก” เฮนก์ระบุ และว่า เวลานี้มีเกือบ 30 ประเทศในโลกที่เดินตามเส้นทางของเนเธอร์แลนด์ที่ทำให้ดูเป็นตัวอย่างแล้ว

จากสถิติของสำนักงานสถิติแห่งชาติของเนเธอร์แลนด์ ระบุไว้ว่า ในช่วง 20 ปีที่ผ่านมาหลังจากมีการบังคับใช้กฎหมายให้สิทธิคนเพศเดียวกันได้มีสิทธิทางกฎหมายเท่าเทียมกับการแต่งงานของชายและหญิง ในเนเธอร์แลนด์มีคู่เกย์และคู่เลสเบี้ยนเข้าพิธีสมรสแล้วจำนวนหลายพันคู่ คิดเป็นสัดส่วนราว 1.7 เปอร์เซ็นต์ของการแต่งงานทั่วประเทศ

ในช่วง 5 ปีให้หลังมีค่าเฉลี่ยของการแต่งงานของคู่รักเพศเดียวกันอยู่ในระดับคู่เลสเบี้ยน 750 คู่ และคู่เกย์ 620 คู่ต่อปี

และเวลานี้มีคู่รักเพศเดียวกันที่แต่งงานอย่างถูกกฎหมายจำนวน 20,000 คู่ อาศัยอยู่ในเนเธอร์แลนด์

ตลอดช่วงเวลา 5 ปีที่ผ่านมา มีคู่รักเพศเดียวกันเฉลี่ยราว 400 คู่ที่สิ้นสุดชีวิตรักด้วยการหย่าขาดจากกันในทุกๆ ปี

โดยอัตราการหย่าร้างของคู่รักเลสเบี้ยนนั้นจะสูงกว่าคู่รักเกย์อยู่เกือบ 2 เท่า

 

หลังจากเนเธอร์แลนด์ผ่านกฎหมายการแต่งงานของเพศเดียวกันไปเป็นประเทศแรก ผ่านไป 20 ปี ปัจจุบันมี 28 ประเทศแล้วที่การแต่งงานของคนเพศเดียวกันถูกต้องตามกฎหมาย ไม่ว่าจะเป็นอาร์เจนตินา ออสเตรีย เบลเยียม บราซิล อังกฤษ แคนาดา โคลอมเบีย คอสตาริกา เดนมาร์ก เอกวาดอร์ ฟินแลนด์ ฝรั่งเศส เยอรมนี ไอซ์แลนด์ ไอร์แลนด์ ลักเซมเบิร์ก มอลตา เม็กซิโก เนเธอร์แลนด์ นิวซีแลนด์ นอร์เวย์ โปรตุเกส แอฟริกาใต้ สเปน สวีเดน อุรุกวัย และสหรัฐอเมริกา

นอกจากนี้ ยังมีอีก 34 ประเทศที่มีกฎหมายรับรองการใช้ชีวิตร่วมกันของคู่รักเพศเดียวกันแล้วด้วย

สำหรับการแต่งงานของคนเพศเดียวกันนั้นถูกตั้งคำถามท้าทายโดยกลุ่มทางศาสนาหลายกลุ่ม แม้สมเด็จพระสันตะปาปาฟราสซิส แห่งคริสตจักรโรมันคาทอลิก จะเคยกล่าวเอาไว้ในเดือนตุลาคม ปี 2020 ว่า คู่รักเพศเดียวกันนั้นควรได้รับการปกป้องโดยกฎหมายพลเมือง

แต่คริสตจักรวาติกันได้มีมติตัดสินเมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมาแล้วว่า นักบวชในคริสตจักรโรมันคาทอลิกไม่ได้รับอนุญาตให้ร่วมทำพิธีในการสมรสของกลุ่มคนรักร่วมเพศ

 

จากการสำรวจคนจำนวน 100,000 คนใน 65 ประเทศของกลุ่มต่อสู้เพื่อสิทธิแอลจีบีที พลัส ทั่วโลก ร่วมกับไอแอลจีเอ และบริษัทวิจัยอาร์ไอดับเบิลยูไอ เมื่อปี 2016 พบว่ามีคนในวัยผู้ใหญ่จำนวนเกือบ 1 ใน 3 ที่คิดว่าคู่รักร่วมเพศควรได้รับอนุญาตให้แต่งงานและได้สิทธิทางกฎหมายเหมือนการแต่งงานของเพศชายและหญิง

อย่างไรก็ตาม ในประเทศสวิตเซอร์แลนด์ แม้สภาจะผ่านร่างกฎหมายเปิดทางให้คนรักร่วมเพศสามารถแต่งงานกันได้แล้วเมื่อเดือนธันวาคม ปี 2020

แต่กลุ่มนักเคลื่อนไหวต่อต้านการแต่งงานของกลุ่มคนเพศเดียวกันยังคงเดินหน้าล่ารายชื่อเพื่อนำประเด็นดังกล่าวไปสู่การทำประชามติของคนทั่วประเทศในปีนี้ ก่อนหน้าที่กฎหมายดังกล่าวจะบังคับใช้อย่างเป็นทางการ

ในเดือนกรกฎาคม ค.ศ.2020 ที่ผ่านมาประเทศมอนเตเนโกรกลายเป็นชาติยุโรปชาติแรกที่อยู่นอกยุโรปตะวันตกและสหภาพยุโรปที่มีกฎหมายให้มีคู่ชีวิตเพศเดียวกันได้

ด้านคอสตาริกาเป็นประเทศแรกในอเมริกากลางที่เปิดทางให้มีการแต่งงานของคนเพศเดียวกันได้อย่างถูกกฎหมายในเดือนพฤษภาคม 2020 ที่ผ่านมา หลังจากศาลรัฐธรรมนูญตัดสินให้กฎหมายดังกล่าวออกบังคับใช้ได้

ด้านไอร์แลนด์เหนือกลายเป็นชาติสุดท้ายในสหราชอาณาจักรที่มีกฎหมายการแต่งงานของคนเพศเดียวกันออกบังคับใช้ในเดือนกุมภาพันธ์ ปี 2020 ที่ผ่านมา ขณะที่ไต้หวันเป็นชาติแรกในเอเชียที่เปิดทางให้มีการแต่งงานของคนเพศเดียวกันได้ในปี 2019

ขณะที่ในทวีปแอฟริกา ทวีปที่การมีสัมพันธ์ของคนเพศเดียวกันเป็นอาชญากรรมในหลายๆ ประเทศและอาจนำไปสู่บทลงโทษรุนแรงถึงขั้นติดคุก หรือหนักสุดถึงขั้นประหารชีวิต

มีเพียงประเทศแอฟริกาใต้เท่านั้นที่ผ่านกฎหมายการแต่งงานของคนเพศเดียวกันออกบังคับใช้

 

ปัจจุบันผ่านไปแล้ว 20 ปี แนวคิดของสังคมที่มีต่อกลุ่มคนแอลจีบีที พลัสนั้นก้าวหน้าไปมาก

อย่างไรก็ตาม การต่อสู้เพื่อความเท่าเทียมของคนกลุ่มนี้ยังมีหนทางอีกยาวไกล เมื่อในอีกหลายพื้นที่ในโลกที่กลุ่มคนแอลจีบีที พลัส ยังคงเผชิญกับการแบ่งแยก เลือกปฏิบัติ หรือแม้กระทั่งความรุนแรง

เชื่อว่าในวันใดวันหนึ่งอีกหลายๆ ประเทศจะเดินตามรอยประเทศเนเธอร์แลนด์ได้ในที่สุด

 

รูปอยู่ใน weekly ต่างประเทศ ชื่อไฟล์ ภาพประกอบบทความต่างประเทศ2-7เม.ย.64