ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 9 - 15 เมษายน 2564 |
---|---|
คอลัมน์ | กรองกระแส |
เผยแพร่ |
กรองกระแส
บทบาท มวลชน
บทบาท จตุพร พรหมพันธุ์
ใครนำ ใครตาม
สถานการณ์จากเดือนกรกฎาคม 2563 มายังเดือนเมษายน 2564 หากมองผ่านการเคลื่อนไหวทางการเมืองของประชาชนมีการเปลี่ยนแปลงสูงเป็นอย่างมาก
นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ สรุปว่า แรงและเร็ว
แน่นอน หากเทียบกับสถานการณ์เมื่อเดือนตุลาคม 2516 หากเทียบกับสถานการณ์เมื่อเดือนพฤษภาคม 2535 มีความแตกต่างกัน
แตกต่างกันเพราะ 2 สถานการณ์นั้นมี “บทจบ”
ขณะที่สถานการณ์นับจากเดือนกรกฎาคม 2563 มายังสถานการณ์ในเดือนเมษายน 2564 ยังไม่จบ ยังไม่มีบทสรุป
ที่คิดว่าหากมีการจับกุมและดำเนินคดีจะจบ
ก็เด่นชัดยิ่งว่า ยังมีการชุมนุมที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และในวันที่ 10 เมษายน อันเป็นวันประวัติศาสตร์วันหนึ่งก็จะมีการชุมนุมที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย
และ REDEM ก็เริ่มสอบถามเครือข่ายว่าจะชุมนุมวันไหนดีหลังสงกรานต์
ขณะที่หากมองจากแกนนำซึ่งเคยมีบทบาทผ่านองค์กรทางการเมืองที่เรียกว่า “นปช.” ขณะที่นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ เพิ่งพ้นโทษและอยู่ในห้วงของการเป็นนักสังเกตการณ์
นายจตุพร พรหมพันธุ์ ได้เริ่มเคลื่อนไหวแล้วตั้งแต่วันที่ 4 เมษายน
เป็นการเคลื่อนไหวโดยร่วมกับกลุ่มญาติวีรชน พฤษภาคม 2535 ภายใต้ชื่อ “ไทยไม่ทน สามัคคีประชาชน เพื่อประเทศไทย” ณ สวนสันติพร พฤษภาประชาธรรม
เป้าหมายคือขับไล่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา
เป้าหมายเฉพาะหน้าของนายจตุพร พรหมพันธุ์ คือสามัคคีคนที่เคยคิดคนละขั้วไม่ว่าจะเป็นพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ไม่ว่าจะเป็นมวลมหาประชาชน กปปส. เข้ามาอยู่ในพื้นที่เดียวกัน
เพียงแต่มีจุดร่วมคือต้องการขับ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ออกไป
การชุมนุมที่เริ่มในวันอาทิตย์ที่ 4 เมษายน และต่อเป็นวันที่ 2 ในวันจันทร์ที่ 5 เมษายน ได้ให้บทเรียนทางการเมืองกับนายจตุพร พรหมพันธุ์ และแกนนำจัดชุมนุมอย่างแหลมคม
ไม่ว่าจะจากกลไกอำนาจรัฐ ไม่ว่าจะจากมวลชนที่เข้าร่วมการชุมนุม
คล้ายกับว่าทางด้านกลไกอำนาจรัฐจะประเมินการเคลื่อนไหว “ไทยไม่ทน สามัคคีประชาชน เพื่อประเทศไทย” ค่อนข้างต่ำ คิดว่าจะสามารถควบคุมได้
จึงไม่ปรากฏหน่วยควบคุมฝูงชน ไม่ปรากฏตู้คอนเทนเนอร์
ขณะเดียวกัน กลับใช้อาวุธในแบบ “ปฏิบัติการจิตวิทยา” ค่อนข้างหนัก ไม่ว่าจะมาจากภายในทำเนียบรัฐบาล ไม่ว่าจะมาจากภายใน 250 ส.ว. ไม่ว่าจะมาจากภายในพรรคพลังประชารัฐ
โยงบทบาทนายจตุพร พรหมพันธุ์ ไปยังนายทักษิณ ชินวัตร
ยิ่งเห็นมวลชนที่เข้าร่วมและมีบทบาทอยู่บริเวณหน้าเวทีส่วนใหญ่คือมวลชน “คนเสื้อแดง” ยิ่งเกิดความหวาดระแวงและเพิ่มมาตรการเข้มตามลำดับ
เริ่มจากนำ พ.ร.ก.ฉุกเฉินมาใช้ ตามมาด้วยยัดเยียดมาตรา 112
คาดหมายว่า การเคลื่อนไหวนับจากวันที่ 7 เมษายน เรื่อยไปของ “ไทยไม่ทน สามัคคีประชาชน เพื่อประเทศไทย” จะเป็นดัชนีชี้ทิศทางว่าจะจัดการอย่างไร
เพราะแนวโน้มที่ “มวลชน” จะเข้ามามีบทบาท “ชี้นำ” ยิ่งเด่นชัด
ความเป็นจริงที่แม้กระทั่งนายจตุพร พรหมพันธุ์ เองก็ไม่อาจปัดปฏิเสธได้คือ มวลชนอันเป็นกำลังหลักและแวดล้อมการเคลื่อนไหวครั้งนี้เป็น “คนเสื้อแดง”
ทั้งยังเป็น “คนเสื้อแดง” ที่ร่วมกับม็อบ “เยาวชน” คนรุ่นใหม่มาอย่างต่อเนื่อง
ในเดือนกรกฎาคม 2563 อาจจะยังเข้าร่วมไม่มากนัก แต่นับจากเดือนกันยายนเป็นต้นมา ปริมาณ “คนเสื้อแดง” ก็กลายเป็นองค์ประกอบที่ขาดไม่ได้
ไม่ว่าจะเป็นแยกราชประสงค์ ไม่ว่าจะเป็นอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ
บรรดาป้าๆ “คนเสื้อแดง” เหล่านี้ไม่เพียงแต่จะสามัคคีกันมาร่วมอย่างต่อเนื่อง หากแต่ยังชวนหลานๆ เข้ามาเป็นกำลังอย่างคึกคักและเข้มข้น
กระทั่งสร้างปรากฏการณ์ “ชู 3 นิ้ว” ขึ้นอย่างแหลมคม
แม้จะนำไปสู่การสั่งห้ามมิให้มีการ “ชู 3 นิ้ว” ในที่ชุมนุมอย่างเด็ดขาด แต่เมื่อประสบปฏิกิริยาตามมาอย่างร้อนแรง แกนนำก็จำเป็นต้องผ่อนปรน
และบางคนก็ต้องออกมากล่าวคำ “ขอโทษ”
กล่าวสำหรับนายจตุพร พรหมพันธุ์ เองแม้ในเบื้องต้นจะยึดกุมแต่เพียงธงขับไล่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา อย่างเป็นด้านหลัก
แต่ก็ค่อยๆ ขยายกรอบและขอบเขตกว้างขึ้น
กระทั่งให้ปฏิบัติการ “ชู 3 นิ้ว” ในห้วงแห่งการเคารพธงชาติเป็นเรื่องธรรมดา และเริ่มเอ่ยถึงบทบาทของคนรุ่นใหม่ที่ถูกจับกุมอยู่ในกรงขังมากยิ่งขึ้น
เท่ากับชี้ให้เห็นว่า “มวลชน” เริ่มมีบทบาทในการกำหนด “ทิศทาง” ของการเคลื่อนไหว