CPEC : ใครได้-ใครเสีย? ในผลประโยชน์การค้าแถบเอเชียกลาง/ บทความพิเศษ

บทความพิเศษ

 

CPEC : ใครได้-ใครเสีย?

ในผลประโยชน์การค้าแถบเอเชียกลาง

 

การสร้างเขตเศรษฐกิจพิเศษ ถือเป็นการลงทุนใหญ่เพื่อสร้างเครื่องมือทำรายได้ให้กับประเทศ

แต่สำหรับประเทศกำลังพัฒนา การลงทุนโครงการใหญ่ลักษณะนี้ ถือเป็นการเดิมพันสำคัญ ว่าจะคุ้มทุนหรือสูญเปล่าจนถึงขั้นประเทศเสียศูนย์ ถือเป็นเรื่องเสี่ยงระดับหนึ่ง

นั้นจึงทำให้เห็นว่าเขตเศรษฐกิจพิเศษหลายแห่ง ล้วนมีจุดเริ่มต้นจากข้อตกลงระหว่างประเทศ ไม่ว่าระดับทวิภาคีหรือพหุภาคี การร่วมทุนจึงเกิดขึ้นเสมอ ไม่ว่าเขตเศรษฐกิจพิเศษทวาย เขตเศรษฐกิจพิเศษตะวันออก หรือแม้แต่เขตเศรษฐกิจพิเศษจีน-ปากีสถาน

แต่การทำข้อตกลงในทุกๆ เรื่องล้วนมีข้อแลกเปลี่ยน และการตกลงไม่เคยได้มาฟรีๆ จึงเป็นเรื่องที่แต่ละฝ่ายต้องรอบคอบ เพราะไม่ได้ผูกมัดแค่รัฐบาล แต่รวมถึงประชาชนในประเทศนั้นด้วย

 

เขตเศรษฐกิจพิเศษจีน-ปากีสถาน หรือ CPEC ระเบียงเศรษฐกิจที่ถือเป็นส่วนหนึ่งของมหายุทธศาสตร์หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทางของจีน ได้พัฒนาพื้นที่ไปถึงขั้น 2 แล้ว นับตั้งแต่ลงนามเริ่มโครงการในปี 2556 นับเป็นเวลาร่วม 7 ปี

และในปี 2563 CPEC ได้กลายเป็นโครงการที่มีมูลค่าถึง 6.2 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐไปแล้ว

จีนกับปากีสถานร่วมมือกันในหลายมิติทั้งความมั่นคง การเมือง เศรษฐกิจ วัฒนธรรม CPEC ถือเป็นดอกผลเชิงรูปธรรมที่สุดที่กำลังเป็นรูปเป็นร่าง ทั้งพื้นที่พิเศษ ระบบคมนาคม พลังงาน ที่ต้องเร่งพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานขนานใหญ่นั้น เพราะปากีสถานอยู่ในจุดสำคัญที่ออกสู่ทะเลอาระเบีย และภาคพื้นดินที่ล้อมด้วยประเทศคู่แข่งอย่างอินเดีย อัฟกานิสถานและอิหร่าน

นั่นทำให้ปากีสถานมีความสำคัญเชิงยุทธศาสตร์สำหรับจีน

ซินหัวรายงานคำกล่าวของชาห์ มาห์มูด คอเรชี รัฐมนตรีต่างประเทศปากีสถาน เมื่อ 19 มีนาคม เรียก CPEC ว่าเป็นโครงการเชื่อมต่อที่สำคัญอย่างยิ่ง เป็นสัญลักษณ์ความร่วมมือเชิงยุทธศาสตร์ของ 2 ประเทศ

“นอกจากการมีส่วนช่วยในการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของปากีสถานแล้ว CPEC ยังพร้อมที่จะสนับสนุนความมั่งคั่งในภูมิภาค” รัฐมนตรีต่างประเทศปากีสถานกล่าว

 

เสน่ห์ของ CPEC ได้ดึงดูดประเทศในตะวันออกกลางรวมถึงไทย ให้หันมาสนใจจับมือทำการค้ากับปากีสถานด้วย

อรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า เมื่อ 17 มีนาคมที่ผ่านมาได้ประชุมผ่านระบบทางไกลนัดพิเศษกับนายเนามัน อัสลาม รองปลัดกระทรวงพาณิชย์ของปากีสถาน เพื่อเร่งเจรจาประเด็นคงค้างต่างๆ เพื่อให้เกิดความคืบหน้าและมีข้อสรุปโดยเร็วที่สุด

ปากีสถานเป็นประเทศที่มีความน่าสนใจ เป็นตลาดใหญ่ที่มีประชากรกว่า 200 ล้านคน สูงเป็นอันดับ 6 ของโลก โดยประชากรกว่า 30 ล้านคน เป็นกลุ่มที่มีกำลังซื้อสูง และมีทัศนคติที่ดีต่อสินค้าไทย ถือเป็นตลาดศักยภาพของไทย

นอกจากนี้ ยังมีการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานร่วมกับจีน ภายใต้โครงการระเบียงเศรษฐกิจจีน-ปากีสถาน (China-Pakistan Economic Corridor : CPEC) อาทิ ถนน ทางยกระดับ ท่าเรือน้ำลึก และเขตเศรษฐกิจพิเศษ ซึ่งจะเป็นประตูการค้าสำคัญของไทยสู่เอเชียกลางได้

ถือเป็นทัศนคติเชิงบวกที่มาจาก CPEC

 

ทว่าเมื่อเป็นความร่วมมือกับจีนแล้ว สิ่งที่น่ากังวลนั่นคือ การเจอข้อผูกมัดที่ทำให้ประเทศคู่สัญญาต้องตกลงจำยอมอย่างเลี่ยงไม่ได้ และปัจจัยภายในที่ทำให้ผลประโยชน์ไม่กระจายไปให้กับประชาชนได้อย่างทั่วถึง

อามีร์ ฮูเซน ราน่า ชี้ว่า CPEC ล้มเหลวในการส่งผลต่อภูมิทัศน์ทางสังคมและการเมืองของปากีสถาน ความมั่งคั่งไปตกอยู่กับชนชั้นนำทางการเมืองหรือกองทัพของปากีสถาน ไม่สามารถแสดงศักยภาพแท้จริงของ CPEC ได้เต็มที่

ก่อนหน้านี้มีรายงานของคณะกรรมการปราบปรามทุจริตของปากีสถานชี้ถึงการทุจริตในโครงการของ CPEC อย่างกว้างขวางกับผู้เกี่ยวข้องทั้งจีนและปากีสถาน ไม่นับรวมทุจริตโครงการสร้างสนามบินนานาชาติแห่งใหม่ หรือการติดสินบนในวงการเมืองและทหารปากีสถาน

ไม่เพียงเท่านี้ CPEC ถือเป็นโครงการที่ดำเนินมาเกือบ 10 ปีแล้ว คนหนุ่ม-สาวและกลุ่มธุรกิจในปากีสถานที่ควรยินดีกับ CPEC เพราะนำไปสู่การจ้างงานหรือมีรายได้ กลับเจออุปสรรคทั้งเงื่อนไขทักษะความเชี่ยวชาญที่สูง หรือบริษัทจากจีนที่ทำโครงการก็ไม่ได้จ้างคนในท้องถิ่น กลับดึงชาวจีนหลายหมื่นจากประเทศบ้านเกิดมาทำงานในโครงการต่างๆ แทน

CPEC จึงกลายเป็นตัวอย่างที่อธิบายรูปแบบความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับปากีสถานในลักษณะ ‘Piggyback’ ซึ่งเป็นคำสแลงหมายถึง

การใช้บางคนหรือบางสิ่งเพื่อทำให้สำเร็จหรือได้เปรียบกว่า