Virtual Reality โลกเสมือนที่วัดความเป็นคุณ / Cool Tech จิตต์สุภา ฉิน

จิตต์สุภา ฉินFacebook.com/JitsupaChin

Cool Tech

จิตต์สุภา ฉิน

@Sue_Ching

Facebook.com/JitsupaChin

 

Virtual Reality

โลกเสมือนที่วัดความเป็นคุณ

 

โลกเสมือนจริงเป็นสถานที่ที่เราสามารถสร้างสถานการณ์ กฎเกณฑ์ หรือปฏิกิริยาโต้ตอบอะไรก็ได้ขึ้นมาเพื่อประโยชน์หลายๆ อย่าง จริงอยู่มันสามารถทำให้เราเล่นเกมได้เต็มอรรถรสและสมจริงสมจังขึ้น

แต่อีกประโยชน์ที่เราอาจจะคาดไม่ถึงมาก่อนก็คือโลกเสมือนจริงจะช่วยให้เราสำรวจได้ว่าตัวเราเองเป็นคนที่มีระดับความฉลาดทางอารมณ์แค่ไหน

ลองมาดูสถานการณ์ตัวอย่างกันนะคะ

 

สถานการณ์ตัวอย่างที่ 1 เรากำลังยืนอยู่ในโรงยิมเตรียมพร้อมจะเล่นบาสเกตบอล ตรงหน้าเรามีผู้เล่น 3 คนกำลังยืนขวางไม่ให้เราวิ่งไปถึงโกลของทีมคู่แข่งได้ บอลอยู่ในมือของเรา และเรามีตัวเลือกอยู่หลายทาง

เราจะวิ่งฝ่าไปคนเดียวด้วยการวิ่งอ้อมผู้เล่นเหล่านั้นตรงดิ่งไปที่โกล

หรือเราจะหันไปหาเพื่อนร่วมทีมทางขวาและส่งบอลไปให้

เราจะเล่นสถานการณ์นี้ซ้ำกี่ครั้งก็ได้ จะเปลี่ยนกลยุทธ์ทุกครั้งที่เล่นก็ได้โดยที่เรามีเวลาเพียง 1 นาทีที่จะทำคะแนนให้ได้มากที่สุด

สถานการณ์ตัวอย่างที่ 2 เรายืนอยู่บนดาดฟ้าของตึกสักแห่งที่ตั้งอยู่ใจกลางเมือง ภารกิจของเราก็คือภายในเวลาที่กำหนดเอาไว้ เราจะต้องพูดให้คน 3 คนที่ยืนอยู่ด้วยกันกระโดดข้ามไปอีกฝั่งโดยที่ไม่ร่วงตกลงไปกระแทกพื้นเบื้องล่าง คุณมีสิ่งของ 4 อย่างที่สามารถหยิบมาช่วยได้ ร่มชูชีพ ซองจดหมายปริศนา ปืน และทองหนึ่งแท่ง

สถานการณ์เหล่านี้เป็นส่วนหนึ่งของโลกเสมือนจริงที่ออกแบบโดย Oddity VR บริษัทสตาร์ตอัพที่ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2020 เพียงแค่เราสวมอุปกรณ์ครอบศีรษะเอาไว้ เราก็จะรู้สึกเหมือนวาร์ปไปอยู่กลางสนามบาสเกตบอลหรือบนตึกสูงที่ว่าและเห็นทุกอย่างดำเนินอยู่รอบๆ ตัวเราราวกับกำลังเกิดขึ้นจริงๆ

ทั้งหมดนี้แม้จะออกแบบมาคล้ายวิดีโอเกม แต่วัตถุประสงค์ที่แท้จริงคือการให้บริษัทต่างๆ ได้ใช้เพื่อทดสอบทักษะด้านอารมณ์และการเข้าสังคมของพนักงานที่กำลังจะรับเข้าทำงาน

แตกต่างจากการให้ผู้ที่มาสมัครงานทำข้อสอบแบบกาตัวเลือกที่นิยมทำกันมาโดยตลอดราวฟ้ากับเหว

 

อัลกอริธึ่มที่พัฒนาโดย Oddity VR ออกแบบมาให้สามารถวิเคราะห์ทุกรูปแบบพฤติกรรมที่เกิดขึ้นและตั้งข้อสังเกตโดยมีฐานมาจากทักษะประเภทซอฟต์สกิลทั้งหมด 15 รูปแบบ ทั้งความฉลาดทางอารมณ์ ความเห็นอกเห็นใจ ความสามารถในการแก้ปัญหาที่ซับซ้อน ทักษะการเจรจา เป็นต้น

สถานการณ์จำลองในโลกเสมือนจริงมีทั้งหมด 12 สถานการณ์ บริษัทสามารถสร้างโปรไฟล์ขึ้นมาได้ว่าจะใช้สถานการณ์ไหนในการวัดทักษะของคนที่มาสมัครงาน หรือจะใช้เพื่อวัดทักษะของพนักงานที่มีอยู่แล้วก็ได้

แต่ละสถานการณ์ออกแบบมาให้ประเมินสิ่งที่แตกต่างกันออกไป

อย่างเช่น สถานการณ์แรกที่เล่นบาสเกตบอลนั้นออกแบบมาให้ประเมินความสามารถของพนักงานในการทำงานเป็นทีม

ส่วนสถานการณ์ที่สองออกแบบมาให้เผยลักษณะของการเป็นผู้นำและความสามารถในการจัดการที่อยู่ในตัวพนักงานแต่ละคน

Oddity บอกว่าจุดประสงค์ของการสร้างโลกเสมือนจริงนี้ไม่ได้ทำมาเพื่อเอาไว้ใช้คัดคนเข้าหรือออก แต่จะเหมาะเป็นอย่างมากที่จะใช้เพื่อดึงให้ทักษะของพนักงานโดดเด่นขึ้นมาจะได้รู้ว่าใครมีจุดแข็งตรงไหน หรือมีอะไรที่จะต้องปรับปรุงบ้าง

ส่วนสาเหตุที่ออกแบบโปรแกรมมาให้ใช้เพื่อประเมินทักษะประเภทซอฟต์สกิลนั้นก็เพราะว่าบริษัทเชื่อว่าทักษะเหล่านี้นี่แหละที่จะเป็นอนาคตของโลกการทำงานที่แท้จริง

ผู้ก่อตั้ง Oddity บอกว่าเป็นที่รู้กันว่าทักษะที่เป็นความรู้ทางเทคนิคจะด้อยค่าไปภายในเวลาไม่กี่ปีข้างหน้า และทักษะที่จะต้องทำให้โดดเด่นขึ้นมาจะกลายเป็นทักษะที่เกี่ยวข้องกับอารมณ์และการเข้าสังคมทั้งหลาย

ดังนั้น โปรแกรมของ Oddity จะช่วยให้บริษัทเห็นศักยภาพภายในตัวของพนักงานที่อาจจะไม่เคยได้ถูกใช้มาก่อน หรือไม่เคยรู้มาก่อนว่าแฝงอยู่ในตัวใครแต่ละคนบ้าง

 

บริษัทเดียวกันนี้ก็ยังได้พัฒนาโมดูลสำหรับการทำงานจากระยะไกลเพื่อช่วยให้พนักงานรับมือกับความเครียดที่อาจจะเกิดขึ้นจากการทำงานจากที่บ้าน โดยสร้างสถานการณ์จำลองขึ้นมาให้ผู้สวมใส่เห็นตัวเองอยู่ในห้องอพาร์ตเมนต์และกำลังวิดีโอคอลล์กับเพื่อนร่วมงานหรือผู้จัดการอยู่

แต่ในระหว่างการประชุมออนไลน์ก็จะมีสิ่งรบกวนเกิดขึ้นเป็นระยะๆ ไม่ว่าจะเป็นเสียงเด็กร้อง เสียงหมาเห่า หรือมีพนักงานส่งอาหารมากดกริ่ง ซึ่งเป็นสถานการณ์ที่คนทั่วโลกต้องประสบพบเจอแทบจะเป็นรายวันในช่วงล็อกดาวน์ที่ผ่านมา

เห็นแบบนี้ก็พอจะคาดเดาได้ว่าอนาคตของการสัมภาษณ์งานหรือประเมินพนักงานจะไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป บริษัทจะสามารถสร้างสถานการณ์ในรูปแบบไหนก็ได้เพื่อประเมินทักษะที่พนักงานมีอยู่ โดยที่พนักงานจะไม่สามารถเตรียมตัวล่วงหน้าได้

และจะต้องมีปฏิกิริยาโต้ตอบกับสถานการณ์สมจริงสุดๆ ที่เกิดขึ้นตรงหน้าในแบบที่เป็นตัวของตัวเองจริงๆ

 

การสร้างโลกเสมือนจริงยังถูกนำมาใช้ประโยชน์อีกหลายรูปแบบ อย่างเช่น เมื่อปีที่แล้ว Nanyang Technological University ในสิงคโปร์ก็ได้ริเริ่มโปรเจ็กต์ที่นำเทคโนโลยีเสมือนจริงเข้ามาใช้ช่วยฝึกผู้หญิงให้พร้อมรับมือหากถูกล่วงละเมิดทางเพศ

โปรเจ็กต์นี้น่าสนใจมากทีเดียว เมื่อสวมอุปกรณ์แสดงภาพเสมือนจริงแล้ว ผู้หญิงจะได้เห็นตัวเองอยู่ในสถานการณ์จำลองในรูปแบบต่างๆ โดยมีผู้ชายที่เป็นนักแสดงมารับบทบาทผู้ล่วงละเมิศทางเพศ

อย่างการแซวการแต่งกายของผู้หญิงว่าใส่เสื้อซีทรูแล้วถามว่าใส่บราเข้าชุดกับกางเกงในด้วยหรือเปล่า

หรือเพื่อนผู้ชายที่หันมาพูดว่า แหม วันนี้ใส่กางเกงขาสั้นคับติ้วเลยนะ เห็นแล้วอยากบีบก้นจัง

สิ่งที่น่าสนใจคือ การจำลองสถานการณ์แบบเสมือนจริงขึ้นมาในรูปแบบนี้ทำให้ผู้หญิงที่ได้ลองรู้สึกประหลาดใจกับปฏิกิริยาโต้ตอบของตัวเอง

ก่อนทดลองผู้หญิงบางคนมั่นใจมากว่าตัวเองจะสามารถโต้ตอบกลับไปได้อย่างเหมาะสมและกล้าหาญ

แต่เมื่อได้จำลองตัวเองอยู่ในสถานการณ์นั้นจริงๆ กลับพบว่าไม่มีเสียงอะไรเล็ดลอดออกมาจากลำคอเลย

ที่ผ่านมาสิ่งที่ใกล้เคียงที่สุดที่เราพอจะสามารถทำได้ก็คือการผลัดกันเล่นบทบาทสมมุติซึ่งความสมจริงนั้นเทียบเท่าไม่ได้เลยกับการใช้เทคโนโลยีเสมือนจริงเข้ามาช่วย

ในกรณีนี้ผู้หญิงหลายคนได้เรียนรู้ว่ายังไม่เข้มแข็งพอที่จะรับมือกับการล่วงละเมิดทางเพศได้และใช้โลกเสมือนจริงนี่แหละฝึกฝนซ้ำๆ ให้คุ้นเคย หากวันใดเกิดขึ้นกับตัวเองขึ้นมาจริงๆ จะได้พร้อมโต้ตอบกลับไปในแบบที่เหมาะสมและปลอดภัยที่สุด

เมื่อทั้งฮาร์ดแวร์และซอฟต์แวร์ที่ทำให้เราสามารถเข้าถึงโลกเสมือนจริงได้มีราคาที่ถูกลงเรื่อยๆ เราก็น่าจะได้เห็นการหยิบเอาเทคโนโลยีนี้มาใช้ในรูปแบบใหม่ๆ และจะสมจริงขึ้นทุกวัน

จนแทบจะไม่มีสถานการณ์ไหนที่มนุษย์ไม่สามารถจำลองขึ้นมาเพื่อเตรียมพร้อมรับมือของจริงเลยก็ได้