5 G ยกระดับประเทศไทย อย่าเป็นแค่ ‘พิมพ์เขียว’ ที่รางเลือน / บทความเศรษฐกิจ

บทความเศรษฐกิจ

 

5 G ยกระดับประเทศไทย

อย่าเป็นแค่ ‘พิมพ์เขียว’ ที่รางเลือน

 

นับตั้งแต่การประมูลคลื่นความถี่เพื่อใช้งานบนเทคโนโลยี 5 G ตลอดระยะเวลา 1 ปีที่ผ่านมา ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชนต่างร่วมกันขับเคลื่อนเพื่อให้มีการใช้งาน 5 G ให้มีประสิทธิภาพมากที่สุด

ไม่ใช่เพียงใช้งานบนสมาร์ตโฟนเท่านั้น รวมถึงอุปกรณ์ต่างๆ ที่สามารถทำให้เกิดเป็นระบบนิเวศ (Ecosystem) ที่จะยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน ยกระดับภาคอุตสาหกรรมให้เป็น 4.0

พบว่าการดำเนินงานของทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ต่างแข่งขันกันออกโมเดลต้นแบบการใช้งาน 5 G ที่มีความหลากหลาย สามารถประยุกต์ใช้กับหลายภาคอุตสาหกรรม

อย่างกลุ่มบริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ TRUE เปิด “True 5 G Tech Show” ศูนย์กลางความรู้และพัฒนานวัตกรรม 5 G โดยมีจำนวน 6 โซน ที่จะทำให้เห็นภาพรวมของการใช้งาน 5 G

ประกอบไปด้วย

 

1.ยกระดับเมืองอัจฉริยะ เทคโนโลยีเข้ามาช่วยในการบริหารจัดการระบบเมืองหรืออาคารได้อย่างอัจฉริยะ เพิ่มประสิทธิภาพในการดูแลรักษาเมืองหรืออาคารให้ผู้อยู่อาศัยมีความปลอดภัย สะดวกสบาย ช่วยให้สิ่งแวดล้อมและคุณภาพชีวิตของคนเมืองดีขึ้น ส่วนเจ้าของธุรกิจก็สามารถออกแบบและบริหารอย่างมีประสิทธิภาพ ตอบโจทย์การใช้ชีวิต ช่วยให้ธุรกิจเติบโตอย่างยั่งยืน

2. ยกระดับการเกษตรอัจฉริยะ นำเทคโนโลยีเข้ามาบริหารจัดการระบบการเกษตร “เพื่อประเทศชาติเพื่อเกษตรกรไทย” ได้สร้าง Learning Pattern หรือฟาร์มต้นแบบไว้เพื่อให้เกษตรกรไทยได้เรียนรู้และนำเทคโนโลยีต่างๆ โดยใช้ 5 G มาช่วยในการพัฒนาเพื่อการลดต้นทุนและช่วยเพิ่มผลผลิต ตลอดจนยกระดับและสร้างมาตรฐานเกษตรกรรม เพื่อเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันสู่ตลาดโลก

3. ยกระดับการศึกษาอัจฉริยะ เทคโนโลยี MR, AR และ VR และแพลตฟอร์มออนไลน์ การใช้ในวงการการศึกษามากขึ้น เสมือนภาพและตัวหนังสือมีชีวิต ช่วยให้ผู้เรียนเข้าใจและเห็นภาพมาก สร้างจินตนาการ ทำให้เกิดความสนุกสนานและเปิดโลกกว้าง ให้สัมผัสประสบการณ์การเรียนรู้ได้แม้ในเรื่องที่อาจจะเข้าถึงได้ยาก เช่น เรื่องของกระสวยอวกาศนอกโลก ประวัติศาสตร์ศิลปะวัฒนธรรม ไปจนถึงกายวิภาค ที่จะสัมผัสได้ด้วยตัวเองแบบ 360 องศา

4. ยกระดับอุตสาหกรรมอัจฉริยะ องค์กรธุรกิจอุตสาหกรรมยุค 4.0 ใช้เทคโนโลยีและการสื่อสารในยุค 5 G เป็นตัวขับเคลื่อน มีการใช้เทคโนโลยี AR, VR และ IoT เข้ามาช่วยปรับปรุงต้นทุนและประสิทธิภาพการทำงานให้ดีขึ้น รวมทั้งสามารถเก็บข้อมูล นำมาวิเคราะห์เพื่อแก้ไขปัญหาต่างๆ ช่วยลดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็น สามารถบริหารทรัพยากรอย่างมีคุณภาพ ประหยัดพลังงานและช่วยให้สิ่งแวดล้อมดีขึ้น ส่งเสริมธุรกิจให้เติบโตอย่างยั่งยืน

5. ยกระดับคุณภาพชีวิตอัจฉริยะ ยกระดับคุณภาพชีวิตของคนไทย สนับสนุนการดูแลสุขภาพครบวงจร นำเทคโนโลยีต่างๆ ผสานการทำงานผ่านเครือข่าย 5 G เข้ามาช่วยตั้งแต่การดูแลตัวเองจากที่บ้าน จนกระทั่งเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล ตลอดจนช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการรักษาพยาบาลและช่วยบุคลากรทางการแพทย์

6. ยกระดับร้านค้าปลีกอัจฉริยะ ระบบจัดการร้านค้ายุคใหม่แบบอัจฉริยะ ผสมผสานเทคโนโลยีในด้านต่างๆ ทั้ง AI และ Analytic เชื่อมโยงผ่านเครือข่ายอัจฉริยะ เพิ่มประสบการณ์ที่น่าประทับใจในการช้อปปิ้ง สะดวกสบาย และปลอดภัย พร้อมตอบโจทย์ธุรกิจ ช่วยให้รู้จักและเข้าใจความต้องการของลูกค้าอย่างแท้จริง ช่วยเพิ่มรายได้ ลดต้นทุน และยกระดับบริการ

ทำให้เกิดความแตกต่างและสามารถแข่งขันได้ในตลาดธุรกิจค้าปลีกไทยและต่างประเทศ เพื่อการเติบโตที่ยั่งยืนต่อไปในอนาคต

 

ในส่วนของภาครัฐ ผลักดันผ่านคณะกรรมการขับเคลื่อน 5 G แห่งชาติ (บอร์ด 5 G) ซึ่งประชุมครั้งล่าสุดเมื่อวันที่ 8 มีนาคมที่ผ่านมา ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ได้อนุมัติโครงการสำคัญ วางเป้าหมายเป็นการกระตุ้นให้เกิดรับรู้ถึงศักยภาพของเทคโนโลยี 5 G เกิดการถ่ายทอดองค์ความรู้ สามารถใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยี 5 G ขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมของประเทศได้อย่างทั่วถึง เท่าเทียม เต็มประสิทธิภาพ

ที่สำคัญคือ ช่วยลดความเหลื่อมล้ำในสังคม โดยผ่านด้านคมนาคม

โดยเริ่มจากโครงการสถานีอัจฉริยะ (Smart Station) ณ สถานีกลางบางซื่อ

ด้านการศึกษา โครงการนำร่อง Smart Campus ร่วมกับมหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์

ด้านการเกษตร โครงการนำร่องเกษตรดิจิตอล (Smart Agriculture) เพื่อการพัฒนาระบบส่งเสริมการเพาะเลี้ยงสาหร่ายผมนางและปลากะพงขาวในลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา

และโครงการนำร่องเกษตรดิจิตอลด้วยเทคโนโลยี 5 G สำหรับการบริหารจัดการน้ำอัจฉริยะ (Smart Irrigation) ร่วมกับมูลนิธิปิดทองหลังพระ สืบสานแนวพระราชดำริ ณ จังหวัดอุดรธานี

อีกด้านคือ อุตสาหกรรม โครงการนำร่อง โรงงานอัจฉริยะ (Smart Factory) ด้วยเทคโนโลยี 5 G ณ โรงงานในเครือบริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (PTTGC) อยู่บนพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) และด้านเมืองอัจฉริยะ โครงการนำร่องบ้านฉาง 5 G สมาร์ทซิตี้ (5 G Smart City)

โครงการนำร่องบ้านฉาง 5 G สมาร์ทซิตี้ โมเดลที่ได้รับการสนับสนุนและจับมือกันของรัฐกับเอกชน โดยติดตั้งระบบเสาอัจฉริยะ 5 G (5 G Smart pole) ในพื้นที่เทศบาลตำบลบ้านฉาง ปัจจุบันมีแล้ว 5 ต้น ตามแผนในอนาคตจะติดตั้งให้ครบ 146 ต้น ครอบคลุมทั้งอำเภอบ้านฉาง

ตัวเสาประกอบไปด้วยโซลาร์เซลล์ หรือกังหันลม เป็นแหล่งพลังงานไฟฟ้า โดยใช้พลังงานหมุนเวียน, อุปกรณ์รับสัญญาณ 5 G จากเสาโครงข่ายหลัก, อุปกรณ์กระจายสัญญาณอินเตอร์เน็ตความเร็วสูง ให้บริการฟรีไวไฟ, กล้องวงจรปิดอัจฉริยะปัญญาประดิษฐ์มุมสูง-มุมต่ำ สามารถตรวจจับใบหน้า ป้ายทะเบียนรถได้ เป็นประโยชน์ในการติดตามเหตุอาชญากรรมได้

ระบบการตรวจจับระดับสารพิษในอากาศและค่าฝุ่น PM 2.5 ตลอด 24 ชั่วโมง สามารถส่งข้อมูลให้เจ้าหน้าที่ภาครัฐและเอกชน เพื่อเฝ้าระวังและสามารถแก้ไขสถานการณ์ได้ทันที ป้ายประชาสัมพันธ์ LED และลำโพงเพื่อ สื่อสารกับผู้คน และปุ่มขอความช่วยเหลือ (SOS) พร้อมกล้องวิดีโอคอลล์ได้

ซึ่งข้อมูลที่รับมาจากเสาอัจฉริยะจะมีการส่งมายังศูนย์บัญชาการที่เทศบาล ซึ่งจะมีตัวจอประมวล (Dashboard) ผลรายงานข้อมูลอยู่ตลอดเวลา ทำให้เจ้าหน้าที่สามารถรับรู้เหตุได้ตลอดเวลา อีกทั้งมีการส่งข้อมูลบางอย่าง เช่น วิดีโอวงจรปิด ให้กับสถานีตำรวจในพื้นที่เพื่อติดตามเฝ้าดูเหตุการณ์ต่างๆ ได้

 

อีกเรื่องที่ต้องทำควบคู่กัน คือการพัฒนาบุคลากรเพื่อให้ตอบสนองกับการใช้งานเทคโนโลยี 5 G ตัวอย่างหนึ่งคือความร่วมมือของสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) หรืออีอีซี กับบริษัท หัวเว่ย เทคโนโลยี (ประเทศไทย) จำกัด ได้ลงนามบันทึกความร่วมมือสร้างทรัพยากรมนุษย์ และระบบนิเวศ รองรับการพัฒนาอุตสาหกรรม ICT สำหรับโลกยุค 5 G เพื่อส่งเสริมการพัฒนาบุคลากรรองรับเทคโนโลยี 5 G ยกระดับขีดความสามารถด้านดิจิตอลของประเทศไทย

กรอบความร่วมมือมุ่งไป 4 ด้านสำคัญ ได้แก่

1. สร้างฐานความรู้ ผู้เชี่ยวชาญ และแพลตฟอร์ม สำหรับการพัฒนาทักษะด้านเทคโนโลยี (ICT) จากการจัดตั้ง Huawei ASEAN Academy แห่งแรกของประเทศไทยในพื้นที่อีอีซี มีศูนย์ปฏิบัติการภายในมหาวิทยาลัยบูรพา เพื่อเป็นสถาบันฝึกอบรมหลักเพิ่มศักยภาพบุคลากรด้านดิจิตอลของไทย

2. สร้างสภาพแวดล้อมให้เอื้อต่อการการพัฒนา ICT นำองค์ความรู้และประสบการณ์จากผู้ให้บริการไปยังภาคอุตสาหกรรมเพื่อใช้ 5 G ไปเกิดประโยชน์สูงสุด

3. การฝึกอบรม เสริมศักยภาพด้าน ICT และ 5 G ตามหลักการพัฒนาบุคลากรตรงความต้องการ (Demand Driven) สร้างโอกาสให้คนรุ่นใหม่ เข้าสู่การฝึกปฏิบัติ สร้างงานรายได้ดี

4. สร้างการรับรองมาตรฐาน (Certification) อำนวยความสะดวกแก่อุตสาหกรรมเป้าหมาย (New S-Curve)

 

จะเห็นได้ว่ามีการใช้งาน 5 G ได้หลายรูปแบบ ที่จะช่วยส่งเสริมคุณภาพชีวิตของประชาชน ให้มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น และกลายเป็นปัจจัย 6 ของชีวิต

ผลพิสูจน์จากการแพร่ระบาดของโควิด-19 จนทำให้วิถีการทำงานและความเป็นอยู่เปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว อินเตอร์เน็ตและอีคอมเมิร์ซ เข้ามาเป็นความจำเป็นที่ทุกคนต้องเรียนรู้ที่จะใช้งาน

เพราะเกือบทุกอย่างสั่งการในมือถือ

ธุรกิจที่เกี่ยวข้องเกิดขึ้นสะพัดเป็นแสนๆ ล้านบาทในเวลาปีเศษ ล้วนมาจากเทคโนโลยี 5 G ที่เสถียรและรวดเร็วจนเป็นจุดเปลี่ยนของธุรกิจต่างๆ

จากนี้ก็เหลือว่าหลังจากโควิด-19 คลี่คลายภาครัฐจะพลิกวิกฤตให้เป็นโอกาสอย่างไรที่จะดึง 5 G มาลดความเหลื่อมล้ำตามนโยบาย และผลักดัน 5 G ให้ก้าวไปอีกขั้นได้อย่างไร

ที่ผ่านมาเอกชนรุดหน้าไปไกล จากนี้ก็เหลือบทบาทของภาครัฐจะผลักดันการเข้าถึงเทคโนโลยี สนับสนุนให้พื้นที่ห่างไกลเข้าถึงอินเตอร์เน็ตฟรีและสมาร์ตโฟนฟรี

รวมถึงนโยบายต่างๆ ที่ค้างคารอให้คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติชุดใหม่ได้สะสางต่อ ที่ดูเหมือนรางเลือนมานาน!!