ธุรกิจพอดีคำ : “ออริจินัล”

วันก่อนผมได้มีโอกาสคุยกับเพื่อนคนหนึ่งในที่ทำงาน

“วิทย์” เป็นคนตั้งใจทำงาน

หน้าที่หลักของเขาคือ พิมพ์เอกสารสำคัญ ให้กับทีมงานเรา

เอกสารขออนุมัติงบประมาณ เอกสารทำสัญญา ต่างๆ

เอกสารที่ต้องใช้ความพยายาม ใช้ความคิด กว่าที่จะออกมาได้สักหนึ่งอัน

วันก่อน “วิทย์” เดินออกมาจากห้องของหัวหน้าเขาด้วยใบหน้าบึ้งตึง

ผมถาม “เฮ้ย เป็นอะไรวะวิทย์ หน้าบูดเชียว งานเข้าหรอวะ”

“เออดิวะ เจ๊แกบอกว่า อยากให้ไปปรับจดหมาย ให้มันน่าอ่านหน่อย” วิทย์ตอบ

ผมสงสัย “เอกสารงบประมาณ สัญญา เนี่ยนะ”

“นั่นดิ เอกสารสัญญานะ ไม่ใช่บทนิยาย จะมาต้องการความคิดสร้างสรรค์ อะไรนักหนา” วิทย์เสริม

ถ้าอยากได้ สงสัยจะต้องไปจ้าง “เช็คสเปียร์ (Shakespear)” มาเขียนให้แล้วละมั้ง

ผมยิ้มในใจ แล้วตอบ

เรื่องนี้ “เช็คสเปียร์” อาจจะช่วยไม่ได้ก็ได้นะเพื่อน

วิทย์ทำหน้างงๆ ???.

อย่างที่หลายท่านน่าจะพอทราบ

ผมเป็น “หนอนหนังสือ” ทีเดียวครับ

ไปห้างที่ไหน ต้องขอแวะร้านหนังสือก่อน อดไม่ได้

เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ได้หนังสือมาหนึ่งเล่ม

ไม่ใช่เป็นหนังสือใหม่ซะทีเดียว

ที่ซื้อ เพราะ “คำนิยม” โดนใจครับ

ไม่ใช่ที่ “เนื้อหา” แต่เป็นที่ “คนเขียน”

ริชาร์ด แบรนสัน (Richard Brandson) เจ้าของแบรนด์ Virgin

เชอริล แซนด์เบิร์ก (Sheryl Sandberg) ซีโอโอหญิงสุดแกร่งของบริษัท Facebook

ปีเตอร์ ทีล (Peter Thiel) ผู้ก่อตั้งสตาร์9อัพพันล้าน Paypal และผู้เขียนหนังสือเกี่ยวกับสตาร์9อัพ “From Zero to One” ที่โด่งดังไปทั่วโลก

และอีกหลายคน ?. ต่างแนะนำหนังสือเล่มนี้

หนังสือที่มีชื่อว่า “ดิ ออริจินัล (The Original)”

เขียนโดยศาสตราจารย์ชื่อดัง นามว่า “อดัม แกรนท์ (Adam Grant)”

ชื่อหนังสือ แปลตรงตัวว่า “ต้นกำเนิด (Original)”

เขาเอาเรื่องราวของบุคคลทั่วโลก ที่สร้างสรรค์อะไรใหม่ๆ ให้โลกนี้

เป็นต้นกำเนิดของ “ความคิด” และสิ่งต่างๆ ที่มีอยู่ในปัจจุบัน

มาย่อย ให้เกิด “บทเรียนรู้” ว่า

คนเหล่านี้เขามีคุณสมบัติอย่างไร

ถ้าพูดถึงคนในวงการ “ดนตรีคลาสสิค” ที่เป็น “ออริจินัล”

รับรองว่า ชื่อของบุคคลในตำนานสองคน คงจะหนีไม่พ้น

“โมสาร์ท (Mozart) และ บีโธเฟน (Beethoven)”

นักแต่งเพลง นักดนตรีชื่อดัง

เจ้าของผลงานติดหูหลายๆ อัน

ไม่ว่าจะเป็น ซิมโฟนี (Symphony) โซนาตา (Sonata) และอื่นๆ อีกมากมาย

คำถามครับ

ถ้าคุณต้องการจะแต่งเพลงคลาสสิคที่ดีที่สุดในโลกเพลงหนึ่ง

คุณจะ “จ้าง” โมสาร์ท หรือ บีโธเฟน ในการแต่งเพลงนี้ของคุณขึ้นมาหรือไม่

หลายท่านอาจจะบอกว่า จ้างสิ ก็เขาเก่งระดับโลก ขนาดนั้น

แต่หารู้ไม่ว่า

โมสาร์ท และ บีโธเฟน นั้น รวมๆ กันแล้ว

ประพันธ์เพลงเอาไว้เป็นพันๆ เพลง

แต่ที่ ดังคับฟ้า พลุแตก ทำให้พวกเขาเป็นตำนาน มีแค่ไม่กี่สิบเพลง

ที่เก้าร้อยกว่าเพลงที่เหลือ ไม่ค่อยจะมีคนรู้จักด้วยซ้ำ

อัตราส่วนความสำเร็จ ไม่ถึง 10%

ถ้าเราพูดถึงผล”านการวาดภาพที่โด่งดังในประวัติศาสตร์มนุษยชาติ เป็น “ออริจินัล”

เราคงต้องพูดถึง “ปิกัสโซj (Picasso)”

จิตรกรระดับโลก ที่วาดภาพเป็นรูปทรงแปลกๆ แนวไร้ท่วงท่า โด่งดังไปทั่วโลก

คำถามเดิม ถ้าคุณอยากได้ภาพสวยๆ สักภาพ ตอนที่ “ปิกัสโซ” ยังมีชีวิตอยู่

เราจะจ้างเขาเขียนในราคาแพงมั้ย

ปิกัสโซ่นั้น มีผลงานภาพระบายสีกว่า 1,800 ชิ้น

มีผลงาน “รูปปั้น” กว่า 1,200 ผลงาน

ผลงาน ด้าน “เซรามิค” กว่า 2,800 ชิ้น

และ “ภาพวาด” กว่า 12,000 ชิ้น

แต่ที่โด่งดัง เรารู้จักกัน ก็มีอยู่ไม่กี่สิบชิ้น เช่นกัน

อัตราส่วน ผลงานที่โด่งดัง ต่อปริมาณผลงานทั้งหมดของ “ปิกัสโซ่” นั้น

เรียกได้ว่า “ต่ำมาก”

ถ้าเผลอไปจ้าง ก็เหมือนซื้อ “ล็อตเตอรี่”

น่าจะถูกยาก

เรารู้จัก “อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์” หลังจากทฤษฎีสัมพันธภาพ (Relativity Theory)

หนึ่งในทฤษฏีที่ทำให้เขาได้รางวัล “โนเบล ไพรส์ (Nobel Prize)”

เป็น “ออริจินัล” ตัวพ่อ

มีชื่อเสียงไปทั่วโลก และได้รับสมญานามว่า “อัจฉริยะ”

หากแต่ว่า “ไอน์สไตน์” เอง ก็เคยได้ออกผลงานวิจัยมาแล้วกว่า 248 งานวิจัย

แต่ไม่มีคนรู้จักเลย

ไม่ใช่เพราะ คนไม่เห็น

แต่เพราะ ผลงานนั้น ไม่มี “คุณค่า”

เป็นงานวิจัยห่วยๆ ที่คนไม่ใส่ใจ

โมสาร์ท บีโธเฟน ปิกัสโซ่ ไอน์สไตน์

บุรุษสี่คน ที่ต่างเป็น “ออริจินัล” ในแต่ละสาขาวิชาของตน

ล้วนมีอัตราประสบความสำเร็จในงานของตัวเอง “ต่ำเตี้ยเรี่ยดิน”

บางคน ไม่ถึง 5% ด้วยซ้ำ

แต่ทำไม พวกเขาถึงได้ถูกขนานนามว่าเป็น “อัจฉริยะ”

คำตอบคือ “ทำเยอะ”

ทำไปเรื่อยๆ เรียนรู้กับ “ความล้มเหลว”

จน “สำเร็จ” ในที่สุด

อัจฉริยะ ไม่ใช่เรื่องของ “คุณภาพ” ซะทีเดียว

“ปริมาณ” ก็สำคัญไม่แพ้กัน

อยากจะเปลี่ยนโลก สร้าง “นวัตกรรม” เหมือนพวกเขา

ต้องกล้าล้มเหลว และ “ลงมือทำ”

“วิทย์” เพื่อนรัก

เช็คสเปียร์ส (Shakespears)เอง ก็มีบทละครดังๆ อยู่ประมาณ “สิบกว่า” เรื่อง

แต่เขาผลิตผลงานตลอดชีวิต เกือบ “สองร้อย”

จะจ้าง “เช็คสเปียร์” เขียนบทละครให้

ความสำเร็จ อยู่ที่ 5% เท่านั้น

ปริมาณ ทำให้เกิด “คุณภาพ”

ความสัมพันธ์ที่ซับซ้อนของการสร้าง “นวัตกรรม”