การผลิต การบริโภคและสงคราม : วิกฤติศตวรรรษที่21 [ อนุช อาภาภิรม ]

มองโลกปี 2017 และหลังจากนั้น (21)

การผลิต การบริโภคและสงคราม

มีกิจกรรมสามอย่างที่กำหนดชะตากรรมของอารยธรรมและประเทศชาติทั้งหลายมาตั้งแต่โบราณ และในปัจจุบันยิ่งเข้มข้นขึ้น ได้แก่ การผลิต การบริโภคและสงคราม

ไม่มีครั้งใดในประวัติศาสตร์ที่มนุษย์มีความสามารถในการผลิตสูงกว่านี้

ไม่มีครั้งใดที่มนุษย์บริโภคโลกได้รวดเร็วเท่า (ขณะนี้มีผู้คำนวณว่าโลกต้องใช้เวลาถึง 1.5 ปี เพื่อผลิตทรัพยากรสำหรับมนุษย์บริโภคในเวลาเพียงหนึ่งปี หรือต้องใช้โลกหนึ่งใบครึ่งเพื่อสนองความต้องการบริโภคของมนุษย์ ดู worldwildlife.org)

และก็ไม่มีมหาสงครามใดจะรุนแรงเท่ามหาสงครามโลกครั้งที่สามที่มนุษย์กำลัง “บ่ม” ให้เกิดขึ้น เรามาถึงจุดนี้ได้อย่างไร?

เรื่องเริ่มต้นอย่างง่ายๆ ว่า มนุษย์ทำมาหากินด้วยการผลิตใช้เครื่องมือมานานนับล้านปี ในระหว่างนั้นก็ได้พัฒนาเครื่องมือและวิธีการผลิตให้มีประสิทธิภาพขึ้น

จนเมื่อราว 10,000 ปีมานี้ มีการก้าวกระโดดใหญ่ที่เรียกว่า “การปฏิวัติการเกษตร” สร้างความมั่งคั่งขึ้นเป็นอันมาก

เกิดการมีเจ้าของและการแบ่งงานกันทำที่ซับซ้อน แบ่งผู้คนเป็นชนชั้นสูงกับชนชั้นล่าง ชนชั้นสูงรวบความมั่งคั่งและปัจจัยการผลิตเป็นของตน เป็นผู้อยู่ว่างสุขสบาย ใช้แรงงาน จากชนชั้นล่างในการทำงานหนัก ไม่ต้องลำบากเรื่องทำมาหากิน

มีเวลาสำหรับการคิดค้น การประดิษฐ์ และจัดการบริหารปกครอง ควบคุมการทหารและการสงคราม สามารถบริโภคได้อย่างหรู ซึ่งก่อให้เกิดการสูญเปล่าทั้งเวลา เงินทองเป็นอันมาก รวมทั้งของเสียที่ไม่จำเป็น ความมั่งคั่งและการบริโภคแบบหรูได้กลายเป็นสัญลักษณ์แห่งอำนาจ และความเป็นชนชั้นสูง

สังคมอุตสาหกรรมสมัยใหม่ได้วิวัฒน์สถาบันทางเศรษฐกิจ-การเมืองเหล่านี้ต่อมา โดยชนชั้นล่างได้พยายามเลียนแบบการบริโภคของชนชั้นสูง ด้วยการบริโภคสินค้าแบรนด์เนมหรือบริการชั้นสูงที่ตั้งราคาสูงเกินไป จนซื้อหาไม่ค่อยได้

เรียกในสำนวนไทยว่า “รสนิยมสูง รายได้ต่ำ” เกิดเป็นสังคมผู้บริโภคขึ้น ซึ่งบรรดาเศรษฐีและนักธุรกิจที่ถือครองปัจจัยการผลิตรายใหญ่ ได้ก้าวมาสู่ชนชั้นผู้มีเวลาว่าง สร้างวิถีชีวิตการบริโภคเสพสุขแบบหรูและการมีเวลาว่างแบบหรูขึ้น ไม่ได้ทำงานที่เป็นการสร้างสินค้าและบริการสำหรับการบริโภคทั่วไป (เช่น การเล่นหุ้น อาจจะทำเงินได้ แต่ไม่ได้สร้างของกินของใช้)

ขณะที่ชนชั้นกลางและชนชั้นคนงานถูกจ้างให้ทำงานในอาชีพสร้างผลผลิตเพื่อเลี้ยงดูทั้งสังคม

(ดูคำ The Theory of the Leisure Class ในวิกิพีเดีย กล่าวถึงหนังสือของ Thorstein Veblen ชื่อ The Theory of the Leisure Class : An Economic Study in the Evolution of Institutions เผยแพร่ปี 1899)

งานของ ธอร์สตีน เวเบรน เกี่ยวกับการผลิต การบริโภคที่เกี่ยวกับพฤติกรรมทางสังคมในชีวิตประจำวัน มีการศึกษาอีกสาขาหนึ่งที่เกี่ยวกับการผลิต การบริโภคหรือลัทธิผู้บริโภค กับความขัดแย้งรุนแรงในสังคมถึงขั้นการปฏิวัติ ได้แก่ ลัทธิสังคมนิยมนิเวศ

ซึ่งลัทธินี้เริ่มตั้งแต่งานเขียนของมาร์กซ์ที่กล่าวถึงมูลค่าใช้สอยกับมูลค่าแลกเปลี่ยน และเรื่องรอยร้าวหรือการไม่อาจเข้ากันได้ระหว่างการทำงานของมนุษย์กับธรรมชาติในระบบทุนนิยม (นักลัทธิมาร์กซ์ รุ่นหลังเรียกว่า “รอยร้าวทางปฏิสัมพันธ์”)

โดยมาร์กซ์เห็นว่า มนุษย์ใช้การทำงานเพื่อนำธรรมชาติมาใช้อย่างเหมาะสมในการสนองความต้องการที่จำเป็นของตน แต่การผลิตในระบบทุนใช้ธรรมชาติมากเกินไป เช่น ในการเกษตรมีการใช้ปุ๋ยเคมีจนทำให้ดินเสื่อม

แนวคิดนี้ได้ไปประสานกับขบวนเคลื่อนไหวทางสิ่งแวดล้อมที่เติบโตอย่างรวดเร็วในทศวรรษที่ 1970 และ 1990 พร้อมกับความก้าวหน้าของวิชานิเวศวิทยา และการเคลื่อนไหวต่อต้านกระบวนโลกาภิวัตน์

ในปี 2001 มีนักวิชาการแนวนิเวศวิทยามาร์กซิสต์ชาวสหรัฐสองคนคือ โจเอล โคเวล (เกิด 1936 ถึงปัจจุบัน) และ มิเชล โลวี (ชาวบราซิลเชื้อสายฝรั่งเศส เกิด 1938 ถึงปัจจุบัน) ได้ออก “แถลงการณ์ชาวสังคมนิยมนิเวศ” ขึ้น เป็นการวางหลักคิดและแนวทางเบื้องต้นสำหรับการเคลื่อนไหวของกลุ่ม ต่อมามีการออกแถลงทำนองนี้อีกหลายครั้ง

In this photograph apartments are seen underconstructions next to shanty houses in Jakarta on November 1, 2016.
President Joko Widodo came to power two years ago on a pledge to boost growth, but has struggled to attract investment and get key projects off the ground due to the dim global outlook and Indonesia’s difficult business environment, as reported by AFP last week. / AFP PHOTO / BAY ISMOYO

โจเอล โคเวล และ มิเชล โลวี เสนอว่า ศตวรรษที่ 21 เริ่มต้นด้วยหายนะใหญ่สองด้านด้วยกันคือ ความเสื่อมทรุดทางนิเวศวิทยาและความโกลาหลของระเบียบโลกจากการรุมเร้าของการก่อการร้ายและสงครามขนาดเล็ก ที่ก่อสภาพบ้านแตกสาแหรกขาดระบาดไปทั่วโลก ได้แก่ แอฟริกากลาง ตะวันออกกลางและอเมริกาใต้ฝั่งตะวันตกเฉียงเหนือ (และยังขยายไปที่แอฟริกาตอนเหนือและยุโรปตะวันออก)

สาเหตุความเสื่อมทรุดทางนิเวศวิทยา เกิดจากการขยายอุตสาหกรรมอย่างบ้าคลั่งจนกระทั่งเกินความสามารถในการรองรับของโลกที่จะรักษาเสถียรภาพของระบบนิเวศไว้ได้

ส่วนสาเหตุของการก่อการร้ายและสงครามเกิดจากรูปแบบหนึ่งของจักรวรรดินิยมภายใต้ชื่อว่าโลกาภิวัตน์ เบื้องลึกของทั้งสองสาเหตุ ได้แก่ การแพร่ระบาดระบบทุนนิยมไปทั่วโลก

นักวิชาการทั้งสองเห็นว่าสิ่งที่มนุษย์ต้องการ ก็คือการปกครองตนเอง ชุมชน และการดำเนินชีวิตที่มีความหมาย แต่สิ่งนี้ถูกปฏิเสธโดยการควบคุมกำกับจากมหาอำนาจตะวันตกและอภิมหาอำนาจอเมริกันที่เข้า

“รุกรานและบ่อนทำลายบูรณภาพของชุมชนทั้งหลายโดยแพร่วัฒนธรรมโลก แห่งลัทธิผู้บริโภคและความมึนชาทางการเมือง…บ่อนทำลายการปกครองตนเองของผู้อยู่ชายขอบและผูกมัดพวกเหล่านี้ให้ตกอยู่ในหนี้สินพ้นตัวขณะที่เครื่องจักรสงครามขนาดใหญ่ในการบังคับให้ยอมตามต่อศูนย์กลางนายทุนโลก” (ดูบทแถลงชื่อ An Ecosocialist Manifesto ใน members.optushome.com.au)

โจเอล โคเวล เห็นว่าจำต้องเปลี่ยนเป้าหมายการผลิตใหม่ จากการผลิตเพื่อสร้างมูลค่าแลกเปลี่ยนแสวงหากำไรแบบทุนนิยม ไปสู่ผลิตเพื่อสร้างมูลค่าใช้สอยสำหรับการบริโภคตามความต้องการจำเป็น

สำหรับผู้ที่เห็นด้วยกับระบบทุนนิยม การผลิตเพื่อตลาด และลัทธิเสรีนิยมใหม่ ย่อมไม่เห็นด้วยกับทัศนะดังกล่าว

และอาจยืนกรานดัง นางมาร์กาเร็ต แธตเชอร์ อดีตนายกรัฐมนตรีอังกฤษว่า “มันไม่มีทางเลือกอื่น” จำต้องไปทางทุนนิยมเท่านั้น

ซึ่งในบางด้านก็น่ารับฟัง เพราะว่าไม่มีการผลิตแบบอื่นที่มีประสิทธิภาพเท่า การหยุดการผลิตแบบทุนนิยมในทันทีทันใด ย่อมเกิดความโกลาหล การจลาจลและการอดตายของผู้คนด้อยโอกาสจำนวนมากเนื่องจากเศรษฐกิจหดตัวรุนแรง นอกจากนี้ จะทำให้ประเทศอ่อนแอ ถูกรุกรานครอบงำได้ง่าย เพราะประเทศที่เป็น “ผู้ผลิตและบริโภคมากจักเป็นผู้พิชิต”

ดังนั้น จึงพบว่า ชาติทั้งหลายพากันทุ่มเทเพื่อการเติบโตทางเศรษฐกิจด้วยกันทั้งนั้น แม้รู้อยู่ว่ามันมีผลข้างเคียงด้านลบสูง กระทั่งอาจเป็นหนทางสู่สงครามใหญ่

เรื่องของสงครามเศรษฐกิจ

สงครามเศรษฐกิจเป็นพื้นฐานของสงครามอื่น ได้แก่ สงครามเคลื่อนกำลัง การแซงก์ชั่น ปิดน่านน้ำ สงครามการทูต สงครามข่าวสารและการจารกรรม ไปจนถึงสงครามชิงทรัพยากรธรรมชาติ เป็นต้น

สงครามทั้งหลายเกี่ยวข้องกับผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง การต่อต้านระงับสงครามให้ได้ผล จึงจำต้องระงับสงครามเศรษฐกิจไม่ให้เกิดขึ้น

ผู้คนทั้งหลายได้เข้าสู่การแข่งขันทางเศรษฐกิจในเงื่อนไขหลายประการ

เบื้องต้นที่มีลักษณะชี้เป็นชี้ตายว่า ใครจะเป็นผู้ผลิตและบริโภคได้มากกว่ากัน เพราะว่าผู้บริโภคมากกว่าย่อมเป็นผู้พิชิต

ในโลกสมัยใหม่ การแข่งขันทางเศรษฐกิจ เป็นเพื่อการครอบงำผูกขาดตลาด ซึ่งก่อให้เกิดความรุนแรงและสงครามในหลายรูปแบบและหลายระดับ ได้แก่

ก) การแข่งขันระหว่างชนชั้นบนกับชนชั้นล่างแบบเบ็ดเสร็จ นิยมเรียกว่าการต่อสู้ทางชนชั้น

ข) การแข่งระหว่างกลุ่มทุนด้วยกันในการผูกขาดตลาด สร้างกำไรสูงสุดที่ทั้งซับซ้อนและรุนแรง เช่น การซื้อกิจการ

ค) การต่อสู้ระหว่างประเทศอาณานิคมกับเจ้าอาณานิคมรุนแรงมาจนถึงปัจจุบัน หรือระหว่างประเทศกำลังพัฒนากับประเทศพัฒนาแล้ว ที่ยืดเยื้อ

ง) การต่อสู้ระหว่างประเทศมหาอำนาจด้วยกันเพื่อแย่งชิงอาณานิคม พื้นที่อิทธิพลและความได้เปรียบทางเศรษฐกิจ มีผลให้เกิดมหาสงครามโลกถึงสองครั้งแล้ว

เนื่องจากการแข่งขันทางเศรษฐกิจสามารถแปรเป็นสงครามเศรษฐกิจ และลุกลามเป็นสงครามรบพุ่งกันได้ง่าย หลังสงครามโลกครั้งที่สองจึงได้มีการเจรจาทำข้อตกลงทั่วไปว่าด้วยพิกัดอัตราภาษีศุลกากรและการค้า เพื่อกำหนดกฎเกณฑ์กติกาการค้าระหว่างประเทศที่เข้าร่วมเป็นสมาชิก มีการปฏิบัติเจรจาไปนานหลายสิบปี จนกระทั่งสามารถบรรลุข้อตกลงมาราเกซและก่อตั้งองค์การการค้าโลกอย่างเป็นทางการได้ในต้นปี 1995

โดยหวังว่าองค์การนี้จะสามารถจัดระเบียบการค้าโลกได้อย่างดี ทั้งในด้านการกำหนดกรอบนโยบายทางการค้า การวางกฎเกณฑ์และการแก้ไขยุติข้อพิพาท

อย่างไรก็ตาม ก็พบว่ายังมีปัญหาในทางปฏิบัติตกลงกันไม่ได้อีกหลายประการ ระหว่างประเทศกำลังพัฒนาและประเทศพัฒนาแล้ว

โดยประเทศกำลังพัฒนารู้สึกว่าตนอยู่ในฐานะเสียเปรียบ เช่น ในประเด็นสิทธิบัตร และการอุดหนุนการเกษตรในประเทศพัฒนาแล้ว

ปัญหาความขัดแย้งทางเศรษฐกิจการค้าโลกจึงยังไม่ได้แก้ไขให้ตกไป

ที่เป็นเช่นนี้เพราะว่าปัญหานั้นเกิดจากระบบตลาดเองที่เน้นการผลิตเพื่อการเติบโตและสร้างกำไร สร้างวัฒนธรรมผู้บริโภค การทำให้ทรัพยากรธรรมชาติหมดไป และการสร้างความเสื่อมโทรมให้แก่สิ่งแวดล้อม นำมาสู่วิกฤติเศรษฐกิจ-สิ่งแวดล้อม ตลอดจนความแตกแยกภายในและระหว่างชาติจนยากที่จะควบคุมแก้ไข

Vice President Mike Pence (L) and Speaker of the House Paul Ryan (R) listen as US President Donald J. Trump (C) delivers his first address to a joint session of Congress from the floor of the House of Representatives in Washington, DC, USA, 28 February 2017. / AFP PHOTO / EPA POOL / JIM LO SCALZO

ในขณะนี้ กล่าวได้ว่าโลกได้เคลื่อนตัวจากระดับการแข่งขันทางเศรษฐกิจสู่ระดับสงครามอย่างน่าตกใจ

สหรัฐได้กลายเป็นประเทศที่สร้างสถานการณ์เช่นว่าขึ้นอย่างน่าเห็นใจ เนื่องจากเป็นประเทศขาดดุลการค้าต่อเนื่องปีละหลายแสนล้านดอลลาร์

วิกฤติเศรษฐกิจ 2008 ไม่ยอมจางคลาย การขยายตัวต่ำ

สถาบันการเงินระหว่างประเทศที่สหรัฐชี้นำ ยินยอมให้จัดตั้งขึ้นมา ได้แก่ ธนาคารโลก ไอเอ็มเอฟ และองค์การการค้าโลก ก็ไม่ช่วยฟื้นความยิ่งใหญ่ของอเมริกาอะไร

นโยบายครองความเป็นใหญ่ต้องการครอบครองมหาตะวันออกกลางล้มเหลวหลังจากทุ่มเงินไปหลายล้านล้านดอลลาร์ และชีวิตทหารสหรัฐหลายพันคน ชาติที่เคยอยู่ข้างหลังเช่นจีนวิ่งมาประชิดและทำท่าจะล้ำหน้าไป

ในสถานการณ์เช่นนี้ สหรัฐภายใต้การนำของประธานาธิบดีทรัมป์ เห็นว่าชาติต่างๆ พากันมาเอาเปรียบทางเศรษฐกิจ เช่น การเอาเปรียบทางการค้า การส่งคนงานเข้ามาทำงานและส่งเงินกลับประเทศ หรือไม่ยอมออกค่าใช้จ่ายแก่องค์การนาโต้ ปล่อยให้สหรัฐจ่ายเป็นหลักอยู่คนเดียว จึงต้องการเลิกสิ่งที่เป็นพันธนาการทางเศรษฐกิจ-การทหาร-การเมืองเหล่านี้ทั้งหมด

การดิ้นรนของสหรัฐทำให้บรรยากาศสงครามเศรษฐกิจปกคลุมไปทั่วโลก

สงครามเศรษฐกิจกับข้อตกลงภูมิอากาศปารีส

ตัวอย่างสงครามเศรษฐกิจที่เป็นข่าวใหญ่ได้แก่กรณีที่ทรัมป์ประกาศถอนตัวจากข้อตกลงภูมิอากาศปารีส (เรียกเป็นทางการว่า สนธิสัญญาปารีส ลงนามธันวาคม 2015 มีโอบามา ประธานาธิบดีคนก่อนของสหรัฐเป็นผู้นำขบวน)

โดยอ้างเหตุผลหลักในด้านเศรษฐกิจว่าจะทำให้สหรัฐเสียเปรียบทางเศรษฐกิจแก่ประเทศอื่น

และว่า การกระทำของเขาเป็นการปกป้องประเทศและประชาชนอเมริกัน

ขณะเดียวกันก็เปิดทางสำหรับการเจรจาใหม่ของข้อตกลงนี้

ปัญหาโลกร้อนเป็นปัญหาทั้งด้านสิ่งแวดล้อมและเศรษฐกิจการเมืองพร้อมกันไป

ได้แก่ เรื่องการหมดไปของน้ำมันแบบธรรมดา ดึงให้ราคาน้ำมันสูงขึ้น ทำให้ตะวันออกกลางที่อุดมด้วยน้ำมันราคาถูกกลายเป็นพื้นที่ยุทธศาสตร์ที่ต้องแย่งชิงอิทธิพลกัน และบีบให้ต้องหันมาใช้พลังงานทางเลือกอื่น ได้แก่ พลังลมและพลังแสงอาทิตย์ เป็นต้น

ขณะเดียวกันการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลก็เพิ่มปริมาณก๊าซเรือนกระจกในชั้นบรรยากาศทำให้โลกร้อนขึ้น ที่ก่อความเสียหายแก่ระบบนิเวศโลกและหมู่มนุษย์อย่างรุนแรงที่สุด

ตามข้อตกลงนี้ กำหนดให้ประเทศร่วมลงนามต้องลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลงอย่างมาก ทำให้สหรัฐที่เป็นชาติใหญ่ที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูงสุดของโลก เกรงว่าตนเองจะถูกบีบให้ต้องลดก๊าซเรือนกระจกมากกว่าใคร ซึ่งจะกระทบต่ออุตสาหกรรมพลังงานของตน

การประกาศของทรัมป์ส่งแรงสะเทือนไปทั่วโลก

ที่สำคัญคือในสหรัฐเอง โรเบิรต์ ไรช์ ที่เคยดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีกระทรวงแรงงานสมัยประธานาธิบดีคลินตัน ผู้เขียนหนังสือชื่อ “ช่วยรักษาทุนนิยม” (เผยแพร่ปี 2015) วิจารณ์ว่าทรัมป์มีทัศนะมองโลกแบบประเทศหนึ่งได้ประเทศหนึ่งเสีย แต่ความจริงนั้น ในเรื่องของการค้า การอพยพ และโดยเฉพาะภูมิอากาศเป็นเรื่องของมนุษย์โดยรวม

ดังนั้น การตัดสินใจของทรัมป์จึงเป็นการไร้เหตุผลทางเศรษฐกิจ และน่าละอายทางศีลธรรม

และยังก้าวไปถึงขั้นประกาศว่า “โดนัลด์ ทรัมป์ ไม่ได้สะท้อนทัศนะส่วนใหญ่ของพวกเรา พวกเราเกือบทั้งหมดไม่ได้เลือกเขา เราจะทำทุกอย่างเท่าที่เป็นไปได้ตามกฎหมายเพื่อขับเขาออกจากตำแหน่ง เมื่อเราลงมือทำ ก็จะได้อเมริกากลับมา” (ดูทวิตเตอร์ของ Robert Reich)

ดังนั้น ความแตกแยกภายในสหรัฐกำลังยกระดับเป็นสงครามทางเศรษฐกิจ-การเมือง ส่วนชาติอื่นมีอียูและจีน เป็นต้น ต่างเร่งขึ้นมาเป็นผู้นำโลกแข่งกับสหรัฐ

ฉบับต่อไปจะกล่าวถึงสงครามลูกผสมและมหาสงคราม