วิกฤติภูมิอากาศที่ซับซ้อนกับงบประมาณคาร์บอน / วิกฤติศตวรรษที่21 อนุช อาภาภิรม

วิกฤติศตวรรษที่21

อนุช อาภาภิรม

 

วิกฤตินิเวศ

เมื่อภูมิอากาศแปรปรวน (19)

 

วิกฤติภูมิอากาศที่ซับซ้อนกับงบประมาณคาร์บอน

ภาวะโลกร้อนเป็นสิ่งที่ซับซ้อน เพราะว่ามันเกิดขึ้นในโลกที่มีความหลากหลายทางชีวนิเวศ (ฺBiome) ที่อยู่บนบก เช่น ไบโอมป่าดิบชื้น ไบโอมป่าผลัดใบเขตอบอุ่น ไบโอมสะวันนา ไบโอมทะเลทราย และไบโอมทุนดรา

ที่อยู่ในน้ำแบ่งเป็น 2 กลุ่มใหญ่ได้แก่ ไบโอมน้ำจืดและไบโอมน้ำเค็ม

แต่ละชีวนิเวศก็มีกฎหรือหลักความเป็นไปที่ต่างกันไป มีอุณหภูมิสูงขึ้นต่างกัน และไม่ตรงกับสามัญสำนึก

เช่น บริเวณที่มีอุณหภูมิสูงขึ้นกว่าที่ใดในโลกกลับเป็นขั้วโลกเหนือ ไม่ใช่ในเขตร้อนหรือทะเลทราย

โครงการศึกษาเรื่องการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศเชิงประจักษ์จึงต้องกระทำในพื้นที่หนึ่งๆ และแต่ละโครงการมักต้องการคณะวิจัย เนื่องจากเป็นการศึกษาแบบสหวิทยาการซึ่งบางคณะมีขนาดใหญ่นับสิบคน

งานวิจัยในด้านนี้จึงมีอยู่นับจำนวนพัน และมีนักวิทยาศาสตร์จำนวนเป็นหมื่นเข้าร่วม เพื่อที่จะรวบรวมให้เห็นภาพใหญ่ของทั้งโลก ก็จำต้องมีการสังเคราะห์ผลงานเหล่านี้เข้าด้วยกัน

คณะทำงานหลักในการทำหน้าที่นี้ได้แก่ คณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ (IPCC จัดตั้งขึ้นโดยองค์การอุตุนิยมวิทยาโลก และโครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ ในปี 1988)

มีนักวิทยาศาสตร์หลายพันคนปฏิบัติงานอยู่

 

คณะไอพีซีซี ได้จัดทำรายงานหลายฉบับ ที่ควรกล่าวถึงได้แก่รายงานปี 2001 ระบุว่า “อุณหภูมิที่สูงขึ้นในรอบ 50 ปีที่ผ่านมามีความเป็นไปได้สูง (กว่าร้อยละ 66) ที่จะเกิดจากกิจกรรมของมนุษย์”

รายงานปี 2007 ระบุว่า “ภาวะโลกร้อนนี้เกิดขึ้นเร็วอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อน และสาเหตุที่ทำให้อุณหภูมิสูงขึ้นในรอบ 50 ปี มีความเป็นไปได้สูงยิ่ง (ราวร้อยละ 90) ว่าเกิดจากการเพิ่มขึ้นของก๊าซเรือนกระจก”

รายงานของคณะไอพีซีซีได้วาดภาพใหญ่ว่าด้วยระบบภูมิอากาศโลก องค์ประกอบ ปฏิสัมพันธ์ระหว่างองค์ประกอบเหล่านี้ และผลกระทบภายในต่อองค์ประกอบของระบบ

สรุปได้ว่า เหตุปัจจัยภายนอกที่มีผลต่อระบบภูมิอากาศโลกที่สำคัญได้แก่

ก) การเปลี่ยนแปลงของแผ่นเปลือกโลก ซึ่งเป็นไปอย่างช้ามาก

ข) การเปลี่ยนแปลงในวงโคจรของโลกได้แก่ การเอียงของแกนโลก รูปวงโคจรโลกรอบดวงอาทิตย์ประจำปี เป็นต้น ซึ่งเป็นไปค่อนข้างช้าเช่นกัน ซึ่งเกิดขึ้นระหว่าง 20,000 ถึง 400,000 ปี

ค) ความเปลี่ยนแปลงในความเข้มของแสงอาทิตย์ ซึ่งเกิดขึ้นบ่อย แต่ส่งผลกระทบน้อยกว่าก๊าซเรือนกระจกที่มนุษย์ส่งขึ้นมา

องค์ประกอบใหญ่ภายในระบบภูมิอากาศ มี 5 อย่างได้แก่ บรรยากาศ ชีวภาคหรือพืชพรรณ น้ำหรือมหาสมุทร น้ำแข็ง และดิน

องค์ประกอบเหล่านี่มีปฏิสัมพันธ์กันและสร้างระบบภูมิอากาศของโลกอย่างไร แต่แล้วเกิดความไม่สมดุลบางอย่าง ได้แก่ การเพิ่มขึ้นของก๊าซเรือนกระจกในบรรยากาศ ทำให้อุณหภูมิเฉลี่ยของโลกเพิ่มขึ้น

ระบบภูมิอากาศทั้งหมดรวนเร ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงกระทบกันเป็นลูกโซ่ เกิดการแปรผันของภูมิอากาศ ปรากฏที่การเปลี่ยนแปลงในชั้นบรรยากาศ การเปลี่ยนแปลงในน้ำแข็ง การเปลี่ยนแปลงในพืชพรรณ และการเปลี่ยนแปลงในดิน ที่เราสามารถศึกษาเปรียบเทียบได้ และเชื่อมโยงไปยังระบบภูมิอากาศและการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศทั้งหมดได้

อนึ่ง พบปรากฏการณ์ธรรมชาติ “เอลนิโญ” ที่ทำให้อุณหภูมิผิวน้ำในมหาสมุทรแปซิฟิกสูงขึ้น แบบรุนแรง (ENSO) ถี่ นาน และรุนแรงขึ้นนับแต่ทศวรรษ 1970 เมื่อเทียบกับ 100 ปีก่อนหน้านั้น

(ดูรายงานชื่อ TAR Climate Change 2001 : The Scientific Basic ใน ipcc.ch)

 

คณะไอพีซีซียังได้รายงานพิเศษชื่อ “ภาวะโลกร้อนที่ 1.5 องศาเซลเซียส” (เผยแพร่เดือนตุลาคม 2018) มีเนื้อหาใหญ่อยู่ 4 ส่วน ได้แก่

ก) ความเข้าใจทั่วไปเกี่ยวกับภาวะโลกร้อนที่ 1.5 องศาเซลเซียส ใช้เนื้อที่ไม่มาก

ข) การคาดหมายสภาพการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ ผลกระทบและความเสี่ยงที่เป็นไปได้ ใช้เนื้อที่มาก

ค) ทิศทางการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสู่บรรยากาศและการเปลี่ยนผ่านทางระบบที่สัมพันธ์กับภาวะโลกร้อนขึ้น 1.5 องศาเซลเซียส ใช้เนื้อที่มาก กล่าวให้เข้าใจง่ายแบบรายงานข่าวก็คือ เรื่องงบประมาณคาร์บอน ว่ามนุษย์เหลือก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่จะปล่อยออกได้เพียงใด

ง) การเสริมความเข้มแข็งในการแก้ไขปัญหาโลกร้อน ใช้เนื้อที่ไม่มาก

 

รายงานของคณะไอพีซีซี เขียนด้วยภาษาและคำศัพท์ที่เข้าใจได้ในหมู่นักวิทยาศาสตร์ผู้เชี่ยวชาญ มีประโยชน์น้อยสำหรับสาธารณชนที่ต้องดิ้นรนหาเลี้ยงชีพตนเองและครอบครัว ที่จะไปอ่านทำความเข้าใจ

แต่เรื่องเปลี่ยนไป เมื่อเกรตา ธันเบิร์ก นักเคลื่อนไหวสิ่งแวดล้อมที่เป็นเยาวชนชาวสวีเดน มีตาไว เห็นประเด็นใหญ่สำหรับการเคลื่อนไหว โดยเฉพาะในหมู่ชนชั้นนำโลก เพื่อให้ลงมือแก้ไข เนื่องจากสื่อกระแสหลักก็ไม่ได้รายงานเรื่องนี้จริงจัง

ธันเบิร์กได้ทำการบ้าน พยายามศึกษาประเด็นนี้ จนจับความได้ว่า มนุษย์มีงบประมาณคาร์บอนเหลือใช้อยู่เพียง 8 ปีเศษ เธอนำประเด็นนี้ไปพูดในที่หลายแห่ง ในการประชุมรัฐสภาของฝรั่งเศส และการประชุมประจำปีของสโมสรเศรษฐกิจโลก (WEF) จนกระทั่งเป็นข่าวใหญ่ตามที่ต้องการ

เกรตา ธันเบิร์ก ได้กล่าวในการประชุมรัฐสภาของฝรั่งเศสในวันที่ 23 กรกฎาคม 2019 ว่า “ถ้าเราจะมีโอกาสร้อยละ 67 เพื่อที่จะจำกัดอุณหภูมิของโลกให้สูงขึ้นต่ำกว่า 1.5 องศาเซลเซียส เราจะมีงบประมาณคาร์บอน ณ วันที่ 1 มกราคม 2018 เพียง 420 จิกะตัน ซึ่งมาถึงวันนี้จำนวนนั้นก็จะลดลงอีก เนื่องจากว่าเราปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สู่บรรยากาศราวปีละ 42 จิกะตัน ในระดับการปล่อยก๊าซดังกล่าว เรามีงบประมาณคาร์บอนเหลืออยู่เพียง 8 1/2 ปี”

นักวิทยาศาสตร์อาวุโสด้านภูมิอากาศ อย่างเช่น เบรนดา เอ๊กเวอร์เซล แห่งสหภาพนักวิทยาศาสตร์ผู้ห่วงใย (UCS) เห็นพ้องว่าประเด็นงบประมาณคาร์บอนเป็นสิ่งที่จำต้องใส่ใจ หาไม่แล้วอุณหภูมิเฉลี่ยของโลกจะมีโอกาสที่จะสูงเกิน 1.5 องศาได้โดยง่าย และก่อความยากลำบากได้หลายประการ (ดูรายงานข่าวของ Nicole Mortillaro ชื่อ Greta Thunberg has talked about a ‘carbon budget.’ What is it, and why does it matter? ใน cbc.ca 20/09/2019)

ธันเบิร์กยังได้ร่วมวงอภิปรายในการประชุมประจำปีของสโมสรเศรษฐกิจโลก ในเดือนมกราคม 2020 ย้ำว่า ถ้าหากการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของมนุษย์ยังอยู่ในระดับเดิม มนุษย์ก็เหลือคาร์บอนไดออกไซด์ที่จะใช้ได้ไม่ถึง 8 ปี

 

จากข้อเท็จจริงนี้ เห็นได้ว่าหนทางแก้ไขนั้นชัดเจนตรงไปตรงมา คือการลดการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลลงโดยเร็ว

มีเอ็นจีโอจำนวนหนึ่งเคลื่อนไหวกดดันสถาบันการเงินไม่ให้ปล่อยกู้แก่อุตสาหกรรมเชื้อเพลิงฟอสซิล

แต่จากรายงานการปล่อยกู้ของธนาคารใหญ่ของโลกแก่บริษัทใหญ่ด้านถ่านหิน น้ำมัน ก๊าซธรรมชาติ ของกลุ่มพันธมิตรเอ็นจีโอ โดยใช้ข้อมูลจากสำนักบลูมเบิร์ก พบว่า นับแต่ปี 2016 (หลังการลงนามในข้อตกลงปารีสปลายปี 2015) ถึงปี 2020 ธนาคารใหญ่ของโลก 60 แห่งได้ปล่อยเงินกู้แก่บริษัทถ่านหิน น้ำมันและก๊าซธรรมชาติรวมกันเป็นมูลค่าถึง 3.8 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ

ที่น่าตกใจก็คือการปล่อยกู้ดังกล่าวในปี 2020 ที่เศรษฐกิจโลกชะลอตัวจากการระบาดของโควิด-19 การปล่อยกู้ด้านนี้ลดลงร้อยละ 9 แต่เมื่อเทียบกับปี 2016 และ 2017 ก็สูงกว่าเสียอีก ด้วยการปล่อยกู้ปริมาณขนาดนี้ แน่นอนว่ามนุษย์จะปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สู่บรรยากาศมากมายต่อไป

ในบรรดาธนาคาร 60 แห่ง เป็นธนาคารของสหรัฐและแคนาดา 13 แห่ง แต่จำนวนเงินปล่อยกู้ คิดเป็นเกือบครึ่งหนึ่งของการปล่อยกู้ทั้งหมด ธนาคารเจพีมอร์แกน เชสของสหรัฐเป็นผู้ปล่อยกู้สูงสุด ตามด้วยธนาคารซิตี้แบงก์ของสหรัฐเช่นกัน (ดูรายงานข่าวของ Damian Carrington ชื่อ Big banks’ trillion-dollar finance for fossil fuels ‘shocking’, says report ใน theguardian.com 24/03/2021)

พิจารณาจากการศึกษาและข้อเท็จจริงข้างต้นกล่าวได้ว่า อุณหภูมิเฉลี่ยของโลกน่าจะสูงเกิน 1.5 องศาในเวลาไม่นานนัก (ขณะนี้อยู่ที่ C1.1) และต้องเผชิญกับผลกระทบและความเสี่ยงจากภาวะโลกร้อนในระดับนั้นอย่างเลี่ยงไม่พ้น

ฉบับต่อไปจะกล่าวถึงวิกฤติภูมิอากาศกับจุดพลิกผันที่ไม่หวนกลับ