จาก ‘คลองสุเอซ’ สู่ ‘คลองตัน’ ปัญหาการขนส่งระดับโลก/บทความต่างประเทศ

Ever Given container ship is pictured in Suez Canal, in Suez Canal in this Maxar Technologies satellite image taken on March 27, 2021. Satellite image ©2021 Maxar Technologies/Handout via REUTERS ATTENTION EDITORS - THIS IMAGE HAS BEEN SUPPLIED BY A THIRD PARTY. MANDATORY CREDIT. NO RESALES. NO ARCHIVES. DO NOT OBSCURE LOGO.

บทความต่างประเทศ

 

จาก ‘คลองสุเอซ’ สู่ ‘คลองตัน’

ปัญหาการขนส่งระดับโลก

 

เมื่อวันที่ 23 มีนาคมที่ผ่านมา เกิดเหตุการณ์ที่สร้างความปั่นป่วนให้กับการขนส่งทางเรือระดับโลก เมื่อเรือขนสินค้า Ever Given เรือของบริษัทสัญชาติญี่ปุ่น ขนาดความยาว 400 เมตร เกิดอุบัติเหตุเกยฝั่ง “คลองสุเอซ” ในจุดที่มีความกว้างราว 250 เมตร

ส่งผลให้เส้นทางขนส่งที่คิดเป็นสัดส่วน 12 เปอร์เซ็นต์ของการขนส่งทางเรือของทั้งโลก “ต้องกลายเป็นอัมพาต” ลงในทันที

คลองสุเอซ คลองที่เป็นเส้นทางเดินเรือสินค้าความยาวทั้งสิ้น 192 กิโลเมตร ตั้งอยู่ในประเทศอียิปต์ เป็นคลองที่ขุดขึ้นโดยฝีมือมนุษย์ ขุดเชื่อมทะเลเมดิเตอร์เรเนียนที่ท่าเรือซาอิด ตอนเหนือของอียิปต์ เรื่อยไปจนทะลุออกทะเลแดงที่เมือง “สุเอซ” เพื่อออกสู่มหาสมุทรอินเดีย

คลองสุเอซมีความสำคัญในฐานะสะพานเชื่อมเส้นทางขนส่งระหว่าง “ยุโรป” และ “เอเชีย” เข้าด้วยกัน

สร้างสถิติเป็นคลองที่ไม่มีจุดติดขัดที่ยาวที่สุดในโลกเนื่องจากระดับน้ำทะเล 2 แห่งที่มีระดับที่เท่ากัน มีสินค้ามูลค่า 9,600 ล้านดอลลาร์สหรัฐผ่านเส้นทางนี้ทุกวัน

คลองสุเอซช่วยย่นระยะเวลาขนส่งในเส้นทางนี้ได้ถึง 8-10 วัน เนื่องจากแทนที่จะแล่นฝ่าคลื่นลมแรงอ้อมแหลมกู๊ดโฮป ตอนใต้ของทวีปแอฟริการะยะทางกว่า 6,000 กิโลเมตร ก็มาแล่นเข้าคลองสุเอซ

ลัดจากปลายด้านหนึ่งสู่ปลายอีกด้านหนึ่ง ใช้เวลาเพียง 13 ถึง 15 ชั่วโมงเท่านั้น

 

โครงการก่อสร้างคลองสุเอซ ซึ่งเดิมเป็นของนักลงทุนชาวฝรั่งเศส ริเริ่มขึ้นในช่วงเวลาที่อียิปต์ยังคงเป็นส่วนหนึ่งของจักรวรรดิออตโตมัน ในช่วงกลางศตวรรษที่ 19 การก่อสร้างเริ่มต้นขึ้นในช่วงต้นปี ค.ศ.1859 ใช้แรงงานจำนวนมากถึง 1.5 ล้านคน ในจำนวนนี้เป็นการเกณฑ์แรงงานจากชาวไร่ชาวนาจำนวน 20,000 คนในทุกๆ 10 เดือน

คนงานจำนวนมากเสียชีวิตจากโรคระบาดเนื่องจากสภาพแวดล้อมการทำงานที่ย่ำแย่ ตลอดระยะเวลาโครงการใช้เวลาก่อสร้างนานถึง 10 ปีกว่าจะเสร็จสิ้น

การก่อสร้างนั้นล่าช้าออกไปเนื่องจากปัญหาทางการเมืองระหว่างรัฐบาลท้องถิ่นอียิปต์และมหาอำนาจเจ้าอาณานิคมอย่างอังกฤษและฝรั่งเศส ส่งผลให้ต้นทุนการก่อสร้างสูงถึงเกือบ 100 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 3,000 ล้านบาทในเวลานั้น

เจ้าอาณานิคมอังกฤษที่เคยมีส่วนเป็นเจ้าของคลองสุเอซในช่วงเวลาสงครามโลกครั้งที่ 1 และ 2 ถอนกำลังออกไปจากคลองสุเอซอย่างเป็นทางการในปี ค.ศ.1956 หลังจากเจรจากับรัฐบาลอียิปต์นำโดยประธานาธิบดีอามัล อับเดล นาสเซอร์ เป็นเวลานานหลายปี

วิกฤตการณ์ในช่วงนี้เกือบทำให้ “คลองสุเอซ” เป็นจุดเริ่มต้นของสงคราม เมื่อประธานาธิบดีอียิปต์ตัดสินใจยึดเอาคลองสุเอซมาเป็นของอียิปต์แต่เพียงผู้เดียว หลังจากอังกฤษถอนกำลังออกไป

สร้างความไม่พอใจให้กับอิสราเอล และพันธมิตรตะวันตกอีกหลายชาติ นำไปสู่การที่อิสราเอล อังกฤษ และฝรั่งเศสส่งทหารลงพื้นที่เพื่อทวงสิทธิคืน

วิกฤตครั้งนั้นส่งผลให้คลองสุเอซต้องปิดบริการลงช่วงเวลาหนึ่ง และเกิดความเสี่ยงที่จะดึงเอาชาติอย่างสหภาพโซเวียต และสหรัฐอเมริกาเข้าสู่สงครามด้วย

อย่างไรก็ตาม วิกฤตดังกล่าวสิ้นสุดลงด้วยข้อตกลงที่มีสหประชาชาติ (ยูเอ็น) เป็นตัวกลาง ซึ่งครั้งนั้นยูเอ็นก็ได้ส่งกองกำลังรักษาสันติภาพลงพื้นที่เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ด้วย

อียิปต์มองผลลัพธ์ของวิกฤตครั้งนั้นเป็นชัยชนะของกลุ่มชาตินิยมอียิปต์ อย่างไรก็ตาม มรดกตกทอดจากเหตุการณ์ดังกล่าวก็กลายเป็นคลื่นใต้น้ำนำในสงครามเย็นในเวลาต่อมาด้วยเช่นกัน

 

วิกฤตการณ์ครั้งนั้นถูกเล่าในซีรีส์ทาง Netflix เรื่อง “The Crown” ในซีซั่นที่ 2 เอพิโสดที่ 1 ซีรีส์ดังที่มีตัวละครเอกเป็นสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 โดยเรื่องราวเล่าถึงเหตุการณ์ที่ “แอนโทนี เอเดน” นายกรัฐมนตรีอังกฤษในเวลานั้น ต้องดิ้นรนแก้ปัญหาวิกฤษการณ์คลองสุเอซอยู่ด้วยเช่นกัน

หลังจากเหตุการณ์ดังกล่าว อียิปต์เคยปิดคลองสุเอซเป็นเวลานานเกือบ 10 ปี ในสงครามอาหรับ-อิสราเอล ปี ค.ศ.1967 โดยคลองสุเอชถูกใช้เป็นสมรภูมิรบระหว่างสองฝ่าย

ครั้งนั้นมีเรือสินค้าจำนวน 14 ลำที่ต้องติดอยู่ในคลองสุเอซเป็นเวลาถึง 8 ปี

โดยเรือทั้ง 14 ลำถูกเรียกว่า “กองเรือสีเหลือง” ผลจากการถูกทรายจากทะเลทรายแถบนั้นปกคลุมเต็มลำเรือตลอดระยะเวลาที่ติดอยู่ในคลองสุเอซนั่นเอง

หลังจากนั้นเกิดอุบัติเหตุเล็กๆ น้อยๆ ที่ทำให้ต้องปิดคลองสุเอซลง โดยครั้งที่เป็นที่รู้จักมากที่สุดเป็นเหตุการณ์เรือบรรทุกน้ำมันของรัสเซียเกยฝั่งที่ทำให้ต้องปิดคลองสุเอซลงเป็นเวลา 3 วันเมื่อปี ค.ศ.2004 ที่ผ่านมา

 

สําหรับวิกฤตการณ์ครั้งนี้ เป็นภารกิจกู้ภัยเรือที่มีน้ำหนักมากกว่า 200,000 ตัน ความยาวเท่ากับ 4 สนามฟุตบอลที่ติดตลิ่งขวางคลอง ใช้เวลายาวนานถึงเกือบ 1 สัปดาห์จนสามารถนำเรือกลับมาลอยลำได้อีกครั้งในวันที่ 29 มีนาคมที่ผ่านมา

รายงานข่าวระบุว่า สาเหตุที่ทำให้เรือ Ever Given หันหัวเรือขึ้นเกยตลิ่งเกิดจากทัศนวิสัยไม่ดีจากพายุทราย ที่พัดปะทะกับตู้คนเทนเนอร์จนทำให้เรือเปลี่ยนทิศทางไป

เจ้าหน้าที่กู้ภัยใช้เวลาถึง 6 วันในการตักและดูดทรายปริมาณมากถึง 30,000 ลูกบาศก์เมตร ใช้เรือโยงนับสิบลำในการช่วยดึงและดันเรือให้พ้นออกจากตลิ่ง บวกกับกระแสน้ำขึ้นจากปรากฏการณ์ซูเปอร์ฟูลมูน จนในที่สุดเรือ Ever Given สามารถลอยตัวกลับมาตั้งลำตามแนวลำน้ำได้อีกครั้งเมื่อวันที่ 29 มีนาคมที่ผ่านมา

การปิดเส้นทางคลองสุเอซครั้งนี้ส่งผลให้เรือขนสินค้าจำนวนมากถึง 367 ลำต้องลอยลำเพื่อรอภารกิจกู้เรือ Ever Given เสร็จสิ้น ขณะที่บางลำเลือกที่จะใช้เส้นทางอ้อมแหลมกู๊ดโฮป ที่ทำให้ระยะเวลาและต้นทุนการขนส่งเพิ่มขึ้นอีกมหาศาล

ส่วนเรือที่รอเข้าคลองสุเอซอยู่นั้น อาจต้องใช้เวลาอีกนานนับสัปดาห์เพื่อที่จะระบายเรือที่ติดขัดจากทั้งสองปากทางเข้าคลองสุเอซต่อไป ส่วนเจ้าของเรือ Ever Given ต้องเผชิญกับการเรียกร้องค่าเสียหายและค่าใช้จ่ายในภารกิจกู้เรือจากการเกยฝั่งอีกหลายล้านดอลลาร์สหรัฐด้วย

ขณะที่นักวิเคราะห์ประมาณการว่าเหตุการณ์ครั้งนี้สร้างความเสียหายคิดเป็นเงิน 10,000 ล้านดอลลาร์ หรือราว 3 แสนล้านบาทต่อวันเลยทีเดียว