แนวโน้ม การเมือง จากกรณี ‘หมู่บ้านทะลุฟ้า’ บทเรียน ปราบปราม/ กรองกระแส

กรองกระแส

 

แนวโน้ม การเมือง

จากกรณี ‘หมู่บ้านทะลุฟ้า’

บทเรียน ปราบปราม

 

การตัดสินใจสลาย “หมู่บ้านทะลุฟ้า” เมื่อเช้าตรู่ของวันอาทิตย์ที่ 28 มีนาคม เด่นชัดยิ่งว่าเป็นการตัดสินใจที่ล่อแหลมอย่างแหลมคมยิ่งในทางการเมือง

เหมือนกับว่าปฏิบัติการนี้มาจากคำสั่งอันเฉียบขาด

นั่นเห็นได้จาก เมื่อสลายหมู่บ้านในตอน 06.00 น.อย่างรวดเร็วและได้ผล จับกุมคนในหมู่บ้านไปได้หลายสิบคน พร้อมกับของกลางแปลกๆ จำนวนมากเท่าที่มีการแถลง

ไม่ว่าจะเป็น “กัญชา” ไม่ว่าจะเป็น “เซ็กซ์ทอย”

ปรากฏว่า ได้มีความพยายามจะรวมตัวกันเป็น “หมู่บ้านทะลุฟ้า” ขึ้นมาอีก หน่วยควบคุมฝูงชนจึงได้บุกเข้าไปจัดการอีกครั้งในตอน 18.00 น.ของวันเดียวกัน

ผลก็คือ สิ่งที่เรียกว่า “หมู่บ้านทะลุฟ้า” ไม่ดำรงอยู่ในทางเป็นจริง

ขณะเดียวกัน ผลในอีกด้านหนึ่งกลับกลายเป็นการชุมนุมในลักษณะ “แฟลชม็อบ” ตามมาอย่างฉับพลัน ณ สกายวอล์ก หน้ามาบุญครอง แยกปทุมวัน

ประกาศจะหวนกลับไปยัง “หมู่บ้านทะลุฟ้า” อีก

 

คําถามที่ตามมาก็คือ การเกิดขึ้นของ “หมู่บ้านทะลุฟ้า” ดำเนินไปอย่างไร และในความเป็นจริง ในเชิงปริมาณแล้วสามารถระดมมวลชนมาได้มากน้อยเพียงใด

กล่าวในเชิงปริมาณมีจำนวนไม่มากนัก

แม้ว่าการเกิดขึ้นของ “หมู่บ้านทะลุฟ้า” จะมีความต่อเนื่องมาจากการเคลื่อนไหวทางการเมืองผ่านกระบวนการ “เดินทะลุฟ้า” จากนครราชสีมามายังอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยก็ตาม

เมื่อมีการแยก “ชาวบางกลอย” ออกไป ปริมาณยิ่งน้อยลง

กระนั้น ปรากฏการณ์ที่ไม่อาจปฏิเสธได้ก็คือ ปรากฏการณ์ “หมู่บ้านทะลุฟ้า” เป็นการประสานระหว่างภาคประชาสังคม 2 ส่วนเข้ามาดำรงอยู่ภายใต้ร่มธงเดียวกัน

นั่นก็คือ ภาคที่ทำงานในชนบท กับภาคที่ทำงานอยู่ในเมือง

เห็นได้จากการเข้ามาของผู้หญิงปลดแอก เห็นได้จากการเข้ามาของสตรีทอาร์ท ประสานเข้ากับดาวดิน ประสานเข้ากับสลัม 4 ภาค ประสานเข้ากับพรรคสามัญชน

ตรงนี้ต่างหากที่กลายเป็นรากฐานแห่ง “หมู่บ้านทะลุฟ้า”

 

การตัดสินใจเปิดปฏิบัติการสลาย “หมู่บ้านทะลุฟ้า” จึงไม่แน่ว่าเป็นการตัดสินใจที่มีการสำรวจ ศึกษาสภาพการณ์การเกิดขึ้นของ “หมู่บ้าน” อย่างรอบด้านหรือไม่

เพราะนี่คือการเคลื่อนไหวทาง “ความคิด” อันหนักแน่นอย่างยิ่ง

คนของพรรคสามัญชนที่ปรากฏผ่านกระบวนการ พีเพิล โก มีความจัดเจนในการเคลื่อนไหวเดินเท้าสร้างความเห็นและก่อให้เกิดมติร่วมมาแล้วหลายครั้ง

กลุ่มนี้ประสานเข้ากับนักวิชาการเพื่อประชาธิปไตย

เมื่อขบวนการภาคประชาสังคมนี้ต่อสายเข้ากับกลุ่มผู้หญิงปลดแอก กลุ่มสตรีทอาร์ท ซึ่งสะสมความจัดเจนมาจากการเคลื่อนไหวของ “ราษฎร” ในห้วงปลายปี 2563

นี่คือการก่อเกิดขึ้นของ “ภาคประชาสังคม” ในมิติใหม่

อย่าได้แปลกใจหากว่าเมื่อประสบกับปฏิบัติการสลายหมู่บ้านอย่างเฉียบขาด ฉับพลัน หนักหนายิ่งกว่าการสลายเมื่อเดือนตุลาคม 2563

แต่ด้วยเวลาอันรวดเร็วก็สามารถฟื้นคืน “หมู่บ้าน” ขึ้นมาได้อีก

 

รูปธรรมหนึ่งของปรากฏการณ์ “หมู่บ้านทะลุฟ้า” คือรูปธรรมแห่งปรากฏการณ์การเคลื่อนไหวอย่างสงบ ปราศจากอาวุธ แต่มิได้ยอมจำนนอย่างง่ายดาย

เป็นการประสาน “ชนบท” เข้ากับ “เมือง”

แนวโน้มต่อไปก็คือ การเชื่อมต่อระหว่างการเคลื่อนไหวในแบบ “แฟลชม็อบ” ในเมืองใหญ่ เข้ากับการเคลื่อนไหวของชาวบ้านในชนบท

ทั้งหมดนี้เป็นผลจากปฏิบัติการปราบปรามอย่างรุนแรงจากกลไกอำนาจรัฐ