‘ไอติม’ พริษฐ์ วัชรสินธุ เสนอปลด 3 อาวุธ ‘คสช.’ วุฒิสมาชิก-องค์กรอิสระ-กก.ยุทธศาสตร์ / รายงานพิเศษ

รายงานพิเศษ

พิชญ์เดช แสงแก่นเพ็ชร์

 

‘ไอติม’ พริษฐ์ วัชรสินธุ

เสนอปลด 3 อาวุธ ‘คสช.’

วุฒิสมาชิก-องค์กรอิสระ-กก.ยุทธศาสตร์

 

ไอติม-พริษฐ์ วัชรสินธุ อดีตผู้สมัคร ส.ส.กทม. พรรคประชาธิปัตย์ ปัจจุบันทำงานขับเคลื่อนกับกลุ่มรัฐธรรมนูญก้าวหน้า มองว่าทางรอดปัญหาการเมืองในปัจจุบัน จะหลีกเลี่ยงการพูดถึงรัฐธรรมนูญไม่ได้

เพราะว่ารัฐธรรมนูญ 2560 มีปัญหาตั้งแต่ที่มา กระบวนการและเนื้อหา

พูดถึงที่มาคนร่าง แต่งตั้งมาจากคนที่ทำรัฐประหาร ไม่ได้มีการเปิดโอกาสให้มีส่วนร่วมภาคประชาชนในการแสดงความคิดเห็น แม้ว่าจะมีกระบวนการในการจัดทำประชามติก็จริง แต่เป็นประชามติที่ไม่ได้เสรีและเป็นธรรม และไม่ได้เปิดให้สองฝ่ายรณรงค์อย่างเท่าเทียมกัน

ฝ่ายที่เชียร์หรือว่าโหวตอยากจะให้รับร่างเขามีการส่งเอกสารข้อดีของรัฐธรรมนูญ 2560 ไปถึงที่บ้าน โดย กกต.

แต่ฝั่งที่ออกมารณรงค์คัดค้าน หรือนำเสนอเนื้อหาอีกด้านหนึ่งกลับถูกจับกุม

ท้ายที่สุดก็มีปัญหาในส่วนของเนื้อหาที่บางส่วนตกหล่นบกพร่องในเรื่องความเป็นประชาธิปไตย มีการขยายอำนาจหลายองค์กรที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง ไม่ว่าจะเป็น ส.ว./องค์กรอิสระ กลไกยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี และยังมีอีกหลายอย่างที่ลิดรอนสิทธิเสรีภาพของประชาชน

เห็นได้ชัดว่ามีความถดถอยจากรัฐธรรมนูญฉบับก่อนๆ

ปัญหาการเมืองหลายๆ อย่างจึงมาจาก “รัฐธรรมนูญ”

พิจารณาถึง “แก่นเนื้อหาสาระ” อย่างที่ผู้ชุมนุมหรือคนที่เรียกร้องต้องการความเปลี่ยนแปลง จะเห็นว่าเขาไม่ได้ต้องการอะไรไปมากกว่าระบอบที่เป็นกลาง มองทุกคนเท่าเทียมกัน มีสิทธิเท่ากัน มีการลงคะแนนตัดสินว่าใครควรจะได้เป็นนายกฯ โดยไม่ใช่มี ส.ว. 250 คนที่มาจากการแต่งตั้ง แล้วมีค่าเสียงมากกว่าประชาชนนับล้านคน

เขาต้องการระบบที่เป็นกลางที่ไม่ว่าคุณจะมีอุดมการณ์ทางการเมืองแบบไหนก็สามารถแข่งขันกันได้บนกติกาที่เป็นธรรม

ไม่ใช่ว่ามีวุฒิสมาชิกหนุนท้ายบางพรรคการเมือง ที่มีจุดประสงค์ชัดเจนในการสืบทอดอำนาจ

ที่สำคัญต้องมีกลไกการตรวจสอบถ่วงดุล การใช้อำนาจอย่างไม่เป็นธรรม ซึ่งองค์กรอิสระหรือศาลรัฐธรรมนูญก็มีที่มาที่หลายคนตั้งคำถาม

ทั้งหมดนี้จะเริ่มต้นได้ด้วย “การแก้ไขรัฐธรรมนูญ” เราเองพูดคุยเรื่องนี้กันมาเกือบ 2 ปีแล้วตั้งแต่หลังเลือกตั้งปี 2562 เสร็จสิ้นไป ก็เห็นว่าไม่มีความคืบหน้า แล้วตอนนี้ต้องเริ่มต้นกันใหม่

กลไกเครื่องมือที่เขาใช้ ไม่ให้แก้ง่ายๆ เปรียบเสมือนอัญมณีที่เขามี ในการสืบทอดอำนาจต่อ

แน่นอนว่าเขาจะต้องทำทุกวิถีทางในการพยายามหาข้ออ้างในการขวางการแก้ไข

ไอติมมองอุปสรรคการแก้ไขรัฐธรรมนูญเกิดจากคนสองกลุ่ม

1. คนที่มีผลประโยชน์โดยตรงจากการสืบทอดอำนาจก็คือ นายกฯ/สมาชิกวุฒิสภา 250 คนที่ถูกแต่งตั้งขึ้นมา และพรรคพลังประชารัฐที่ชัดเจนว่าถูกตั้งขึ้นมาเพื่อสืบทอดอำนาจ

เราเห็นถึงความไม่จริงใจของคนกลุ่มนี้ หลายครั้งที่พยายามขัดขวาง ตั้งแต่เริ่มจัดตั้งรัฐบาลหลังการเลือกตั้ง เราก็เห็นว่า แม้จะมีการระบุเรื่องนโยบายการแก้ไขรัฐธรรมนูญเข้าไปตอนแถลงต่อรัฐสภาว่าเป็นนโยบายเร่งด่วน แต่ก็ไม่เห็นความคืบหน้าอะไร ก่อนที่พวกเขายอมตื่นตัวมากขึ้น เพราะว่ามีกระแสจากนอกสภา

แต่พอเหตุการณ์การคว่ำในวาระที่ 3 มันเป็นอีกสัญญาณที่ชัดมากเรื่องความไม่จริงใจ หลังจากเราเห็นความพยายามยื้อเวลาตั้งแต่ตั้งคณะกรรมาธิการมาหลายชุดศึกษา ก่อนที่ ส.ส.พรรคพลังประชารัฐกับ ส.ว.ร่วมมือกันมีมติให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความ ว่าสภามีอำนาจในการร่างฉบับใหม่หรือไม่

นี่เป็นกระบวนการที่ใช้เสียงข้างน้อย สกัดกั้นทุกวิถีทาง

รวมถึงมีกลุ่มที่ผลิตวาทกรรมขึ้นมาหลอกประชาชนว่า การร่างฉบับใหม่หรือการแก้ไขจะมีส่วนในการล้มล้างการปกครอง หรือไปแตะในหมวดที่ไม่ควรแตะ หรือการที่ศาลรัฐธรรมนูญออกคำวินิจฉัยมาก็ยังมีการไปตีความคำวินิจฉัยผิดเพี้ยนอีก

2. พรรคร่วมรัฐบาล ประชาธิปัตย์และภูมิใจไทย หลังจากทั้งสองพรรคเคยอ้างว่าเงื่อนไขในการตัดสินใจเข้าร่วมรัฐบาลตั้งแต่แรกว่าต้องแก้ไขรัฐธรรมนูญ แต่แล้วการโหวตวาระที่ 3 ก็เห็นได้ว่าเกิดอะไรขึ้น แม้จะพยายามอ้างว่าถูก ส.ว.ขู่อยู่ แต่ปัญหาเกิดจากการที่พรรคร่วมรัฐบาลไม่ได้มีความกล้าหาญเพียงพอที่จะใช้อำนาจที่ตัวเองต่อรอง

ทำไมเขาไม่พลิกสถานการณ์ โดยให้ ส.ว. พรรคพลังประชารัฐและนายกรัฐมนตรี เป็นตัวประกันบ้าง คือ หากโหวตไม่ผ่านจะถอนตัวจากการร่วมรัฐบาล

ผมเชื่อว่าท่าทีแบบนี้ต้องอาศัยความกล้าหาญของพรรคร่วม

ผมเองก็ผิดหวังกับท่าทีของพรรคประชาธิปัตย์มาตั้งแต่วันที่เขาตัดสินใจเข้าร่วมรัฐบาล ผมเองก็ยื่นใบลาออกทันทีเพราะเราก็ไม่เห็นด้วยที่พรรคกลับคำพูด แล้วก็มองว่าการที่ไปร่วมรัฐบาลที่มี พล.อ.ประยุทธ์เป็นนายกฯ มันคือการเข้าไปรับรองการสืบทอดอำนาจ

วันนี้ก็ถือว่าสายไป แต่ยังหวังให้ท่าทีทั้งสองพรรคกล้าหาญอยู่

 

การแก้ไขธรรมนูญยังมีอีกกับดักหนึ่งที่ไอติมเตือนว่าต้องระวัง คือการถูกบีบให้ต้องเลือกว่าจะร่างใหม่ทั้งฉบับหรือว่าการแก้ไขรายมาตรา จะมีคนมาถกเถียงกันว่าจะเอาแบบไหน

ความเป็นจริง ผมมองว่าถนนทั้งสองเลนนี้มันต้องทำทั้งคู่ ทำทันทีควบคู่กันไป ถ้าเรามัวแต่สนใจเลนซ้าย การร่างฉบับใหม่ มันใช้เวลานานกว่าจะมีการจัดทำประชามติ กว่าจะเลือกตั้ง ส.ส.ร. กว่าจะมีประชามติอีก ใช้เวลาอย่างน้อย 2 ปี ถ้าระหว่างนั้นการเมืองมีวิกฤต มีการยุบสภา ทุกอย่างก็ยังคงเหมือนเดิม ส.ว.ก็ยังเลือกนายกฯ ได้ คนในองค์กรอิสระพ้นตำแหน่ง ก็ต้องถูกรับรองโดย ส.ว. 250 คน นี่คือความวิปริตทางการเมืองยังคงอยู่

การที่จะร่างฉบับใหม่โดยที่ไม่แก้รายมาตราไปด้วย ผมมองว่าจะยิ่งเป็นปัญหา

ในทางกลับกัน มีคนบอกให้แก้รายมาตราอย่างเดียวไม่ต้องร่างฉบับใหม่ เนื่องจากที่มาของรัฐธรรมนูญนี้มันมีปัญหา ที่ประชาชนไม่อยากจะยอมรับ เขาไม่ได้ต้องการให้มีเพียงแค่ใครมาซ่อมหน้าต่าง ซ่อมประตูให้เขา แต่พวกเขาต้องการที่จะสร้างบ้านหลังใหม่ขึ้นมาเลย

ดังนั้น ถ้าไม่ร่างฉบับใหม่ ก็ไม่ตอบโจทย์

ถนน 2 เลนนี้อย่าให้ใครมาบีบให้เราต้องเลือก มันต้องเดินหน้าควบคู่กันไป

แต่ไม่ว่าจะไปในหนทางไหน เราก็จะพอเห็นว่ามีอุปสรรคจากระบอบประยุทธ์ที่วางคน-กลไก-กับดักเอาไว้

โดยหลังจากนี้การแก้ไขรายมาตรา เราต้องรณรงค์พร้อมกับปลดอาวุธ คสช.ที่ฝังมรดกของระบอบประยุทธ์เอาไว้ให้หายไปด้วยเพื่อที่จะได้มาซึ่งระบอบการเมืองที่เป็นกลาง ทำให้เป็นประชาธิปไตยแท้จริง แล้วการแก้ไขง่ายขึ้น

 

พริษฐ์บอกว่า พยายามที่จะมานั่งดูว่าอาวุธที่เขาใช้อยู่ในปัจจุบันมีอะไรบ้าง ก็มีอยู่ 3 อย่างที่เราต้องปลด

อันแรกคือสิ่งที่ผมพูดมานานมากคือวุฒิสมาชิก ที่ขัดกับหลักประชาธิปไตยพื้นฐานอย่างมาก หลายคนมาโต้แย้งว่าที่อื่นเขาก็มีแต่งตั้งกัน แต่ว่าความเป็นประชาธิปไตยของวุฒิสภามันวัดกันที่ “อำนาจ” ที่ ส.ว.มีกับที่มามันสอดคล้องกันหรือไม่ ถ้าคุณมีอำนาจเยอะ ที่มาคุณก็ต้องสอดคล้องกับประชาชนให้มาก อย่างที่อังกฤษเขามี ส.ว.แต่งตั้ง แต่มีอำนาจน้อยมาก เช่น อำนาจการชะลอร่างกฎหมาย 1 ปี แต่บ้านเรามีอำนาจมหาศาล ทั้งโหวตนายกฯ เข้ามาร่วมโหวตกฎหมายปฏิรูปประเทศ แถมยังมีอำนาจยับยั้งการแก้ไขรัฐธรรมนูญ อำนาจในการแต่งตั้งรับรองตุลาการศาลรัฐธรรมนูญและกรรมการองค์กรอิสระ ถือว่ามีอำนาจที่สูงมาก

แต่ที่มาไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง ไม่ได้ยึดโยงประชาชน และเป็นกระบวนการแต่งตั้งที่มีปัญหามาก เพราะมาจากการจิ้มโดยจาก คสช. มีการใช้งบประมาณพันกว่าล้าน แต่ผลลัพธ์ที่ได้คือ มีพี่น้องของคณะกรรมการสรรหา 3 ใน 10 คน มาเป็น ส.ว. แล้วมี 6 คนที่เลือกตัวเองเข้าไปนั่งเป็น ส.ว. ที่สำคัญมีมากกว่าร้อยคนที่เป็นอาชีพทหาร-ตำรวจ สะท้อนชัดเจนว่าไม่ได้เป็นที่มาของตัวแทนหลากหลายอาชีพ ไม่ได้เป็นตัวแทนของคนทุกกลุ่ม

ข้อเสนอผมจึงอยากให้ยุบวุฒิสภาทิ้งและใช้ระบบสภาเดี่ยว มีแค่สภาผู้แทนราษฎร ซึ่งความจริงแล้วเป็นระบบที่มีข้อดีกว่ามาก ทำให้กระบวนการการแก้ไขกฎหมายได้รวดเร็วกว่าและเท่าทันการเปลี่ยนแปลงของโลก แถมประหยัดงบประมาณได้เป็นพันๆ ล้าน

อาวุธที่ 2 คือการปฏิรูปที่มาขององค์กรอิสระ ที่ก็ยังมีที่มาจากแม่น้ำสายเดียวกัน

สุดท้ายคือการยกเลิกประกาศใช้ยุทธศาสตร์ชาติ อันมีไว้เป็นกลไกในการบีบคนที่จะขึ้นมาเป็นรัฐบาลว่าไม่ทำตามนี้ถือว่ามีความผิด แต่เราก็ไม่เห็นว่ารัฐบาลนี้มีการบังคับใช้กลไกเครื่องมือนี้

เนื่องจากพวกเขาร่างมาเอง

ชมคลิป