กัญชง-กัญชาพืช ศก.ใหม่หอมยวนใจ ‘ยสท.’ทิ้งธุรกิจมวนใบยาสูบ กู้วิกฤตรายได้ฟื้น-กำไรพุ่ง?/ บทความเศรษฐกิจ

บทความเศรษฐกิจ

 

กัญชง-กัญชาพืช ศก.ใหม่หอมยวนใจ

‘ยสท.’ทิ้งธุรกิจมวนใบยาสูบ

กู้วิกฤตรายได้ฟื้น-กำไรพุ่ง?

 

จากกระแสที่ร้อนแรงของพืชเศรษฐกิจใหม่ อย่างกัญชง-กัญชา ที่ผู้คนให้ความสนใจจำนวนมาก

รัฐบาลไทยได้ผลักดันให้กัญชงและกัญชากลายเป็นพืชถูกกฎหมาย จนเมื่อปีที่ผ่านมาอนุญาตให้ใช้ในทางการแพทย์

และล่าสุด เมื่อช่วงเดือนกุมภาพันธ์ 2564 กระทรวงสาธารณสุขได้ออกประกาศ อนุญาตให้นำส่วนประกอบของพืชกัญชงและกัญชาที่ไม่มีสารเสพติด ได้แก่ เมล็ดกัญชง น้ำมันจากเมล็ดกัญชง โปรตีนจากเมล็ดกัญชง ผสมในผลิตภัณฑ์อาหารและเครื่องดื่มได้ รวมทั้งทำผลิตภัณฑ์อาหารเสริมได้

การยาสูบแห่งประเทศไทย (ยสท.) เป็นอีกหน่วยงานรัฐที่ให้ความสนใจ วิจัยและพัฒนาการเพาะปลูกและพัฒนาพืชกัญชงและกัญชาเพื่อต่อยอดในเชิงพาณิชย์ เป็นสินค้าเพื่อสุขภาพ

รวมทั้งได้ผลักดันให้เกษตรกรผู้เคยปลูกยาสูบ สามารถปลูกกัญชงและกัญชาได้ถูกต้องตามกฎหมายในเชิงพาณิชย์

โดยเชื่อว่าจะเป็นการสร้างรายได้ให้เกษตรกรกลุ่มดังกล่าว

รวมทั้งสร้างรายได้ให้การยาสูบฯ เอง หลังจากที่รายได้หาย กำไรหดไปเป็นเวลานาน

 

นอกจากนี้ การยาสูบฯ ได้ผลักดันกฎหมาย เพื่อส่งเสริมเกษตรกรผู้ปลูกใบยาสูบให้สามารถปลูกพืชกัญชงและกัญชาเสริมได้ ขณะนี้กำลังอยู่ในขั้นตอนระหว่างตีความขอบเขตอำนาจหน้าที่ของการยาสูบฯ

โดยคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) และคณะกรรมการกฤษฎีกา ซึ่งคาดว่าจะมีความชัดเจนในช่วงเดือนเมษายน หลังจากนั้นจะมีการออกเป็นกฎกระทรวงเพื่อบังคับใช้ต่อไป หลังจากคณะกรรมการกฤษฎีกาตีความกฎหมายเป็นที่เรียบร้อยแล้ว

การยาสูบฯ จะเปิดรับลงทะเบียนเกษตรกรได้ช่วงหลังเดือนเมษายน และสามารถปลูกในช่วงเดือนสิงหาคม 2564

ล่าสุดได้เตรียมหารือร่วมกับองค์การเภสัชกรรม กรมแพทย์แผนไทย และสถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ เพื่อส่งกัญชงและกัญชาให้องค์การเภสัชฯ นำไปใช้ประโยชน์โดยอาจนำไปแปรรูปเพื่อเป็นยา ผลิตภัณฑ์ทางการแพทย์และผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพอื่นๆ

จึงเป็นโอกาสที่ดีสำหรับเกษตรกรผู้ปลูกยาสูบได้มีรายได้เพิ่มขึ้น หลังจากการยาสูบฯ ลดปริมาณการรับซื้อใบยาจากชาวไร่ จากเดิม 28 ล้านกิโลกรัมต่อปี เหลือ 13 ล้านกิโลกรัมต่อปี ทำให้รายได้เกษตรกรหายไปประมาณ 50%

 

การลดปริมาณการรับซื้อใบยาสูบ เป็นผลมาจากยอดขายบุหรี่ของการยาสูบฯ ลดลง เพราะผลกระทบโครงสร้างภาษียาสูบใหม่

ประกอบกับข้อมูลการสำรวจของศูนย์วิจัยและจัดการความรู้เพื่อการควบคุมยาสูบ (ศจย.) เมื่อเดือนพฤษภาคม 2563 ช่วงที่มีมาตรการล็อกดาวน์ และเคอร์ฟิวจากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) เผยว่า คนไทยมีพฤติกรรมสูบบุหรี่ลดลง 27.1% เพราะกลัวกระทบต่อสุขภาพและกังวลว่าจะเสี่ยงป่วยด้วยโรคโควิด-19 รวมทั้งเพื่อประหยัดค่าใช้จ่าย

ซึ่งการล็อกดาวน์โควิด-19 ทำให้คนไทยซื้อบุหรี่น้อยลง 31.3% โดยผู้สูบบุหรี่ส่วนมากซื้อบุหรี่จากร้านสะดวกซื้อ ส่งผลให้ยอดขายบุหรี่ของร้านสะดวกซื้อลดลง 25%

การสนับสนุนปลูกกัญชาและกัญชงของการยาสูบฯ นั้น เพื่อประโยชน์ทางการแพทย์และอื่นๆ ที่ไม่ใช่สารเสพติด

รวมทั้งยืนยันว่าจะไม่มีการนำส่วนประกอบของกัญชงและกัญชามาใส่ในบุหรี่แน่นอน โดยผู้ปลูกจะต้องรวมกลุ่มกันเป็นวิสาหกิจชุมชนแล้วขออนุญาตจากทางการ ตามเงื่อนไขของรัฐบาล

หากเกษตรกรผู้ปลูกยาสูบสามารถปลูกกัญชาหรือกัญชงทดแทนใบยาสูบได้ จะทำให้มีรายได้เพิ่มขึ้น โดยให้อยู่ภายใต้การควบคุมและดูแลของการยาสูบฯ เพื่อไม่ให้เล็ดลอดไปใช้ประโยชน์ด้านเป็นสารเสพติดได้

ทั้งนี้ การยาสูบฯ มีแผนในการรับขึ้นทะเบียนเพื่อเพาะปลูกกัญชงและกัญชาเสริมจากเครือข่ายเกษตรกรผู้ปลูกใบยาสูบ ปัจจุบันมีจำนวน 13,500 ครัวเรือน

ซึ่งการปรับพื้นที่มาปลูกกัญชงและกัญชาเสริม จะทำให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้น จากเดิมการปลูกใบยาสูบอยู่ที่ประมาณ 23,000 บาทต่อไร่ แต่หากปลูกพืชกัญชงและกัญชาคาดว่าจะมีรายได้ขั้นต่ำ 70,000-80,000 บาทต่อไร่

ซึ่งการยาสูบฯ สำรวจแล้วพบว่ามีเกษตรกรสนใจเข้าร่วมไม่ต่ำกว่า 50-60% จากจำนวนเกษตรกรในเครือข่าย

ทางด้านธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ก็ให้การสนับสนุนสินเชื่อเกษตรกรในการปลูกพืชกัญชงและกัญชา หากมีการออกกฎหมายชัดเจน เรื่องอนุญาตให้เกษตรกรสามารถปลูกพืชกัญชงและกัญชาได้ในเชิงพาณิชย์และใช้ในอุตสาหกรรมทั่วไปให้ชัดเจน

โดยวงเงินที่สามารถปล่อยสินเชื่อให้กับเกษตรกรผู้ปลูกกัญชงและกัญชาได้ จะอยู่ในวงเงินสินเชื่อสำหรับเปลี่ยนกระบวนการผลิต จำนวน 10,000 ล้านบาท

 

แผนปรับตัวสู่พืชเศรษฐกิจใหม่ที่มาแรงนี้ นอกจากช่วยเกษตรกรลูกไร่ของการยาสูบฯ แล้ว ยังเป็นส่วนหนึ่งในแผนปรับตัวของการยาสูบเพื่อหารายได้เพิ่มขึ้นให้องค์กร

ที่ผ่านมาการยาสูบได้ทำหลายทางในการลดค่าใช้จ่ายรวมทั้งหารายได้เสริม

เช่น การร่วมกับการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) ติดตั้งแผงพลังงานแสงอาทิตย์ ที่โรงงานผลิตยาสูบ จ.พระนครศรีอยุธยา ช่วยประหยัดค่าไฟฟ้าถึงปีละ 19 ล้านบาท รวมถึงการนำที่ดินจังหวัดเชียงใหม่ เชียงราย หนองคาย ออกประมูลเช่าสร้างรายได้ ซึ่งเป็นแผนการปรับตัวระยะสั้น ตั้งเป้าปี 2564 จะมีกำไร 600-700 ล้านบาท และปี 2565 จะมีกำไรเกิน 1,000 ล้านบาท

แต่ถ้าหากผลักดันเรื่องการปลูกกัญชงและกัญชาสำเร็จ การยาสูบฯ เชื่อว่า น่าจะเป็นเส้นทางธุรกิจใหม่ที่ทำให้องค์กรกลับมาเข้มแข็งอีกครั้ง!

ปัจจุบันพืชกัญชงสามารถสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่ผลิตภัณฑ์เป็นจำนวนมาก สามารถนำส่วนต่างๆ ของกัญชงไปใช้แปรรูปได้หลากหลายมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นกระดาษ วัสดุคอมโพสิต พลาสติกชีวภาพ ผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพและความงาม ตลอดจนการนำเมล็ดและน้ำมันจากเมล็ดกัญชงมาใช้เพื่อการบริโภค เห็นได้จากมูลค่าตลาดอุตสาหกรรมกัญชงทั่วโลกในปี 2562 ที่มีมูลค่าประมาณ 4,410 ล้านเหรียญสหรัฐ (ประมาณ 137,000 บาท) และคาดว่าภายในปี 2569 จะมีมูลค่ากว่า 14,670 ล้านเหรียญสหรัฐ (ประมาณ 457,000 ล้านบาท)

โดยตลาดสำคัญได้แก่ จีน สหรัฐอเมริกา และยุโรป

 

จากกระแสดังกล่าวทำให้ผู้ประกอบการสนใจเป็นอย่างมาก บริษัทขนาดใหญ่ของไทยอย่างเครือเจริญโภคภัณฑ์ หรือซีพี ก็ได้ลงนามกับมหาวิทยาลัยแม่โจ้ ในการวิจัยและพัฒนาพืชกัญชงเพื่อประกอบอาหาร ซึ่งทำการศึกษาตั้งแต่วิธีการเพาะปลูกจนถึงการนำมาทำหรือผสมในผลิตภัณฑ์อาหาร รวมทั้งกลุ่มกิจการเครื่องดื่ม เช่น กลุ่มคาราบาว อิชิตัน กรุ๊ป เซ็ปเป้ เป็นต้น

นอกจากนี้ ยังมีกลุ่มเครื่องสำอาง อาทิ คาร์มาร์ท รวมทั้งกลุ่มอาหารเสริม อาทิ เมก้า ไลฟ์ไซแอ็นซ์ หรือเมก้า และเจเคเอ็น ที่หันมาสนใจมาผลิตอาหาร อาหารเสริมและเครื่องดื่มเพื่อสุขภาพจากกัญชง

เมื่อการยาสูบฯ อยากรุกตลาด แย่งพื้นที่ค้าขาย เกาะกระแสกัญชง-กัญชาในวงการธุรกิจ การปรับตัวครั้งนี้ถือเป็นผลงานอันยิ่งใหญ่ แต่หนทางนั้นเต็มไปด้วยขวากนาม รายชื่อภาคเอกชนที่ยื่นเข้ามาเป็นคู่แข่ง ระดับน้อย-ใหญ่ดาหน้ากันจับจองตลาดกันแล้วล่วงหน้าให้พึ่บพั่บ

การฮึดสู้ครั้งนี้ของการยาสูบฯ ต้องมาลุ้นกันว่า จะรุ่งโรจน์หรือรุ่งริ่ง เพราะอย่างที่บอก กระดูกคู่แข่งมีหลายเบอร์ทีเดียว