มุกดา สุวรรณชาติ : 225,000 เงินช่วย ผรท. ครั้งสุดท้าย? งานนี้คนตายไม่มีสิทธิ์

มุกดา สุวรรณชาติ

วันที่ 11 เมษายน 2560 รัฐบาล พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา อนุมัติเงินช่วยเหลือให้กับผู้ร่วมพัฒนาชาติไทย (ผรท.) จำนวน 6,183 ราย รายละ 225,000 บาท เป็นจำนวนเงินทั้งสิ้น 1,391,175,000 บาท

จะมอบเงินกันในวันที่ 21 มิถุนายน 2560 นี้ เวลา 13.00 น. กอ.รมน. บอกให้ไปแต่เนิ่นๆ

ตามข้อมูล กอ.รมน. … นโยบาย “การเมืองนำการทหาร” ตามคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ 66/2523 ลงวันที่ 23 เมษายน 2523 เรื่อง นโยบายการต่อสู้เพื่อเอาชนะคอมมิวนิสต์ มีวัตถุประสงค์เพื่อยุติสงครามประชาชน หรือการสู้รบของคนในชาติระหว่าง พคท. กับรัฐบาลไทย

ผลพวงจากนโยบายดังกล่าว ทำให้นักศึกษาที่หนีเข้าป่า ภายหลังเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 มีโอกาสหวนกลับสู่เส้นทางแห่งสันติภาพ และเปิดโอกาสให้สมาชิก และกองกำลังของ พคท. เข้ามอบตัว เป็นผู้ร่วมพัฒนาชาติไทย (ผรท.)

เป็นผลให้ไฟสงครามกลางเมืองมอดดับลง รัฐบาลสามารถทุ่มเทกำลังที่มีอยู่ เพื่อดำเนินการฟื้นฟูเศรษฐกิจของประเทศต่อไปได้

 

ยุคแรกดำเนินการก่อนปี พ.ศ.2545

ทางราชการได้ให้ความช่วยเหลือ พคท. และกองกำลังกองทัพปลดแอกประชาชนแห่งประเทศไทย (ทปท.) ในพื้นที่ 3 จังหวัดภาคอีสาน ซึ่งเข้ามอบตัวเป็นผู้ร่วมพัฒนาชาติไทย (ผรท.) ด้วยการจัดสรรที่ดินให้เป็นที่อยู่อาศัย ครอบครัวละ 2 งาน และที่ทำกิน ครอบครัวละ 8-15 ไร่ รวม 403 ครอบครัว 806 คน จังหวัดมุกดาหาร จังหวัดนครพนม จังหวัดยโสธร

ในพื้นที่ภาคเหนือ ดำเนินการช่วยเหลือโดยได้จัดที่อยู่อาศัยและที่ทำกินให้กับกลุ่ม ผรท. ใหม่ ในพื้นที่หลายจังหวัด เช่น จังหวัดพิษณุโลก, จังหวัดพะเยา และจังหวัดตาก

ในพื้นที่ภาคใต้ กอ.รมน.ภาค 4 ได้ให้ความช่วยเหลือขั้นต้นด้วยการจ่ายค่าตอบแทนอาวุธและกระสุนที่นำมามอบให้แก่ทางราชการ ในห้วงปี พ.ศ.2528-2530 ครอบครัวละ 50,000 บาท

 

การตั้งหลักเกณฑ์
สมัยนายกฯ ทักษิณ ชินวัตร

คําสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ 200/2545 ลงวันที่ 8 กรกฎาคม 2545 แต่งตั้งผู้บัญชาการทหารบก เป็นประธานกรรมการ และแม่ทัพภาคที่ 2 เป็นเลขานุการ ของคณะกรรมการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของ ผรท. ในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยให้ได้ข้อยุติและแนวทางปฏิบัติในการแก้ไขปัญหาที่ชัดเจนภายในกำหนดเวลา 3 เดือน โดยมีรายละเอียด ดังนี้

คุณสมบัติของ ผรท. และลักษณะของการให้ความช่วยเหลือ

1. ผู้ร่วมพัฒนาชาติไทย (ผรท.) ให้หมายถึงอดีตกรรมการ พคท. และอดีตกองกำลังติดอาวุธ ที่เข้ามอบตัวต่อทางราชการเท่านั้น ส่วนสมาชิกแนวร่วมหรือผู้ให้การสนับสนุน อดีตกรรมการ พคท. และอดีตกองกำลังติดอาวุธที่ถูกจับกุม ไม่ถือว่าเป็น ผรท. จะไม่อยู่ในข่ายได้รับความช่วยเหลือ

2. การให้ความช่วยเหลือ ให้ช่วยเหลือเป็นรายครอบครัว หากเป็นสามีภรรยากัน ให้พิจารณาช่วยเหลือเพียงรายเดียว และต้องเป็นผู้ไม่เคยได้รับความช่วยเหลือด้านการจัดที่ดินจากทางราชการมาก่อน

3. ให้ช่วยเหลือเฉพาะตัว ผรท. เท่านั้น หาก ผรท. ผู้นั้นเสียชีวิตไปแล้ว ให้งดการให้ความช่วยเหลือ กรณี ผรท. ที่ผ่านการตรวจสอบและรับรองคุณสมบัติแล้ว หากเสียชีวิต ให้ประโยชน์ตกทอดไปยังทายาทโดยธรรม

4. เนื่องจากสถานการณ์ได้ยุติตั้งแต่ปี พ.ศ.2525 ซึ่งเป็นระยะเวลา 20 ปีมาแล้ว ดังนั้น ณ เวลานี้ (พ.ศ.2545) ผรท. ควรจะมีอายุเกินกว่า 36 ปีขึ้นไปแล้ว หากมีการเสนอรายชื่อผู้ที่มีอายุต่ำกว่า 36 ปี น่าจะพิจารณาได้ว่า มิใช่ ผรท. ควรงดการให้ความช่วยเหลือ

เงื่อนไขอื่นๆ

ได้รับการเสนอรายชื่อจากแกนนำว่าเป็นผู้มีคุณสมบัติครบถ้วนในการเป็น ผรท.

เป็นผู้มีความประพฤติดี

เป็นผู้ยากจน มีรายได้ต่ำกว่าปีละ 20,000 บาท โดยมีคณะกรรมการหมู่บ้าน, ผู้ใหญ่บ้าน, กำนัน และนายอำเภอ รับรอง

ผู้มีรายได้ประจำ (เงินเดือน) สูงกว่าปีละ 20,000 บาท เช่น ข้าราชการ, พนักงานรัฐวิสาหกิจ ฯลฯ ไม่มีสิทธิ์เสนอรายชื่อขอรับการช่วยเหลือ

แนวทางการให้ความช่วยเหลือ

เปลี่ยนที่ดินและวัว เป็นเงินให้กับผู้ไม่มีที่ดินหรือ ผู้ที่มีที่ดินแล้ว แต่มีน้อยจะได้รับความช่วยเหลือต่างกัน ตั้งแต่ 50,000-125,000

ผู้มีฐานะดี เป็นข้าราชการ พนักงานรัฐวิสาหกิจ พนักงานบริษัท ห้างร้าน ที่มีเงินเดือนประจำ ให้งดการให้ความช่วยเหลือ

ครั้งนั้น ทำไปได้เพียง 2,609 ราย ในพื้นที่ภาคอีสาน บางส่วนใช้เงิน 263 ล้านบาท

 

การช่วยเหลือ สมัยนายกฯ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ

มีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของ ผรท. ชุดใหม่ โดยมอบหมายให้ นายสุเทพ เทือกสุบรรณ เป็นประธานกรรมการ โดยไม่มีแกนนำ ผรท. ร่วมในคณะกรรมการ

คณะกรรมการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของผู้ร่วมพัฒนาชาติไทย ได้พิจารณากำหนดหลักเกณฑ์ คุณสมบัติ และแนวทางการให้ความช่วยเหลือแก่ ผรท. ที่สมควรได้รับความช่วยเหลือจากทางราชการ โดยใช้หลักการเดิม สมัยนายกฯ ทักษิณ มาปรับปรุงให้เหมาะสมกับกาลเวลา

แนวทางการให้ความช่วยเหลือแก่ ผรท. ปรับเงินเพิ่มตามราคาที่ดิน

ให้ความช่วยเหลือแก่ ผรท. ที่มีปัญหาความเดือดร้อนเป็นรายบุคคล ด้วยการจ่ายเป็นเงินจำนวนเทียบเท่าราคาที่ดิน 5 ไร่ และวัว 5 ตัว โดยกำหนดเป็นราคาเดียวใช้กับทุกภาค รวมวงเงินช่วยเหลือค่าประกอบอาชีพ รายละ 225,000 บาท

เงื่อนไขในการให้ความช่วยเหลือ คล้ายเดิม

เป็นสามีภรรยากัน ให้พิจารณาช่วยเหลือเพียงรายเดียว กรณีที่ ผรท. ได้ผ่านการตรวจสอบและพิจารณาแล้วว่าเป็นผู้ที่สมควรได้รับความช่วยเหลือ หาก ผรท. ผู้มีสิทธิ์ได้รับประโยชน์นั้นเสียชีวิต ก็ให้ประโยชน์นั้นตกทอดไปยังทายาทโดยธรรม

ผู้มีฐานะดี ผู้ที่เป็นข้าราชการ พนักงานรัฐวิสาหกิจ พนักงานบริษัทห้างร้าน หรือผู้ที่มีเงินเดือนประจำ ให้งดการให้ความช่วยเหลือ

คุณสมบัติของ ผรท. ที่สมควรได้รับความช่วยเหลือจากทางราชการ

1. ต้องเป็นบุคคลที่เกิดในปี พ.ศ.2509 หรือก่อนนั้น (อายุ 43 ปีขึ้นไป)

2. ต้องเป็นผู้ที่ไม่เคยได้รับความช่วยเหลือจากทางราชการในฐานะ ผรท. และไม่เคยได้รับความช่วยเหลือด้านการจัดที่ดินจากทางราชการมาก่อน

3. ต้องเป็นผู้ที่มีฐานะยากจน และคณะกรรมการได้สอบสวนแล้วว่า เป็นผู้มีรายได้ไม่เกินปีละ 60,000 บาท

4. ต้องเป็นผู้มีความประพฤติดี โดยผู้ใหญ่บ้าน กำนัน และนายอำเภอท้องที่ รับรอง

องค์ประกอบอื่นๆ

ผรท. ที่ผ่านการอบรมโครงการการุณยเทพ ซึ่งมีชื่ออยู่ในบัญชีรายชื่อของหน่วยงาน ฝ่ายทหารที่รับผิดชอบ ผรท. ให้อยู่ในเกณฑ์สมควรได้รับความช่วยเหลือ

ผรท. ที่ไม่ผ่านการอบรมโครงการการุณยเทพ ต้องกำหนดหลักเกณฑ์ เพื่อพิจารณาคัดกรองอย่างชัดเจนและเป็นธรรม โดยผู้ที่อยู่ในเกณฑ์ได้รับการพิจารณา ต้องเป็นอดีตกรรมการ พคท. หรืออดีตกองกำลังติดอาวุธที่เข้ามอบตัวต่อทางราชการและมีหลักฐานการมอบตัวต่อทางราชการ

ผู้ที่เคยเป็นสมาชิกแนวร่วมหรือผู้ให้การสนับสนุน พคท. และอดีตกองกำลังติดอาวุธ ที่ถูกจับกุม ไม่ถือว่าเป็น ผรท. และไม่อยู่ในข่ายได้รับความช่วยเหลือจากทางราชการ

คณะรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ จ่ายเงินช่วย ผรท. ประมาณ 8,800 ราย รวมเป็นเงินเกือบสองพันล้าน

 

สมัยรัฐบาลนายกฯ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร

ใช้คุณสมบัติเดิมตั้งกรรมการคัดกรอง

ยอดที่ผ่านการคัดกรอง ถึงวันที่ 15 สิงหาคม 2556 ซึ่งอยู่ระหว่างรอผลการตรวจสอบคุณสมบัติ เช่น การได้รับที่ดิน ส.ป.ก., ประวัติอาชญากรรม และอื่นๆ

1) กอ.รมน.ภาค 1 จากยอดเข้าคัดกรอง 3,850 คน ผ่าน 391 คน

2) กอ.รมน.ภาค 2 จากยอดเข้าคัดกรอง 51,169 คน ผ่าน 736 คน

3) กอ.รมน.ภาค 3 จากยอดเข้าคัดกรอง 8,625 คน ผ่าน 576 คน

4) กอ.รมน.ภาค 4 จากยอดเข้าคัดกรอง 5,017 คน ผ่าน 2,239 คน

ยังไม่มีการดำเนินการก็เกิดรัฐประหาร 2557

จำนวน ผรท. สุดท้าย ก่อนการรัฐประหาร ประมาณ 4,400 ราย และกลุ่มตกค้างจากรัฐบาลอภิสิทธิ์ 1,175 ราย และมีการยื่นเพิ่มเติมมาจากสหายภาคใต้อีกส่วนหนึ่ง

บัจจุบันจำนวน ผรท. ที่จะได้รับการช่วยเหลือในรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จึงเป็น 6,138 คน มาจากภาคใต้ประมาณครึ่งหนึ่ง

 

มีคนถามว่า จะไปรับดีหรือไม่?

ตรวจสอบดูให้ดีว่า ตนเองมีสิทธิ์ตามหลักเกณฑ์หรือไม่ อย่าให้มีปัญหาทางกฎหมายภายหลัง คนที่มีชื่ออยู่แล้ว เปลี่ยนใจไม่รับได้ แต่คนไม่มีชื่อไปขอรับตอนนี้ไม่ได้

ให้พิจารณาเอาเอง โดยดูสถานะทางเศรษฐกิจ ทางการเมือง และทางสังคมของตนเอง เป็นจุดตัดสิน 40 ปีผ่านไปความคิดเปลี่ยนไปตามประสบการณ์

เงิน 225,000 ไม่ใช่จำนวนน้อย ถ้ารับแล้วมีความสุขก็ทำไปเถอะ คุณไม่ผิดอะไร แต่ถ้ารับแล้วไม่สบายใจก็อย่ารับ

แต่คนที่ไม่ได้รับแน่ๆ คือคนที่เสียสละชีวิตไปแล้ว