โลกของผู้สูงวัย : มนัส สัตยารักษ์

เพื่อนจากโรงเรียนในเครื่องแบบ (ทั้ง 4 เหล่า) ต่างกับเพื่อนในวัยมัธยมมาก

เห็นกันชัดๆ ก็คือ โรงเรียนเหล่าเป็นระบบกิน-นอนจนกระทั่งจบการศึกษา และแม้จะแยกย้ายกันไปคนละทิศละทางและคนละสายงานแล้วก็ตาม แต่ก็ถือว่ายังร่วมอาชีพเดียวกันอยู่ การรวมกลุ่มค่อนข้างเแน่นหนา จัดเลี้ยงสังสรรค์เป็นประจำ ตลอดจนความสัมพันธ์แบบครอบครัวเดียวกันก็ยังอยู่ ขณะเดียวกันก็มีคอนเน็กชั่นกับรุ่นพี่และรุ่นน้องร่วมสถาบันอีกด้วย

ตรงจุดนี้บางทีอาจจะเป็นที่รังเกียจของนักวิชาการทางด้านการเมืองการปกครองบางท่านก็ได้ เพราะถูกยกประเด็นเรื่อง “รุ่น” มาเป็นส่วนวิเคราะห์เหตุการณ์ความเคลื่อนไหวกันเกือบทุกครั้งที่มีการเปลี่ยนแปลง

ต่างกับเพื่อนนักเรียนในวัยมัธยมซึ่งมีจำนวนมากกว่าหลายเท่า เรามักจะเกาะกลุ่มกับเพื่อนที่มีเป้าหมายหรือรสนิยมที่ไปด้วยกันได้ เรียนจบแล้วก็แยกย้ายกันไปเรียนต่อตามความถนัดและความชอบ แล้วประกอบอาชีพแตกต่างกันอย่างหลากหลายตามชะตากรรม

แต่อย่างไรก็ตาม บ่อยๆ ที่ผมคิดถึงเพื่อนมัธยมซึ่งหายหน้าไปนานโดยไม่พบหน้าหรือได้ข่าวเลย นานจนคิดว่าเพื่อนยังอยู่หรือเปล่า และถ้ายังอยู่กำลังทำอะไร

เราไม่ได้พบกันนานจนอายุเกินวัยของคนรุ่น Baby Boom ย่างเข้าสู่สังคมคนสูงวัย หรือ Aging Society

ดังนั้น จึงสรุปได้ว่าเพื่อนคงตายจากไปแล้ว

ไม่ได้หมายจะแช่งเพื่อนนะครับ คุณประพล สมุทรประภูติ (อดีตปลัดกระทรวงคมนาคม/อธิบดีกรมทางหลวง) ประธานรุ่นเพื่อนมัธยมของผม เคยกล่าวด้วยอารมณ์ขันแบบทีเล่นทีจริงกับผมว่า

“เป็นที่น่าสังเกตได้ว่า เพื่อนที่มาเจอกันเป็นประจำ เป็นพวกที่มีอายุยืน”

แม้จะเป็นตรรกะแบบโมเม แต่มันก็เป็นความจริง

ย้อนหลังไปถึงเมื่อครั้งอายุ 17-18 เหลือเวลาอีกไม่นานก่อนกระทรวงศึกษาธิการจะจัดให้มีการสอบมัธยม 8 หรือเตรียมอุดมศึกษาชั้นปีที่ 2 ในปี พ.ศ.2498 ซึ่งเป็นการสอบพร้อมกันทั่วประเทศ ผมมีอาการทุรนทุรายตื่นเต้นกับการเตรียมตัวสอบมากเป็นพิเศษ เพราะอยู่ในกลุ่มที่อาจารย์ใหญ่คาดโทษไว้ว่าอาจจะไม่ส่งชื่อสอบในนามของโรงเรียน

“ปรีชา” เพื่อนร่วมชั้นคนหนึ่งของเราหายหน้าหายตาไปโดยไม่บอกกล่าว ทำให้เขากลายเป็นเพื่อนที่ผมอยากพบมากที่สุด เพราะผมคิดว่าเขารู้ข้อสอบเนื่องจากพ่อของเขาเป็นอธิบดีกรมหนึ่งในกระทรวงศึกษาธิการ ผมมองในแง่ลบว่าเขาคงไม่อยากเผชิญหน้าเพื่อนและกลัวถูกซักถาม

การสอบไล่สมัยนั้นใช้ข้อสอบกลางของกระทรวง จัดให้นักเรียนสอบในโรงเรียนเดิมที่กำลังเรียนอยู่ก็จริง แต่การจัดห้องสอบ เลขที่นั่ง ตลอดจนเจ้าหน้าที่ควบคุมสอบมาจากที่อื่น เพื่อป้องกันการทุจริตหรือช่วยเหลือกันโดยมิชอบ

ผมเร่งดูหนังสือหามรุ่งหามค่ำ เตรียมตัวสอบพลางตามหาตัวและข่าวของปรีชาไปพลางจนถึงวันสอบก็ไม่พบกัน จึงเข้าใจว่าปรีชาคงไปสมัครสอบเองเป็นการส่วนตัวและเข้าห้องสอบที่โรงเรียนอื่น

สอบเสร็จจนประกาศผลสอบแล้วก็ยังไม่พบหน้าปรีชา ข้อสงสัยว่า “ปรีชารู้ข้อสอบ” จึงคาใจผมตลอดมาจนกระทั่งย่างเข้าสู่วัยกลางคนใกล้จะเกษียณแล้ว ปรีชาจึงมาพบเพื่อนในงานเลี้ยงรุ่นที่โรงแรมใจกลางเมืองแห่งหนึ่ง

ย้อนกลับไปก่อนหน้านั้นราวหนึ่งปี เพื่อนมัธยมชื่อ “วัฒนะ” มีเค้าว่าจะมาเป็นคู่หูกับผมซึ่งเป็นเด็กบ้านนอกเข้ากรุง เราสนิทกันเร็วเนื่องจากเขาเป็นนักกีฬาร่วมทีมกับพี่ชายของผมมาก่อน วัฒนะมีรอยยิ้มและหน้าตาบางมุมคล้ายดาราหนังฝรั่งที่แสดงเป็นเจ้าชายปารีส ในภาพยนตร์เรื่อง “เฮเลน ออฟ ทรอย”

ตอนเรียนชั้นมัธยม 7 วัฒนะไปสอบติดโรงเรียนเตรียมนายร้อย เราจึงห่างกันไป จนกระทั่งผมจบมัธยมแปดแล้วไปสอบติดโรงเรียนนายร้อยตำรวจ

เมื่อเราเป็นนักเรียนในเครื่องแบบด้วยกัน จึงได้รับข่าวว่าวัฒนะอยากพบผม ผมก็อยากพบเขา เพราะตัวเองเป็นนักเรียนแต่งเครื่องแบบเท่เสียเปล่าไม่มีสาวควง คิดว่าถ้าได้เดินเคียงเจ้าชายปารีส อาจจะมีหลงเหลือมาให้ควงบ้าง

เป็นเรื่องแปลกพอกันกับเรื่องของปรีชา กล่าวคือ ผมกับวัฒนะไม่ได้พบกันเลย ทั้งที่น่าจะได้เจอกันบ้างที่สนามกีฬาหรือเวทีคอนเสิร์ตวงโยธวาทิต จนกระทั่งเราย่างเข้าสู่วัยกลางคน วัฒนะเป็นนายพลแล้วจึงได้มาพบผมและเพื่อนในวันเลี้ยงรุ่นครั้งหนึ่งที่โรงแรมกลางเมืองกรุงเทพฯ

ผม ปรีชาและวัฒนะ (รวมทั้งคนอื่นๆ ที่ผมไม่ได้กล่าวถึง) เราผ่านวัยหนุ่มและวัยฉกรรจ์มาได้โดยไม่พบกันเลยจนกระทั่งล่วงเข้าสู่วัยกลางคน

โลกกว้างเกินไป

บางเหตุการณ์ที่เล่ามาข้างต้น ผมไม่ได้บันทึกวัน เดือน ปีไว้ จำไม่ได้ว่าเกิดขึ้นเมื่อใดแน่ แต่เรายังอยู่ในวัยที่มีโอกาสได้พบเพื่อนเก่าราว 40-50 คน ยุคนั้นเรายังไม่รู้จักคำว่า “สังคมสูงวัย” ผมค่อนข้างสับสนกับคำว่า “วัย” ไม่แน่ใจนักว่าตัวเองอยู่ในวัยไหน จึงโมเมเหมารวมๆ กันผิดพลาดโดยใช้คำว่า “วัยกลางคน”

ผมโมเมได้ใกล้เคียง… เมื่อไม่นานมานี้วงการแพทย์ได้บัญญัติไว้ว่า อายุ 46-65 เป็นวัยกลางคน

อายุ 66-75 คือสูงวัยระยะต้น อายุ 76-85 คือสูงวัยระยะกลาง อายุ 86 ขึ้นไปถึงจะเรียกว่าสูงวัยระยะปลาย เราลบคำว่า “วัยชรา” ออกจากพจนานุกรมศัพท์แพทย์

ดังนั้น การที่ผมใช้ช่วงเวลานั้นว่า “วัยกลางคน” จึงเป็นอันว่าใกล้เคียงที่สุด

อย่างไรก็ตาม ผมไม่สามารถยืนยันได้ว่าผมได้พบกับใครก่อน ระหว่างปรีชากับวัฒนะ แต่พอปะหน้ากันผมจำได้ทันที สามารถเรียกชื่อและนามสกุลได้ทันที เพื่อนทั้งสองคนไม่ได้เปลี่ยนแปลงไปมากมายเลย

เมื่อผมพูดถึงความหลังครั้งที่เขาหายหน้าไปก่อนสอบมัธยม 8 ปรีชายิ้มและหัวเราะขรึมแบบเดิม

“เราหายหน้าหายตาไป เพราะดูหนังสือไม่ทัน…เราสอบตกน่ะ!”

ส่วนวัฒนะก็ได้แต่แปลกใจว่าทำไมเราไม่ได้พบกันเลยเป็นเวลาถึง 30 กว่าปี

แม้วันที่ปรีชากับวัฒนะมาพบเพื่อนจะห่างกันหลายเดือน แต่ส่วนที่เหมือนกันของเพื่อนทั้งสองก็คือ เพื่อนมา “บอกลา”… ทั้งคู่เป็นมะเร็ง

ส่วนใครจะเป็นตรงไหนของร่างกาย และอาการจะอยู่ในระยะที่เท่าไรผมหมดกะจิตกะใจจะจดจำ ได้แต่บอกข่าวที่ทราบจากหนังสือพิมพ์ เรื่องนายตำรวจที่นครปฐมเป็นมะเร็ง กินยาสมุนไพรแล้วหาย

ปรีชาจดชื่อและที่อยู่ของนายตำรวจไว้ พูดว่า “จะให้คนที่บ้านตามข่าวดู”

ส่วนวัฒนะตัดบทว่า หมอที่รักษาอยู่เอาใจใส่และดูแลอย่างดี เขาเชื่อถือแพทย์แผนปัจจุบันและพร้อมแล้วที่จะจากไป

แล้วเพื่อนทั้งสองคนก็จากไป

เพื่อนที่ยังมีชีวิตอยู่ (วงการแพทย์ปัจจุบันเรียกว่า “สูงวัยระยะกลาง”) แก้เคล็ดด้วยการนัดพบกันให้ถี่ขึ้นเป็นเดือนละหน ตัวคนเหลือน้อย แต่เงินรุ่นยังเหลือเยอะ