วิเคราะห์ : ปฏิบัติการกระชับพื้นที่ สลายREDEM 20มีนา สู่การกลับมาของแนวร่วม ธรรมศาสตร์และการชุมนุม

ในประเทศ

 

ปฏิบัติการกระชับพื้นที่

สลายรีเดม #ม็อบ20มีนา

การกลับมาของแนวร่วม

ธรรมศาสตร์และการชุมนุม

 

มาตรการอันเฉียบขาดในการใช้กำลังเจ้าหน้าที่เข้าปฏิบัติการปราบปรามการชุมนุมกลุ่มประชาชนฝ่ายเห็นต่าง ทวีความรุนแรงขึ้นอย่างเห็นได้ชัด

นับตั้งแต่การใช้ “กระสุนยาง” เข้าสลายการชุมนุมกลุ่มรีเดม (REDEM) บริเวณหน้ากรมทหารราบที่ 1 มหาดเล็กรักษาพระองค์ สถานที่ตั้งบ้านพักหลวงของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ มีผู้ชุมนุมบาดเจ็บหลายราย

ภายหลังจึงได้เกิดคำถาม เป็นปฏิบัติการต่อผู้ชุมนุมทางการเมืองที่ขัดต่อหลักสากลทั้งในแง่ขั้นตอนปฏิบัติและความรุนแรงที่เกินกว่าเหตุ หรือไม่

คำตอบจากฝ่ายผู้คุมอำนาจเป็นอย่างไร เห็นได้จากสถานการณ์ #ม็อบ20มีนา

เมื่อยังคงมีการใช้กำลังความรุนแรง ทั้งรถฉีดน้ำแรงดันสูง แก๊สน้ำตา ระเบิดควัน และกระสุนยาง สาดกระหน่ำเข้าใส่กลุ่มผู้ชุมนุม REDEM ได้รับบาดเจ็บมากกว่า 20 คน รวมถึงสื่อมวลชนหลายสำนัก

โดยนักข่าวสาวที่เข้าไปปฏิบัติหน้าที่สื่อสารรายงานข้อเท็จจริง ถูกยิงด้วยกระสุนยางได้รับบาดเจ็บที่ศีรษะ ซึ่งต่อมาเจ้าหน้าที่ตำรวจอ้างว่าเป็น “ลูกหลง” ไม่ได้มีเจตนายิงใส่นักข่าวแต่อย่างใด

“ตำรวจได้ประกาศแจ้งเตือนให้ผู้สื่อข่าวออกจากพื้นที่ หลังจากประกาศแจ้งเตือนเป็นระยะ ได้ประกาศใช้ตามขั้นตอนตั้งแต่การใช้น้ำฉีด การเข้าจับกุม เพื่อไม่ให้เหตุการณ์บานปลาย การเข้าจับกุมก็เป็นไปตามยุทธวิธี

ตำรวจปฏิบัติตามกรอบของกฎหมาย ตามกฎการใช้กำลังจากเบาไปหาหนัก และเพื่อไม่ให้เป็นอันตรายต่อชีวิต ฝากไปยังสื่อมวลชนให้ปฏิบัติตามคำสั่งของตำรวจ และขอให้มีอุปกรณ์ป้องกันอันตรายที่อาจจะเกิดขึ้นในการปฏิบัติหน้าที่ อยากให้คำนึงถึงความปลอดภัยด้วย” พ.ต.อ.กฤษณะ พัฒนเจริญ รองโฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ระบุ

เป็นคำเตือนผ่าน “นักข่าวม็อบ” ไปยัง “กลุ่มผู้ชุมนุม”

การชุมนุมกลุ่ม REDEM เมื่อวันที่ 20 มีนาคมที่ผ่านมา นัดหมายท้องสนามหลวง จุดประสงค์เรียกร้องให้ปล่อยตัวแกนนำราษฎร ซึ่งตกเป็นผู้ต้องหาคดีมาตรา 112 ถูกคุมขังอยู่ในเรือนจำ

ท่ามกลางการจัดวางกำลังเจ้าหน้าที่ และตู้คอนเทนเนอร์ซ้อนตั้งขวางรอบสนามหลวงสกัดไม่ให้ผู้ชุมนุมเข้าไปในพื้นที่ กระทั่งผู้ชุมนุมพยายามรื้อลากตู้คอนเทนเนอร์ออกเพื่อเปิดทางเข้าไป นั่นแหละจึงเป็นเรื่อง

เพราะทันทีที่ตู้เคลื่อนออก ก็เหมือนสัญญาณระฆังดัง เจ้าหน้าที่ตำรวจซึ่งพักพร้อมรอคอยจังหวะนี้อยู่ในมุมของตัวเอง ก็พุ่งออกมาเปิดฉากฉีดน้ำแรงดันสูง ตามด้วยแก๊สน้ำตา และกระสุนยาง ระดม “จัดหนัก จัดเต็ม” ใส่ผู้ชุมนุม กระเจิงไปคนละทิศละทาง

ถอยร่นจากท้องสนามหลวง มาตามถนนราชดำเนินและถนนข้าวสาร สถานการณ์บีบบังคับให้ต้องประกาศยุติการชุมชุมในเวลา 19.30 น.

อีกจุดที่เกิดความรุนแรงต่อเนื่องคือบริเวณสะพานวันชาติ ซึ่งต่อมาได้ปรากฏคลิปภาพในโลกโซเชียล เผยเหตุการณ์เจ้าหน้าที่ตำรวจวิ่งไล่กวดผู้ชุมนุม หวดด้วยกระบองจนลงไปนอนนิ่งกับพื้น แล้วรุมเตะ-กระทืบซ้ำ

เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นหลังสื่อถูกกันออกนอกพื้นที่

พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง ส.ส.บัญชีรายชื่อ เลขาธิการพรรคประชาชาติ กล่าวว่า ปฏิบัติการตำรวจสลายการผู้ชุมนุมที่มีสิทธิเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญ เมื่อค่ำวันที่ 20 มีนาคม 2560 มีการเผยแพร่ภาพผ่านสื่อต่างๆ

ปรากฏภาพข้าราชการตำรวจใช้กระบองเข้าไปรุมทุบตีประชาชนทั้งๆ ที่บุคคลดังกล่าวล้มนอนกับพื้น อยู่ในสภาวะที่ไม่สามารถหลบหนีได้แล้ว เป็นภาพที่สะเทือนใจ และเป็นการกระทำน่าจะไม่ชอบด้วยกฎหมาย

นายจาตุรนต์ ฉายแสง อดีตรองนายกรัฐมนตรี โพสต์ประณามเหตุการณ์ดังกล่าว

“การชุมนุมโดยสงบเป็นการใช้สิทธิเสรีภาพในระบอบประชาธิปไตยที่พึงได้รับการคุ้มครอง ไม่มีเหตุผลความจำเป็นใดๆ ที่จะต้องยึดพื้นที่คืนหรือสลายการชุมนุม ยิ่งการใช้ความรุนแรงต่อนักศึกษา-ประชาชน ยิ่งเป็นการแสดงถึงความเลวทรามของเผด็จการ”

ปฏิบัติการกระชับพื้นที่ #ม็อบ20มีนา เรียกได้ว่าเป็นครั้งรุนแรงที่สุด นับตั้งแต่การชุมนุมกลุ่ม “เยาวชนปลดแอก” เมื่อเดือนกรกฎาคม 2563

สถานการณ์พัฒนามาถึงจุดนี้ได้อย่างไร เหตุผลส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะเจ้าหน้าที่ตำรวจมีความเชื่อมั่นในรัฐบาลของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นอย่างยิ่ง

ไม่ใช่เพียงเชื่อมั่น แต่ยังเชื่อฟัง ถึงขั้นที่รัฐบาลสั่งให้ทำอะไรก็ทำ สั่งให้จับ-จับ สั่งให้ปล่อย-ปล่อย สั่งให้ลุย-ลุย สั่งให้ปราบม็อบก็ปราบโดยไม่ลังเล

แม้เหตุการณ์เมื่อวันที่ 20 มีนาคม จะก่อให้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์ตามมาถึงหลักคิด ปรัชญาและอุดมการณ์ของตำรวจที่ได้เปลี่ยนแปลงไปจากการรับใช้ประชาชน ไปเป็นการรับใช้ผู้มีอำนาจ

สถานการณ์วันที่ 20 มีนาคม มีผู้ชุมนุม REDEM ถูกจับกุมดำเนินคดีทั้งสิ้น 20 ราย จำนวนนี้เป็นเยาวชน 4 ราย โดย 2 รายถูกดำเนินคดีข้อหามาตรา 112

ต่อมาวันที่ 22 มีนาคม นายชูเกียรติ แสงวงค์ หรือจัสติน แกนนำแนวร่วมราษฎร ก็ถูกควบคุมตัวในความผิดตามมาตรา 112 ถูกส่งตัวเข้าเรือนจำ เนื่องจากศาลไม่อนุญาตให้ประกันตัว เช่นเดียวกับกลุ่มแกนนำก่อนหน้านี้

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม กล่าวสนับสนุนปฏิบัติการของเจ้าหน้าที่ตำรวจในการกระชับพื้นที่ REDEM #ม็อบ20มีนา ยืนยันเจ้าหน้าที่ปฏิบัติตามขั้นตอนด้วยการประกาศมาตรการก่อนสลายการชุมนุม เจ้าหน้าที่ไม่ได้เริ่มใช้ความรุนแรงก่อน

“หากไม่ทำอะไรให้เกิดผลกระทบซึ่งกันและกัน ก็จะไม่มีความรุนแรงเกิดขึ้น แต่สิ่งที่กังวลคือมีประชาชนอีกส่วนหนึ่งที่เขาไม่ค่อยชอบ ก็ต้องไประวังตรงนี้ด้วย”

พล.ต.อ.สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข ผบ.ตร. เผยถึงปฏิบัติการสลายการชุมนุม 20 มีนาคม ว่า ได้ตักเตือนและให้ปรับวิธีปฏิบัติงานของหน่วยปฏิบัติเพราะไม่อยากให้เกิดความรุนแรงเช่นนี้อีก พร้อมเอ่ยปากขอโทษผู้ชุมนุมที่ตำรวจทำรุนแรงไปบ้าง แต่ถ้าหากดูในภาพรวมจะเข้าใจว่าเหตุการณ์เกิดขึ้นได้อย่างไร ไม่ได้ปกป้องว่าตำรวจไม่ผิด

แต่ขอผู้ชุมนุมอย่าใช้ความรุนแรงอีก

ม็อบ REDEM ขับเคลื่อนชุมนุมทางการเมืองแบบไม่มีแกนนำ ไม่มีเวที ไม่มีการปราศรัย

จัดชุมนุมมา 3 ครั้ง คือ #ม็อบ28กุมภา #ม็อบ6มีนา และล่าสุด #ม็อบ20มีนา ที่ต้องเจอกับกระสุนยาง แก๊สน้ำตา และการไล่ทุบตีจากเจ้าหน้าที่รัฐ ที่เสมือนเป็นการกำราบ ต้องการให้เข็ดขยาด ต้องการให้แผ่ว

แต่ในความเป็นจริงเป็นเช่นนั้นหรือไม่

เพราะถึงไม่มี REDEM ก็ยังมี “หมู่บ้านทะลุฟ้า” ที่ปักหลักยืดเยื้อยู่ข้างทำเนียบรัฐบาล ทุกเย็นจัดกิจกรรมปราศรัยเรียกร้อง #ปล่อยเพื่อนเรา

ยังมี “พลเมืองโต้กลับ” นัดหมายทำกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์ “ยืน หยุด ขัง” หน้าศาลฎีกาสนามหลวง ทุกวันตั้งแต่วันที่ 22 มีนาคม ร่วมกันชู 3 นิ้วยืนนิ่ง 112 นาที เรียกร้องให้ปล่อยตัวผู้ต้องขังจากการทำกิจกรรมเรียกร้องประชาธิปไตย

แม้แต่แกนนำราษฎรอย่างเพนกวิน-พริษฐ์ ชิวารักษ์ ถึงอยู่ในคุกแต่ก็ยังยกระดับการเคลื่อนไหว แสดงอารยะขัดขืนประกาศอดอาหาร ประท้วงเรียกร้องสิทธิ์การประกันตัวต่อสู้คดีตามกระบวนการยุติธรรม และอาจมีรุ้ง-ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล อีกคน

สุดท้ายเป็นการเคลื่อนไหวของกลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม ที่นัดหมายชุมนุมใหญ่วันที่ 24 มีนาคม เป็นการชุมนุมแบบมีแกนนำ มีเวที มีการปราศรัย อันเป็นยุทธวิธีแตกต่างจาก REDEM ที่ไม่มีแกนนำ ไม่มีเวที ไม่มีการปราศรัย

การกลับมาของกลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม ผลักดัน #ม็อบ24มีนา ขึ้นติดเทรนด์อันดับ 1 ในทวิตเตอร์

พร้อมกับจำนวนผู้ชุมนุมที่มาฟังการปราศรัยของครูใหญ่-อรรถพล บัวพัฒน์ มายด์-ภัสราวลี ธนกิจวิบูลย์ผล และเบนจา อะปัญ 3 แกนนำจาก 13 คนผู้ถูกดำเนินคดีมาตรา 112 จากการชุมนุม อ่านแถลงการณ์หน้าสถานทูตเยอรมนี เมื่อวันที่ 26 ตุลาคม 2563 จนเต็มพื้นที่แยกราชประสงค์

#ม็อบ24มีนา เสมือนการส่งสารไปถึงฝ่ายอำนาจ ว่าปฏิบัติการใช้กำลังความรุนแรงเข้าปราบปราม REDEM #ม็อบ20มีนา นั้น ไม่ได้บรรลุเป้าหมายในการลดทอนขวัญกำลังใจของกลุ่มเคลื่อนไหวชุมนุมแม้แต่น้อย

แต่กลับเป็นผลในทางตรงข้ามโดยสิ้นเชิง