เมียนมาไม่มีวันหวนกลับแล้ว / โลกทรรศน์ อุกฤษฏ์ ปัทมานันท์

อุกฤษฏ์ ปัทมานันท์

โลกทรรศน์

อุกฤษฏ์ ปัทมานันท์

 

เมียนมาไม่มีวันหวนกลับแล้ว

 

มีคนเล่าให้ผมฟังว่า ช่วงการประท้วงของชาวเมียนมาต่อการรัฐประหารครั้งนี้ กองทัพเมียนมาทำหลายอย่าง

อย่างหนึ่งที่ฉลาดมากคือ ทำให้ระบบอินเตอร์เน็ตล่ม

แต่เด็กหนุ่มเมียนมาหลายคนที่ทำมาค้าขายทางออนไลน์อยู่นั้น โกรธมากเพราะกองทัพทำลายการค้าและแหล่งทำมาหากินของพวกเขา

พวกเขาเลยลงท้องถนนแล้ว…สู้ยิบตา…

 

ปี 1988

ย้อนกลับไปดูการประท้วงปี 1988 ช่วงนั้น ผู้นำกองทัพใช้ความรุนแรงอย่างสุดขีดในการรักษาอำนาจเอาไว้ หลังจากที่เผชิญกับการประท้วงครั้งใหญ่ เพราะรัฐบาลทหารแก้ปัญหาเศรษฐกิจผิดพลาดและได้สร้างปัญหาอย่างใหญ่หลวงต่อประเทศ

ความจริงแล้ว การประท้วงใหญ่มิได้เกิดขึ้นเพียงชั่วข้ามคืน การปกครองด้วยนโยบายแปลกๆ คือ วิถีสังคมนิยมแบบพม่า (Burmese Way to Socialism) ด้วยการปิดประเทศ ก่อให้เกิดความยุ่งยากทางเศรษฐกิจ เศรษฐกิจประเทศดำดิ่ง แล้วผู้นำกองทัพก็นำพม่าไปสู่ประเทศที่ยากจนที่สุดประเทศหนึ่งของโลก

ผู้นำกองทัพอาจจะโทษว่า ประเทศขาดแคลนปัญญาชนเพื่อช่วยพัฒนาประเทศ อ้างว่าแก้ปัญหาเศราฐกิจผิดพลาดด้วยการยกเลิกเงินจ๊าด

ความจริง ควรโทษผู้นำทหารเองที่ขับไล่ปัญญาชนออกนอกประเทศ เพราะพวกเขาวิจารณ์การบริหารประเทศของผู้นำทหาร

แล้วต้องโทษตัวพวกผู้นำเขาด้วยว่า คนเมียนมายากจนแสนสาหัส

แต่ผู้นำทหารร่ำรวยกับกิจการเศรษฐกิจที่ผูกขาดอยู่กับกลุ่มผู้นำและพวกพ้อง

 

การลุกฮือ 2021

การประท้วง 1988 เกิดจากการโดดเดี่ยวประเทศจากภายนอก ความยากจนแสนสาหัส ส่วนผู้นำทหารกลับสุขสบาย สิ่งเหล่านี้กระตุ้นให้คนออกมาประท้วง มีการปราบปรามอย่างหนัก จับกุมคุมขังคนจำนวนมาก จับกุมนักศึกษาและนักการเมืองแกนนำการประท้วง แต่การประท้วงก็ประสบความสำเร็จ

แต่การลุกฮือ 2021 เป็นการยึดอำนาจอย่างกะทันหัน หลังจากปกครองในระบอบประชาธิปไตยมาได้นานร่วม 10 ปี

แน่นอน ประชาธิปไตยเมียนมาเปราะบาง ยังอ่อนแอ การร่วมกันปกครองประเทศระหว่างผู้นำพลเรือน นางออง ซาน ซูจี และพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย (National League for Democracy-NLD) ร่วมกับพันธมิตรทางการเมืองและผู้นำทหาร การปล่อยให้ผู้นำทหารยังคุมกระทรวงกลาโหม คุมกระทรวงมหาดไทยและหน่วยงานความมั่นคง พร้อมยังมีอำนาจในรัฐสภาด้วยคงตำแหน่งผู้นำทหารเอาไว้ในรัฐสภาโดยตำแหน่ง

เท่ากับยังปล่อยให้ผู้นำกองทัพมีพลังอำนาจทางการเมืองและเศรษฐกิจในเมียนมาได้ต่อไป

อย่างไรก็ตาม 10 ปีให้หลัง ท่ามกลางประชาธิปไตยที่เปราะบางของเมียนมา ความเปลี่ยนแปลงสำคัญก็เคลื่อนไปตลอดเวลา กล่าวคือ

การเมืองแบบเปิด (Open Politics) เมื่อมีรัฐบาลพลเรือนปกครองประเทศ สิทธิเสรีภาพในการแสดงออกทางการเมืองเกิดขึ้น สื่อมวลชนหลายแขนงได้แก่ หนังสือพิมพ์ท้องถิ่นเกิดขึ้น พร้อมๆ กับการรายงานข่าวสารและข้อมูลที่เป็นจริง

หนังสือพิมพ์ของทางการเมียนมา เช่น New Light of Myanmar ทั้งภาษาเมียนมาและภาษาอังกฤษ ซึ่งนอกจากข้อมูลข่าวสารไม่มีความน่าเชื่อถือแล้ว ยังไม่มีใครอ่านอีกด้วย หนังสือพิมพ์กองกันอยู่แท่นวางหนังสือในหน่วยงานทางการ โรงแรม ร้านค้า แจกฟรีแต่ก็ไม่มีใครอ่าน

เช่นเดียวกับสถานีโทรทัศน์ของทางการ ไม่มีใครดู ดูแล้วก็เบื่อหน่าย สู้ดูละคร ดูหนังไทย ดูหนังกำลังภายในจีนไม่ได้

เศรษฐกิจแบบเปิด (Open Economy) ได้มอบโอกาสของชีวิตและอนาคตของคนเมียนมา คนเมียนมาเริ่มทำมาหากิน ประกอบอาชีพต่างๆ นานา กิจการธุรกิจฟื้นตัวทั้งจากผู้ประกอบการเมียนมาเอง และการเข้ามาลงทุนจากต่างประเทศ

ถนนในเมืองย่างกุ้งที่เคยว่าง โล่ง กลับรถติดไม่แพ้เมืองใหญ่ของประเทศต่างๆ เมืองใหญ่อื่นๆ เช่น มัณฑะเลย์ เมาะลำไย ก็เช่นกัน

พร้อมกันนั้น การไหลบ่าของคนเมียนมาออกไปทำงานในต่างประเทศ ที่ไทย มาเลเซีย สิงคโปร์ ญี่ปุ่น ไต้หวัน ประเทศในตะวันออกกลาง ในช่วงกว่าทศวรรษที่ผ่านมา สิ่งที่พวกเขาสัมผัสคือ รายได้จากการใช้แรงงาน บางรายเริ่มทำธุรกิจ รวมทั้งได้รับรู้ถึงความเจริญทางเศรษฐกิจ

ความทันสมัยและข้อมูลข่าวสารจากภายนอก การส่งเงินกลับให้ครอบครัวซึ่งสะดวกมากขึ้นตามลำดับ เป็นโอกาสอันใหญ่หลวงของพวกเขา แล้วโลกของอินเตอร์เน็ตก็ได้นำพาซึ่งโอกาสใหม่ๆ ต่อชีวิตของพวกเขา

 

แล้วผู้นำกองทัพก็ทำลายโอกาสทางเศรษฐกิจ เสรีภาพทางการเมือง สิทธิเสรีภาพของพวกเขา ด้วยการทำรัฐประหาร เพราะไม่อาจยอมรับการเติบโตของรัฐบาลพลเรือน และความนิยมทางการเมืองต่อนักการเมืองพลเรือนได้

แน่นอน เสรีภาพของชาวเมียนมามิได้เต็มร้อยเหมือนประเทศอื่นๆ โอกาสทางเศรษฐกิจของคนรุ่นใหม่ก็ไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ การผูกขาด การขาดแคลนเงินทุน ความด้อยพัฒนาทางเทคโนโลยีก็ยังมี ต่างชาติยังตักตวงทรัพยากรธรรมชาติของพวกเขา ใครจะเรียกว่า ประชาธิปไตยหรือไม่ ใครจะเรียกว่าประชาธิปไตย แต่นี่คือ โอกาสและความฝันต่อชีวิตที่ดีขึ้นของคนเมียนมา โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่

นี่เองทำไมคนรุ่นใหม่ เยาวชนจึงออกมาประท้วงและสู้ยิบตา นี่เองที่เราเห็นพ่อ-แม่ให้พรแก่ลูกชาย ลูกสาวออกมาประท้วง ทั้งที่เสี่ยงต่อชีวิต นับเป็นความร่วมมือร่วมใจของคนรุ่นพ่อ-แม่ คนรุ่นเก่าที่ผ่านเผด็จการทหารมากับคนรุ่นลูกที่สัมผัสกับเสรีภาพ โอกาสและประชาธิปไตยต่อสู้กับผู้ก่อรัฐประหารครั้งนี้

นักเคลื่อนไหวรุ่นใหม่ในกลุ่มขบวนการอารยขัดขืน (Civil Disobedience Movement-CDM)เรียกร้องอย่างเปิดเผยให้มีการจัดตั้งทางการเมือง ที่เปิดกว้างและเป็นตัวแทนของทุกฝ่าย รวมทั้งยังขอโทษกลุ่มชาติพันธุ์กลุ่มต่างๆ ที่พวกเขาเพิกเฉยการถูกกระทำทารุณในอดีต ตอนนี้พวกเขาเป็นพันธมิตรทางการเมืองกัน

ตรงไปตรงมาและเปิดเผย พวกเขาเห็นว่า ทหารคือศัตรู ทหารเองเป็นผู้ละเมิดสัญญา จะเดินหน้าสู่ประชาธิปไตยที่เคยให้สัญญาเมื่อปี 1988 ผู้นำรัฐประหารกล่าวด้วยเสียงตกล่อง ว่าจะเดินหน้าสู่ประชาธิปไตย แต่ขึ้นอยู่กับเงื่อนไขและเวลา ที่ฝ่ายทหารเป็นคนกำหนดเอง

ตอบว่า ไม่รู้ๆๆ ฟังคุ้นๆ

ด้วยเหตุนี้เอง ไม่ใช่ความนิยมต่อทหารลดลง แต่มากกว่านั้น นี่เป็นเหตุผลที่คนจำนวนมาก จึงยอมเสี่ยงชีวิต เพื่อยับยั้งการกระทำรัฐประหารไม่ให้สำเร็จ

ตอนนี้ นางออง ซาน ซูจี ถูกกล่าวหาอีกข้อหาว่า คอร์รัปชั่น ใครก็รู้ว่า จงใจจะขังนางอีกนานๆ

ตอนนี้ทหารออกกฎอัยการศึก มีโทษประหารชีวิต หวังว่าคนเมียนมากลัวตายหรือ ยิ่งพูดว่า ทำตามกฎหมาย คนเมียนมายิ่งเข้าใจว่า คนไม่ทำตามกฎหมายคือทหาร ตอนนี้ย่างกุ้ง เมืองใหญ่กลายเป็นเมืองร้าง ประเทศเมียนมาทั้งประเทศกำลังอดอยาก ไม่มีอะไรจะกินแล้ว

ใครทำ คนเมียนมาหรือ เมียนมาปี 2021 จะเปลี่ยนแปลงอย่างถอนรากถอนโคน