จะสู้กับระบอบเผด็จการอย่างไร? การต่อสู้ในพม่า ไม่มีทางเลือกนอกจากปฏิวัติด้วยกำลัง /มุกดา สุวรรณชาติ

มุกดา สุวรรณชาติ

หลักศิลากลางน้ำเชี่ยว

มุกดา สุวรรณชาติ

 

จะสู้กับระบอบเผด็จการอย่างไร?

การต่อสู้ในพม่า

ไม่มีทางเลือกนอกจากปฏิวัติด้วยกำลัง

 

ถ้าลองย้อนไปมองเหตุการณ์ในพม่า สถานการณ์ถึงวันนี้ทางเลือกแบบปฏิรูปไม่มีอีกแล้วเพราะเผด็จการทหารใช้กำลังอาวุธยึดอำนาจและปราบปรามประชาชนด้วยอาวุธ

แนวทางการต่อสู้ก็จะเป็นแบบปฏิวัติ ที่จะต้องใช้กำลังตอบโต้กัน อาจจะมีการเจรจาทางการเมืองบ้าง

แต่ที่สำคัญ สุดท้ายจะต้องขจัดฝ่ายหนึ่งให้สิ้นซากไป

การต่อต้านเผด็จการทหารในพม่าดูคล้ายกับไม่มีแกนนำ ในทุกมุมเมืองที่มีการชุมนุมอีกระยะไม่นานเมื่อการต่อสู้แรงขึ้น เครือข่ายและแกนนำของการต่อสู้ก็จะต้องเกิดขึ้นอย่างแน่นอน

สภาพการชุมนุมที่เผชิญหน้ากับทหารไม่อาจมีแกนนำที่ปรากฏตัวชัดได้ เพราะไม่เพียงแค่ถูกจับ แต่อาจถูกยิง

ฝ่ายเผด็จการทหารพม่าเองก็รู้ตัวว่าถ้าแพ้ก็ต้องตายเพราะฆ่าคนไปเยอะมาก หลายยุคหลายสมัย การคอร์รัปชั่น ทำให้ได้ทรัพย์สินมาก็ไม่อาจปกป้องไว้ได้

การดิ้นรนเพื่อปกป้องอำนาจจึงค่อนข้างรุนแรง แต่การต่อสู้จะยืดเยื้อนานเท่าไหร่ยังไม่มีใครรู้ มีความเป็นไปได้ที่จะเห็นรัฐบาลสองฝ่ายที่มีกองกำลังติดอาวุธ ต่อสู้กันในขอบเขตทั่วประเทศ

โอกาสของกองกำลังชาติพันธุ์ที่จะเข้าร่วมกับฝ่ายประชาธิปไตย และเมื่อได้ชัยชนะ จะสามารถต่อรองสิทธิและอำนาจในเขตพื้นที่ปกครองของตนเองในครั้งนี้มีมากที่สุด

เมื่อสงครามขยายตัวออกจะมีการแทรกแซงของมหาอำนาจ และในที่สุด สหประชาชาติก็จะต้องส่งกองกำลังเข้ามา เพื่อให้เกิดความสงบเรียบร้อย แม้สุดท้ายอาจจะจัดให้มีการเลือกตั้งเหมือนกัมพูชาในอดีต ฝ่ายประชาชนก็จะชนะอยู่ดี

การต่อสู้ในพม่าที่เป็นแนวทางปฏิวัติด้วยกำลัง จึงอาจจบด้วยการเลือกตั้งที่ควบคุมด้วย กกต.จากสหประชาชาติ

 

แนวทางการต่อสู้ในไทย

วันนี้ยังคงเป็นแบบการปฏิรูป

สําหรับประเทศไทยสถานการณ์ยังไม่ถึงจุดการใช้กำลัง

แม้การแสดงการไม่ยอมรับให้แก้รัฐธรรมนูญทำให้ดูเหมือนเป็นทางตัน

แต่การต่อสู้เรียกร้องประชาธิปไตยนอกสภาก็ยังมีโอกาสทำได้ การผลักดันให้เกิดการแก้ไขรัฐธรรมนูญแบบที่มี ส.ส.ร.มาจากการเลือกตั้งของประชาชนจึงเป็นทางออก

แต่ยากมากๆๆๆ เพราะ…การวางฐานอำนาจครั้งล่าสุดของกลุ่มอำนาจเก่า

วันนี้สิ่งที่พวกเขายึดกุมไว้ไม่เพียงแค่กำลังทหารเท่านั้น แต่ใช้โครงสร้างการรักษาอำนาจหลายด้าน

1. อำนาจทางทหารเพื่อใช้ในการรัฐประหารและในการปราบปรามถ้ามีผู้ต่อต้าน

2. การร่างรัฐธรรมนูญและกฎหมายต่างๆ เพื่อร่างกฎเกณฑ์กฎหมายให้ได้ตามที่ตนเองต้องการและบังคับให้ประชาชนยึดถือสิ่งนั้นเป็นกฎหมายศักดิ์สิทธิ์

3. การแต่งตั้ง ส.ว.ที่สนับสนุนกลุ่มตนเองเพื่อใช้เป็นเครื่องมือในรัฐสภา เพราะการเลือก ส.ส.จะไม่ได้เสียงมากเท่าที่ต้องการ

4. อำนาจในการแต่งตั้งตุลาการและองค์กรอิสระ เพื่อใช้ตัดสินชี้ถูกชี้ผิด ตามที่ฝ่ายตนต้องการได้ และก็อ้าง ว่านี่เป็นการตัดสินตามกฎหมายหรือตามหลักฐาน

ฝ่ายเผด็จการที่กุมอำนาจรัฐอยู่จะยอมปฏิรูปก็ต่อเมื่อถูกกดดันจากประชาชนจนอยู่ในสภาพที่อาจจะพ่ายแพ้ การยอมถอยเพื่อปฏิรูปบางเรื่องจึงเป็นเพียงแค่เล่ห์เหลี่ยมในการรักษาอำนาจส่วนใหญ่ไว้

ถ้ามีโอกาสเมื่อใดเขาจะรีบขยายอำนาจของตัวเองให้มากขึ้นในทันที เพื่อเป็นการรักษาระบบเผด็จการ

พวกเขาใช้เวลาหลายปี เริ่มตั้งแต่การรัฐประหาร 2549 แต่เดิมไม่คิดว่าประชาชนจะหัวแข็ง หลังการเลือกตั้งที่พรรคพลังประชาชนได้รับชัยชนะในปลายปี 2550 กลุ่มอำนาจเก่าจึงต้องเคลื่อนไหวชิงอำนาจอีกครั้งโดยพันธมิตรเสื้อเหลืองและตุลาการภิวัฒน์ เชิดประชาธิปัตย์ (ปชป.) เป็นรัฐบาล แล้วก็วางรากฐานระบบทั้งโครงสร้างและตัวบุคคล ระบบที่ปกครองจึงเป็นอํามาตยาธิปไตยทั้งที่ซ่อนรูปและแบบเปิดเผย โดยพยายามทำให้ประชาชนยอมรับระบบที่วางเอาไว้

ที่น่าแปลกใจก็คือ ชนชั้นนำไม่มีใครคิดแนะนำให้พวกเขาปฏิรูปโดยที่ตัวเองอยู่ส่วนบนและมีอำนาจปกครอง ด้วยการกระจายอำนาจออกไปบางส่วน ซึ่งทุกอย่างก็จะเดินไปอย่างราบรื่นกว่า

แต่เกมการเมืองที่พวกเขากำหนดได้ช่างมีความขัดแย้งในประเทศอย่างมากมาย ขยายจากบุคคลซึ่งในยุคแรกคืออดีตนายกฯ ทักษิณ ชินวัตร

จากนั้นก็ขยายไปขัดแย้งกับพรรคไทยรักไทย พรรคพลังประชาชน

สุดท้ายก็กลายเป็นคู่ขัดแย้งกับประชาชน ซึ่งต้องถือว่าเกินครึ่งของประเทศไทยถ้าดูจากผลการเลือกตั้งหลังการล้อมปราบและสังหารในปี 2553

จากนั้นก็ขยายไปยังพรรคเพื่อไทย ขยายต่อมายังพรรคอนาคตใหม่และขยายมายังกลุ่มเด็กๆ นักเรียน นักศึกษาและประชาชนที่เป็นกลุ่มราษฎร

 

เผด็จการ

กำลังอบรมบ่มเพาะ

นักปฏิวัติโดยไม่ตั้งใจ

บ้านเมืองเราวันนี้มาถึงจุดที่จะต้องมีการปฏิรูป เพราะถ้าไม่ปฏิรูปก็จะเกิดการปฏิวัติ ความขัดแย้งได้ยืดเยื้อมาเป็นเวลานานถึงขณะนี้ก็เกิน 10 ปีแล้ว การเรียกร้องการปฏิรูปเป็นการเรียกร้องแต่ปาก ในความเป็นจริงยังไม่มีด้านใดที่ปฏิรูปขึ้นมาเลย

ความเจริญก้าวหน้าในยุคนี้มิได้เกิดจากนโยบายรัฐ

แต่เป็นการขับเคลื่อนทางเทคโนโลยีและทางเศรษฐกิจที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับอำนาจรัฐ

เป็นการผลักดันของระบบทุน การแสวงหากำไรทางการค้า และการพัฒนาทางเทคโนโลยีของต่างชาติ เราจึงมีโทรศัพท์มือถือใช้ ระบบราชการที่สะดวกสบายขึ้นก็ได้จากเครื่องคอมพิวเตอร์และระบบสื่อสารที่พัฒนา สิ่งที่รัฐบาลและชนชั้นนำของเราทำตามก็คือไล่ตามการเปลี่ยนแปลงของโลก ความสามารถของเราคือ ซื้อของใหม่มาใช้ให้ทัน ใช้ให้เป็น แล้วแบ่งเงินทอน

แต่สิ่งที่ควรพัฒนาได้ แต่ไม่ทำก็คือ ระบบยุติธรรมทั้งกระบวนการ ระบบการปกครองที่ควรจะกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่นอย่างจริงจัง การปฏิรูปการศึกษาที่จะต้องให้สอดคล้องกับสภาพภูมิศาสตร์ของไทยอาเซียนและโลก ซึ่งต้องรองรับการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจที่เป็นแบบสมัยใหม่

ประชาชนจึงไม่มีความหวัง เครียด และอยากเปลี่ยนแปลง เริ่มเคลื่อนไหวต่อต้าน

สิ่งที่ผู้กุมอำนาจรัฐทำทุกวันนี้คือสลายการชุมนุม และดำเนินคดีจับกุมคุมขัง ผู้ที่มีความเห็นขัดแย้งและประท้วงรัฐบาล ถ้ายังทำอย่างนี้ต่อไปเรื่อยๆ เราจะมีนักโทษการเมืองจำนวนมากอยู่ในคุก

ความอดทนของฝ่ายประชาธิปไตย ต่อการถูกจับกุมคุมขังดำเนินคดีฟ้องร้องติดคุกติดตะราง จะทนได้นานแค่ไหน

ตามประวัติศาสตร์การต่อสู้ของหลายประเทศ ที่สู้เพื่อสิทธิเสรีภาพและเอกราชมักจะมี 2 แนวทางคู่กันคือ ปฏิรูปแบบสันติและฝ่ายที่ทนไม่ได้สุดท้ายก็ปฏิวัติและใช้ความรุนแรง

สภาพของระบบยุติธรรมที่ดำรงอยู่แบบไม่มีใครยอมรับ มองดูแล้วเหมือนกับโรงเรียนฝึกนักปฏิวัติ มันเป็นสภาพของการเคี่ยวกรำให้คนแกร่งขึ้นกล้าขึ้น

จากเด็กธรรมดาจะกลายเป็นนักปฏิวัติในอีกไม่นาน

เหตุการณ์ที่จะเกิดขึ้นในอนาคตไม่มีใครเดาได้ว่าคุ้มหรือไม่

เมื่อถึงจุดหนึ่งเรื่องแบบนี้ก็ไม่สามารถห้ามกันได้ ทางใครทางมัน ตอนนี้รอดูผลของพม่าไปก่อน

ถ้าเลือกเดินแนวทางปฏิรูปในการแก้ปัญหาประเทศชาติ ข้อเรียกร้องเดิม 3 ข้อ เรียงลำดับความสำคัญถูกต้องแล้ว แต่การจะบรรลุเป้าหมายคงต้องทำทีละขั้น และต้องยอมรับว่าการปฏิรูปทุกเรื่องต้องเป็นกฎหมาย ผ่านสภา

ดังนั้น การสู้ให้มีการร่างรัฐธรรมนูญใหม่ โดย ส.ส.ร.ที่ประชาชนเลือกมา จะเป็นทางเดินที่เหมาะสม ไม่เสี่ยง สงวนกำลังคนได้ มีผลต่อเนื่อง แต่ต้องใช้ทั้งในสภาและนอกสภา เพื่อสร้างความเข้าใจให้กับประชาชน