3-2-2 สูตรใหม่ Work-Life Balance ตอบโจทย์ ‘มนุษย์ตอกบัตร’ ยุค New Normal /จักรกฤษณ์ สิริริน

บทความพิเศษ

จักรกฤษณ์ สิริริน

 

3-2-2 สูตรใหม่ Work-Life Balance

ตอบโจทย์ ‘มนุษย์ตอกบัตร’

ยุค New Normal

 

Work-Life Balance หมายถึง ความสอดคล้องต้องกัน “ระหว่างวิถีการทำงาน” กับ “การดำเนินชีวิตประจำวัน” โดยทั้งสองสิ่ง “ต้องกลมกลืน” และ “ไม่ขัดแย้งกัน” ครับ

ดังรูปศัพท์ Work = การทำงาน Life = วิถีชีวิต และ Balance = ความสมดุล

Work-Life Balance เป็นสิ่งที่ Generation Now (คนทุก Generation) ต้องการมากที่สุดในปัจจุบัน

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “คน Generation ใหม่” ยินดี “รับเงินเดือนน้อยลง” เพื่อแลกกับความสมดุลระหว่าง “วิถีการทำงาน” กับ “การดำเนินชีวิตประจำวัน”

“คน Generation ใหม่” ยินดี “รับเงินเดือนน้อยลง” เพื่อแลกกับการได้ทำงานในบริษัทที่มีความยืดหยุ่น เห็นอกเห็นใจ และประนีประนอมมากกว่า!

ดังนั้น หน่วยงานใดสามารถสร้างบรรยากาศ Work-Life Balance ให้กับพนักงานได้ คนทำงานก็จะมีความสุข และผลผลิตขององค์กรก็จะดีขึ้น

เป็น “วัฒนธรรมการทำงานใหม่” ที่น่าชื่นชมครับ

เพราะหากเอ่ยถึงการบริหารจัดการหน่วยงานสมัยใหม่แล้ว องค์กรที่ดี ไม่จำเป็นต้องให้เจ้าหน้าที่ “เสียสละเวลาส่วนตัว” แฝงเข้าไปใน “ชั่วโมงการทำงาน”

เพราะโลกยุคใหม่นั้น “การทำงาน” หาได้หมายถึง “จำนวนชั่วโมง” ที่พนักงาน “นั่งอยู่ที่โต๊ะทำงาน” ไม่

เพราะองค์กรสมัยใหม่จำนวนมาก ไม่ได้ให้ความสำคัญกับการตอกบัตร หรือการ Scan นิ้ว และการเซ็นชื่อเข้าทำงานอีกต่อไป

และเพราะหน่วยงานระดับโลกหลายแห่งในปัจจุบัน เขาวัด Output การทำงานจาก Outcome กันแล้วนั่นเองครับ!

ดังนั้น หัวใจสำคัญของ Work-Life Balance ก็คือ “งานและชีวิต” มี “ความสำคัญเท่าเทียมกัน”

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในยุค COVID-19 ที่เกิดกระแส Work from Home กันทั่วทุกมุมโลก

จากนโยบายให้ลูกจ้าง “ทำงานที่บ้าน” ทั้งภาครัฐ และภาคเอกชน เพื่อลดความเสี่ยงการแพร่กระจาย Virus

 

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. Ashley Whillans แห่ง Harvard Business School กล่าวถึงวัฒนธรรม Work-Life Balance ว่า ทุกวันนี้ แนวคิดเก่าที่ว่า “งานคือชีวิตทั้งชีวิต” นั้น “เริ่มเปลี่ยนไป”

“คน Generation ใหม่ ไม่ได้มองว่า ‘งานคือชีวิตทั้งชีวิต’ อีกต่อไป แต่การทำงาน ‘เป็นแค่ส่วนหนึ่งของชีวิต’ โจทย์หลักก็คือ การทำให้ทั้งสองส่วนมีความสมดุลกัน หรือ Work-Life Balance นั่นเอง” ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. Ashley Whillans กระชุ่น

อย่างไรก็ดี ความสมบูรณ์แบบของ Work-Life Balance ขึ้นอยู่กับดุลพินิจของแต่ละองค์กร ซึ่งแน่นอนว่า แต่ละแห่งย่อมมีนโยบายการบริหารที่แตกต่างกัน ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. Ashley Whillans กล่าว และว่า

“หน่วยงานสมัยใหม่จะต้องหาวิธีจูงใจให้พนักงานอยากเข้ามาทำงานในออฟฟิศ ขณะที่ตัวพนักงานก็ต้องสามารถจัดสรรเวลาที่สมดุลระหว่างการทำงานกับการใช้ชีวิตด้วยตนเอง”

เพื่อให้เกิด “สมดุลที่ดี” ระหว่าง “การทำงาน” กับ “การใช้ชีวิต” นั่นเอง

 

โจทย์สำคัญก็คือ องค์กรยุคใหม่ควรกระตุ้นให้พนักงานเกิดความคิดสร้างสรรค์อยู่ตลอดเวลา และสร้างบรรยากาศการมีปฏิสัมพันธ์ทางสังคมระหว่างเพื่อนร่วมงานอยู่เสมอ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. Ashley Whillans ชี้

ในโลกฟุตบอล หากเอ่ยถึง 4-4-2 แล้ว วงการลูกหนังทราบกันดีว่า หมายถึงแผนการเล่นแบบกองหลัง 4 คน กองกลาง 4 คน และกองหน้า 2 คน

นอกจาก 4-4-2 บางแมตช์อาจเป็น 4-3-3 หรือ 5-3-2 หรือ 3-5-2 ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นสูตรที่แฟนบอลรู้จักดี

แต่ในโลกการทำงาน นับตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน มีสูตรมากมายที่ใช้กำหนด “ชั่วโมงการทำงาน”

ไม่ว่าจะเป็น 8-8-8 ของ Robert Owen ที่หมายถึง ทำงาน 8 ชั่วโมง บันเทิง 8 ชั่วโมง และนอนหลับ 8 ชั่วโมง

หรือจะเป็น 8-5-40 ของ Henry Ford ที่หมายถึง ทำงานวันละ 8 ชั่วโมง จำนวน 5 วันต่อสัปดาห์ (รวมสัปดาห์ละ 40 ชั่วโมง)

หรือจะเป็น 4-6-24 ของ Sanna Marin หมายถึง ทำงาน 4 วันต่อสัปดาห์ โดยต้องไม่เกิน 6 ชั่วโมงต่อวัน (รวมสัปดาห์ละ 24 ชั่วโมง)

หรือจะเป็นสูตรคลาสสิค 9-5-5 ที่หมายถึง ทำงาน 9 โมงเช้าถึง 5 โมงเย็น จำนวน 5 วันต่อสัปดาห์

หรือจะเป็น 9-2-5 ที่หมายถึง ทำงาน 9 ชั่วโมงต่อวัน จำนวน 5 วันต่อสัปดาห์

และสูตรสุดโหด 9-9-6 ที่หมายถึง ทำงานตั้งแต่ 9 โมงเช้าถึง 3 ทุ่ม จำนวน 6 วันต่อสัปดาห์

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในยุค COVID-19 ที่กระแส Work from Home ทำให้มีสูตรชั่วโมงการทำงานใหม่ๆ เกิดขึ้นมากมาย ไม่ว่าจะเป็น 4-3-0 (ทำงาน 4 วันต่อสัปดาห์ และหยุด 3 วัน)

และล่าสุดก็คือสูตร 3-2-2

 

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. Ashley Whillans กลับมาคุยกับเราต่อ ว่า 3-2-2 คือสูตรชั่วโมงการทำงานใหม่ล่าสุด

“3-2-2 หมายถึง การที่พนักงานต้องเข้ามาตอกบัตรที่สำนักงานจำนวน 3 วันต่อสัปดาห์ จากนั้น อนุญาตให้ออกไปนั่งทำงานที่ไหนก็ได้ 2 วัน และมีวันหยุดสำหรับการพักผ่อนอีก 2 วัน” ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. Ashley Whillans เล่า

3-2-2 ถือเป็นสูตรชั่วโมงการทำงานใหม่ ที่มีแนวทางในการทำงานแบบยืดหยุ่น ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. Ashley Whillans กล่าว และว่า

“3-2-2 จะเปิดโอกาสให้ลูกจ้างได้จัดสรรชั่วโมงทำงานของตนให้เหมาะสมที่สุดกับรูปแบบ และลักษณะของงานที่พวกเขารับผิดชอบ”

ที่สำคัญก็คือ การหลอมรวม 3-2-2 เข้ากับแนวคิด Work-Life Balance ที่พนักงานทุกคนต้องรักษาสมดุลระหว่างการทำงานกับวิถีชีวิตให้มีประสิทธิภาพ เพื่อประโยชน์สูงสุดขององค์กร

“หัวใจหลักของ 3-2-2 ก็คือ ต้องเกลี่ยน้ำหนัก Work-Life Balance ที่ ‘งาน’ จะต้อง ‘ไม่รบกวน’ หรือ ‘ซ้อนทับ’ กับกิจกรรมอื่นๆ ในชีวิตประจำวัน” ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. Ashley Whillans ชี้

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. Ashley Whillans กล่าวต่ออีกว่า มีผลการวิจัยมากมายที่ยืนยันว่า “มนุษย์ตอกบัตร” ชอบชั่วโมงทำงานแบบ “ยืดหยุ่น” มากกว่าชั่วโมงทำงานแบบ “ตายตัว”

“โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในยุค COVID-19 กับกระแส Work from Home ที่ ‘มนุษย์ตอกบัตร’ เริ่มรู้สึกถึงอิสรภาพในการทำงานควบคู่ไปกับเสรีภาพในการใช้ชีวิต” ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. Ashley Whillans กล่าว และว่า

แม้ว่าขณะนี้องค์กรหลายแห่งได้พากันทยอยยกเลิกนโยบาย Work from Home กันไปเกือบหมดแล้ว ทว่า “มนุษย์ตอกบัตร” จำนวนมาก ยังคงติดใจสูตรชั่วโมงการทำงานแบบใหม่นี้อยู่

 

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. Ashley Whillans กล่าวต่อไปว่า ขณะนี้หลายภาคส่วนในสหรัฐอเมริกากำลังผลักดันให้เกิดการยกร่างกฎหมายแรงงานใหม่เกี่ยวกับสูตรชั่วโมงการทำงาน

“สูตรชั่วโมงการทำงานแบบใหม่ ไม่ว่าจะเป็น 4-3-0 (ทำงาน 4 วัน หยุด 3 วัน) โดยเฉพาะอย่างยิ่ง 3-2-2 (เข้าออฟฟิศ 3 วัน ทำงานนอกออฟฟิศ 2 วัน และหยุดพักผ่อนอีก 2 วัน) จะเป็นการกระตุ้นให้องค์กรต่างๆ พิจารณาถึงปัจจัยแวดล้อมมากขึ้น”

ไม่ว่าจะเป็นความเสี่ยงทุกด้านเกี่ยวกับ COVID-19 โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ความสบายใจของพนักงาน

“เราควรมีข้อตกลงใหม่ร่วมกัน ระหว่างนายจ้างกับลูกจ้าง ว่าจะออกแบบกิจกรรมอย่างไรในการส่งเสริมให้เกิดปฏิสัมพันธ์ในการทำงาน เพื่อให้องค์กรเกิดประสิทธิภาพสูงสุด” ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. Ashley Whillans สรุป

อย่างไรก็ดี การนำสูตรชั่วโมงการทำงาน 3-2-2 ไปปรับใช้ให้ได้ดีนั้น ขึ้นอยู่กับธรรมชาติที่แตกต่างกันของแต่ละหน่วยงาน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง องค์กรใหญ่ที่ต้องมีการทำงานร่วมกันระหว่างหลายแผนก

แน่นอนว่า หน่วยงานขนาดใหญ่ทั้งหลายนั้น จำเป็นต้องอาศัย “ชั่วโมงทำงานที่ตรงกัน” เป็นหลักในการทำงาน กรณีนี้ก็จะทำให้ยากแก่การนำ 3-2-2 มาปรับใช้

แต่ไม่ว่าจะ 4-3-0 หรือ 3-2-2 เราต้องไม่ลืมปรัชญาของ Work-Life Balance ที่ต้อง “รักษาสมดุล” ระหว่าง “วิถีการทำงาน” กับ “การดำเนินชีวิตประจำวัน”

โดยทั้งสองสิ่ง “ต้องกลมกลืน” และ “ไม่ขัดแย้งกัน” ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. Ashley Whillans ทิ้งท้าย