เครื่องเสียง / พิพัฒน์ คคะนาท / กลับเข้าห้องฟัง (3)

เครื่องเสียง/พิพัฒน์ คคะนาท [email protected]

กลับเข้าห้องฟัง (3)

 

จากเรื่องของสภาพอะคูสติกส์ภายในห้อง มาถึงเรื่องของตำแหน่งวางลำโพง ที่ล้วนมีผลต่อคุณภาพเสียงอย่างมีนัยยะสำคัญตามที่ได้พูดถึงไปแล้ว

มาดูกันต่อครับ ว่ายังมีปัจจัยอะไรในห้องฟังบ้างที่เป็นตัวแปรในการทำให้สุ้มเสียงจากชุดเครื่องเสียงที่เคยฟังว่าดี เป็นที่น่าพอใจ ดูเหมือนจะย่อหย่อนคุณภาพลง ให้ความรู้สึกไม่ค่อยจะสุนทรีย์ดังเดิม ซึ่งบางสาเหตุอาจเป็นสิ่งที่ใครหลายคนคาดไม่ถึงก็เป็นได้

อย่างเช่น เรื่องเกี่ยวกับหัวเสียบและขั้วต่อต่างๆ ที่กำลังจะพูดถึงนี้แหละครับ

ขั้วต่อที่ว่าก็คือขั้วต่อของสายนำสัญญาณต่างๆ ที่อยู่ด้านหลังเครื่อง และติดตั้งอยู่ที่แผงหลังของลำโพงนั่นเอง ทั้งสายนำสัญญาณระหว่างเครื่องกับเครื่อง หรือ Interconnect Cable และสายนำสัญญาณจากเครื่องไปยังลำโพงที่เรียกกันว่าสายลำโพง หรือ Speaker Cable

สายเหล่านี้จะมีองคาพยพที่สำคัญคือ หัวเสียบ หรือบ้างก็เรียกว่าหัวแจ๊ก ซึ่งเป็นหัวโลหะชนิดต่างๆ สุดแท้แต่ผู้ผลิตรายใดจะรังสรรค์ขึ้นจากวัสดุอันเลอเลิศประเสริฐศรีตามแต่จะกล่าวอ้าง โดยใช้ประกอบติดอยู่ที่ปลายสายนำสัญญาณทั้งสองด้าน

มีหน้าที่นำสัญญาณจากเอาต์พุตหนึ่งผ่านสายไปยังปลายอีกด้านเพื่อเข้าสู่อินพุตของอีกฝ่าย

 

ความสำคัญของขั้วต่อและหัวเสียบของคนเล่นเครื่องเสียงส่วนใหญ่นั้น พูดแบบบ้านๆ ก็คือเมื่อต่อซิสเต็ม หรือต่อระบบ ถูกต้อง เรียบร้อย แบบทั้งเสียง (ทั้งภาพ) มาครบ ก็จบกัน ไม่ได้สนใจอะไรตรงนี้แล้ว อีกทั้งพวกนี้อย่างที่บอกคือเป็นจุดที่อยู่ด้านหลังของเครื่องและลำโพง จึงไม่ค่อยได้ใส่ใจดูสักกี่มากน้อย โดยเฉพาะขั้วต่อและหัวเสียบของเครื่องอิเล็กทรอนิกส์ เพราะอาจจะวางเข้าชั้น หรือชิดผนัง ที่ทำให้ออกจะลำบากหากจะขยับอะไร ส่วนใหญ่ถ้าไม่ถึงกับเปลี่ยนเครื่อง หรือเปลี่ยนสาย ก็ไม่ค่อยอยากจะไปยุ่งตรงจุดนี้กันสักเท่าไรนัก

ซึ่งนั้นเองเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้สุ้มเสียงเมื่อฟังไปนานเข้า ก็ให้รู้สึกว่ามันไม่ได้ไพเราะเสนาะโสตเหมือนเดิม

ทั้งนี้ก็เนื่องเพราะไม่ได้มีการทำความสะอาดตรงจุดนี้บ้างเลยนั่นเอง

เมื่อปล่อยทิ้งไว้นานวันฝุ่นก็จับหนาขึ้นเรื่อยๆ ฝุ่นผงที่หมักหมมเกาะจับอยู่ตรงจุดที่เป็นขั้วต่อนี่แหละครับ ที่เป็นตัวกีดขวางทำให้สัญญาณเดินไม่สะดวก หรือไม่ลื่นไหลเหมือนคราวต่อเสร็จใหม่ๆ ฟังไปนานๆ ให้รู้สึกว่าเสียงมันอับ ทึบ ไม่เปิดโปร่งดังแต่ก่อน

กับเรื่องที่ว่านี้, จากประสบการณ์ที่พบเห็นอยู่เนืองๆ ยามแวะเวียนไปหาน้องนุ่งที่ห้องซ่อมเครื่องเสียงก็คือ หลายๆ เครื่องที่วางรอคิวเข้ารับบริการ รวมทั้งที่นำมาไหว้วานให้อาบน้ำ ประแป้ง แต่งตัว ในความหมายของการล้างทำความสะอาดนั้น เกือบทุกเครื่องก็ว่าได้เห็นที่ขั้วต่อตรงแผงหลังมีฝุ่นจับเขรอะเต็มไปหมด มากบ้าง น้อยบ้าง ซึ่งเป็นสิ่งบอกให้รู้ได้เป็นอย่างดี ว่าคนเล่นเครื่องเสียงหลายๆ คน มองข้ามสิ่งนี้ไปดังที่ได้กล่าวแต่ต้น

ซึ่งนั้นเองเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้เสียงดนตรีที่ฟังขาดความสุนทรีย์อย่างที่ควร

 

อย่างไรก็ตาม, อีกปัจจัยหนึ่งเกี่ยวกับประเด็นนี้ – และที่จุดนี้, คือขั้วต่อและหัวเสียบ แม้ว่าจะมีการปัดฝุ่นทำความสะอาดอยู่เป็นประจำ สิ่งที่ควรหมั่นดูแลและกระทำให้สม่ำเสมอนอกเหนือไปจากการปัดฝุ่นทำความสะอาดก็คือ ควรดึงหัวเสียบหรือดึงแจ๊กออกมาเช็ดและทำความสะอาดด้วย

เพราะการที่โลหะทั้งสอง (คือหัวเสียบกับช่องอินพุต/เอาต์พุตซึ่งเป็นขั้วต่อที่แผงหลังเครื่อง) แตะสัมผัสกันเป็นเวลานานนั้น โดยธรรมชาติแล้วจะเกิดคราบคล้ายๆ ตะกรัน จับเกาะอยู่ที่โลหะทั้งภายในช่องเสียบอินพุต/เอาต์พุต และที่หัวเสียบเองด้วย ซึ่งเป็นปฏิกิริยาทางเคมีหรือทางไฟฟ้าอะไรนี่แหละครับ

คือมิใคร่สันทัดทางวิชาการนัก แต่คนเล่นเครื่องเสียงจะพูดกันว่าเกิดอาการที่เรียกว่า Oxidation แล้วทำให้เกิดคราบหรือตะกรันที่ว่านี้ขึ้น ซึ่งเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้การเดินทางของสัญญาณไม่ลื่นไหลหรือราบรื่นเท่าที่ควร ผลที่ตามมาก็คือทำให้สุ้มเสียงเปลี่ยนไปในทางที่แย่ลงนั่นเอง

กับเรื่องนี้, อย่างน้อยๆ ควรสักสามสี่เดือนครั้ง ที่ดึงแจ๊กอออกมาเช็ดทำความสะอาด แล้วเสียบเข้าดึงออกสักสองสามหน ก็จะสามารถแก้ปัญหาที่ว่านั้นได้

มีคำแนะนำบางประการเกี่ยวกับเรื่องเส้นสายต่างๆ เหล่านี้ก็คือ ควรให้สายทั้งหมดแยกห่างจากกันเท่าที่จะเป็นไปได้ คือทั้งสายนำสัญญาณ สายลำโพง และสายไฟ AC ไม่ควรวางชิดติดกัน หรือพาดผ่านทับซ้อนกัน เพราะจะเกิดการรบกวนกันระหว่างสัญญาณที่ผ่านไปมาในสายแต่ละเส้นได้

ขณะเดียวกันสายไฟ AC จากเครื่องแต่ละเครื่อง ควรเสียบอยู่ปลั๊กราง (ที่บ้างก็เรียกแบบบ้านๆ ว่าปลั๊กพ่วงหรือปลั๊กสามตานั่นแหละครับ) ชุดเดียวกัน และควรเป็นปลั๊กรางที่มีคุณภาพซึ่งถูกออกแบบมาเพื่อใช้งานกับระบบภาพและเสียงโดยเฉพาะ

 

ไหนๆ ก็พูดถึงเรื่องสายสัญญาณแล้ว ขอว่าอีกสักเล็กน้อย เนื่องเพราะเรื่องของเส้นสายนี่, มองข้ามไม่ได้เลยจริงๆ ไม่ว่าจะเป็นสายนำสัญญาณระหว่างเครื่องกับเครื่อง สายลำโพง ตลอดจนสายไฟ AC จากเครื่องไปเสียบเข้าปลั๊กไฟบ้าน ซึ่งเครื่องอิเล็กทรอนิกส์ที่ออกแบบมาดีๆ ส่วนใหญ่จะเป็นแบบที่สามารถถอดแยกออกจากเครื่องได้ สายพวกนี้ล้วนมีผลต่อคุณภาพเสียงทั้งสิ้น

ปัญหาเกี่ยวกับเรื่องนี้ประการแรกก็คือ หลายๆ คน ไม่แน่ใจว่าควรลงทุนกับเรื่องนี้สักเท่าไร เพราะสายเหล่านี้นอกจากจะมีมากมายหลายแบบ ซึ่งแตกต่างทั้งในเรื่องวัสดุ กรรมวิธีในการขึ้นรูป ตลอดจนกระบวนการผลิต ที่มีความซับซ้อนสุดแท้แต่ผู้ผลิตจะกล่าวอ้าง ยังมีหลายระดับราคาให้เลือกจนเวียนหัว เพราะที่พอใช้การได้ก็มีราคาตั้งแต่หลักพันขึ้นไป ไปจนถึงที่ว่ากันว่าเลอเลิศประเสริฐศรีซึ่งต้องจ่ายกันหลักแสนต่อชุด ที่รวมๆ กันแล้ว กว่าจะครบเท่าที่จำเป็นต้องใช้ทั้งระบบทำให้หมดไปเป็นล้าน, ก็มี ดังที่เคยนำมาเล่าสู่กันฟังไปบ้างแล้ว

อันที่จริงคำตอบที่พอจะใช้เป็นเกณฑ์ได้ในเรื่องนี้ โดยเฉพาะกับมือใหม่หรือผู้ที่กำลังคิดจะลงทุนกับเครื่องเสียงชุดแรกก็คือ ควรเจียดเงินเพื่อการนี้เอาไว้ประมาณ 10-15 เปอร์เซ็นต์ ของงบประมาณทั้งซิสเต็ม ส่วนในกรณีที่มีเครื่อง มีซิสเต็มอยู่ในใจแล้ว อย่างที่เล็งๆ เอาไว้ทั้งแอมป์ ทั้งซอร์ซ ทั้งลำโพง ราคารวมๆ กันแล้วประมาณแสนหนึ่ง ค่าเส้นสายต่างๆ ที่จะต้องใช้กับซิสเต็มนี้ (ทั้งสายอินเตอร์ คอนเน็กต์, สายลำโพง และปลั๊กราง เต็มที่ก็ไม่ควรเกินสองหมื่น หรือไม่เกิน 20 เปอร์เซ็นต์ แต่ก็พอจะยืดหยุ่นได้ตามความพอใจ

เรื่องพวกนี้แม้จะไม่มีกฎเกณฑ์ตายตัว แต่ก็ควรอยู่ในเกณฑ์ (ลงทุน) ที่เหมาะสมครับ

อย่างไรก็ตาม, ความเหมาะสมที่ว่ากับความพอใจของคนแต่ละคน ย่อมไม่เหมือนกันอยู่แล้ว นั้นเองที่ทำให้หลายๆ ครั้ง ได้ไปเห็นหลายๆ ซิสเต็ม ใช้สายในระบบราคารวมแล้วเกินครึ่งของราคาเครื่องบวกลำโพงก็มีครับ

จึงอย่างที่ได้พูดอยู่เสมอ คือเรื่องนามธรรมพวกนี้เป็นเรื่องของความชอบส่วนตัวจริงๆ จึงไม่สามารถชี้ถูกชี้ผิดได้แต่อย่างใด

เที่ยวหน้ายังขอขลุกอยู่ในห้อง (ฟัง) อีกสักตอนนะครับ