เราสามารถเข้าใจทุกคนได้จริงหรือ | นิ้วกลม

นิ้วกลมfacebook.com/Roundfinger.BOOK

มิตรสหายเล่มหนึ่ง

นิ้วกลม

[email protected]

 

เราสามารถเข้าใจทุกคนได้จริงหรือ

 

ในแต่ละวันเราต่างมีเรื่องให้ปะทะกับผู้คนรอบตัวมากมายแตกต่างกันไป ทั้งคนใกล้และคนไกล คนที่คิดว่าเข้าใจกันก็ยังไม่เข้าใจ มิต้องนับไปถึงคนที่แตกต่างกันในด้านต่างๆ ซึ่งแน่นอนว่าชวนให้ทะเลาะมากกว่าเข้าใจกัน

คำถามว่า ‘เราสามารถเข้าใจทุกคนได้จริงหรือ’ ดูเป็นคำถามชวนฝัน

แต่ฝันนี้อาจลดระดับลงมาติดดินอีกสักนิดหากนิยามให้แคบลงไปอีกหน่อยว่า เข้าใจก็อาจไม่ได้หมายความว่าจะสามารถสมัครสมานกลมเกลียวกันได้

แต่อย่างน้อยก็พอจะเห็นที่มาของอารมณ์และการกระทำที่เกิดขึ้นตรงหน้าว่ามีรากจากอะไร ความเข้าใจเช่นนี้อาจทำให้การปะทะรุนแรงทั้งกาย วาจา และอารมณ์ลดทอนความรุนแรงลงได้

เรื่องแบบนี้ควรฟังจากมืออาชีพด้านการเจรจาความสัมพันธ์

ลาร์รี ซี. โรเซน ผู้ทำหน้าที่เป็นนักไกล่เกลี่ยประนีประนอม และผู้สร้างสันติด้านความสัมพันธ์ ตั้งคำถามนี้ขึ้นบนเวที TEDx โดยยกตัวอย่างหลานชายของเขาซึ่งเข้าเรียนในมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดเทียบกับเด็กชายในอัฟกานิสถานผู้เข้าร่วมกองกำลังทาลิบัน

มีความแตกต่างมากมายระหว่างเด็กสองคนนี้ แต่เมื่อค้นลึกลงไปถึงพื้นฐานของความเป็นมนุษย์แล้วเขาทั้งคู่ไม่แตกต่างกัน

ทั้งคู่ต้องการการยอมรับ

เพียงแค่วิถีทางและเงื่อนไขข้อจำกัดในชีวิตของแต่ละคนแตกต่างกันไป แต่เด็กชายทั้งสองคนล้วนพยายามหาหาทางเพื่อให้คนรอบตัวชื่นชมและให้การยอมรับเขา

แน่นอนว่ามันเป็นเรื่องน่าเศร้าที่เด็กคนหนึ่งมีโอกาสได้รับสิ่งนั้นผ่านการพยายามทุ่มเทศึกษาแล้วได้เข้าเรียนในมหาวิทยาลัยชั้นนำ

ขณะที่อีกคนมีทางเลือกที่จำกัดจำเขี่ยกว่า นั่นก็เป็นปัญหาใหญ่ที่ชวนคิด แต่ถ้าเราต้องการพูดถึงการทำความเข้าใจคนที่แตกต่างจากเรา ลาร์รีสะกิดให้ลองมองลึกลงไปถึงพื้นฐานของความเป็นมนุษย์

แล้วเราอาจทำความเข้าใจผู้ก่อการร้ายที่น่าสะพรึงกลัว หรือกระทั่งน่ารังเกียจได้

เข้าใจ ไม่ได้หมายความว่ายอมรับในการกระทำของเขา

นอกจากความต้องการการยอมรับ ลาร์รียังเสนอความต้องการพื้นฐานของมนุษย์อีกสองข้อ นั่นคือ ไม่ว่าใครก็ต้องการช่วยเหลือคนที่ตัวเองรัก และต้องการเปลี่ยนแปลงโลกของตัวเองและชีวิตตัวให้ดีขึ้น

แม้จะน่าเศร้าที่คนหนึ่งลงเอยด้วยการเรียนหมอ ส่วนอีกคนลงเอยด้วยการจับปืนฆ่าคน

 

ลาร์รีพยายามหาคำตอบเพื่อทำความเข้าใจมนุษย์โดยศึกษาผ่านการพูดคุยกับผู้เชี่ยวชาญด้านสมองและประสาทวิทยา เพื่อทำความเข้าใจว่าสมองของคนเราทำงานอย่างไรก่อนที่จะปรากฏออกมาเป็นพฤติกรรมให้เห็น

สุดท้ายเขาสรุปตามความเข้าใจตัวเองออกมาอย่างเรียบง่ายว่า ไม่ว่าสิ่งใด สถานการณ์ใด หรือคนใดที่เราพบเจอ มนุษย์ทุกคนล้วนประเมินสิ่ง สถานการณ์ และคนเหล่านั้นว่าอันตรายหรือเป็นมิตรอยู่ตลอดเวลา หากมันสรุปว่าอันตรายก็จะเผ่นหนีหรือสู้ ส่วนถ้าประเมินว่าเป็นมิตรก็จะตื่นเต้นและเป็นสุข

เราทุกคนเกิดมาพร้อมสัญชาตญาณนี้

ถ้ารู้สึกดีก็อยากได้อีก ถ้ารู้สึกแย่ก็อยากเปลี่ยนแปลงมัน

ซึ่งสิ่งเหล่านี้เองที่เป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญของชีวิต เพราะมันทำให้เราอยู่รอด เชื่อมโยงกับคนอื่น และสร้างสังคมของตัวเองขึ้นมา เราจึงคิดในใจตลอดเวลาว่า

ฉันได้รับการยอมรับอยู่หรือเปล่านะ, ฉันกำลังทำบางสิ่งให้กับโลกอยู่ไหม, คนตรงหน้าเขามองเรายังไง

 

ลาร์รียกตัวอย่างสามีภรรยาคู่หนึ่งให้ฟัง

โซเฟียผู้เป็นภรรยาไม่เคยเห็นหน้าพ่อของเธอ ส่วนแม่ก็จากไปตั้งแต่วัยเด็ก เธอถูกเลี้ยงดูโดยคุณยาย

ในบ้านหลังนั้นคุณยายซึ่งเป็นศิลปินได้วาดภาพแม่ของโซเฟียไว้ ตอนเด็กๆ เธอชอบจ้องมองที่ภาพและจินตนาการว่าได้จับมือแม่และหอมแก้มแม่

คุณยายตายจากไปก่อนหน้าวันนัดเจรจาไกล่เกลี่ยระหว่างโซเฟียกับแฟรงก์-สามีของเธอ

ก่อนคุณยายจะจากไปเธอได้เซ็นลายเซ็นไว้บนภาพคุณแม่

โซเฟียฟ้องลาร์รีว่า แฟรงก์นำภาพโปรดอันแสนมีค่านี้ของเธอไป แล้วหันไปตวาดใส่สามีว่า “แฟรงก์, เมื่อไหร่คุณถึงจะเลิกลงโทษฉันจากการที่ฉันนอกใจคุณเสียที!”

นาทีนั้นแฟรงก์ไม่พูดอะไร หน้าตาเย็นชาเหมือนก้อนหินฤดูหนาว

ลาร์รีผู้อยู่ในเหตุการณ์ตึงเครียดเล่าว่า อย่างน้อยเขาคิดว่าตัวเองพอจะรู้ในสิ่งที่โซเฟียไม่รู้ นั่นคือ แฟรงก์ไม่ได้มีเจตนาจะแก้แค้นเธอ เพราะการแก้แค้นนั้นไม่ใช่ความต้องการพื้นฐานของมนุษย์

มนุษย์ล้วนถูกขับเคลื่อนด้วยการกระทำที่มอบความสุขให้ ซึ่งการแก้แค้นไม่เคยทำให้ใครเป็นสุข

หากสิ่งที่เห็นยังไม่ใช่ความต้องการพื้นฐาน ให้ค้นลึกลงไปอีก

แล้วสถานการณ์ก็พาไปสู่คำตอบที่ทุกคนไม่คาดคิด แฟรงก์น้ำตาค่อยๆ เอ่อขึ้นจนท่วมท้นสองตาของเขา

“โซเฟีย, คุณยายของคุณก็เหมือนยายของผม เธอคือญาติคนเดียวที่ผมมี นั่นคือทั้งหมดที่ผมมีในชีวิต คุณก็คือทุกสิ่งที่ผมมีอยู่” แล้วเขาก็ร้องไห้ไม่มีชิ้นดี

แฟรงก์ก็เป็นลูกกำพร้าเช่นกัน

รูปภาพนั้นสำหรับเขาคือการเชื่อมโยงสัมพันธ์กับคนที่เขาผูกพัน คือคุณยายของโซเฟีย การทำให้โซเฟียเจ็บปวดไม่ใช่ประเด็นแต่อย่างใด

ทันใดนั้น โซเฟียก็โผเข้าหาแฟรงก์และโอบกอดเขา

สุดท้าย แฟรงก์คืนภาพวาดนั้นให้อดีตภรรยา ส่วนเธอก็ไปค้นภาพถ่ายของเขากับคุณยายมามอบให้เพื่อเก็บเป็นความทรงจำ

ความมหัศจรรย์ของเหตุการณ์นี้คืออะไร?

เมื่อโซเฟียสัมผัสถึงความต้องการพื้นฐานในใจแฟรงก์ การเชื่อมโยงจากใจสู่ใจก็เกิดขึ้น เธอเข้าใจความผูกพันระหว่างเขากับคุณยาย สัมผัสสิ่งนั้นได้ ห้วงเวลานั้นเองที่เกิดปาฏิหาริย์ คนสองคนที่ทะเลาะกันรุนแรงกระทั่งหย่าร้างกลับโผเข้ากอดกันด้วยความเห็นใจ

หลังจากนั้นจึงตามมาด้วยการแก้ปัญหาร่วมกัน

 

ลาร์รีขีดเส้นใต้ประเด็นสำคัญว่า หากอยากทำความเข้าใจใครสักคน ลองค้นไปที่ ‘ความต้องการพื้นฐานของเขา’ ว่าเขาต้องการความรัก การยอมรับ และการโอบอุ้มในลักษณะไหน

ความต้องการพื้นฐานนี้เองที่เป็นที่มาของการกระทำทั้งหลายที่ปรากฏให้เราเห็น

ไม่ว่าความรุนแรง การด่าทอ การตะคอก งอน แยกทาง ฯลฯ ซึ่งอันที่จริงแล้วเป็นเพียงยอดภูเขาน้ำแข็งเท่านั้น ความจริงในใจอยู่ลึกลงไปด้านล่าง ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่ค่อยมีใครบอกออกมา เพราะตัวเองก็อาจยังไม่เข้าใจตัวเองด้วยซ้ำ

เราจึงนำยอดภูเขาน้ำแข็งมาฟาดฟันกันอยู่เสมอ โดยลืมใส่ใจถึงความต้องการที่แท้จริงของกันและกัน ไม่แปลกที่ผลลัพธ์จะกลายเป็นความบอบช้ำของทั้งสองฝ่าย

พฤติกรรมมนุษย์นั้นสลับซับซ้อน แต่ความต้องการพื้นฐานนั้นเรียบง่าย

ต้องการความรัก การยอมรับ ความเข้าใจ

นี่คือภาษาที่ไม่ค่อยได้ถูกพูดออกมาเป็นคำพูด มันเป็นภาษาของหัวใจ ต้องใช้หัวใจฟัง

ก่อนตัดสิน ก่อนด่าทอ ก่อนทะเลาะกัน ถ้าเราหยุดตัวเองไว้สักนิด แล้วลองถามคำถามสำคัญว่า อีกฝ่ายกำลังมีความต้องการพื้นฐานอะไร เขาจึงแสดงออกแบบนี้ การปฏิสัมพันธ์กันย่อมมิใช่การนำน้ำมันราดไปบนกองไฟ หากคือการรดน้ำและใส่ปุ๋ยลงไปในพืชพันธุ์ที่กำลังต้องการการทะนุถนอมเพื่องอกงามต่อไป

ความเข้าใจทำให้อีกฝ่ายงอกงาม

ทำให้ความสัมพันธ์งอกงาม

ทำให้ตัวเรางอกงาม

เราสามารถเข้าใจทุกคนได้จริงหรือ?

คำตอบอาจขึ้นอยู่กับใจเราเอง