หลังเลนส์ในดงลึก/”ภาพ”

ม.ล.ปริญญากร วรวรรณ

หลังเลนส์ในดงลึก/ปริญญากร วรวรรณ

“ภาพ”

เหตุผลหนึ่งที่ผมพูดถึงเรื่องของ “ต้นไทร” บ่อย

คือที่นั่น ทำให้ผมได้เห็นงานของเหล่าสัตว์ป่า ที่แต่ละชนิดก็ทำหน้าที่ของตัวเอง

ผมเคยเขียนประโยคสุดท้าย ซึ่งเขียนถึงต้นไทรไว้ในงานชิ้นหนึ่งว่า

“การเฝ้าดูต้นไทร ทำให้ผมเรียนรู้เรื่องสัตว์ป่า จากนั้น ภาพของคนก็ดูเหมือนจะชัดเจนขึ้น”

ไม่ว่าจะมีกำเนิดมาอย่างไร เจริญเติบโตมาได้ โดยทำให้ผู้ที่ถูกเกาะพึ่งพิงอาศัยตายไปก็ตาม

ไทร ก็คือไม้ยืนต้นชนิดหนึ่ง มีผลอันเป็นอาหารยอดนิยมของชีวิตในป่า

ผมเฝ้าดูต้นไทรมาหลายต้นอย่างยอมรับความลึกซึ้งของธรรมชาติ

การบันทึกวันเวลาที่ต้นไทรแต่ละต้นถึงเวลาสุก สำคัญ และจำเป็นต้องไปเฝ้าดูให้ตรงตามวันเวลา หากช้าไปเพียงวันเดียว อาจพบกับความว่างเปล่า “ตลาดวาย” หรืองานเลี้ยงเลิกราแล้ว

ถ้าไปตรงเวลา แถวต้นไทรจะคึกคักอย่างยิ่ง

นกเขาเปล้าจำนวนร้อยตัว บินเข้า-ออกพร้อมๆ กัน ฝูงนกเงือกกรามช้าง นกกก นกแก๊ก นกโพระดก กระรอก ชะนี รวมทั้งหมี และอีกสารพัด เสียงที่จะเจื้อยแจ้วตลอดวันคือ นกขุนทอง

ไม่เฉพาะพวกมีปีก หรือขึ้นต้นไม้ได้

สัตว์อื่นที่หากินตามพื้น มีปีก แต่ไม่ถนัดการขึ้นไปเกาะหากินสูงๆ ต่างก็จะมาร่วมชุมนุมด้วย

แม้แต่สมเสร็จ ผมก็เคยเห็นว่ามันมากินลูกไทรที่หล่นลงมาใต้ต้น

ขณะนกเงือกกรามช้างหลายตัวกินอยู่บนต้น พวกมันกินด้วยลีลาอ่อนช้อย โดยจะจิกลูกไทรโยนขึ้นและอ้าปากรับ

นกยูง พาลูกเล็กๆ มาใต้ต้น รอรับลูกไทรที่นกเงือกทำหล่น

บางครั้ง ผมเห็นพวกอยู่ข้างบน เจตนาเขย่ากิ่งแรงๆ กรณีนี้ฝูงลิงและค่างทำหน้าที่ได้ดีที่สุด

คราวนี้ที่พื้นจึงไม่มีเฉพาะนกยูงแล้ว

ไก่ป่า ไก่ฟ้า ชะมด หมูป่า เก้ง ค่อยๆ ทยอยมาร่วมวง

และแน่นอนว่า เมื่อมีสัตว์กินพืชมาชุมนุม

เหล่าผู้ล่าย่อมตามมาสังเกตการณ์

หลายครั้งการล่าเกิดขึ้นที่นี่ แม้ว่าจะมีการจัดเวรยามคอยดูแล้ว

ระยะห่างระหว่างความตาย และความมีชีวิต อยู่ไม่ไกลกันนัก

ในป่ามีต้นไทรอยู่กระจัดกระจายทั่วไป เป็นผลงานของพวกที่มากิน

ความพิเศษของต้นไทรคือ ช่วงเวลาที่ลูกไทรสุกไม่ตรงกัน เมื่อต้นนี้สุกจนหมด ต้นอื่นก็จะเริ่มสุก หมุนเวียนไปเช่นนี้

ดูเหมือนว่า นก และสัตว์ทุกตัวจะรู้ จำได้อย่างแม่นยำว่าเมื่อใดไทรต้นไหนจะสุก

งานเลี้ยงเริ่มต้นตั้งแต่วันแรกที่ลูกไทรสุก

ว่าตามจริงนี่ไม่ใช่งานเลี้ยงรื่นเริง

แต่มันคืองานที่สัตว์ทุกตัวมีหน้าที่นำพาเมล็ดไทรไปแพร่กระจาย โดยทางภาคพื้นดิน และทางอากาศ

พวกมันแบ่งแยกหน้าที่กันตามลักษณะรูปร่างและทักษะ

ตัวโตๆ อย่างนกเงือก อยู่บริเวณโคนกิ่ง นกเล็กๆ อย่างนกเขาเปล้า นกขุนทอง กระรอก อยู่แถวปลายกิ่ง

ลูกไทรจำนวนไม่น้อยร่วงหล่นลงพื้น

เฝ้าดูต้นไทร ความร่วมมือกันของเหล่าสัตว์ป่า ปรากฏให้เห็น

แต่ความจริงที่ว่า ป่าคล้ายจะกว้างใหญ่ แต่ไม่มีที่ทางให้สัตว์ป่าได้ไปนัก ก็ปรากฏให้เห็นเช่นกัน

การเดินทางเคลื่อนย้ายไปโน่นนี่ มีแหล่งอาหารเป็นตัวกำหนด

เส้นทางวนเวียนอยู่กับต้นไทร โป่ง หรือแหล่งน้ำ

ปีกของนก ไม่ได้มีไว้เพื่อโบยบินเล่นอย่างเป็นอิสระ แต่ปีกคือเครื่องมือในการเดินทางไปแหล่งอาหาร

ตีนของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมที่อยู่ตามพื้น ทำหน้าที่แบบเดียวกัน

นอกจากจังหวะเวลาซึ่งออกลูกไม่ตรงกันแล้ว ไทรแต่ละต้นยังออกลูกมากกว่าหนึ่งครั้งในรอบปี

ป่าบางแห่งไม่เคยขาดลูกไทรสุกเลย

นั่นหมายความว่า ขณะต้นไม้ชนิดอื่นๆ พักตัว ลดการใช้น้ำ เปลี่ยนสีใบ ทิ้งใบร่วงลงพื้น ปกคลุม กันความชื้นบนพื้นไม่ให้ระเหยไปเร็วนัก เป็นช่วงเวลาที่ป่าขาดแคลนอาหาร

ต้นไทรยังเป็นที่พึ่งพาของเหล่าสัตว์ป่าเช่นเดิม

ไทรออกลูกคราวละมากๆ เห็นเป็นสีเหลือง สีแดงเต็มไปหมด มีงานเลี้ยงตลอดวัน นี่คือเหตุผลหนึ่งอันทำให้ลูกไทรหมดในระยะเวลาสั้นๆ

การถูกจัดสรรให้ไทรแต่ละต้นทยอยสุก แต่ละชนิดออกลูกสุกไม่พร้อมกัน

นี่ย่อมไม่ใช่เรื่องบังเอิญ

ในยามที่ป่าขาดแคลน ต้นไทรมีเพียงใบเขียวทึบก็ไม่มีความหมายอะไร

ในขณะเฝ้าดูต้นไทร “ภาพ” ความต่างของสัตว์ป่า แสดงต่อหน้า พวกมันทำหน้าที่ตามความถนัด ใช้เครื่องมือที่มีอย่างได้ผล

บางตัวอยู่โคนต้น บางตัวอยู่กลางๆ บางตัวอยู่ปลายกิ่ง และหลายตัวอยู่เรือนยอด

หน้าที่แต่ละตัวแตกต่างกัน

บนต้นไทรต้นเดียว สัตว์ป่าอยู่ร่วมกันได้

ผมพูดถึงต้นไทรบ่อย ในแง่มุมเดิมๆ

หลายครั้งที่ล้มเหลว เดินไปไม่ถึงจุดหมายที่ตั้งใจ

ผมจะคิดถึงช่วงเวลาที่เฝ้าดูอยู่ที่ต้นไทร

ความคึกคักเกิดขึ้นแค่ช่วงเวลาสั้นๆ จากนั้นบริเวณต้นไทรก็จะเงียบเหงาไปอีกนาน

ต้นไทรใหญ่โต ใบเขียวทึบ เงียบเหงา

ใหญ่โต โดยเกี่ยวรัดต้นไม้ที่ได้อาศัยเกิด กระทั่งตาย

บางที นี่อาจเป็น “ภาพ” ของต้นไทร ที่หลายคนมองเห็น…