ผลงานART ความไม่แน่นอนของการเมืองไทย + ศิลปินอินโดฯ : อะไร(แม่ง)ก็เป็นศิลปะ

ภาณุ บุญพิพัฒนาพงศ์

เมื่อวันที่ 13 พฤษภาคมที่ผ่านมา

ผมมีโอกาสได้ไปดูงานนิทรรศการศิลปะที่น่าสนใจมา

เลยถือโอกาสเอามาเล่าสู่กันฟังตามเคย

นิทรรศการนี้มีชื่อว่า The concept of self: On power, identity and labels

นิทรรศการกลุ่มที่นำเสนอผลงานศิลปะของศิลปินร่วมสมัยคลื่นลูกใหม่ของไทยและอินโดนีเซียจำนวน 9 คน

โดยมีศิลปินไทยอย่าง อลิสา ฉุนเชื้อ, อานนท์ ไพโรจน์, ชญานิน กวางแก้ว, จุฬญาณนนท์ ศิริผล, กิตติคุณ หมั่นกิจ

และศิลปินอินโดนีเซียอย่าง อันโตนิโอ เอส. สินากา (Antonio S. Sinaga), แพทริออต มุกมิน (Patriot Mukmin), ธีโอ ฟรีดส์ ฮูทาบารัต (Theo Frids Hutabarat) และ เรกา อยุณธยา พุตรี (Rega Ayundya Putri)

นิทรรศการครั้งนี้เป็นการร่วมมือของ ศุภโชค ดิ อาร์ตเซนเตอร์ และ ARCOLABS หรือศูนย์วิจัยสำหรับศิลปะและการบริหารจัดการชุมชนที่มหาวิทยาลัย Surya ประเทศอินโดนีเซีย

โดยคัดสรรผลงานโดยสามภัณฑารักษ์จากสามเชื้อชาติ จีน/เกาหลี/ไทย อย่าง หลิน เจี่ย โจว, จยอง-อก จยอน และ จงสุวัฒน์ อังคสุวรรณศิริ เพื่อเป็นการนำเสนอเอกลักษณ์เฉพาะตัวทางวัฒนธรรมและความคิดสร้างสรรค์ของศิลปินไทยและอินโดนีเซียสู่สายตาของผู้ชมชาวไทย

รวมถึงมุมมองเกี่ยวกับเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ภายใต้แนวความคิดแบบสังคมวิทยา

เพื่อวิเคราะห์และทำความเข้าใจกับวัฒนธรรมไทยและอินโดนีเซียในยุคใหม่

ทั้งในแบบมหภาค (Macro/ภาพรวมขนาดใหญ่) และจุลภาค (Micro/ภาพเล็กๆ แยกย่อย)

นิทรรศการนี้มีกรอบคิดในการมุ่งเน้นในการชำแหละวัฒนธรรมร่วมสมัย เพื่อศึกษาว่ามันมีผลกระทบต่อผู้คนอย่างไรบ้างในแง่ของการใช้ชีวิต

ความเข้าใจเรื่องเพศสภาพ

อิทธิพลทางสังคม ตลอดจนถึงอุดมคติในเรื่องของโครงสร้างชนชั้น

ศิลปินแต่ละคนได้สำรวจถึงความละเอียดอ่อนในการแสดงออกถึงตัวตนและการปฏิสัมพันธ์ต่อผู้คนในสังคมผ่านสื่อต่างๆ อย่างภาพถ่าย ภาพวาดสีน้ำมัน วิดีโอ ไปตลอดจนถึงศิลปะจัดวาง

โดยจัดแสดงผลงานเต็มพื้นที่อันกว้างขวางทั้งสองชั้นของหอศิลป์

“ด้วยความที่มันเป็นนิทรรศการกลุ่มที่มีพื้นฐานเกี่ยวกับแนวความคิดแบบสังคมวิทยา ทั้งในแบบมหภาคและจุลภาค ในหอศิลป์สองชั้น เราจึงแบ่งงานในนิทรรศการนี้เป็นสี่ส่วน สี่แนวทาง

ในส่วนของห้องแสดงงานชั้นล่างเป็นเรื่องเกี่ยวกับสังคมมหภาค

เราแบ่งงานศิลปะออกเป็นกลุ่มของสังคมและการเมือง

ส่วนแรกมีชื่อว่า Construction of beliefs เป็นเรื่องราวเกี่ยวกับโครงสร้างของความเชื่อ นำเสนอผลงานของกิตติคุณและอันโตนิโอ ซึ่งล้วนมีความเชื่อมโยงกับศาสนาและสังคม

ส่วนที่สองมีชื่อว่า A violent illusion ซึ่งเป็นผลงานของอานนท์, แพทริออต และจุฬญาณนนท์ ที่มีประเด็นเกี่ยวกับสงครามและการเมือง

เมื่อขึ้นไปบนห้องแสดงงานชั้นสองนั้นเป็นเรื่องของสังคมจุลภาค

ที่โฟกัสไปที่ความเป็นปัจเจก และปฏิสัมพันธ์ระหว่างคนเหล่านั้น

เริ่มด้วยผลงานส่วนที่สามที่มีชื่อว่า To capture an emotion ที่นำเสนอผลงานของสองศิลปินหญิงอย่างเรกา และอลิสา ที่นำเสนอผลงานที่แสดงออกถึงอารมณ์ความรู้สึกนึกคิดภายในของศิลปินที่ถูกสร้างขึ้นจากการมีปฏิสัมพันธ์กับสังคม

ส่วนผลงานส่วนที่สี่มีชื่อว่า The way we are seen ซึ่งเป็นผลงานของสองศิลปินชายอย่างชญานิน และธีโอ ที่นำเสนอความเชื่อมโยงสัมพันธ์และการกระตุ้นเร้าของสังคมที่มีต่อปัจเจกชน

การจัดวางตำแหน่งและลำดับในนิทรรศการนี้เป็นเหมือนกับการสร้างบทสนทนาระหว่างผลงานแต่ละชิ้น

รวมถึงเป็นภาพแทนของการสร้างปฏิสัมพันธ์ระหว่างปัจเจกชนและสังคมรอบข้างด้วย

หลิน เจี่ย โจว หนึ่งในภัณฑารักษ์ของนิทรรศการครั้งนี้กล่าว

ผลงานของ กิตติคุณ หมั่นกิจ เป็นภาพวาดที่นำเสนอธรรมชาติของมนุษย์ผู้มีความศรัทธาในความลี้ลับเหนือธรรมชาติ และการแสดงออกถึงความต้องการครอบครองพลังเหนือธรรมชาติ

กิตติคุณใช้ผลงานศิลปะของเขาค้นคว้าถึงคำตอบการมีตัวตนและการดำรงอยู่ของพลังเหล่านี้

ผลงานของ อันโตนิโอ เอส. สินากา เป็นภาพถ่ายที่นำเสนอประเด็นเกี่ยวกับศาสนา ที่ตั้งคำถามเกี่ยวกับความเชื่อและความศรัทธา ด้วยการใช้สัญลักษณ์ที่ได้แรงบันดาลใจจากภาพเขียนเชิงศาสนายุคโบราณ

ผลงานของเขามักจะเชื่อมโยงอ้างอิงกับเหตุการณ์และบุคคลสำคัญในศาสนา

เดิมที อันโตนิโอจบการศึกษาทางด้านเซรามิกมา

หน้ากากที่เป็นสัญลักษณ์ที่ปรากฏอยู่ในภาพถ่ายทุกภาพของเขาเป็นหน้ากากเซรามิกที่เขาทำขึ้นมาเอง

โดยเป็นหน้ากากรูปพระเยซู บุคคลที่อยู่ในภาพถ่ายถือป้ายที่มีประโยคที่เขาคัดลอกมาจากพระวจนะของพระคริสต์จากพระคัมภีร์ไบเบิล

โดยศิลปินเลือกประโยคที่มีความเชื่อมโยงกับพื้นเพ ความเป็นมา และเรื่องราวของบุคคลในภาพนั้นๆ

สิ่งที่น่าสนใจก็คือมันไม่ได้นำเสนอศาสนาคริสต์เพียงอย่างเดียว หากแต่ผสมผสานหลายศาสนาเข้าไว้ด้วยกัน

ผลงานของ อานนท์ ไพโรจน์ มีชื่อว่า Weapon for the citizen (2016) นำเสนอสภาวะที่เกิดขึ้นภายใต้สถานการณ์อันไม่แน่นอนของการเมืองไทย

ที่ประชาชนต่างเริ่มตั้งคำถามเกี่ยวกับสิทธิและเสรีภาพภายใต้การปกครองของรัฐบาลทหาร

ด้วยการนำเสนอผลงานศิลปะจัดวางรูปปืนนุ่มนิ่มที่ทำจากผ้ายัดนุ่นจำนวนมากแขวนลงมาจากเพดานเหมือนม่าน

และเชิญชวนให้ผู้ชมเดินเข้าไปในผลงาน เพื่อตั้งคำถามกับพวกเขาว่า รู้สึกอย่างไรเมื่อต้องเดินผ่านม่านปืนเหล่านี้?

มันทำให้พวกเขารู้สึกปลอดภัยหรือไม่?

และที่จริงแล้วอาวุธเหล่านี้ทำให้เราก้าวไปข้างหน้าได้จริงหรือไม่?

เป็นต้น

ผลงานของ แพทริออต มุกมิน เป็นการแสดงออกถึงความสนใจในเรื่องของการเมืองและเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์ในประเทศอินโดนีเซีย

โดยเฉพาะเหตุการณ์ในช่วงยุคการปกครองของซูฮาร์โตในปี 1988

สำหรับเขา ประวัติศาสตร์ร่วมสมัยเป็นตัวอย่างที่แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนถึงเส้นแบ่งระหว่างความจริงและความเท็จทั้งหลาย

เขาใช้การถักสานรูปถ่ายต่างๆ ที่อ้างอิงถึงบันทึกทางประวัติศาสตร์ เพื่อแสดงให้เห็นถึงประวัติศาสตร์ซึ่งเป็นทั้งประสบการณ์ส่วนตัวและประสบการณ์ของส่วนรวม ด้วยการถักสาน

ซึ่งเป็นเทคนิคในงานหัตกรรมพื้นบ้านของชนชาติในภูมิภาคเอเชียอาคเนย์ แพทริออตสร้างภาพลวงตา

ซึ่งแสดงให้เห็นถึงการโยงใยข้องเกี่ยวกันของภาพในประวัติศาสตร์เหล่านั้นเข้าไว้ด้วยกันอย่างแนบเนียน

ผลงานของ จุฬญาณนนท์ ศิริผล เป็นศิลปะภาพเคลื่อนไหวในรูปแบบวิดีโอสองชิ้น

ชิ้นแรกมีชื่อว่า Planking (2012) ที่เป็นวิดีโอบันทึกภาพตัวศิลปินที่ไปตามสถานที่สาธารณะต่างๆ และทำท่านอนราบ หรือที่เรียกว่า แพลงกิ้ง ซึ่งเป็นอะไรที่ฮิตเหลือเกินของสังคมโซเชียลในยุคหนึ่ง

แต่ที่น่าสนใจก็คือ เขาดันไปทำท่านี้ตอนที่ทุกคนกำลังยืนตรงในช่วงเคารพธงชาติกันอยู่เนี่ยสิ!

จุฬญาณนนท์สนใจในการหยิบเอาวัฒนธรรมการเคารพธงชาติกับวัฒนธรรมคนรุ่นใหม่ที่ทำแพลงกิ้ง

เขาคิดว่าถ้ามันมาอยู่ด้วยกันมันน่าจะเกิดบทสนทนาอะไรสักอย่างขึ้นมาได้ ในแง่กายภาพเราจะเห็นว่ามันเป็นการล้อกันระหว่างคนนอนแพลงกิ้งกับคนที่ยืนตรงเคารพธงชาติอยู่

แต่ถ้ามองให้ลึกไปกว่านั้น วัฒนธรรมการเคารพธงชาติเป็นธรรมเนียมที่ถ้าได้ยินเพลงชาติแล้ว คนไทยต้องยืนตรง

แต่ถ้ามีคนที่ไม่หยุดยืนตรงก็จะถูกมองและถูกตั้งคำถามว่า ไม่รักชาติหรือ?

ซึ่งจุฬญาณนนท์คิดว่ามันเป็นอำนาจนิยมหนึ่งที่ตกค้างมาตั้งแต่ยุคสงคราม พอมันถูกใช้ผ่านระบบการศึกษาในการให้นักเรียนยืนตรงเคารพธงชาติมันก็เป็นการสร้างแนวคิดชาตินิยมขึ้นมาในยุคสมัยปัจจุบัน

ซึ่งเขาไม่เห็นด้วยกับแนวคิดนี้ เลยอยากวิพากษ์วิจารณ์

ประจวบเหมาะกับกระแสแพลงกิ้งฮิตขึ้นมาพอดี เขาเลยคิดว่ามันน่าจะเป็นการวิพากษ์วิจารณ์ที่สนุกสนานดี

เขาตั้งใจนำเสนอกิจกรรมนี้ในเชิงอารยะขัดขืนที่แฝงเอาไว้ด้วยความตลกขบขัน

ส่วนผลงานที่สองมีชื่อว่า Blinding (2014) เป็นวิดีโอบันทึกภาพศิลปินตอนที่ออกจากบ้านในช่วงปี 2014 ในช่วงเวลาที่รัฐบาลทหารมีการบังคับใช้กฎเคอร์ฟิวหลังจากการทำรัฐประหาร ที่ประชาชนไม่สามารถออกจากบ้านได้ในช่วงสี่ทุ่มถึงตีห้า

สิ่งที่เขาออกไปทำก็คือการออกไปในสถานที่สาธารณะในช่วงเคอร์ฟิวแล้วทำงานศิลปะแสดงสดด้วยการยืนถือกระดาษเปล่าบิดใบหน้าของตัวเอง

ผลงานชิ้นนี้เป็นการแสดงถึงสถานการณ์ที่อยู่ภายใต้การควบคุม การที่สื่อต่างๆ ถูกควบคุมจนเหมือนกับถูกปิดหูปิดตา และประชาชนไม่สามารถวิพากษ์วิจารณ์หรือแสดงออกความคิดเห็นออกมาได้ ไม่ต่างอะไรกับกระดาษเปล่า

จุฬญาณนนท์สนใจในการหยิบเอาไอเดียเกี่ยวกับเสรีภาพในการแสดงออกกับการเซ็นเซอร์มาเล่นกับช่วงเวลาที่อยู่ภายใต้การควบคุม

เมื่อเอามารวมกันแล้ว ผลงานทั้งสองชิ้นนำเสนอแนวคิดเกี่ยวกับร่างกายที่ถูกอำนาจรัฐควบคุมนั่นเอง

ผลงานของ เรกา อยุณธยา พุตรี เป็นภาพวาดลายเส้นอันละเอียดลออระยิบระยับจนน่ามหัศจรรย์ ที่ทำขึ้นภายใต้แนวคิด Sufism ซึ่งเป็นปรัชญาของลัทธิรหัสยนิยมที่เน้นความเชื่อทางจิตวิญญาณของอิสลาม

โดยศิลปินได้แรงบันดาลใจจากร่างกายมนุษย์ที่ถูกขยายในระดับจุลภาคเพื่อนำมาวาดเป็นภาพโดยปล่อยให้มือเคลื่อนไหวไปโดยอัตโนมัติเป็นระยะเวลาหนึ่งซ้ำๆ กัน

อันสอดคล้องกับแนวคิดของศาสนาอิสลามในการท่องคำหนึ่งซ้ำๆ กันอย่างต่อเนื่อง เพื่อเป็นการเข้าสู่สภาวะอันจะทำให้เข้าใกล้กับพระผู้เป็นเจ้ามากขึ้น

ผลงานของ อลิสา ฉุนเชื้อ เป็นศิลปะจัดวางสองชิ้นที่ได้รับแรงบันดาลใจจากสิ่งรอบตัว

ชิ้นแรกเป็นแก้วน้ำใสใส่น้ำวางเรียงรายซ้อนกันเป็นชั้นๆ นับสิบชั้น ที่ได้แรงบันดาลใจจากพฤติกรรมความหมกมุ่นต่อการดื่มกินในชีวิต

แรกเริ่มเดิมที เริ่มจากการที่อลิสาบันทึกน้ำหนักตัวเอง และควบคุมน้ำหนักตัวเองเพื่อให้อยู่ในระดับปกติ และนำน้ำหนักที่ได้มาคำนวณและแปลงข้อมูลจากน้ำหนักมาเป็นปริมาตรของน้ำ

ที่เลือกใช้น้ำ เพราะมันเป็นองค์ประกอบประมาณ 60% ของร่างกายมนุษย์ นำมาใส่ในแก้วน้ำที่เป็นวัตถุที่พบเห็นได้ทั่วไปในชีวิตประจำวันที่เชื่อมโยงกับการดื่มกิน

ผลงานอีกชิ้นของอลิสาเป็นขวดน้ำหอมเรียงรายกันหกขวด ที่ใส่ของเหลวสีใสค่อยๆ ไล่ระดับไปจนถึงสีเข้ม

ผลงานชิ้นนี้เริ่มจากการสำรวจของใช้ของผู้หญิง อย่างโลชั่น แชมพู เครื่องสำอาง แล้วพบว่ามันมีส่วนประกอบของน้ำหอมทุกชิ้น

และของทั้งหมดที่ผู้หญิงเหล่านั้นใช้ นั้นเป็นส่วนผสมที่ทำให้เกิดกลิ่นเฉพาะตัวของพวกเธอ

แต่ด้วยความที่กลิ่นมีความเป็นนามธรรม ศิลปินจึงใช้วัตถุที่อยู่ในรูปของขวดน้ำหอมที่แฝงความรู้สึกทางเพศและการถูกใช้กับร่างกายโดยตรง

ศิลปินจึงศึกษากระบวนการทางเคมีในการผลิตน้ำหอม และผลิตน้ำหอมของตัวเองออกมา

ส่วนเฉดสีที่แตกต่างกันนั้น เธอได้แรงบันดาลใจมาจากสีผิวของคนที่มีหลายเฉดแตกต่างกันนั่นเอง

ผลงานของ ชญานิน กวางแก้ว เป็นภาพวาดที่แสดงถึงพฤติกรรมที่ดูเหมือนจะไร้สาระและปราศจากเหตุผล

ด้วยความคิดว่าการที่คนเราใช้ชีวิตประจำวันนั้น ต่างก็มีภาระหน้าที่และข้อกำหนดเรื่องเวลาต่างๆ

ชญานินคิดว่าการที่คนเราทำอะไรโดยไม่ต้องคิด มันเป็นการพักผ่อน, สร้างสมดุลและเพิ่มความสุขให้กับชีวิตอย่างหนึ่ง

ภาพวาดของเขาแสดงให้เห็นถึงการแยกเหตุผลและอารมณ์ออกจากกัน

ปื้นของรูปนามธรรมที่อยู่ในภาพวาดแบบเหมือนจริงราวกับภาพถ่ายของเขานั้นเป็นทั้งการยั่วล้อความเป็นจริง

และกระตุ้นเตือนให้ผู้ชมเลิกหมกมุ่นครุ่นคิดกับความเป็นจริงอันเคร่งเครียดก็เป็นได้

ท้ายสุด ผลงานของ ธีโอ ฟรีดส์ ฮูทาบารัต ที่เป็นศิลปะจัดวางที่ประกอบด้วยภาพวาดและวิดีโอ ที่นำเสนอความคิดเชิงวิเคราะห์ที่มีต่อประวัติศาสตร์ศิลปะตะวันตก

ธีโอสร้างสรรค์ผลงานชุดนี้ด้วยการย้อนรอยกระบวนการทำงานศิลปะของตัวเอง ที่ได้แรงบันดาลใจและความรู้ทั้งจากหนังสือและประวัติศาสตร์ศิลปะตะวันตก เพื่อสร้างบทสนทนากับสิ่งเหล่านั้น

เขาใช้ภาพวิดีโอโปรเจ็กชั่นฉายภาพของภาพวาดลงไปบนตัวเขาที่กำลังวาดรูปอยู่ และบันทึกมันเป็นวิดีโอ เพื่อเป็นการสร้างมิติทับซ้อนของการสร้างสรรค์และหลอมรวมกิจกรรมการวาดภาพตนเองเข้ากับภาพวาดของศิลปินชื่อดังในอดีตที่มีอิทธิพลต่อเขาอย่าง ฟรานซิส เบคอน และ เอกอน ชีเลอ

ผลที่ได้ทำให้เกิดความสัมพันธ์อันซับซ้อนระหว่างการวาดภาพและการแสดงออกถึงตัวตนของศิลปินไปพร้อมๆ กัน

เข้านิทรรศการเดียว แต่ได้ดูผลงานของศิลปินร่วมสมัยที่โดดเด่นและมีเอกลักษณ์เฉพาะทางแตกต่างกันไปถึงเก้าคน เรียกได้ว่าอิ่มเอมเปรมใจกับการเสพศิลปะไปชุดใหญ่เลยทีเดียว รู้อย่างงี้แล้ว มิตรรักคอศิลปะก็ไม่ควรพลาดนิทรรศการครั้งนี้ด้วยประการทั้งปวง

ใครสนใจก็ไปดูชมกันได้ที่หอศิลป์ ศุภโชค ดิ อาร์ตเซนเตอร์ (Subhashok The Arts Centre – S.A.C.) ซอยพร้อมจิตร สุขุมวิท 39 ตั้งแต่วันนี้ไปจนถึงวันที่ 17 มิถุนายน ศกนี้

สอบถามข้อมูลได้ที่ เบอร์โทรศัพท์ 08-7438-3681 หรืออีเมล [email protected]