ไว้ใจหุ่นยนต์ จะ ‘เจ็บ’ หรือ ‘จน’ มากกว่าคนกันนะ / จิตต์สุภา ฉิน

จิตต์สุภา ฉินFacebook.com/JitsupaChin
Portrait of a satisfied happy woman winner with long hair holding bunch of money banknotes in each hand isolated over pink background

Cool Tech

จิตต์สุภา ฉิน

@Sue_Ching

Facebook.com/JitsupaChin

 

ไว้ใจหุ่นยนต์

จะ ‘เจ็บ’ หรือ ‘จน’ มากกว่าคนกันนะ

 

เคยคิดเล่นๆ ไหมคะว่า ระหว่างเพื่อนมนุษย์ด้วยกันกับปัญญาประดิษฐ์ หรือเอไอ เรามีแนวโน้มที่จะไว้ใจ เชื่อใจ สิ่งไหนมากกว่ากัน?

คำถามที่ขอบเขตครอบคลุมกว้างขวางขนาดนี้อาจจะไม่ง่ายนักที่จะตอบ

เพราะการที่เราจะให้ความไว้วางใจกับใครสักคนหรืออะไรสักอย่างก็อาจจะต้องแบ่งเป็นเรื่องๆ ไปด้วย

เราอาจจะไว้ใจให้เพื่อนคนนี้ช่วยดูแลลูกให้ในระหว่างที่เราออกไปทำธุระนอกบ้าน

ในขณะที่เพื่อนอีกคนอาจได้รับความไว้วางใจให้ช่วยดูแลแค่ต้นไม้ที่ปลูกรอบๆ บ้านได้เท่านั้น

ดังนั้น ย้อนกลับมาที่คำถามข้างต้น เราจะไว้ใจเอไอในแง่มุมไหนของชีวิตบ้าง

เห็นได้ชัดว่าที่ผ่านมาเราเริ่มรู้สึกสบายๆ กับการยอมให้เอไอเข้ามาอยู่ในชีวิตมากขึ้นเรื่อยๆ

ตั้งแต่บทบาทของการเป็นผู้ช่วยส่วนตัว การเลือกหนัง เลือกเพลง ที่เราน่าจะชอบมานำเสนอให้

การช่วยดูแลระบบความปลอดภัยภายในบ้าน หรือแม้กระทั่งไว้ใจให้ช่วยแนะนำคนที่เหมาะสมจะเป็นคู่เดทผ่านแอพพลิเคชั่นหาคู่ออนไลน์ให้เราได้ด้วย

ทั้งหมดนี้ก็น่าจะแปลว่าเรามองเทคโนโลยีนี้ไปในทางบวกและให้ความไว้วางใจอยู่ไม่น้อย

ทว่า ถ้าเป็นเรื่องเงินๆ ทองๆ ที่เขาว่ากันว่าเป็นหัวข้ออ่อนไหวที่ทำให้คนเราตัดขาดได้แม้กระทั่งความเป็นพ่อ-แม่-ลูก ญาติพี่น้องล่ะ เราจะยังไว้ใจให้ปัญญาประดิษฐ์เข้ามาช่วยจัดการได้หรือไม่

คำตอบที่ได้เป็นเรื่องที่ชวนให้รู้สึกประหลาดใจไม่น้อย

เพราะมนุษย์เรามีแนวโน้มจะไว้ใจเอไอในเรื่องเงินมากกว่าจะไว้ใจมนุษย์ด้วยกันเสียอีก

 

ผลการศึกษาของ Oracle ที่รวบรวมจากโพลที่สอบถามคนกว่า 9,000 คนใน 14 ประเทศซึ่งประกอบไปด้วยสหรัฐ อังกฤษ เยอรมนี เนเธอร์แลนด์ ฝรั่งเศส จีน อินเดีย ออสเตรเลีย บราซิล ญี่ปุ่น สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ สิงคโปร์ เม็กซิโก และซาอุดีอาระเบีย ในช่วงเดือนพฤศจิกายนถึงธันวาคมปีที่ผ่านมาระบุว่า

67 เปอร์เซ็นต์ของคนจำนวนทั้งหมดที่ตอบโพลบอกว่า พวกเขาไว้ใจให้หุ่นยนต์เข้ามาช่วยจัดการบริหารเงินของตัวเองให้ มากกว่าที่จะไว้ใจให้มนุษย์เข้ามาจัดการ

เพิ่มความน่าสนใจเข้าไปอีกด้วยตัวเลข 53% ของคนทั้งหมดที่บอกว่า จะไว้ใจหุ่นยนต์ให้จัดการช่วยตัดสินใจเรื่องการเงินให้มากกว่าจะไว้ใจตัวเองเสียอีก

การศึกษาครั้งนี้ก็ยังเน้นเจาะจงถามไปที่กลุ่มของคนที่ดำรงตำแหน่งบริหารธุรกิจต่างๆ เพื่อดูว่ามีแนวคิดแบบเดียวกันนี้ด้วยหรือเปล่า

ผลปรากฏว่า กลุ่มที่เป็นผู้บริหารยิ่งมีความกระตือรือร้นที่จะให้หุ่นยนต์เข้ามาช่วยจัดการด้านการเงินให้มากขึ้นไปอีก

เพราะ 77 เปอร์เซ็นต์บอกว่า จะไว้ใจหุ่นยนต์ให้บริหารเงินของตัวเองมากกว่าทีมด้านการเงินที่มีอยู่

โดยที่ 34 เปอร์เซ็นต์มองว่า หากใช้อัลกอริธึ่มมาช่วยก็น่าจะทำให้สามารถตรวจจับกลโกงต่างๆ ได้ดีขึ้น

25 เปอร์เซ็นต์บอกว่า หุ่นยนต์จะช่วยอำนวยความสะดวกได้อีกเรื่อง คือจะสามารถออกใบเสร็จต่างๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพมากกว่าเดิม

แล้วนักวิจัยก็สรุปออกมาว่า ความสัมพันธ์ระหว่างคนกับเงินได้เปลี่ยนแปลงไปในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ปัจจัยที่เร่งให้เกิดความเปลี่ยนแปลงนั้นขึ้นก็คือเหตุการณ์โรคระบาดในปี 2020 นั่นเอง

 

ช่วงที่ทั่วโลกหวาดผวาการอยู่ใกล้ชิดกันกลายเป็นเป็นช่วงที่เหมาะสมที่สุดที่หุ่นยนต์จะแทรกเข้ามาขอทำหน้าที่ต่างๆ แทนเราอย่างเนียนๆ

โรงพยาบาลหลายแห่งทั่วโลกใช้หุ่นยนต์เข้ามาสแกนคนไข้ก่อนเข้าตรวจกับแพทย์ เป็นสื่อกลางให้แพทย์กับผู้ป่วยวิดีโอคอลล์พูดคุยสอบถามอาการกันได้

หุ่นยนต์ยังถูกใช้เป็นคล้ายๆ กับตำรวจหน้ากากที่จะคอยเตือนให้ผู้คนที่เดินไปเดินมาในอาคารสถานที่ต่างๆ สวมหน้ากากอนามัยและล้างมือด้วยเจลแอลกอฮอล์บ่อยๆ

และยังเป็นตัวแทนของคนเข้าไปพ่นสเปรย์ฆ่าเชื้อตามสถานที่สาธารณะด้วย

อีกบทบาทหนึ่งที่หุ่นยนต์รับไปทำเยอะขึ้นมากในช่วงปีที่ผ่านมาก็คือการช่วยเป็นเพื่อนแก้เหงาให้กับมนุษย์โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงล็อกดาวน์ที่เราแทบจะไม่ได้ออกไปพบปะพูดคุยกับใครเลย

ปัญหาความเหงานี้ร้ายแรงมากโดยเฉพาะในกลุ่มผู้สูงวัยที่ต้องอาศัยอยู่อย่างโดดเดี่ยว

สถานดูแลผู้สูงวัยหลายแห่งหันมาเลือกใช้หุ่นยนต์ให้เป็นเพื่อนช่วยคลายเหงาผู้สูงอายุ

โดยหุ่นยนต์จะเป็นตัวเชื่อมต่อระหว่างพวกเขาเหล่านั้นกับลูกหลานญาติพี่น้องที่ไม่สามารถเดินทางมาเยี่ยมด้วยตัวเองได้ ทำให้ได้เห็นหน้าและพูดคุยกันอยู่บ่อยๆ รวมไปถึงช่วยหากิจกรรมออนไลน์ให้ผู้สูงวัยทำ ตั้งแต่โยคะไปจนถึงไทเก๊ก

ถึงแม้ว่าเราจะรู้กันอยู่แล้วตั้งแต่ก่อนหน้านี้ว่าสักวันหุ่นยนต์ก็จะเข้ามาแทรกซึมอยู่ในทุกอณูของการใช้ชีวิตเราแน่ๆ แต่เราก็ยังไม่รู้สึกถึงความจำเป็นที่จะต้องรีบเปิดรับขนาดนั้น ทำให้การใช้งานหุ่นยนต์ค่อยๆ เพิ่มขึ้นอย่างช้าๆ และเข้าไปอยู่ในภาคอุตสาหกรรมมากกว่า แต่การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 นี่แหละที่ทำให้หุ่นยนต์กลายเป็นตัวเอกที่เข้ามากอบกู้เราไปโดยปริยาย

อย่างไรก็ตาม ความไว้ใจในหุ่นยนต์ไม่ใช่ว่าเพิ่งจะเกิดขึ้นในปีนี้หรือปีที่แล้ว แต่เป็นเทรนด์ที่เริ่มเด่นชัดขึ้นมาในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมานี้

ในปี 2019 เคยมีอีกผลการศึกษาหนึ่งจากบริษัทเดียวกันที่เคยสรุปเอาไว้ด้วยซ้ำว่ามากกว่าครึ่งของคนที่ร่วมตอบแบบสอบถามบอกว่าจะไว้ใจเพื่อนร่วมงานที่เป็นหุ่นยนต์มากกว่าเพื่อนร่วมงานที่เป็นมนุษย์

 

ฉันว่าความไว้วางใจที่เรามอบให้กับหุ่นยนต์หรือเอไอให้มาช่วยจัดการการเงินให้เราไม่ใช่เรื่องที่เข้าใจไม่ได้ เราอาจจะเชื่อว่าการคิดประมวลผลของหุ่นยนต์เป็นไปแบบมีระบบระเบียบมากกว่าเมื่อเทียบกับระบบคิดอันสลับซับซ้อนของมนุษย์ที่อาจจะมีปัจจัยอะไรก็ไม่รู้เข้ามามีอิทธิพลได้ตลอดเวลา แต่หุ่นยนต์ไม่น่าจะมีเจตนาซ่อนเร้นแอบแฝงเหมือนมนุษย์ และน่าจะตรงไปตรงมามากกว่า

เช่นเดียวกับความอยากมีเพื่อนร่วมงานเป็นหุ่นยนต์มากกว่ามนุษย์ อาจจะเกิดมาจากความบอบช้ำของการต้องรับมือกับการเมืองในที่ทำงานจนอยากจะปรับให้บรรยากาศในการทำงานมีแต่เรื่องงานล้วนๆ แบบไม่มีอารมณ์มาข้องเกี่ยวก็เป็นได้ ขอแต่ดาต้าเพียวๆ ก็เพียงพอ

เรื่องขำที่ฉันแอบนึกอยู่ในใจเล่นๆ ก็คือ ความไว้วางใจเป็นสิ่งที่ต้องเกิดขึ้นจากทั้งสองทาง ตอนนี้เรายังถามคำถามกันว่าเราจะไว้ใจหุ่นยนต์แค่ไหน แล้วถ้าวันหนึ่งหุ่นยนต์เกิดต้องมาตั้งคำถามแบบเดียวกันนี้บ้าง “ว่าหุ่นยนต์จะไว้ใจมนุษย์ได้ไหม” ล่ะ

ฉันค่อนข้างมั่นใจว่าคำตอบที่หุ่นยนต์จะได้ ก็คือ “ไม่”