เทศมองไทย : “มิสชั่น อิมพอสซิเบิล” ของ “เจมส์ แมตทิส”

ผมเพิ่งรู้ว่าเวลาที่รัฐมนตรีกลาโหมของสหรัฐอเมริกาเดินทางไปไหนมาไหนนั้น เขาไม่ใช้เครื่องบินปกติธรรมดากัน

มองจากภายนอกเครื่องบินพิเศษลำที่ว่า รูปร่างหน้าตาก็เหมือนกับ “โบอิ้ง 747” ทั่วๆ ไป เพียงแต่เป็นเวอร์ชั่นของทหารที่ “ไม่มีหน้าต่าง” แถมยังป้องกันกัมมันตภาพรังสีตลอดทั่วทั้งลำอีกต่างหาก

ภายในเครื่องยังมีอุปกรณ์สื่อสารอิเล็กทรอนิกส์ครบครัน ชนิดที่สามารถ “ทำสงครามนิวเคลียร์” จากกลางเวหาได้ หากมีไฟเขียวจาก “ผู้บัญชาการทหารสูงสุด” อันหมายถึงประธานาธิบดีอเมริกัน

เพิ่งรู้ด้วยว่า “เจมส์ แมตทิส” อดีตนายพลนาวิกโยธิน 4 ดาว เกษียณอายุ ที่ถูกเลือกมาให้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีกลาโหมคนใหม่ นอกจากจะ “รบเก่ง” แล้ว

ยัง “พูดเก่ง” แบบ “มีกึ๋น” อีกด้วย

 

เจมส์ แมตทิส ใช้เครื่องบินพิเศษลำนั้นเดินทางจากวอชิงตันมายังสิงคโปร์ เพื่อเข้าร่วมการประชุมด้านความมั่นคงในภูมิภาคเอเชียที่เรียกว่า “แชงกรีลา ซีเคียวริตี้ ฟอรัม” หรือ “แชงกรีลา ซีเคียวริตี้ ไดอะล็อก” อันเป็นเวทีหารือของบรรดารัฐมนตรีและเจ้าหน้าที่ด้านความมั่นคงระดับสูงของทุกประเทศทั่วทั้งภูมิภาค

การเดินทางมาของรัฐมนตรีกลาโหมสหรัฐ ถือเป็นไฮไลต์ของงาน เพราะในนาทีนี้ไม่มีใครเป็นดาวเด่นถูกจับตา อยากพูดจาหารือด้วย มากเท่ากับแมตทิสอีกแล้ว

ว่ากันว่า เครื่องบินลงแตะพื้น แมตทิสยังไม่ทันถึงที่พัก ก็ต้องดิ่งไปพบหารือทวิภาคีกับบรรดานายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีกลาโหมของหลายๆ ประเทศทันทีกันเลยทีเดียว

 

“ดิอีโคโนมิสต์” บอกว่า โดยรวมๆ แล้ว ใครๆ ก็อยากถามคำถามคล้ายๆ กัน 2 คำถาม

หนึ่งนั้นคือ จริงๆ แล้ว “อเมริกาของทรัมป์” มองผลประโยชน์ชาติของตนในแง่ความมั่นคงในเอเชียอย่างไรกันแน่?

คำถามนี้เกี่ยวพันไปถึง 2 ประเด็นหลักที่ไม่พูดถึงไม่ได้ในยามนี้ คือ ภัยคุกคาม “เร่งด่วน” ที่เกิดขึ้นจากทิศทางการพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์และขีปนาวุธพิสัยไกลของเกาหลีเหนือ

กับอีกเรื่องที่คาราคาซังและ “คาใจ” กันมานาน นั่นคือเรื่องความพยายามที่จะเป็น “ผู้ยิ่งใหญ่แห่งเอเชีย” ของจีน

โดยเฉพาะอย่างยิ่งด้วยการระดมถมทะเลก่อสร้างสิ่งปลูกสร้างทางทหารตามเกาะแก่งต่างๆ ในทะเลจีนใต้ ชนิดคนอื่นห้ามยุ่ง ห้ามเถียง

คำถามที่สองก็คือ เมื่อชั่งน้ำหนักระหว่าง “ผลประโยชน์” ที่ว่า กับ “คุณค่า” เชิงนโยบายต่างประเทศแล้ว “อเมริกาของทรัมป์” ให้น้ำหนักอย่างไหนมากกว่ากัน?

ทั้งหลายทั้งปวงนั้นเป็นเพราะแมตทิสมีเจ้านายที่ชื่อ “โดนัลด์ ทรัมป์” ครับ

 

เจมส์ แมตทิส พยายามอย่างดีที่สุดทั้งในการขยายความท่าทีของทรัมป์ให้ชัดเจน ในเวลาเดียวกันก็ป้องกันไม่ให้เกิดความรู้สึก “ถูกละทิ้ง” หรือ “เมินเฉย” ขึ้นในหมู่มิตรประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลายๆ ชาติในอาเซียน

เขาใช้สุนทรพจน์ค่อนข้างยาว ตอบคำถามแรกอย่างชาญฉลาด มีเหตุมีผล ไม่เพียงย้ำว่า อเมริกาจริงจังกับปัญหาเกาหลีเหนืออย่างยิ่งเท่านั้น ยังไม่ได้ผ่อนปรนท่าทีหรือตีกรรเชียงหนีปมประเด็นที่เกี่ยวเนื่องกับจีนในทะเลจีนใต้อีกต่างหาก

แมตทิสยืนยันให้ทุกคนหายใจคล่องขึ้นมาได้บ้างด้วยการบอกว่า อเมริกาต้องการให้จีนจัดการกำราบเกาหลีเหนือมากอย่างยิ่งก็จริง

แต่ไม่มีวันใช้เรื่องนั้นมาแลกกับการปล่อยให้จีนแสดงพฤติกรรม “เยาะเย้ย” กฎหมายระหว่างประเทศ และไม่แยแสต่อหลักการแห่งความเสมอภาคไม่ว่าจะเป็นชาติเล็กหรือชาติใหญ่ในทะเลจีนใต้เด็ดขาด

ด้วยความพยายามดังกล่าว เจมส์ แมตทิส ดูเหมือนตอบคำถามแรกว่าด้วย “ผลประโยชน์” ได้ดี แต่แทบจะอยู่ในสภาพ “ทำอะไรไม่ได้” เมื่อถึงคำถามที่ 2 ในเรื่อง “คุณค่า” หรือ “ค่านิยมร่วม” ที่มิตรประเทศพึงยึดถือ

แมตทิสสร้างความเชื่อถือ มั่นอกมั่นใจให้เกิดขึ้นไม่ได้ด้วยเหตุปัจจัยที่ชื่อ “ทรัมป์”

 

รายงานของบลูมเบิร์กระบุว่า ทันทีที่พูดจบ ไมเคิล ฟุลลิเลิฟ ผู้อำนวยการสถาบันเพื่อการศึกษานโยบายระหว่างประเทศ โลว์วี ที่ซิดนีย์ ลุกขึ้นถามว่า พิเคราะห์จากท่าทีของทรัมป์ต่อนาโต, การถอนตัวออกจากความตกลงทีพีพีและความตกลงปารีสแล้ว ถามหน่อยว่าทำไมเราถึงไม่ควรกังวลใจกับการ “ทุบทำลาย” ระเบียบโลกที่เคยยึดถือกันมา?

ตัวแทนในที่ประชุมจากรัฐสภาญี่ปุ่นอีกราย ลุกขึ้นแสดงความกังขาออกมาดังๆ ว่า ไม่รู้ว่าอเมริกายังคงมี “ค่านิยม” ในหลายๆ เรื่องร่วมกับญี่ปุ่นหรือเปล่า?

แมตทิสทำดีที่สุดได้เพียงแค่ หยิบยกวาทะที่ เซอร์วินสตัน เชอร์ชิล อดีตนายกรัฐมนตรีอังกฤษเคยประเมินอเมริกาเอาไว้ออกมาอ้าง “ขอเวลา” ให้กับสหรัฐอเมริกาอีกหน่อย

“อดทนกับอเมริกันหน่อย เมื่อลองทางเลือกทั้งหลายหมดแล้ว พวกอเมริกันมักทำสิ่งที่ถูกเสมอ” อดีตผู้นำอังกฤษยุคสงครามว่าไว้อย่างนั้น

แต่ภารกิจสร้างความเชื่อมั่นในหมู่พันธมิตรในอาเซียนของแมตทิส ก็ยัง “เป็นไปไม่ได้” อยู่ดี

ฮิชัมมุดดิน ฮุสเซน รัฐมนตรีกลาโหมมาเลเซีย บอกหลังจากทุกอย่างจบสิ้นลงแล้วว่า มาเลเซียก็ยังคง “พยายามเข้าใจ” อยู่ดีว่า นโยบายต่อภูมิภาคอาเซียนของทรัมป์คืออะไรกันแน่

“อยากรู้ให้ชัดเจนจะตายไปว่า จุดมุ่งหมายจริงๆ ของรัฐบาลใหม่อเมริกาคืออะไรกัน”

จบข่าวครับ!