หนุ่มเมืองจันท์ : “อูบุนตู” กับความสำเร็จของสุดยอดโค้ช ‘ด็อก ริเวอร์ส’

หนุ่มเมืองจันท์facebook.com/boycitychanFC

ฟาสต์ฟู้ดธุรกิจ

หนุ่มเมืองจันท์

www.facebook.com/boycitychanFC

 

อูบุนตุ

 

ผมดูสารคดีเรื่อง The play book ตั้งแต่เริ่มฉายในเน็ตฟลิกซ์

เป็นเรื่องเกี่ยวกับชีวิตและวิธีคิดของสุดยอดโค้ช 5 คน

คนหนึ่ง คือ “ด็อก ริเวอร์ส” ยอดโค้ชที่เคยพาทีม “บอสตัน เซลติกส์” เป็นแชมป์บาสเกตบอล NBA

“ด็อก” เป็นอดีตนักบาสเกตบอลมาก่อน

ตอน ป.1. ครูให้เด็กทุกคนออกมาเขียนว่าโตขึ้นอยากเป็นอะไร

ให้เขียนบนกระดานดำ

“ด็อก” ออกไปอย่างมั่นใจ

“นักบาสอาชีพ”

ครูลบทิ้ง บอกให้เขียนใหม่

ให้เป็นจริงมากกว่านี้

เขาเดินออกไปอีกครั้งแล้วเขียนคำว่า “นักบาสอาชีพ” เหมือนเดิม

ครูลบข้อความทิ้ง แล้วส่งเขากลับบ้านด้วยความโมโห

พักหนึ่ง พ่อพา “ด็อก” กลับมาส่งที่ห้องเรียน

เขาก็เดินไปหน้าห้อง แล้วเขียนใหม่

แต่เป็นคำเดิม

“นักบาสอาชีพ”

เขารักกีฬาบาสเกตบอลมาก ทุกครั้งที่ไปซ้อมบาส เขาไม่เคยบอกใครว่า “ไปซ้อม”

แต่บอกว่า “ไปเล่นบาส”

เพราะเขารู้สึกจริงๆ ว่าตอนที่อยู่ในสนามบาส

เขากำลังเล่นอยู่

และเมื่อเขาพลิกผันชีวิตสู่การเป็นโค้ชทีม “บอสตัน เซลติกส์”

วิธีคิดของ “ด็อก ริเวอร์ส” ก็น่าสนใจ

มีกฎสู่ความสำเร็จของเขาข้อหนึ่ง

ชื่อว่า “อูบุนตุ” หรือ UBUNTU

เป็นปรัชญาของชาวแอฟริกา

ผมสะดุดคำนี้ตั้งแต่วันที่ดูสารคดีเรื่องนี้

แต่ยังไม่ค่อยเข้าใจนัก

 

“ด็อก” เล่าว่า “บอสตัน เซลติกส์” เซ็นสัญญานักบาสดัง 3 คนในเวลาพร้อมๆ กัน

พอล เพียร์ซ-เควิน การ์ดเนอร์-เรย์ อัลเลน

มุมหนึ่งเป็นเรื่องที่ดีที่ได้นักบาสเก่งๆ 3 คนมาอยู่ในทีม

แต่อีกมุมหนึ่งก็น่ากลุ้มใจ เพราะเหมือนกับนำเสือ 3 ตัวมาอยู่ถ้ำเดียวกัน

“มันเป็นงานที่ยากมาก”

“ด็อก” ตัดสินใจเรียกทั้ง 3 คนมาคุยพร้อมกัน

คุยกันเรื่องความเป็น “ทีม”

“ถ้าเราจะชนะ เราต้องเสียสละ

พวกนายต้องเปลี่ยน

ถ้านายอยากชู้ตทุกลูก นายมาผิดทีมแล้ว

และถ้าอยากทำทุกอย่างตามใจ….ผิดทีมแล้ว”

นี่คือความท้าทายที่จะทำให้เป็นทีม

แม้ว่าเขาจะเชื่อมั่นเรื่องความเป็น “ทีม” แต่เขายังนึกหนทางที่ดีที่สุดของการสร้างทีมไม่ได้

จนวันหนึ่ง “ด็อก” ไปประชุมคณะกรรมการบริหารทรัสต์แห่งหนึ่งที่เขาเป็นกรรมการมานาน 17 ปี

มีผู้บริหารผู้หญิงคนหนึ่งเดินมาหาแล้วบอกว่าทีมบอสตัน เซลติกส์ต้องยอดเยี่ยมขึ้นแน่ๆ

“คุณเคยได้ยินคำว่า ‘อูบุนตุ’ ไหม”

“คืออะไร”

“ฉันไม่บอกหรอก อยากให้คุณไปศึกษาดู เพราะมันไม่ใช่แค่ ‘คำ’ แต่มันเป็นหนทางแห่งชีวิต เป็นทางของการใช้ชีวิต”

ฟังดูลึกลับไหมครับ

 

คืนนั้น “ด็อก” ลองเข้าไปค้นหาเรื่องราวของคำว่า “อูบุนตุ”

ตื่นเช้ามาพร้อมกระดาษที่จดบันทึกเต็มไปหมด

“ว้าว มันสมบูรณ์แบบจริงๆ”

“อูบูนตุ” เป็นปรัชญาของชาวแอฟริกา

มาจากภาษิตของชาวซูลูว่า “Umuntu ngumuntu ngabantu”

…คนเราเป็นคนขึ้นมาได้โดยผ่านคนอื่น

เป็นหลักคิดที่ “เนลสัน แมนเดลา” อดีตประธานาธิบดีแอฟริกาใต้ และสาธุคุณ “เดสมอนด์ ตูตู” ผู้นำทางจิตวิญญาณของชาวแอฟริกาใต้ นำมาใช้ในการกอบกู้ประเทศ

“ด็อก” เริ่มนำวิธีคิดนี้ไปใช้กับนักบาสรุ่นใหม่ก่อน เพราะเขารู้ว่าถ้าเริ่มจากนักบาสเก๋าๆ จะถูกต่อต้าน

เขาพยายามทำให้ทุกคนเล่นกันเป็น “ทีม”

เป็นส่วนหนึ่งของกันและกัน

“ผมเป็นทุกอย่างไม่ได้ ผมไม่กลัวคุณเก่งกว่า เพราะคุณยิ่งเก่ง ผมก็ยิ่งเก่งขึ้นเท่านั้น”

จากนั้นจึงค่อยนำแนวคิดนี้มาใช้กับทีมชุดใหญ่

และกลายเป็นปรัชญาของทีมบอสตัน เซลติกส์ ในที่สุด

ทุกครั้งก่อนลงสนาม

ทุกคนชูมือประสานกันแล้วตะโกน

“1-2-3…อูบุนตุ”

 

ผมดูแล้วยังไม่เข้าใจ

แต่ในสารคดีบอกว่า “แมนเดลา” นำมาใช้ในการทำให้ “แอฟริกาใต้” ที่แตกแยกอย่างหนักกลายมาเป็นหนึ่งเดียว

ผมเลยค้นหาหนังสือ “วิถีแมนเดลา” มาพลิกดู

เจอจริงๆ ด้วยครับ

“ริชาร์ด สเตงเกิล” ผู้เขียนหนังสือเล่มนี้บอกว่า หลักคิดหนึ่งเรื่องการเป็น “ผู้นำ” ของ “แมนเดลา” มาจากคำว่า “อูบุนตุ” จริงๆ

เป็นแนวคิดที่ตรงข้ามกับตะวันตกเรื่อง “ปัจเจกนิยม”

ชาวแอฟริกาเชื่อว่าเราไม่อาจทำสิ่งใดได้ตามลำพัง

ผู้คนที่อยู่ลำพังมีคุณค่าด้อยกว่าตอนที่เขาอยู่ร่วมกันเป็นส่วนหนึ่งของเครือข่ายมนุษยชาติที่ซับซ้อนและไม่สิ้นสุด

เราทุกคนล้วนผูกพันกับบุคคลอื่น

“ฉัน” อยู่ภายใต้ “เรา”

และไม่มีมนุษย์คนใดอยู่อย่างโดดเดี่ยว

ครั้งหนึ่ง “แมนเดลา” พูดถึงหลานๆ

“สเตงเกิล” สงสัยว่าหลานที่พูดถึงไม่ได้เป็นลูกของลูกคนไหนของเขาเลย

“แมนเดลา” ยิ้มพลางส่ายหน้า

“ในวัฒนธรรมของเรา ลูกหลานของญาติเราก็เป็นลูกหลานของเรา”

เขาไม่เห็นด้วยกับวิธีการลำดับญาติในผังตระกูลของตะวันตก

“แมนเดลา” บอกว่า พวกเราทุกคนล้วนเป็นกิ่งก้านสาขาของต้นไม้ตระกูลอันใหญ่ยิ่งต้นเดียวกัน

“นั่นคือ อูบุนตุ”

“อูบุนตุ” คือแนวคิดที่เชื่อว่าคนเราได้รับอำนาจจากคนอื่นๆ

เราจะสามารถทำส่วนของตัวเองได้ดีที่สุดด้วยการปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่นโดยปราศจาก “ความเห็นแก่ตัว”

ครับ ด้วยวิธีคิดเช่นนี้เอง ทำให้ “แมนเดลา” ให้ความสำคัญกับการรับฟังผู้อื่น ไม่ยึดเอาความคิดของตนเองเป็นใหญ่

เขาให้ความสำคัญกับ “กระบวนการ” มากกว่า “เป้าหมาย”

กระบวนการให้ทุกคนมีส่วนร่วมมากที่สุด

“แมนเดลา” บอกว่าการเป็น “ผู้นำ” แบบ “รวมหมู่” เป็นเรื่องของ 2 สิ่ง

1. “ปัญญา” ที่เกิดจากการรวมหมู่จะยิ่งใหญ่กว่าปัจเจกบุคคล

และ 2. การลงแรงของกลุ่มในเรื่องใดๆ จะประสบความสำเร็จผลยิ่งใหญ่กว่าถ้าเป็นมติเอกฉันท์

“มันจึงเป็นชัยชนะ 2 เท่า”

“แมนเดลา” จึงยอมเสียเวลาในการรับฟังความเห็นแย้ง ให้ทุกคนได้พูด ได้ระบาย

หลังจากการรับฟังทุกคนแล้ว

เขาจึงค่อยพูดเป็นคนสุดท้าย

 

วันหนึ่ง ทีมบอสตัน เซลติกส์ ชนะ

นักข่าวสัมภาษณ์ผู้เล่นคนหนึ่งที่เล่นได้เด่นมากในนัดนี้

“คุณเล่นเกมรับได้ไม่มีที่ติ คุณชอบอะไรที่สุดในสนาม…”

ยังถามไม่จบคำ นักบาสคนนั้นสวนขึ้นทันที

“ไม่ใช่ผม เรา…ครับ”

แล้วอธิบายต่อแบบไร้ความเป็น “ปัจเจก”

“ผมอยู่ในจุดที่ควรอยู่ เพราะคนอื่นยืนอยู่ในจุดที่เขาควรอยู่ เราชนะเพราะแบบนั้น”

ฟังแล้วอยากตะโกนขึ้นมาเลย

1-2-3…อูบุนตุ