คดี กปปส. เปิด…ความยุติธรรม และแผนล้มประชาธิปไตย (จบ) / หลักศิลากลางน้ำเชี่ยว มุกดา สุวรรณชาติ

มุกดา สุวรรณชาติ

หลักศิลากลางน้ำเชี่ยว

มุกดา สุวรรณชาติ

 

คดี กปปส. เปิด…ความยุติธรรม

และแผนล้มประชาธิปไตย (จบ)

 

การเคลื่อนไหวของ กปปส. 2556

จนถึงการที่ ส.ว.ขัดขวางการแก้ไข รธน.วันนี้

เป็นเรื่องเดียวกัน

ฉบับที่แล้วทีมวิเคราะห์ได้พูดถึงความยุติธรรมในคดี กปปส. ไม่ว่าจะเป็นการยึดกระทรวง ปิดกรุงเทพฯ ขัดขวางการเลือกตั้ง ทุกเรื่องล้วนขัดรัฐธรรมนูญทั้งสิ้น

หลังการเคลื่อนไหวของ กปปส.ที่ได้ก่อความวุ่นวายปั่นป่วนยาวนานถึง 6 เดือน ความหวังที่จะเป็นรัฏฐาธิปัตย์ก็ทำไม่ได้แม้จะใช้ตุลาการภิวัฒน์มาช่วย ก็เปลี่ยนรัฐบาลเป็นพวกตัวเองไม่ได้

สุดท้ายสภาพของ กปปส.จึงเป็นม็อบกลุ่มเล็กๆ ที่อยู่ในสวนลุมพินี ที่ถูกคนด่าทั้งเมืองเหมือนกับพันธมิตรเสื้อเหลืองที่เข้าไปปิดสนามบิน กลายเป็นเครื่องมือเก่าที่หมดคุณค่าในการใช้งานแล้ว

แต่ความวุ่นวายตลอด 6 เดือนสามารถทำให้วันที่ 20 พฤษภาคม 2557 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผบ.ทบ.ขณะนั้น ประกาศกฎอัยการศึก และวันที่ 22 พฤษภาคม ก็ประกาศการรัฐประหาร และตั้งรัฐบาล คสช.

ผลจากการที่ กปปส.เริ่มเคลื่อนไหวจนถึงวันนี้ พวกเขาคือบันไดขั้นแรกที่นำไปสู่การล้มระบอบประชาธิปไตย สามารถตั้งรัฐบาลเผด็จการอยู่ต่อมาอีกเกือบ 5 ปี

และตามด้วยการสืบทอดอำนาจซึ่งมีวิธีการทำลายรากฐานประชาธิปไตยอย่างต่อเนื่องจนถึงทุกวันนี้

ความขัดแย้งใหญ่ที่กำลังเกิดขึ้นคือ การที่ ส.ว.ขัดขวางการแก้รัฐธรรมนูญฉบับเผด็จการ การปกครองที่ผ่านมา 7 ปีสร้างปัญหาให้กับประเทศอย่างหนักหนาสาหัส แต่อาจต้องทนยาวกว่านั้น

การรื้ออนุสาวรีย์ต่างๆ เป็นการต่อสู้เชิงสัญลักษณ์ ของจริงคือระบอบประชาธิปไตยถูกทำลายไปเกือบทุกด้าน

 

วิเคราะห์การทำลายโครงสร้าง

อำนาจประชาธิปไตย

1.ฉีกรัฐธรรมนูญเดิมและสร้างรัฐธรรมนูญใหม่ที่เป็นเผด็จการมากที่สุด ในระยะ 20 ปีหลังนี้

นั่นคือรัฐธรรมนูญฉบับ 2560 ที่ให้มี ส.ว.แต่งตั้งทั้งหมด 250 คน เป็นจำนวนครึ่งหนึ่งของ ส.ส.ทั้งสภา มีสิทธิ์เลือกนายกฯ เท่ากับ ส.ส.ใช้ระบบเลือกตั้งแบบบัตรใบเดียวทั้ง ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์และ ส.ส.เขต ทำให้สภามี ส.ส.จากพรรคเล็กพรรคน้อยเป็นจำนวนมาก การตั้งรัฐบาลก็จะขึ้นอยู่กับผลประโยชน์ที่ต่อรองกัน สามารถย้ายพรรคและซื้อ ส.ส.ได้ง่าย

สภาพของรัฐสภาจะย้อนกลับไปสู่ยุค 40 ปีที่แล้ว ทำให้เกิดการคอร์รัปชั่นโกงกินในระบบบริหารและย้อนกลับนำเงินไปซื้อ ส.ส. และซื้อเสียงผ่านหัวคะแนน

ความแสบของการร่างรัฐธรรมนูญชุดนี้มี 2 จุดคือ การยอมให้ ส.ว.แต่งตั้งโหวตเลือกนายกฯ

และวางกลไกไม่ยอมให้มีการแก้รัฐธรรมนูญโดยเฉพาะข้อที่บอกว่าต้องมี ส.ว.อย่างน้อย 1 ใน 3 เห็นด้วยกับการแก้ไข แต่ ส.ว.ที่ได้รับการแต่งตั้งมาจากคณะรัฐประหารแล้วมามีอำนาจ มีเงินเดือนสูง ไหนเลยจะยอมตัดอำนาจของตนเองมอบอำนาจให้ฝ่ายประชาชน

สถานการณ์ล่าสุดได้มี ส.ว.จำนวนหนึ่งได้ประกาศตัวว่าจะไม่ยอมให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยอ้างว่าจะมีการแก้ไขหมวดที่เกี่ยวกับพระมหากษัตริย์ ที่จริงเหตุผลที่อยู่เบื้องหลังคือกลัวรัฐธรรมนูญฉบับใหม่จะตัดอำนาจ ส.ว. หรือกำหนดให้ ส.ว.ต้องมาจากการเลือกตั้งเช่นเดียวกับรัฐธรรมนูญฉบับ 2540

รัฐธรรมนูญของเผด็จการทหารพม่า ซึ่งเมื่อถึงจุดที่เสียง ส.ส.ในสภาพอที่จะแก้ไขรัฐธรรมนูญได้ ทหารพม่าก็รีบทำการรัฐประหาร

ของไทยใช้ทุกองค์กรปกป้องเพราะกว่าจะได้ฉบับเผด็จการต้องรัฐประหารสองครั้ง

 

2.การทำลายฝ่ายนิติบัญญัติ

การใช้กฎหมายเลือกตั้งแบบบัตรใบเดียว การตั้ง ส.ว. 250 คน การปัดเศษในการคิดคะแนน ส.ส.บัญชีรายชื่อ ทำให้การได้เป็นเสียงข้างมากในสภาไม่ได้มาจากคนส่วนใหญ่เป็นผู้เลือก

ยิ่งมีการซื้อเสียง ส.ส. ดึงให้ย้ายพรรคมาได้ง่ายๆ ทำให้ระบอบประชาธิปไตยที่ ส.ส.เป็นตัวแทน ถูกบิดเบือน

เช่น ส.ส.ที่เกิดจากคะแนนเสียงของประชาชนที่เลือกฝ่ายค้านย้ายไปอยู่กับฝ่ายรัฐบาลได้ เพราะร่างรัฐธรรมนูญตั้งใจเปิดช่องโหว่นี้เพื่อเป็นไปตามแผนที่วางเอาไว้

มีการยุบพรรคการเมืองและตัดสิทธิทางการเมืองฝ่ายค้าน

ปัญหาที่น่าคิดก็คือ เวลาที่เกิดการล้มรัฐธรรมนูญ ฝ่ายเผด็จการใช้กำลังฉีกง่ายๆ และก็ร่างรัฐธรรมนูญใหม่ตามที่ตัวเองต้องการ

จากนั้นก็ประกาศให้ประชาชนต้องยอมรับ อ้างว่านี่คือกฎหมายสูงสุด แม้ประชาชนจะบอกว่ามันเป็นกฎหมายที่ไม่ยุติธรรม จะขอแก้ไข ก็ไม่ยอม

ไม่ควรให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณา ว่าสภาจะมีอำนาจแก้ไขรัฐธรรมนูญได้หรือไม่ อย่างไร

เพราะ ส.ส.เป็นตัวแทนประชาชนทั้งประเทศ มีหน้าที่นิติบัญญัติ ไม่ใช่ศาลรัฐธรรมนูญ

 

3.สร้างฝ่ายบริหารที่ไม่เป็นงานและไม่ต้องทำอะไรตามนโยบายที่หาเสียงไว้

สถานการณ์ปัจจุบัน เรามีรัฐบาลที่ทำได้ก็เพียงนำเงินภาษีและเงินกู้ออกมาแจกประชาชนที่ยากจน คนจนที่เคยมีอาชีพทำมาหากินได้บ้างกำลังจะเปลี่ยนเป็นขอทานจำนวนหลายล้านคน แม้การจ่ายเงินผ่านบัตรอิเล็กทรอนิกส์มีรูปแบบที่แตกต่างกับขอทานตามข้างถนน แต่ก็จะเห็นคนจำนวนมากยืนต่อแถวเข้าคิวตามธนาคาร เพื่อให้ได้รับส่วนแบ่ง เรื่องนี้แม้ไม่เรียกประชานิยมแต่ก็เรียกประชารัฐนิยม

รัฐราชการที่ไม่มีนโยบายอะไร กำลังขยายตัวอย่างเต็มที่และสร้างหนี้จำนวนมหาศาลที่คนไทยจะต้องร่วมกันชดใช้ไปอีกหลายสิบปี

แต่งานหลักคือใช้ทุกองค์กร ทุกหน่วยงานเพื่อสืบทอดอำนาจ ทำให้ความขัดแย้งจนขยายตัวไม่สามารถปรองดองได้ การต่อสู้ทางการเมือง ขยายจากในระบอบประชาธิปไตย ไปนอกระบอบประชาธิปไตยและเหนือระบอบประชาธิปไตย

มวลชนฝ่ายก้าวหน้าอ่านเกมได้นานแล้วว่ากลุ่มอำนาจเก่าไม่ยอมรับการปฏิรูป และการแก้รัฐธรรมนูญที่สภา เสนอให้ประชาชนเลือก ส.ส.ร.มาร่างรัฐธรรมนูญใหม่ จะเป็นการชี้วัด

ถ้าเกมนี้ล้ม ประเทศนี้ก็ไม่ต้องการปฏิรูป ความขัดแย้งจะขยายตัวและเล่นเกมแรงเข้าใส่กัน

 

4.ทำลายความน่าเชื่อถือ ฝ่ายตุลาการและองค์กรอิสระ

จริงๆ เรื่องนี้เป็นมาตั้งแต่รัฐประหาร 2549 และต่อเนื่องมาเรื่อยๆ จนถึงปัจจุบัน จนมีคำพูดว่าสองมาตรฐาน

แต่ถ้าพูดหลักการสำคัญก็คืออำนาจตุลาการได้ยอมต่ออำนาจของคณะรัฐประหาร แม้ว่าจะผิดกฎหมาย แต่เมื่อฝ่ายต่างๆ พากันได้ดีมีตำแหน่ง ทั้งชื่อเสียงเงินทองต่ออายุราชการ ฝ่ายที่ทำรัฐประหารสำเร็จจึงเป็นฝ่ายถูกต้องอยู่เสมอ

ฝ่ายที่ทำการคัดค้านคณะรัฐประหารทำอะไรก็ผิดทุกเรื่อง อยากเลือกตั้งก็ผิด ตั้งศูนย์ปราบโกงก็ผิด เดินทางไปตรวจการทุจริตที่ราชภักดิ์ก็ถูกจับไปติดคุก บอกว่ารัฐธรรมนูญฉบับ 2560 ที่ร่างมาไม่ถูก ต้องดำเนินการคัดค้าน ก็ผิดอีก

คนติดคุกจึงเป็นฝ่ายค้านพวกเสื้อแดง และปัจจุบันก็มาถึงกลุ่มเด็กเยาวชนและประชาชนที่เรียกตัวเองว่าคณะราษฎร

สิ่งที่สืบทอดมาอีกเรื่องคือการจับกุมคุมขัง ฟ้องร้องผู้เห็นต่าง คดี 112 และ 116 ถูกใช้มากที่สุดในช่วงนี้

7 ปีที่ผ่านมาทั้งเศรษฐกิจและการเมืองถูกลากลงหุบเหวแห่งความวิบัติ ถ้าไม่สู้เราจะต้องจมอยู่กับรัฐบาลแบบนี้ การเมืองแบบนี้ไปอีกหลายสิบปี ความวิบัติเป็นอย่างไร ดูได้ที่พม่า ในสมัยเผด็จการทหารที่ยาวนานถึง 50 ปี

จนบัดนี้บางคนยังไม่เข้าใจว่าได้ทำลายประชาธิปไตยไปแล้ว จึงมาบ่นว่า…ทำดีไม่ได้ดี

ทำให้นึกถึงคำว่า…ไม่รู้จักผิด ชอบ ชั่ว ดี