จากหมอบคลานสู่หมอบคลาน | นิธิ เอียวศรีวงศ์

นิธิ เอียวศรีวงศ์

นิธิ เอียวศรีวงศ์

 

จากหมอบคลานสู่หมอบคลาน

 

การดำรงอยู่ของประเพณีหมอบคลานในเมืองไทยจนถึงทุกวันนี้เป็นเรื่องน่าพิศวง เพราะประกาศยกเลิกประเพณีหมอบคลานเมื่อ ร.5 เสด็จขึ้นครองราชสมบัติ เป็นเหตุการณ์หนึ่งที่เล่ากันซ้ำแล้วซ้ำอีกในประวัติศาสตร์ อีกทั้ง ร.5 ก็ทรงเป็นกษัตริย์ที่ได้รับการยกย่องสืบมาอย่างไม่เสื่อมคลายด้วย นอกจากนี้ แม้ว่าประชาธิปไตยไทยอาจลุ่มๆ ดอนๆ แต่ก็ถูกอ้างถึงว่าเป็นระบอบปกครองของประเทศมาจนจะครบศตวรรษอีกไม่นานข้างหน้า

แต่การหมอบคลานก็ยังดำรงอยู่ ซ้ำยังแสดงให้เห็นประจักษ์ชัดด้วยสื่อสมัยใหม่ เจ้าหน้าที่รัฐคอยกำกับควบคุมให้ประชาชนนั่งลงกับพื้นเมื่อเข้าเฝ้าเจ้านายในที่สาธารณะ ในขณะที่พระปฐมบรมราชโองการของ ร.5 สั่งให้ยืนเฝ้า

เราจะอธิบายเรื่องอันชวนพิศวงนี้อย่างไร

 

แม้ว่าประเพณีหมอบคลานเป็นประเพณีโบราณเก่าแก่ แต่ก็ถือปฏิบัติกันในหมู่คนจำนวนน้อยที่สัมพันธ์เชื่อมโยงกับอำนาจปกครองเท่านั้น คนไทยส่วนใหญ่ไม่รู้จักและไม่เคยปฏิบัติ แต่นั่นไม่ได้หมายความว่า คนไทยไม่เคยใช้อากัปกิริยาของร่างกายในการสื่อความเคารพต่อสถานะที่สูงต่ำกันเลย

นักมานุษยวิทยาฝรั่งคนหนึ่งอธิบายว่า คนไทยจัดอวัยวะส่วนต่างๆ ในร่างกายให้มีสถานะสูงต่ำต่างกัน หัวอยู่สูงสุด และเท้าอยู่ต่ำสุด ดังนั้น ในความสัมพันธ์ระหว่างคนซึ่งมีสถานะต่างกัน การจัดวางส่วนต่างๆ ของร่างกายให้อยู่ในตำแหน่งแหล่งที่อันเหมาะสมกับสถานะทางสังคมของกันและกันจึงสำคัญ เพราะเป็นการสื่อให้เห็นว่าฝ่ายใดมีสถานะสูงหรือต่ำกว่ากันอย่างไร

อย่างเช่น ชาวบ้านแต่ก่อนเดินสวนกับพระภิกษุ ก็มักนั่งคู้เข่าลงแล้วพนมมือ ให้ท่านเดินผ่านไปก่อนจึงลุกขึ้นยืน เพื่อไม่ให้หัวของตนเองสูงเท่ากับ (หรือเกิน) หัวของพระภิกษุ ข้าราชการบ้านนอกรู้ว่า เวลาพูดกับผู้ว่าฯ ต้องเอามือกุมไว้ข้างหน้าแล้วค้อมตัวลงมา ถ้าอธิบายด้วยหลักของนักมานุษยวิทยาฝรั่งคนนั้น ก็เพื่อทำตัวเองให้ “ต่ำ” กว่าผู้ว่าฯ

คนไทยสมัยก่อนไม่ว่าจะเป็นไพร่หรือเจ้านาย ล้วนใช้ชีวิตบนพื้นเรือน การจัดวางอวัยวะส่วนต่างๆ ของร่างกายเพื่อแสดงการยอมรับสถานะอันไม่เท่าเทียมกัน จึงทำกันจนเคยชิน แม้ไม่ถึงกับหมอบคลาน

เหตุฉะนั้น แม้ประเพณีหมอบคลานอาจยึดถือปฏิบัติกันในหมู่คนส่วนน้อย แต่ก็วางอยู่บนรากฐานทางวัฒนธรรมที่คนไทยส่วนใหญ่เข้าใจอยู่แล้ว การเผยแพร่หรือบังคับควบคุมให้คนไทยปฏิบัติตามจึงไม่ใช่เรื่องยาก

 

ผมมาพบด้วยความประหลาดใจว่า ในอาณานิคมของฝรั่ง (โดยเฉพาะในอาณานิคมที่ฝรั่งไม่ได้ตั้งถิ่นฐานถาวร) ชาวพื้นเมืองซึ่งถูกจ้างให้มาทำงานในบ้านเรือนก็ถูกปฏิบัติไม่ต่างจากไพร่ไทย ในรูปถ่ายครอบครัวของเจ้าอาณานิคม พ่อครัว คนขับรถม้า คนทำความสะอาด คนสวน หรือพี่เลี้ยงเด็ก ต่างต้องนั่งกับพื้น (นั่งราบหรือนั่งยองก็ตาม) ในขณะที่ “นายฝรั่ง” ต่างนั่งเก้าอี้หรือยืนทั้งสิ้น หากมีภาพถ่ายของแม่ที่เป็นแหม่มกับลูกเล็กซึ่งอยู่ในอ้อมแขนของพี่เลี้ยง ก็จะมีบันทึกล่างหรือหลังภาพบรรยายว่าเป็นภาพของใครบ้าง ถ่ายในโอกาสหรือวันที่อะไร เด็กอายุได้กี่เดือนกี่ปี แต่ไม่เคยมีชื่อของพี่เลี้ยงชาวพื้นเมืองเลยสักครั้ง

พี่เลี้ยงลูกฝรั่งในชวาถูกสอนว่า เวลาอุ้มเด็ก อย่าเอาเด็กแนบไว้กับตัวชิดเกินไป เพราะจะทำให้กลิ่นเหงื่อกลิ่นตัวของพี่เลี้ยงมาติดที่ตัวเด็ก (จนเป็นที่น่ารังเกียจ)

ทั้งหมดที่กล่าวมาข้างต้น คือเรื่องของการกำกับควบคุมร่างกาย

การกำกับควบคุม “ร่างกาย” นี่แหละครับ คือหัวใจสำคัญของการกำกับควบคุมเพื่อรักษาความต่างระหว่างคนมีอำนาจและไร้อำนาจ ระหว่างคนของเจ้าอาณานิคม และของไพร่อาณานิคม (the colonizers & the colonized) ระหว่างผู้ปกครองและผู้ถูกปกครอง

แต่อย่าเข้าใจผิดนะครับว่า ระบอบที่กำกับควบคุม “ร่างกาย” นี้ บังคับใช้เฉพาะกับผู้ไร้อำนาจภายใต้การปกครองเท่านั้น เพราะผลของมันย่อมหมายรวมถึงการบังคับควบคุม “ร่างกาย” ของผู้ปกครองด้วย ในอินเดียของอังกฤษและหมู่เกาะอินดีสตะวันออกของเนเธอร์แลนด์ (อินโดนีเซีย) นายฝรั่งอาจทำงานคลุกฝุ่นมาอย่างใดก็ตาม แต่เมื่อจะกินข้าวเย็น ก็ต้องสวมชุดเต็มเพื่อนั่งโต๊ะตามลำดับอาวุโส แล้วกินอาหารต่อหน้าชาวพื้นเมืองซึ่งทำหน้าที่เป็นผู้รับใช้ประจำโต๊ะต่างๆ

และเคยสังเกตไหมครับว่า ท่ามกลางอากาศร้อนอบอ้าวของไทย ส.ส.ต้องผูกไท้สวมสูทที่เรียกว่า “สากล” รัฐมนตรีก็ต้องสวมเครื่องแบบ เจ้านายก็ทรงเครื่องเต็มยศ

ดังนั้น ระบอบควบคุม “ร่างกาย” จึงมีผลต่อทุกคนในสังคม มันมี “ร่างกาย” ของนาย และ “ร่างกาย” ของไพร่ที่ต้องถูกกำกับ เพื่อรักษาอำนาจ, เกียรติยศ และแน่นอนผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจอันไม่เท่าเทียมกันของแต่ละฝ่ายไว้ให้มั่นคงสถาพร การกำกับควบคุมร่างกายจึงเป็นส่วนหนึ่งที่สำคัญยิ่งของการเมืองเชิงวัฒนธรรม (Cultural Politics)

 

ยิ่งไปกว่านี้ เพราะไปกำกับควบคุม “ร่างกาย” จึงเป็นผลให้เกิดกฎเกณฑ์ทางศีลธรรมที่เกี่ยวกับเพศสัมพันธ์ (sexuality) และเพศสภาพด้วย เช่น นายฝรั่งผู้ชายอาจมีเพศสัมพันธ์กับหญิงพื้นเมืองได้ แต่อย่าได้ยกขึ้นเป็นภรรยาเป็นอันขาด เพราะการสมรสคือการยอมรับสถานะที่เท่าเทียมกันระหว่างฝรั่งและคนพื้นเมือง ดังนั้น สิ่งที่ตามมาก็คือลูกครึ่งจำนวนมาก ซึ่งระบอบอาณานิคมไม่รู้จะจัดการอย่างไรกับความ “ครึ่ง” ของคนเหล่านี้

ผู้หญิงพื้นเมืองนั้น exotic แก่ผู้ชายฝรั่ง ซึ่งผมขอแปลในที่นี้ว่า ชวนพิศวงน่ารัญจวน ดังนั้น เธอจึงตกเป็นเหยื่อของความฝันเชิงกามารมณ์ของนายฝรั่ง ในขณะที่แหม่มผิวขาวถูกยกให้เป็นตัวแทนอันสูงสุดของศีลธรรมทางเพศ (กามารมณ์ตามอุดมคติฝรั่งสมัยนั้นมีหน้าที่อย่างเดียวคือสืบพันธุ์) ดังนั้น จึงไม่เหมาะที่นายฝรั่งจะระบายอารมณ์และความใฝ่ฝันทางเพศแก่แหม่มของตน ผู้หญิงผิวขาวจึงตกเป็นเหยื่อของระบอบควบคุมร่างกายเหมือนกัน คือถูกจองจำไว้บนเตียงด้วยศีลธรรมที่ปฏิเสธความเป็นมนุษย์

ผมคิดว่า หญิง “ผู้ดี” ไทยก็ถูกคาดหวังบทบาททางเพศทำนองเดียวกัน เมื่อระบอบปกครองไทยหันมาสู่การควบคุม “ร่างกาย” ตามอย่างอาณานิคมตะวันตก ในขณะที่หญิง “ไพร่” ก็ถูกมองไปในทาง exotic ทำนองเดียวกันด้วย (ดังเช่นนางร้ายในหนังไทยสมัยหนึ่ง ซึ่งมักเลือก “ดาวโป๊” มาแสดงเสมอ)

 

แต่อย่านึกนะครับว่า ประชาชนจะยอมจำนนต่อกฎเกณฑ์ควบคุม “ร่างกาย” โดยดุษณี มีการต่อสู้ขัดขืนในเชิงวัฒนธรรมหลายอย่างเพื่อปลดปล่อย “ร่างกาย” ให้พ้นจากการควบคุม และน่าประหลาดที่หลายครั้งของการต่อสู้ขัดขืนมักเกี่ยวกับเรื่องเพศรสและเพศสัมพันธ์นี้ (หลายอย่างก็ไม่เกี่ยวนะครับ เช่น การแต่งกายแบบเคร่งศาสนาของมุสลิมในอินโดนีเซีย ซึ่งเป็นการต่อต้าน “ประเภท” หรือ category ทุกอย่างที่ระบอบควบคุม “ร่างกาย” ของดัตช์ได้จัดเอาไว้ หรือ…แหะๆ… อย่างที่คุณสุลักษณ์ ศิวรักษ์ ยืนยันจะนุ่งผ้านุ่งหรือกางเกงขาก๊วยอย่างเด็ดเดี่ยวมาจนถึงทุกวันนี้ จึงไม่รู้จะจัดแกเป็นคน “ประเภท” ไหน นอกจากเป็นปัญญาชนสยามเท่านั้น)

ในอาณานิคมตะวันตก มีความเชื่อเกี่ยวกับลักษณะของอวัยวะเพศระหว่างกันและกันอยู่แยะมาก ทั้งหญิงและชาย และทั้งฝรั่งและชาวพื้นเมือง ในเมืองไทยนั้น น่าสังเกตนะครับว่า มีความเชื่อในหมู่ผู้ชายชาวอีสานว่า “ลูกข้าวเหนียว” มักจะมีเครื่องเพศใหญ่กว่าคนไทยทั่วไป แต่ “ลูกข้าวเหนียว” ในที่นี้ไม่รวมผู้ชายเหนือด้วย เพราะอะไรก็ไม่ทราบ นอกจากว่าคนอีสานคือคนที่ถูกกดขี่เหยียดหยามมามากที่สุด

เรื่องของระบอบควบคุม “ร่างกาย” นี้ ผมคิดเองไม่ออกหรอกครับ แต่ผมได้ความคิดจาก Carnal Knowledge and Imperial Power ของศาสตราจารย์ Ann Laura Stoler มาอีกต่อหนึ่งหรอกครับ

อย่างไรก็ตาม ระบอบควบคุม “ร่างกาย” นี้ จะหาอะไรที่ตายตัวแน่ชัดได้ยาก เพราะเป็นระบอบที่ดำรงอยู่ในสังคมที่เปลี่ยนแปลงในทุกด้านตลอดเวลา (อาณานิคมก็ไม่ได้หยุดนิ่งกับที่เมื่อตกเป็นของฝรั่งแล้ว) เช่น ในกฎหมายของพวกดัตช์ที่ใช้ในหมู่เกาะอินดีสตะวันออก “ชาวยุโรป” และ “ชาวพื้นเมือง” ได้รับสิทธิและภาระต่างกัน แต่ใครคือ “ชาวยุโรป” ไม่ได้ขึ้นอยู่กับสีผิวเพียงอย่างเดียว สถานะความสัมพันธ์ระหว่างประเทศและความจำเป็นภายในบังคับให้ต้องกำหนดว่า คนญี่ปุ่น, ฟิลิปปินส์, อาหรับ และแอฟริกันจากอาณานิคมตะวันตกเป็น “ชาวยุโรป” ด้วย

คนไทยที่อยู่ในอาณานิคมนั้นเป็น “ชาวพื้นเมือง” แต่เมื่อเจ้านายชั้นสูงไทยอพยพหลบภัยการเมืองไปประทับที่ชวา ท่านก็ถูกกำหนดให้เป็น “ชาวยุโรป” ตามกฎหมาย

ปากคลองบางหลวง (คลองบางกอกใหญ่) น้ำแห้งขอดเห็นโคลนตมท้องน้ำในหน้าแล้ง (ภาพถ่ายเก่าโดยชาวยุโรป พิมพ์เป็นโปสการ์ด สมัย ร.6-7?)

ในเมืองไทย เจ้าสัวจีนที่ทำการค้าร่วมทุนกับท้องพระคลังหรือเจ้านายชั้นสูง ถึงไม่ได้กลายเป็น “เจ้า” แต่ก็เปลี่ยนสถานะจาก “เจ๊ก” กลายเป็นส่วนหนึ่งของ “ผู้ดี” ไทย โดยเฉพาะในชั้นลูกหลานซึ่งถูกส่งไปศึกษาในอังกฤษและเข้ารับราชการ เช่นเดียวกับบุตรหลานของตระกูลขุนนางที่อาศัยการศึกษาจากต่างประเทศเพื่อเข้ารับราชการ

การแต่งกายและการใช้ชีวิตของคนเหล่านี้ถูกกำกับควบคุม (โดยไม่รู้สึกตัว) ให้กินอะไร กินที่ไหน กินอย่างไร, แต่งกายอย่างไร, เลือกใครเป็นคู่สมรส, ผู้หญิงควรมีบทบาทอย่างไร, ผู้ชายควรมีบทบาทอย่างไร, เรียนหนังสือที่ไหน ฯลฯ

ในประเทศไทย “เจ้า” ผู้หญิง (ตั้งแต่ขั้นหม่อมเจ้าขึ้นไป) จะสมรสกับสามัญชน (จาก ม.ร.ว.ลงมา) ต้องลาออกจากฐานันดรศักดิ์ ดังนั้น “เจ้า” จึงไม่ได้มาจากกำเนิดอย่างเดียว ดังเช่น “เจ้า” ของราชวงศ์ภาคเหนือ (ซึ่งมีกฎเกณฑ์บังคับทาง “ร่างกาย” น้อยกว่าเป็นอันมาก)

ไม่ว่าจะขีดเส้นอะไรไว้ในระบอบควบคุม “ร่างกาย” ก็ล้วนมีช่องโหว่ทั้งนั้น

ช่องโหว่ที่ใหญ่มากอันหนึ่ง คือกลุ่ม “นาย” ที่ไม่อาจจัด “ร่างกาย” ของตนเองไว้ภายใต้การกำกับควบคุมได้ เพราะไม่มีความสามารถทางเศรษฐกิจหรือคิดกบฏเสียเองก็ตาม

ฝรั่งจำนวนมากในอาณานิคมที่มักไม่มีใครเอ่ยถึงคือฝรั่งจนครับ ปริมาณของฝรั่งประเภทนี้มีมากทีเดียว เช่น ในกลางศตวรรษที่ 19 ของอินเดีย มีฝรั่งประเภทนี้ประมาณครึ่งต่อครึ่ง ในอินโดนีเซียก็มีไม่น้อยเหมือนกัน โดยเฉพาะแถบตะวันออกของเกาะสุมาตราซึ่งเป็นแหล่งทำไร่ขนาดใหญ่ จึงจำเป็นต้องจ้างฝรั่งจนๆ มาคุมคนงานชาวพื้นเมืองในไร่หลายระดับ

คนเหล่านี้ได้ค่าตอบแทนต่ำและมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ “ใกล้” กับวิถีของชาวพื้นเมืองมาก (แม้ยังรักษามาตรฐานฝรั่งอยู่เท่าที่จะทำได้) หนักข้อเข้าก็รวมตัวกันเป็นสหภาพแรงงานเข้าไปต่อรองกับนายจ้าง นัดหยุดงานและอื่นๆ หนักขึ้นไปอีกคือร่วมมือกับคนงานชาวพื้นเมืองเพื่อเพิ่มอำนาจต่อรองของตนเอง จนแรงงานพื้นเมืองก่อกบฏฆ่าหรือทำร้ายฝรั่งในไร่ซึ่งกว้างใหญ่และเปลี่ยวมาก

ฝรั่งจนที่ร่วมก่อกบฏหรือเผยแพร่ความคิดต่อต้านระบอบอาณานิคมจึงต้องถูกขจัดออกไป ซึ่งมีหลายวิธีนับจากส่งกลับยุโรป ไปจนถึงส่งโรงพยาบาลคนบ้า, ขังไว้ในบ้านพักคนแก่หรือคนอนาถา และถึงที่สุดคือคุก (ซึ่งทำมากนักก็ไม่ดี เพราะจะทำให้เป็นเหตุกบฏแรงขึ้น)

 

ในเมืองไทย ไม่มี “ยุโรป” ให้ส่งกลับบ้าน ดังนั้น การขจัด “ร่างกาย” ที่ไม่ฟิตกับกฎเกณฑ์ออกไปจากสังคมจึงกลายเป็นเหตุอิหลักอิเหลื่อ โดยเฉพาะ “ร่างกาย” ของคนที่จัดอยู่ในกลุ่มผู้ปกครอง ดังกรณีของพระองค์เจ้าปฤษฎางค์ (ซึ่งพยายามรักษา “ร่างกายเจ้า” ของตนไว้ด้วยความยากลำบาก เพราะฐานะการเงินย่ำแย่ ถูกโกงมรดกและไม่ได้รับความอนุเคราะห์จาก ร.6) และนายนรินทร์กลึง (ซึ่งจัดการ “ร่างกาย” ของตนเองด้วยการแต่งกายเป็นชาวบ้าน แทนที่จะนุ่งห่มให้สมกับผู้ที่เคยเป็นข้าหลวง)

ส่วนเทียนวรรณนั้นจัดร่างกายของตนไว้อย่างไม่น่าไว้วางใจแก่ระบอบมาแต่ต้นแล้ว เพราะท่านแต่งกายเป็นฝรั่งอย่างเดียวกับนักเรียนนอกที่เป็นลูกท่านหลานเธอ อันไม่เหมาะกับสถานะของตนเองเลย ไม่รู้จะเอา “ร่างกาย” ที่ไม่เข้าล็อกของท่านไปไว้ที่ไหน นอกจากคุก

“ร่างกาย” ที่ไม่เข้าล็อกทั้งหลายนั้น หากเป็น “ร่างกาย” ของคนชั้นสูงหน่อย ก็จัดการยากมากเพราะไม่มีวิธีขจัดให้เลือกมากนัก ชาวนาที่ไปร่วมกับ พคท.นั้นถูกเรียกว่า “ผู้หลงผิด” แต่ลูกหลานคนชั้นกลางที่เป็นนิสิตนักศึกษากลับกลายเป็นคน “หนักแผ่นดิน” ระบอบพร้อมจะรับ “ร่างกาย” ของชาวนากลับเข้ามา แต่ไม่รู้จะจัดการอย่างไรกับนิสิต-นักศึกษาที่เป็นคนชั้นกลาง

 

ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วหลังสงครามโลกครั้งที่สองเป็นต้นมา ทำให้เกิดความสับสนด้านสถานภาพของบุคคล กำเนิดซึ่งเคยเป็นเงื่อนไขสำคัญไร้ความหมายลงไปมาก ใครๆ ก็เป็น “นักเรียนนอก” ได้ ไม่สงวนไว้สำหรับลูกหลานคนชั้นสูงอีกต่อไป พ่อค้าสร้างใหญ่โตโอ่อ่ากว่าตำหนักเจ้านาย คนชั้นกลางซึ่งส่วนใหญ่ไม่มีหัวนอนปลายตีน คือผู้สร้างและกำกับศิลปวัฒนธรรมของทั้งสังคม

จะพูดว่าการหมอบคลานกลับเข้ามาแพร่หลายเมื่อสถาบันกษัตริย์มีบทบาททางการเมืองเพิ่มขึ้น นับตั้งแต่ 2490 เป็นต้นมาก็ได้ แต่จะพูดว่าการหมอบคลานคือการกำกับควบคุมร่างกายท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงด้านสถานภาพอย่างรวดเร็วในสังคมก็น่าจะได้เหมือนกัน

และน่าสนใจที่จะกล่าวไว้ด้วยว่า การหมอบคลานใช้กับกษัตริย์ซึ่งเป็นจุดศูนย์กลางที่ตรึงสถานภาพอันแปรเปลี่ยนอย่างรวดเร็วไว้ในลำดับช่วงชั้นที่คงที่ไม่เปลี่ยนแปลง