หลังเลนส์ในดงลึก : ’80 กิโลเมตร’ / ปริญญากร วรวรรณ

ม.ล.ปริญญากร วรวรรณ
นกกก - นกกก เป็นนกเงือกขนาดใหญ่ หน้าที่สำคัญของพวกมันคือ นำพาเมล็ดพืชไปแพร่กระจาย

 

’80 กิโลเมตร’

 

ในงาน ผมเล่าถึงการเดินทางในป่าทุ่งใหญ่นเรศวรบ่อยๆ สาเหตุหลักคือ เส้นทางในป่านี้ไม่แค่เป็นบทเรียนเรื่องการใช้รถบนทางยากๆ แต่คือเส้นทางที่ทำให้ผมรู้อย่างแจ่มแจ้งว่า ความคิดที่เคยนึกว่าคุ้นเคยกับการเดินทางด้วยรถบนทางป่านั้น ไม่จริงเลย

ในระยะทาง 80 กิโลเมตร ระหว่างสำนักงานเขต จนถึงหน่วยพิทักษ์ป่าจะแก ซึ่งใช้บ่อยนั้น อยู่ในสภาพอันเรียกได้ว่าไม่ใกล้เคียงกับคำว่าถนนสักเท่าใดนัก

ผมเขียนถึงการอยู่บนทาง 80 กิโลเมตรเสมอ มีที่ทำงานอยู่สองข้างทาง มีหน่วยพิทักษ์ป่าซึ่งเป็นที่พักอันอบอุ่น

ข้อสำคัญ มีเพื่อนๆ ที่รับวิทยุ และพร้อมมาช่วยเมื่อขอความช่วยเหลือ

 

นึกถึงเส้นทางที่นี่ โดยเฉพาะในฤดูฝน ภาพจำหนึ่งของผมคือ ปีนออกจากรถทางหน้าต่าง เพราะรถจมในโคลน เปิดประตูไม่ได้

ว่าตามจริง การสัญจรที่สะดวกสุดในช่วงฝนที่นี่ คือการเดินเท้า

ไม่ใช่ด้วยรถขับเคลื่อนสี่ล้อแกร่งๆ หรือปรับปรุงมาให้มีสมรรถนะสูงๆ หรอก

พบเจอคนเดินข้างทาง มีลูกเล็กๆ แบกของหนักอึ้ง มักจะพบว่า พวกเขาแอบหลังพุ่มไม้ ไม่สบตา รอให้รถผ่านไป แม้จะต้องใช้เวลาอีกสองวันจึงจะถึงจุดหมาย

ถ้าหากเราชวนขึ้นรถ จะได้รับคำปฏิเสธ และคำขยายความ ซึ่งคล้ายเป็นประโยคที่ทุกคนบันทึกไว้ นั่นคือ “กำลังรีบ”

ไปกับรถช่วงฤดูนี้ ทั้งช้าและเหนื่อยกับการช่วยนำรถขึ้นจากหล่ม เพราะถ้าขึ้นรถแล้ว จะไม่มีใครทิ้งกัน จะช่วยกันไปจนถึงจุดหมาย

80 กิโลเมตร เดินเท้าใช้เวลาสองวัน ถ้ารถ 10 วันก็ไม่ใช่เรื่องแปลก

 

กระนั้นก็เถอะ แม้รู้ว่าเดินเท้าสะดวกกว่า แต่ภารกิจการส่งเสบียง รับ-ส่งชุดลาดตระเวน รวมทั้งงานของผม ที่มีอุปกรณ์ไม่น้อย เราจึงยังต้องพึ่งพารถ

แต่พร้อมรับสถานการณ์ว่า ถึงจะเป็นรถคันที่แกร่งมาก ก็ไม่มีใครรับประกันได้ว่า การเดินทางเที่ยวนั้นๆ จะสะดวก ใช้เวลาสองวัน หรือรถไม่พัง

“จมโคลนตั้งแต่เมื่อวาน วินช์เสีย ติดเครื่องไม่ได้”

ข้อความถูกส่งถึงสถานีวิทยุแม่ข่าย เป็นข้อความที่ได้ยินเป็นเรื่องปกติ

80 กิโลเมตร มีหลายหล่ม หลายเนิน ยาก

ในช่วงฝน ทางเละเป็นโคลน เราต้องบังคับรถให้ไปตามร่องเดิม แต่รถมักไถลออกนอกเส้นทางอยู่เรื่อยๆ ส่วนในฤดูแล้ง เราต้องหลีกเลี่ยงไม่ให้ตกร่อง

และรถก็มักตกลงร่องเรื่อยๆ เช่นกัน

ตั้งใจไปตามเส้นทางที่ควร ไม่ง่ายเท่าใด

 

ในระยะ 80 กิโลเมตร ไม่ใช่เนินชันลื่นๆ หล่มลึกๆ ช่วงไหนหรอกที่ผมพลาดเสมอ แต่เป็นช่วงทางเรียบๆ ยาวราว 4 กิโลเมตร เป็นทางเรียบๆ ที่คดเคี้ยว พื้นผิวทางขรุขระ เพราะมันคือการแล่นรถไปตามลำห้วย ช่วงแล้งๆ มีระดับน้ำท่วมราวข้อเท้า

ส่วนในช่วงฝน บางครั้งน้ำสูงท่วมล้อ ก้อนหินระเกะระกะ มีแง่งหินแหลมคม ล้อพลาดไปปะทะ แก้มยางฉีกเป็นแผลใหญ่ เปลี่ยนเอาล้ออะไหล่ใส่ได้

แต่แก้มยางเป็นแผลใหญ่ นั่นหมายถึง ปะไม่ได้

หลายครั้งเป็นยางเส้นใหม่ที่เพิ่งเปลี่ยน

เส้นทางราบเรียบคดเคี้ยวนี้ มีชื่อว่า “ซงโซ่ง”

 

เหตุที่ต้องใช้ลำห้วยเป็นเส้นทาง เพราะสภาพพื้นที่บริเวณนี้เป็นร่องหุบ ขนาบด้วยสันเขา ในช่วงแรกใช้ไหล่เขาเป็นทาง แต่มักมีดินและหินไหลลงมาทับปิดเส้นทาง อีกทั้งเวลาดินลื่นๆ การคดเคี้ยวไปตามไหล่เขา ไม่ปลอดภัยสักเท่าไหร่

ลำห้วยเป็นทางเดินตั้งแต่ครั้งก่อน ที่คนจากบ้านคลิตี้ไปบ้านจะแกใช้

มีเรื่องเล่าว่า มีคนเคยถูกเสือกัดแถวๆ นี้ ด้วยสภาพของภูมิประเทศ ทำให้คนและสัตว์ป่าเลือกใช้ทางสะดวกสุด การมาพบกันบนทางไม่แปลก

“ตอนกลางคืน ถ้านอนแถวนี้ เขาจะขึ้นไปนอนบนต้นไม้เลยครับ”

จุงเคเมีย บ้านอยู่จะแก เล่าตำนาน

 

สภาพเป็นหุบ ที่ราบมีน้อย มีลำห้วยสายเล็กหลายสาย ไหลมาลงซงโซ่ง จึงเหมาะกับการทำงานของผมด้วย

แถวนี้มีโป่งอันเป็นแหล่งอาหารสัตว์ป่า เล็กๆ หลายโป่ง ทุกโป่งอยู่ในซอกเขา คล้ายแอ่งแคบๆ

ผมกับอดิเทพคู่หูใช้เวลาแถบนี้มาก มีแคมป์ริมลำห้วย ติดทางรถมีต้นไทรใกล้ๆ หลายต้น ทุกต้นคึกคักอย่างยิ่งในเวลามีลูกสุก

ค่าง, ชะนี รวมทั้งนกกก และนกเงือกกรามช้าง

แคมป์ใกล้น้ำ สบาย แม้น้ำจะน้อยในฤดูแล้ง แต่ใช้น้ำที่ไหลรินๆ มาตามรอยล้อรถ อดิเทพขุดพื้นเป็นหลุม และเอาหินวางเรียงเป็นเขื่อนกั้นน้ำเล็กๆ น้ำเอ่อพอตักอาบได้

ข้อดีของแคมป์นี้คือ ไม่ต้องแบกของไกล เพราะไม่ใช่ทุกที่หรอกซึ่งเราจะเอารถไปถึง

แคมป์ไกลๆ นั้น ขาไปมักมีคนหลายคนช่วย ส่วนใหญ่ผมนัดแนะกับชุดลาดตระเวน เดินไปทางเดียวกัน พวกเขาช่วยแบกอุปกรณ์ได้

แต่ขากลับ จะมีเพียงผมกับอดิเทพแบกกันพะรุงพะรัง

 

บริเวณซงโซ่ง เป็นแหล่งอาศัยของกระทิงด้วย กวาง รวมทั้งชะมด อีเห็น และเม่น ที่มาเยี่ยมในแคมป์บ่อยๆ

ข้อมูลจากทีมสำรวจประชากรเสือโคร่ง พบว่าแถบนี้เป็นอาณาเขตของเสือโคร่งด้วย

ช่วงต้นฝน มีกระทิงถูกล่าโดยเสือโคร่ง ซากอยู่ไม่ไกลจากแคมป์

ครั้งหนึ่ง ผมกับอดิเทพพบเสือโคร่งกับลูกที่เริ่มโตสามตัว ส่วนเสือดาว มีคนพบบ่อยกว่าเสือโคร่ง

“สมัยก่อนช้างเยอะด้วยครับ” สมศักดิ์เล่าตำนานอีกเรื่อง

“ตอนนั้นคงถูกไล่ล่า หรือไผ่ที่เป็นอาหารหลักตายเยอะก็ไม่รู้ครับ”

ช้างในป่าทุ่งใหญ่ฝั่งตะวันตกหายไปช่วงหนึ่ง พวกมันอพยพไปอยู่ป่ารอบๆ

ถึงวันนี้ พวกมันกลับมาแล้ว

ความเอาจริงกับงานดูแลแหล่งอาศัยของสัตว์ป่า ของคนทำงานในป่า เริ่มเห็นผลแล้ว

 

เมื่อขับรถผ่านแถวๆ ซงโซ่ง ว่าตามจริง ผมไม่สนุกนัก

ระยะ 80 กิโลเมตร บางช่วงแม้ลำห้วยก็เป็นทางรถในป่าทุ่งใหญ่ เมื่อจอดอยู่ในเมือง ทองผาภูมิ หรือเมืองสังขละบุรี คนรู้ว่ามาจากไหน สภาพบู้บี้ยับเยิน แต่ดูแกร่ง จนคล้ายกับว่า ไม่มีเส้นทางไหนที่รถเหล่านี้จะไปไม่ถึง

เดินทางหลายปีบนเส้นทาง 80 กิโลเมตร ดูเหมือนเป็นประสบการณ์อันทำให้แกร่งขึ้น ไม่ว่าภายนอกจะบุบบู้บี้เพียงใด