ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ฤๅจะแท้งก่อนคลอด / บทความพิเศษ สมชัย ศรีสุทธิยากร

สมชัย ศรีสุทธิยากร

บทความพิเศษ

สมชัย ศรีสุทธิยากร

ศูนย์วิจัยการเมืองและการพัฒนา มหาวิทยาลัยรังสิต

 

ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ

ฤๅจะแท้งก่อนคลอด

 

แม้หน้าตาของร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญที่ผ่านการลงมติในวาระที่สองของรัฐสภาเมื่อวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2564 อาจยังมีส่วนที่ขาดตกบกพร่อง

หลักการที่ควรแก้ไขหรือออกแบบใหม่ในหลายประการกลับถูกละเลย กลายเป็นผลสรุปที่แปลกพิกลก่อนการไปลงมติในวาระสามซึ่งคาดว่าจะมีขึ้นในวันที่ 17 มีนาคม 2564

แต่ข่าวของการไปไม่ถึงฝั่งของร่างแก้ไขดังกล่าวดูจะหนาหูมากขึ้น

หรือว่าร่างดังกล่าวจะแท้งก่อนถึงวันกำหนดคลอด

ใช้เสียงสามในห้า

ในการลงมติวาระที่หนึ่งและสาม

 

ข้อวิพากษ์ของการออกแบบรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 ฉบับอาจารย์มีชัย ฤชุพันธุ์ คือการออกแบบให้แก้ยาก โดยไปผูกเงื่อนไขการลงมติในวาระที่หนึ่งและวาระที่สามว่า นอกจากจะต้องได้เสียงเห็นชอบเกินกึ่งหนึ่งของสมาชิกรัฐสภาแล้ว ยังต้องมีองค์ประกอบของสมาชิกวุฒิสภาหนึ่งในสามหรือประมาณ 84 คนร่วมให้ความเห็นชอบด้วย

แม้เจตนาของผู้ร่างต้องการให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญนั้นมาจากฉันทามติของทุกฝ่ายไม่ใช่ให้ฝ่ายการเมืองที่มีเสียงข้างมากในสภาสามารถใช้พวกมากลากไป โดยให้สมาชิกวุฒิสภาที่มีที่มาจากความหลากหลายมีส่วนร่วมในการกำหนด

แต่เมื่อเล่ห์กลในบทเฉพาะกาลที่ให้ ส.ว.เกือบทั้งหมดมาจากการคัดเลือกของคณะรัฐประหาร ความชอบธรรมของหลักการดังกล่าวจึงสูญหายไปนับแต่นั้น

การแก้ไขที่ผ่านวาระสอง แม้จะนำเงื่อนไขดังกล่าวออกไป แต่ร่างที่แก้ไขกลับเพิ่มสัดส่วนของเสียงในสภาจากเกินกึ่งหนึ่งเป็นต้องใช้เสียงสามในห้าของรัฐสภา ซึ่งเท่ากับประมาณ 450 คน ซึ่งแปลความว่า หากฝ่ายรัฐบาลรวมกับวุฒิสภา ก็สามารถแก้ไขรัฐธรรมนูญตามใจชอบได้

แก้ไปแก้มา วุฒิสภาก็ยังเป็นใหญ่และเป็นเสียงชี้ขาด

ยังไม่ถอดประชามติในกรณีเดิม

 

รู้ทั้งรู้ว่าการทำประชามติแต่ละครั้งต้องใช้เงินราว 3,000 ล้านบาท แต่การแก้ไขที่ผ่านวาระสองกลับยังไม่มีการถอดการทำประชามติที่ฟุ่มเฟือยออกไปโดยยังคงให้ต้องทำประชามติทั้งสามกรณีคือ

หนึ่ง หากเป็นการแก้ไขเพิ่มเติมในหมวด 1 บททั่วไป และหมวด 2 พระมหากษัตริย์

สอง หากเป็นการแก้ในวิธีการแก้ตามหมวด 15

และสาม การแก้เกี่ยวกับคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของผู้ดำรงตำแหน่งต่างๆ ในรัฐธรรมนูญ หรือเรื่องที่เกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ของศาลหรือองค์กรอิสระ

การไม่แตะต้อง ไม่เปลี่ยนแปลงในหลักการดังกล่าว มีผลให้ในอนาคต หากจะมีการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญในสามประเด็นข้างต้น ต้องตามด้วยการทำประชามติ ทั้งๆ ที่ในประเด็นที่สองและสามสมควรเอาออกได้แล้ว

ยิ่งในประเด็นคุณสมบัติและอำนาจหน้าที่ของศาลและองค์กรอิสระ ที่กำหนดคุณสมบัติขั้นสูงราวรถราคาแพงแต่ปฏิบัติงานขัดหูขัดตาประชาชนราวรถรับจ้างสาธารณะราคาถูก

หากจะเปลี่ยนคุณสมบัติของผู้มาดำรงตำแหน่งเพื่อให้คนที่มีความสามารถแต่อาจด้อยด้วยยศถาบรรดาศักดิ์ก็ต้องทำประชามติทุกครั้งไป

ไม่เป็นการสิ้นเปลืองเกินไปหรือ

ส.ส.ร. 200 คน มาจาก 200 เขต

 

แม้ผลสรุปจากการลงมติในวาระสอง มีการเพิ่มเติมหมวด 15/1 ให้มีสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญที่มาจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชน จำนวน 200 คนเพื่อร่างรัฐธรรมนูญใหม่ให้เสร็จใน 240 วัน

แต่รูปแบบการได้มาโดยให้มีการแบ่งประเทศเป็น 200 เขต ให้ประชาชนผู้มีสิทธิออกเสียงเลือก ส.ส.ร.หนึ่งคนจากแต่ละเขตในลักษณะที่เลียนแบบการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ด้วยเหตุผลว่า ส.ส.ร.จะได้เป็นตัวแทนของประชาชนในแต่ละเขตและมีความใกล้ชิดกับประชาชนมากกว่าการใช้จังหวัดเป็นเขตเลือกตั้ง

รูปแบบดังกล่าวนี้ เป็นข้อเสนอของ ส.ส.พรรคพลังประชารัฐ ด้วยการสนับสนุนจากสมาชิกวุฒิสภา จึงทำให้สามารถชนะความเห็นของกรรมาธิการวิสามัญที่ยกร่างให้ใช้จังหวัดเป็นเขตเลือกตั้งได้

คาดว่า คงมาจากการคิดออกในนาทีสุดท้ายว่า การให้จังหวัดเป็นเขตเลือกตั้งอาจทำให้ได้คนที่หลากหลายและยากจะอยู่ภายใต้อาณัติ

รูปแบบการใช้จังหวัดเป็นเขตเลือกตั้ง เคยใช้ในการเลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภาเมื่อปี 2543 และทำให้ในหลายจังหวัดโดยเฉพาะจังหวัดที่มีขนาดใหญ่ที่มี ส.ว.ได้หลายคน สามารถได้คนที่เป็นอิสระจากฝ่ายการเมืองหลุดเข้ามาได้เป็นจำนวนมาก ซึ่งจริงๆ แล้วน่าจะเป็นผลดีต่อการออกแบบที่มาของ ส.ส.ร.

ในขณะที่การออกแบบให้เขตเดียวคนเดียว มี ส.ส.ร.มาจาก 200 เขต แม้เขตเลือกตั้งจะใหญ่กว่าเขตเลือกตั้ง ส.ส.ที่แบ่งประเทศเป็น 350 เขต แต่การเอาชนะในพื้นที่ขนาดเล็กดังกล่าวเปิดโอกาสให้ฝ่ายการเมืองที่มีอิทธิพลในพื้นที่เป็นตัวแปรสำคัญของการส่งเสริมหรือสนับสนุนให้ใครมาเป็น ส.ส.ร.ตามที่ตนต้องการ

เวทีเลือกตั้ง ส.ส.ร.ก็จะกลายเป็นเวทีประลองกำลังของนักการเมืองที่ยึดกุมพื้นที่ และมีแนวโน้มสูงในการสนับสนุนคนของตัวเองเข้ามาทำหน้าที่ ส.ส.ร.เพื่อรักษาประโยชน์ของตนและพรรคการเมืองที่สังกัด

หรือผู้มีอำนาจได้บวกลบคูณหารแล้วว่า อย่างไรเสียสูตรนี้สามารถผลักดันคนของตนเองเข้ามายึดครอง ส.ส.ร.ได้ไม่มากก็น้อย และยิ่งหากเป็นผู้มีอิทธิพลหรือมีชื่อเสียง มีประสบการณ์ในการทางเมือง อาจหมายมั่นถึงยึดกุมตำแหน่งสำคัญใน ส.ส.ร.ได้ไม่ยาก

รัฐธรรมนูญภายใต้ชื่อว่าประชาชนร่างแต่เป็นไปตามใจผู้มีอำนาจจะได้ไม่เป็นที่ครหาอีก

รอวันลงมติวาระสาม

หรือจะแท้งก่อนลงมติ

 

ตามกติการัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน หลังจากการลงมติวาระสองแล้ว ต้องรอสิบห้าวัน พ้นกำหนดจึงจะนัดหมายประชุมเพื่อลงมติในวาระที่สามได้ ซึ่งตรงกับการปิดสมัยประชุมรัฐสภาและจากการนัดแนะประสานเป็นการภายในระบุว่า น่าจะมีการเปิดประชุมสภาสมัยวิสามัญในราววันที่ 17-18 มีนาคม 2564 เพื่อพิจารณากฎหมายสำคัญ 2 ฉบับในคราวเดียว คือ ร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ และร่าง พ.ร.บ.ประชามติ ที่จะพิจารณาวาระสองและสามต่อเนื่องกันไป

แต่สิ่งที่ต้องจับตาอย่างไม่กะพริบคือ การที่รัฐสภาได้มีมติเมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2564 ด้วยเสียงข้างมาก 366 ต่อ 316 เสียง ให้ส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความว่า การตั้ง ส.ส.ร.จะกระทำได้หรือไม่ หรือรัฐสภาจะแก้ได้เพียงรายมาตราไม่สามารถแก้ไขทั้งฉบับโดยการตั้ง ส.ส.ร.ขึ้นมาดำเนินการ โดยศาลมีคำสั่งรับคำร้องดังกล่าวไว้แล้วเมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2564

แถมยังขอให้คนสำคัญ 4 คน คือ นายมีชัย ฤชุพันธุ์ นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ นายสมคิด เลิศไพฑูรย์ และนายอุดม รัฐอมฤต ทำความเห็นเป็นหนังสือส่งมาที่ศาลภายในวันที่ 3 มีนาคม 2564

แค่เห็นชื่อคนสี่คนดังกล่าว ก็แทบคาดเดาความเห็นได้ว่าจะเป็นไปในทิศทางใด

คงคาดการณ์แบบแปะข้างฝาไว้ก่อนได้เลยว่า คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่จะส่งผลให้การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญให้มี ส.ส.ร.หรือไม่เดินหน้าต่อไปหรือล้มทั้งกระดาน จะมีขึ้นก่อนวันประชุมรัฐสภาในกลางเดือนมีนาคมอย่างแน่นอน

ร่างที่ผ่านวาระสอง ที่ท้องแล้วจะคลอด หรือจะแท้ง คงรู้กันวันนั้น

ผลของการตัดสิน จะหัวหรือก้อยนั้นไม่ทราบ แต่ผลที่ตามมานั้นสะเทือนเลื่อนลั่นอย่างแน่นอน