วรศักดิ์ มหัทธโนบล : สามรัฐ ที่มิใช่ สามก๊ก (6)

วรศักดิ์ มหัทธโนบล

เหตุจากกบฏสำนักเต้าข้าวสารห้าโต๋ว (ต่อ)

เขตอิทธิพลที่ตั้งอยู่ที่บริเวณทางเหนือของซื่อชวนนี้ นอกจากจะมีชนชาติฮั่น (จีน) เข้ามาเป็นสาวกแล้วก็ยังมีชนชาติปา (Ba) ที่เป็นคนพื้นถิ่นอีกด้วย

ถึงตรงนี้ข้อมูลในบันทึกเกี่ยวกับสำนักนี้ก็เริ่มสับสนเมื่อมีชื่อของบุคคลหนึ่งปรากฏขึ้น นั่นคือ จางซิ่ว

ที่ว่าสับสนก็เพราะมีบันทึกบางฉบับระบุว่า จางซิ่วเป็นพ่อมดหมอผีในเขตปกครองของชนชาติปา

เขาได้ใช้คุณไสยของตนเข้ารักษาผู้ป่วยไข้โดยคิดค่าตอบแทนเป็นข้าวสารห้าโต๋ว จนได้รับฉายาว่า อาจารย์ข้าวสารห้าโต๋ว แล้วต่อมาก็เรียกสำนักของเขาว่า สำนักเต้าข้าวสารห้าโต๋ว

จากข้อมูลนี้ทำให้เห็นว่า จางซิ่วมิได้มีความเกี่ยวข้องอันใดกับตระกูลจางตามที่ได้กล่าวมาแม้แต่น้อย

แต่ที่มีความสัมพันธ์กับตระกูลจางก็ตรงที่มีข้อมูลระบุว่า จางซิ่วเป็นบุคคลร่วมสมัยเดียวกับจางหลู่ที่เป็นหลานของจางหลิง

ความสัมพันธ์นี้น่าสนใจตรงที่ว่า ตอนที่จางหลู่สืบทอดอำนาจต่อจากจางเหิงผู้เป็นบิดานั้น จางหลู่ได้เข้ามาตั้งเขตอิทธิพลในถิ่นของจางซิ่ว จากเหตุนี้จึงทำให้เกิดการแข่งขันท้าทายกันระหว่างคนทั้งสองขึ้นมา

 

ความสับสนยังไม่จบเพียงแค่นี้ เมื่อมีข้อมูลอีกบางที่ระบุว่า ทั้งจางซิ่วและจางหลู่ต่างเป็นขุนศึกของหลิวเอียน (มรณะ ค.ศ.194) ผู้ปกครองมณฑลอี๋ ที่ปัจจุบันคือบริเวณมณฑลซื่อชวนและมหานครฉงชิ่ง และหลิวเอียนได้ให้ทั้งสองยกทัพไปยึดพื้นที่บริเวณเทือกเขาฮั่นจงโดยให้จางซิ่วเป็นผู้บัญชาการ

แต่จางซิ่วตายในสนามรบ จางหลู่จึงได้ขึ้นมาเป็นใหญ่แทน จากนั้นจางหลู่ก็เป็นผู้ปกครองบริเวณดังกล่าว

นอกจากนี้ ก็ยังมีข้อมูลที่ระบุเรื่องดังกล่าวโดยไม่เอ่ยถึงหลิวเอียน แต่เป็นว่าจางซิ่วตั้งตนเป็นกบฏในนามของสำนักเต้าข้าวสารห้าโต๋ว โดยมีจางหลู่มาขึ้นต่อ แต่ระหว่างการศึกครั้งหนึ่งจางซิ่วถูกฆ่าตายแล้วจางหลู่ก็ขึ้นมาเป็นหัวหน้าแทน

ในขณะที่ข้อมูลอีกบางที่ก็ระบุว่า ทั้งสองต่อสู้แย่งชิงเขตอิทธิพลกันแล้วจางหลู่ฆ่าจางซิ่วตาย จากนั้นจางหลู่ก็ก้าวขึ้นมาเป็นใหญ่

โดยสรุปแล้วข้อมูลที่ชวนสับสนเหล่านี้จึงหามติที่แน่ชัดไม่ได้ แต่ที่น่าเชื่อคือบุคคลที่เอ่ยนามมาทั้งหมดที่อยู่ในแวดวง “ข้าวสารห้าโต๋ว” นั้นน่าจะมีตัวตนอยู่จริง

 

ในขณะเดียวกันก็สังเกตได้ว่า ไม่ว่าข้อมูลด้านใดก็ตาม แทบทุกด้านจะมาจบลงตรงที่จางหลู่ได้ก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำในเขตฮั่นจงแทนจางซิ่วผู้นำเดิม

ดังนั้น หากเพ่งที่จางหลู่แล้วย้อนกลับไปยังจางเหิงและจางหลิวผู้เป็นบิดากับปู่ตามลำดับแล้ว ก็น่าเชื่อว่า สำนักเต้าข้าวสารห้าโต๋วมีแนวโน้มที่จะมาจากตระกูลจางที่เป็นชาวฮั่นมากกว่าที่จะมาจากจางซิ่ว

ประการต่อมา เมื่อดูจากภูมิหลังของจางซิ่วที่อยู่ในเขตชนชาติปามาแต่เดิมและยังเป็นพ่อมดหมอผีด้วยแล้ว ก็มีความเป็นไปได้ที่จางซิ่วน่าจะเป็นชนชาติปา ไม่ใช่ชนชาติฮั่น ถ้าเป็นเช่นนี้ก็เป็นไปได้น้อยมากที่จางซิ่วจะเข้าถึงลัทธิเต้าดังบุคคลในตระกูลจาง

ยกเว้นเสียแต่ว่าจางซิ่วเป็นจีนฮั่นจริงๆ แต่ใช้คุณไสยไปกล่อมเกลาชาวปาให้หลงงมงายเท่านั้น

จะอย่างไรก็ตาม ภายใต้ความสับสนดังกล่าว สิ่งที่พอเป็นจุดร่วมสำคัญที่ปรากฏอยู่ในความสับสนก็คือ หลังจากที่กลายเป็นองค์กรที่ทรงอิทธิพลแล้ว สำนักเต้าข้าวสารห้าโต๋วก็ตั้งตนเป็นกบฏต่อฮั่นตะวันออก

 

การก่อกบฏเริ่มขึ้นใน ค.ศ.191 โดยพื้นที่ยุทธศาสตร์ที่กลุ่มกบฏได้บุกเข้ายึดครองเป็นฐานที่มั่นของตนก็คือ บริเวณเทือกเขาฮั่นตงดังได้กล่าวไปแล้วข้างต้น ซึ่งหากละความสับสนของข้อมูลแล้วก็พอกล่าวได้ว่า ตอนที่กบฏสำนักเต้าข้าวสารห้าโต๋วเข้ายึดนั้นผู้ที่เป็นผู้นำคือ จางซิ่ว ต่อเมื่อจางซิ่วเสียชีวิต (จากเหตุใดก็ตามที) จางหลู่จึงได้ก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำแทน

กล่าวกันว่า ภายใต้การนำของจางหลู่ดังกล่าว เขาได้สร้างความเจริญให้แก่เขตยึดครองของเขาในหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็นถนนหนทางที่ถูกตัดใหม่ให้มีความสะดวก หรือความสมบูรณ์ของพืชพันธุ์ธัญญาหาร ถึงแม้เขาจะใช้ลัทธิเต้านิกายข้าวสารห้าโต๋วของเขาเป็นหลักคิดในการปกครองก็ตาม

จางหลู่ปกครองเขตอิทธิพลของเขาอยู่นานพอสมควร แม้จะมีกองทัพของราชวงศ์ฮั่นเข้ามาตีชิงก็ยากที่จะสำเร็จ ถึงตรงนี้ก็มีข้อมูลอีกด้านหนึ่งที่น่าสนใจว่า จะด้วยความเข้มแข็งดังกล่าวหรืออย่างไรไม่แจ้งนัก เมื่อได้ปรากฏบันทึกในบางที่ระบุว่า จางหลู่ได้ถวายบรรณาการให้แก่ราชสำนักฮั่นด้วย

หากเป็นเช่นนี้จริงสำนักของจางหลู่ก็ไม่น่าจะถูกจัดให้เป็นกบฏ หรือหากจะเป็นก็อาจเป็นไปได้ที่ครั้งหนึ่งเคยส่งบรรณาการ แต่ต่อมาก็หยุดส่ง ซึ่งจะเท่ากับกระด้างกระเดื่องต่อราชสำนักหรือกำลังตั้งตนเป็นกบฏ

 

อย่างไรก็ตาม จนถึงช่วงก่อนจะเข้าสู่ยุคสามรัฐนั้นเอง เฉาเชา (โจโฉ) ซึ่งเรืองอำนาจอยู่ในรัฐเว่ยจึงได้กรีธาทัพเข้าตีเขตอำนาจของจางหลู่ใน ค.ศ.215 จนจางหลู่พ่ายแพ้ไปในที่สุด กรณีนี้อาจยืนยันได้ว่า สำนักเต้าข้าวสารห้าโต๋วคงจะเป็นกบฏจริง แต่อาจเป็นหลังจากราชวงศ์ฮั่นเสื่อมถอยลงอย่างหนักแล้ว จากนั้นทัพของเฉาเชาจึงยกเข้าตี

หลังจากที่กลุ่มกบฏพ่ายแพ้ไปแล้ว เฉาเชามิได้ประหัตประหารจางหลู่และสาวก แต่ได้ผลักดันให้เหล่าสาวกที่เป็นกบฏไปยังพื้นที่อื่นๆ กลุ่มหนึ่งถูกส่งไปเมืองฉางอาน อีกกลุ่มหนึ่งถูกส่งไปเมืองลว่อหยาง ส่วนจางหลู่และครอบครัวของเขานั้น เฉาเชาได้จัดที่ทางส่วนหนึ่งที่อยู่ในเขตอำนาจของตนให้เป็นที่พำนัก พื้นที่ที่ว่านี้คือส่วนหนึ่งของมณฑลเหอหนานในปัจจุบัน

ณ ที่แห่งนี้จางหลู่ยังได้รับอนุญาตให้เปิดสำนักเผยแพร่ลัทธิเต้าในนิกายข้าวสารห้าโต๋วต่อไป เพียงแต่ต้องอยู่ภายใต้กฎหมายในแบบสำนักหญูเท่านั้น

และเมื่อเขาตายไปใน ค.ศ.216 บุตรชายของเขาได้ก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำต่อจากเขา ก่อนที่จะค่อยๆ สลายตัวไปกลายเป็นตำนานให้เล่าขานใน ค.ศ.255 ในที่สุด

 

เหตุจากกบฏโพกผ้าเหลือง

ต่อมาคือ กบฏโพกผ้าเหลือง (Yellow Turban Rebellion, Yellow Scarves Rebellion) คำนี้เป็นชื่อที่เรียกขานทั่วไป แต่ในบันทึกจะเรียกว่า โจรโพกผ้าเหลือง (ฮว๋างจินเจ๋ย) คือไม่ได้ยกย่องว่าเป็นกบฏ แต่เป็นโจรธรรมดาๆ ที่เที่ยวตีชิงวิ่งปล้นไปทั่ว พอเหตุการณ์ลุกลามใหญ่โตแล้วจึงเรียกขบวนการนี้ว่า วิกฤตโพกผ้าเหลือง (ฮว๋างจินจือล่วน, Yellow Turban Conflict)

การที่กบฏกลุ่มนี้ถูกเรียกแตกต่างกันไปจึงสัมพันธ์กับมุมมองทางการเมือง ว่าเป็นมุมมองของใครในแต่ละช่วงเวลา

จากเหตุดังกล่าว คำเรียกขานที่ต่างกันจึงทำให้เห็นว่า ถ้ามองกบฏนี้เป็น “โจร” ก็แสดงว่าเป็นการมองอย่างดูแคลน เพราะถ้าเป็นโจรก็หมายความว่าขบวนการนี้ไม่มีอุดมการณ์ เป็นเพียง “โจรกระจอก” ในสายตาของราชสำนักฮั่นตะวันออก จะปราบให้ราบคาบเมื่อไรก็ย่อมมิใช่เรื่องที่ใช้เวลานาน

แต่ความจริงก็คือว่า ขบวนการนี้มิได้ปราบได้ง่ายๆ อีกทั้งยังมีคำขวัญที่สื่อความหมายทางการเมืองอย่างเด่นชัด

ซ้ำการเคลื่อนไหวยังส่งผลสะเทือนไปถึงเสถียรภาพของราชวงศ์อีกด้วย ดังนั้น ที่จะเรียกว่าโจรก็ไม่สอดคล้องกับความเป็นจริงอีกต่อไป

แต่ที่เรียกกันว่า วิกฤตโพกผ้าเหลือง คำว่า วิกฤต นี้ในภาษาจีนใช้คำว่า ล่วน ที่แปลว่า วุ่นวาย ยุ่งยาก นั้นดูไปแล้วก็เหมือนกับขบวนการนี้เป็นพวกที่ชอบก่อความวุ่นวาย ทำให้บ้านเมืองจีนที่กำลังเป็นสุขกลายเป็นทุกข์ขึ้นมา คำนี้ก็ไม่สอดคล้องกับความเป็นจริงอีก เพราะที่บ้านเมืองเป็นทุกข์ก็เพราะการใช้อำนาจไปในทางที่ผิดของเหล่าขันทีกับจักรพรรดิ จากเหตุนี้ ความยุ่งยากวุ่นวายจึงเกิดตามมา

และด้วยเหตุที่เป็นขบวนการที่ใหญ่และสร้างผลสะเทือนสูง ขบวนการนี้จึงมองเป็นอื่นไปไม่ได้ นอกจากการเป็นกบฏเท่านั้น ถึงตรงนี้ก็ควรที่จะมาดูว่า อะไรคือการเมืองของขบวนการนี้ที่ทำให้เห็นว่ามิใช่เป็น “โจร” ที่เที่ยวก่อความ “วุ่นวาย” ไปทั่ว

กบฏโพกผ้าเหลืองมีผู้นำคือ จางเจี๋ว์ย ชื่อในพยางค์ที่สองนี้แปลว่า เขา (ของสัตว์ เช่น เขาวัว เขาควาย) หรือมุม เป็นต้น ในปัจจุบันจะอ่านว่า เจี่ยว แต่ในสมัยนั้นอ่านว่า เจี๋ว์ย ดังนั้น หากอ่านว่า จางเจี่ยว ก็ไม่ถือว่าผิด

แต่เนื่องจากเรื่องราวในที่นี้เป็นเรื่องราวของยุคสมัยนั้น งานศึกษานี้จึงขออ่านเพื่อความสมารมณ์ว่า จางเจี๋ว์ย