ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 26 กุมภาพันธ์ - 4 มีนาคม 2564 |
---|---|
คอลัมน์ | ในประเทศ |
เผยแพร่ |
ในประเทศ
ฝ่ายค้านรัวหมัด
เปิดแผลใหม่รัฐบาล
แต่ก็ไม่พ้นเจองูเห่า
จุกเจ็บเช่นกัน
การอภิปรายของฝ่ายค้านเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจรัฐบาลครั้งที่ 2 ผ่านไปแล้ว คณะรัฐมนตรีทั้ง 10 คน ไม่มีใครถูกโหวตไม่ไว้วางใจเลยแม้แต่คนเดียว
ซึ่งเป็นที่คาดการณ์ได้ตั้งแต่ก่อนอภิปรายแล้วว่าคงจะไม่มีใครหลุดจากตำแหน่งเพราะเสียงโหวตของสภา
ถามว่า ในส่วนของฝ่ายค้านรู้หรือไม่ว่าการโหวตครั้งนี้จะไม่ชนะรัฐบาล
ฝ่ายค้านก็รู้ แต่เกมครั้งนี้เป็นเกมของการเปิดแผลรัฐบาล
เปิดแผลของการบริหารประเทศ
เปิดแผลของผู้นำประเทศ
และจะว่าไป การเปิดแผลครั้งนี้ก็สำเร็จไม่น้อย
เพราะการอภิปรายของฝ่ายค้านครั้งนี้ดึงความสนใจของผู้คนในสังคมมากกว่าครั้งก่อนๆ
สังเกตได้จากอาการเก้าอี้ร้อนต้องลุกขึ้นมาตอบโต้ของนายกรัฐมนตรี
ซึ่งการชี้แจงก็เป็นระบบเสียจนคนดูออกว่าเป็นการชี้แจงเพื่อให้พ้นๆ ไปที ไม่ได้ตอบคำถามฝ่ายค้านเท่าที่ควร
คำชี้แจงของนายกฯ เป็นในลักษณะนามธรรม วนอยู่ในเรื่องจริยธรรม ความดี
ก่อนจะวางไมค์ด้วยถ้อยคำเหน็บแนม เช่น การไล่ฝ่ายค้านให้ไปเป็นรัฐบาลให้ได้ก่อน จนสื่อเอาไปพาดหัวโต
ความสำเร็จของฝ่ายค้านในการเปิดแผลฝั่งรัฐบาลหลายเรื่อง เริ่มจากอมรัตน์ โชคปมิตต์กุล ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล อภิปราย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา กรณีพักอาศัยคฤหาสน์หรูหลังใหญ่ในค่ายทหาร และมีการปกปิดข้อมูลเพื่อหนีการตรวจสอบ พล.อ.ประยุทธ์แจ้งกับ ป.ป.ช.ว่าอยู่บ้านพักย่านสามเสน แต่แจ้งกับศาลรัฐธรรมนูญว่าอยู่ในกรมทหารราบที่ 1 ไม่สามารถตรวจสอบค่าน้ำค่าไฟของ พล.อ.ประยุทธ์ได้ ทั้งที่ขอ กฟน.แล้วถึง 2 ครั้ง
คาดว่ากองทัพออกค่าไฟให้เกิน 3,000 บาทต่อเดือน ซึ่งผิดกฎหมาย ป.ป.ช. และไม่ได้นำประโยชน์ตอบแทนที่ได้รับจากกองทัพซึ่งถือเป็นเงินได้พึงประเมินมายื่นภาษี นอกจากนี้ พล.อ.ประยุทธ์รับเงินซ้ำซ้อน 4 ตำแหน่ง ขณะที่รัฐบาลได้แต่ชี้แจงว่าขอไม่ลงรายละเอียด การพิจารณาอยู่ที่ชั้นศาลรัฐธรรมนูญและ ป.ป.ช.
หรือจะเป็นการอภิปรายของจิราพร สินธุไพร ส.ส.ร้อยเอ็ด พรรคเพื่อไทย กรณีการผิดพลาดของการใช้มาตรา 44 กรณีคิงส์เกต ถูกเอกชนฟ้อง ภาครัฐประเมินแล้วว่ายากที่จะชนะคดี ต้องจ่ายมากกว่า 2.5 หมื่นล้าน บวกกับการเสียเครดิตการลงทุนของไทย หลังโดนฟ้องมีการเจรจาคิงส์เกต และต่อมารัฐอนุมัติอาชญาบัตรพิเศษสำรวจแร่ 44 แปลง เนื้อที่ 397,226 ไร่ ใช้เวลาพิจารณาเพียง 3 เดือนเศษ
หรือจะเป็นการอภิปรายของไชยา พรหมา ส.ส.หนองบัวลำภู พรรคเพื่อไทย ยกตัวเลขมาชำแหละ รัฐบาลนี้กู้เงินมากที่สุด แต่ประสิทธิภาพต่ำ หนี้สาธารณะสูงเกินกรอบวินัยการคลัง
อีกเคสที่พูดถึงกันเยอะคือ ประเสริฐ จันทรรวงทอง ส.ส.โคราช พรรคเพื่อไทย อภิปรายแฉคดีทุจริตสัญญาลวงซื้อถุงมือยางขององค์การคลังสินค้า ทำประเทศเสียหายกว่า 2 พันล้าน มีการเปิดคลิปกลางสภาจนดิ้นยาก รัฐบาลโดยเฉพาะผู้นำประเทศกลับนิ่งเฉย มีเพียงคำชี้แจงว่ารัฐมนตรีไม่เกี่ยวข้อง พร้อมกับอาการมือสั่นของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ขณะชี้แจง สื่อนำภาพไปเผยแพร่คนแชร์กันเพียบ
ที่มาพร้อมหลักฐานเชิงประจักษ์คือ ประเสริฐพงษ์ ศรนุวัตร์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ ก้าวไกล จัดหนักจัดเต็มปัญหาการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษอุตสาหกรรมจะนะ โชว์ให้เห็นกันจะจะ นักการเมืองใหญ่ในพื้นที่ได้ประโยชน์จากการซื้อ-ขายที่ดิน
ฟากฝั่งกองทัพก็โดนหนัก พิจารณ์ เชาวพัฒนวงศ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล หลักฐานเชิงประจักษ์ กองทัพซื้อของแพงกว่าท้องตลาด 47% อยู่เสมอ ปัญหาการใช้ประโยชน์จากที่ราชพัสดุ 6.25 ล้านไร่ ที่กองทัพบกถือครองอยู่เป็นจำนวนมาก โชว์หลักฐาน ความน่าสงสัย แม้แต่โครงการจัดซื้อกล้องตรวจการณ์กลางคืน กล้องสำรวจวัดระยะและมุม การจัดซื้อรถบัสขนาดใหญ่ สุดเซอร์ไพรส์คือซื้อกางเกงในทหารเกณฑ์ตัวละเกือบ 70 บาท แต่ที่ขายทั่วไปสเป๊กเดียวกันถูกกว่าเยอะ
หรือจะเป็นณัฐชา บุญไชยอินสวัสดิ์ ส.ส.กทม.ก้าวไกล แฉกองทัพใช้ 2 แอพพลิเคชั่นปั่นไอโอ แบ่งทีมขาว ทีมดำ 5 หมื่นบัญชี แบ่งแยกประชาชน โจมตีนักการเมืองฝ่ายค้าน หลักฐานชัดคลิปและหนังสือสั่งการ
ยังมีการแฉปัญหาคนระดับสูงในรัฐบาล ขาดกลไก กมธ.กฎหมายที่ตั้งโดย คสช. ช่วยให้คดีความของบุคคลจากตระกูลดังในสังคมรอดคดี การอภิปรายความผิดปกติในการจัดหาวัคซีนของรัฐบาลไทย ที่พบปัญหาการผูกขาด การไม่กระจายความเสี่ยง ส่งผลให้เกิดความเสียหายต่อประเทศและเศรษฐกิจ
ปิดท้ายความปัง จากกรณีตั๋วช้างของรังสิมันต์ โรม ที่ถูกนำมาพูดถึงในโลกอินเตอร์เน็ตอย่างมาก กระบวนการแทรกแซงการแต่งตั้งตำรวจ ตามด้วยพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกลพูดปิดการอภิปราย ขมวดปมปัญหานายกฯ ต้องปกป้องสถาบัน ไม่ใช่แอบอ้างสถาบันสร้างการสนับสนุนทางการเมืองให้ตนเอง จนมีการใช้ 112 มากที่สุดในประวัติศาสตร์ในการจัดการกับคนเห็นต่างทางการเมือง
จนมีเสียงชื่นชมจากนักวิชาการอย่าง รศ.ดร.พิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต อาจารย์คณะพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อม สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ ที่ระบุว่า ฝ่ายค้านอภิปรายนำเสนอข้อกล่าวหา มีเหตุผลและหลักฐานประกอบชัดเจนหลายเรื่อง ส่วนฝ่ายรัฐบาลโดยเฉพาะนายกฯ ตอบไม่ตรงประเด็น หรือเลี่ยงไม่ตอบ หรือตอบแบบเบี่ยงเบนประเด็น
นี่คืออาการจุกอกของฝั่งรัฐบาล ที่ต้องบอกว่ารอบนี้ฝ่ายค้านทำงานมาดี แม้จะมีหลายพรรคแต่ก็แบ่งประเด็นกันฟันไปที่แผลของรัฐบาล จนเกิดควันหลงหลังศึกอภิปราย
แต่ก็ต้องยอมรับว่าการอภิปรายครั้งนี้ฝ่ายรัฐบาลก็เตรียมรับมือฝ่ายค้านไม่น้อย ต่อสู้ในระบบ มีการทำงานอย่างเป็นระบบ รู้เรื่องที่ฝ่ายค้านจะโจมตี ดูจากการเตรียมทำข้อมูลชี้แจงขึ้นสไลด์ในสภาของรัฐมนตรีต่างๆ แต่ที่น่าจับตาคือการต่อสู้นอกระบบ การพยายามดึงเสียงของฝ่ายค้านมาเป็นรัฐบาล
พลันที่ภาพของหมอเอก เอกภพ เพียรพิเศษ ส.ส.เชียงราย พรรคก้าวไกล นั่งคุยกับอนุทินในวันที่ 19 กุมภาพันธ์ ระหว่างฟังอภิปราย ว่าเขาคุยอะไรกัน แต่นั่นไม่สำคัญเท่าสัญญาณอาการจุกอกที่ฝ่ายค้านกำลังจะเจอ
ผลซักฟอก 10 รัฐมนตรีฉลุย โดยมีนายอนุทินคะแนนนำที่สุด เหนือกว่า พล.อ.ประยุทธ์ และ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ขณะที่ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า ได้คะแนนไม่ไว้วางใจต่ำที่สุดใน ครม.ทั้งหมด เพราะมี ส.ส.ฝ่ายค้านบางคนสวนมติฝ่ายค้าน งดออกเสียง พูดง่ายๆ ก็คือว่าโหวตช่วยนั่นเอง
ก้าวไกลเป็นพรรคแรก จับผิดได้ว่ามี 4 งูเห่า โหวตสวนกับมติพรรค เปิดชื่อมาถึงกับช็อกแฟนคลับพอสมควร
หนึ่งในนั้นคือหมอเอก นพ.เอกภพ คนที่เคยนั่งเป็นกรรมาธิการงบฯ และนายคารม พลพรกลางคนออกมาพูดวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลโดยตลอดนั่นเอง
โดยพรรคตั้งกรรมการสอบ บอยคอตไม่ส่งลงสมัครและไม่ให้เข้าร่วมกิจกรรมของพรรค ครั้งนี้พรรคก้าวไกลรู้ทันเกม ประกาศทันทีว่าจะไม่ขับไล่ออกจากพรรค แต่จะให้อยู่ทั้งอย่างนั้น ถ้าอยากลาออกก็ให้ลาออกเอง
ดราม่าบังเกิด ผู้ช่วย ส.ส.ประกาศลาออก ชาวเชียงรายและผู้สนับสนุนพรรคก้าวไกลพยายามไปถามจุดยืนของหมอเอก ทำไมถึงโหวตแบบนั้น
หมอเอกถึงกลับออกแถลงการณ์แฉการทำงานของพรรคและทีมจังหวัดที่ทำให้ ส.ส.เขตลำบากใจ ประทับใจนายอนุทินที่เคยรับเชิญมาเชียงราย พร้อมมองการเมืองในลักษณะประนีประนอม ต้องหาพันธมิตร ไม่ใช่มองฝ่ายตรงข้ามเป็นผู้ร้ายไปหมด
ขณะที่ทีมจังหวัดก็แฉกลับ หมอเอกเปลี่ยนอุดมการณ์ไปนานแล้ว
ขณะที่นายคารม พลพรกลาง ประกาศจุดยืนชัดอยากย้ายไปภูมิใจไทย เบื่อพรรคก้าวไกลแบ่งชนชั้น ถึงช่วงหนึ่งว่าพรรคไม่ดูแลเรื่องเงิน
พรรคเพื่อไทยก็เจองูเห่า มี ส.ส.พรรคเพื่อไทย 3 คนที่แสดงตัวเข้าร่วมประชุม แต่ไม่ลงคะแนน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา มี 2 คน ลงมติไว้วางใจ พล.อ.ประวิตร และมี 1 คนงดออกเสียงให้นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ
ขณะที่พรรคประชาชาติก็เจองูเห่าเจ้าเดิม 1 คน ลงมติไว้วางใจรัฐมนตรีทุกคน สวนมติพรรคร่วมฝ่ายค้าน ส่วนพรรคเพื่อชาติก็ดราม่าหนัก มี 3 คนโหวตไว้วางใจ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และ 2 คนไม่ออกเสียง หัวหน้าพรรครีบออกมาชี้แจง อ้างว่าพรรคมีมติให้ฟรีโหวต ดูแล้วไม่มีเรื่องทุจริตจะโหวตไม่ไว้วางใจได้อย่างไร
ด้านเสรีรวมไทยก็มีก็เจอปัญหาการโหวตรัฐมนตรีหลายคน มีการไม่ปรากฏผลคะแนนโหวตของ ส.ส.บางคนในพรรค โดยเฉพาะการโหวตนายอนุทิน ที่มีทั้งผลงดออกเสียง และไม่ปรากฏผลคะแนน
นี่คืออาการจุกของฝ่ายค้าน ที่มีปัญหาควันหลงจากศึกอภิปรายไม่ไว้วางใจครั้งนี้เช่นกัน