ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 26 กุมภาพันธ์ - 4 มีนาคม 2564 |
---|---|
เผยแพร่ |
กรองกระแส
อำนาจ การเมือง
ในมือของ ‘ภูมิใจไทย’
ผลต่อ ‘เลือกตั้ง’
ไม่มีตัวอย่างใดสะท้อนให้เห็นผลสะเทือนจากญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไปเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจได้อย่างเด่นชัดเท่ากับกรณีของนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม
เพราะภายในการลงมติแม้จะถูกไม่ไว้วางใจ 201 คะแนน
กระนั้น ภายในความไว้วางใจจำนวน 268 นั้น ยังปรากฏการงดออกเสียงถึง 12 เสียง และปรากฏการไม่ลงคะแนนเสียง 1 คะแนน
ที่สำคัญเป็นอย่างมากคือ ใน 12 เสียงนั้นเป็นคนจากพรรคพลังประชารัฐ
พรรคพลังประชารัฐอันเป็นแกนนำของรัฐบาล พรรคพลังประชารัฐอันมี พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ เป็นหัวหน้า
จากจุดนี้จึงสร้างความไม่พอใจให้กับพรรคภูมิใจไทยเป็นอย่างสูง
แม้ว่า พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ จะออกมาแสดงความเสียใจ แม้ว่า น.ส.วทันยา วงษ์โอภาสี หัวหน้ากลุ่มดาวฤกษ์จะออกมาแสดงความเสียใจ
กระนั้น พรรคภูมิใจไทยก็ยืนยันว่าต้องมีมาตรการลงโทษมากกว่านั้น
ถามว่าเหตุใดจึงปรากฏการงดออกเสียงไว้วางใจต่อนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมมากถึง 12 เสียง
นั่นเท่ากับเป็นการยืนยัน “ไม่ไว้วางใจ” อย่างสุภาพ
ความหมายมิได้อยู่ที่ว่า ส.ส.พรรคร่วมรัฐบาลจำนวน 12 คนไม่ไว้วางใจด้วยการงดออกเสียง และ 1 ไม่ลงคะแนนเสียงเท่านั้น
หากยังอยู่ที่การอภิปรายทั่วไปของฝ่ายค้านส่งผลสะเทือน
ความไม่พอใจของพรรคภูมิใจไทยต่อ ส.ส.จำนวนหนึ่งในพรรคพลังประชารัฐที่มีส่วนในการงดออกเสียงจึงเป็นความไม่พอใจอย่างเป็นทางการ
นั่นก็คือ ระหว่างพรรคภูมิใจไทยต่อพรรคพลังประชารัฐ
จำเป็นที่พรรคพลังประชารัฐต้องตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงของการลงมติงดออกเสียงและหาทางออกเพื่อให้เป็นที่พอใจของพรรคภูมิใจไทย
นี่คือปัญหาภายในพรรคร่วมรัฐบาลที่จะต้องหาทางออก
หากถามว่าเหตุใดท่าทีของพรรคภูมิใจไทยจึงรุนแรงและแข็งกร้าวถึงขั้นไม่ยอมรับคำขอโทษหรือแสดงความเสียใจในทางส่วนตัว
คำตอบอย่างเป็นทางการก็คือ นี่เป็นเรื่องระหว่างพรรคต่อพรรค
ในเมื่อพรรคภูมิใจไทยมีมติลงคะแนนเสียงไว้วางใจให้กับรัฐมนตรีพรรคพลังประชารัฐครบถ้วนตามข้อตกลง จำเป็นอยู่เองที่พรรคพลังประชารัฐจักต้องกระทำอย่างเดียวกัน
แสดงความเคารพให้เกียรติระหว่างพรรคร่วมรัฐบาลด้วยกัน
คำตอบอย่างไม่เป็นทางการก็คือ พรรคภูมิใจไทยเห็นว่าความผิดพลาดภายในพรรคพลังประชารัฐทำให้อำนาจในการต่อรองของตนมีมาก
ประกอบกับพรรคพลังประชารัฐต้องพึ่งพาความช่วยเหลือจากพรรคภูมิใจไทย
พรรคภูมิใจไทยซึ่งมี ส.ส.อยู่ในมือ 61 เสียงจึงเป็นเสียงที่พรรคพลังประชารัฐอันเป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาลจำเป็นต้องให้เกียรติและให้ความเคารพ
หากต้องการขับเคลื่อนรัฐบาลไปข้างหน้าให้ราบรื่น
ไม่ว่าท่าทีของพรรคภูมิใจไทย ไม่ว่าการสนองตอบอย่างรวดเร็วของพรรคพลังประชารัฐ ทำให้สังคมมองว่าผลประโยชน์ทางการเมืองบางอย่างของพรรคพลังประชารัฐจำเป็นต้องพึ่งพิงพรรคภูมิใจไทย
มิใช่อยู่ที่การให้ความสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เท่านั้น
หากแต่ยังขึ้นอยู่กับรายละเอียดการเลือกตั้งซ่อมที่พรรคพลังประชารัฐกำลังสัประยุทธ์อยู่กับคนของพรรคประชาธิปัตย์อันเป็นเจ้าของพื้นที่เดิมอยู่ด้วย
การขอความช่วยเหลือจากพรรคภูมิใจไทยจึงมีความหมายเป็นอย่างสูง