โอ นูนต่ำที่ไม่ต่ำไปตามนูน / อัญเจียแขฺมร์ อภิญญา ตะวันออก

อภิญญา ตะวันออก
ไก่ชน, ตาฤๅษีหนีเสือ

อัญเจียแขฺมร์

อภิญญา ตะวันออก

 

โอ นูนต่ำที่ไม่ต่ำไปตามนูน

 

เป็น Bas-Relief-หินเปลือยนูนต่ำ นูนอย่างพองาม ทั้งเสพชมสายตา ประมาณค่าเช่นนั้น และอีกครั้งที่การสะสมผลงานอันควรค่าของโรลังด์ เนอวู (Roland Neveu) ที่ฉันชื่นชม(*)

ปูมักคะเนีย ผลงานที่ต่างจากทั่วไปของโรลังด์แนวนี้ ทำให้ฉันคิดถึงฉากหนึ่งของละครเวที “แมน ออฟ ลามันช่า” อัศวินบ้า ตอนที่แม่บ้านของเขาร้องเพลงหน้าแท่นบูชาด้วยวลีซ้ำๆ ว่า

“I’m only thinking of him” วู้ วู่ เวอ

“เออ …เนอะ” เป็นการคิดถึงที่ใช้เวลาเดินทาง ล่าช้า-ยาวนาน แบบเดียวกับฉัน-อัญเจียแขฺมร์ที่ไม่ค่อยนำเสนอบทความสายโบราณวิทยา ปูมักคะเนีย โดยไม่อาจประเมินคุณค่า สำหรับผลงานบันทึกภาพสงครามกัมพูชาระหว่างเวลา 1970-1975 และนับว่าโรลังด์ เนอวู เป็นเบอร์ 1 ของแถวหน้า!

ปูมักคะเนีย ฉันนึกไม่ออกว่า มันเป็นชีวิตของใคร ในสายนักข่าวภาพเดนตายในช่วงเวลานั้นที่เต็มไปด้วยความโหดร้ายซึ่งไม่ง่ายเลยสำหรับ photo-journalist ฝรั่งเศสรายนี้ที่โดดเด่นกว่าใครในดงสงครามกลางเมืองเขมรครานั้น ดังผลงานทั้งหมดที่มี

ไก่ชน

มันยังเป็นงานศิลปะมืดดำ-สายดาร์กที่ยากจะละสายตาที่บางครั้งก็ทำให้เราเห็นว่า สถานการณ์ที่คับแค้นกดดัน บางครั้งก็สร้างแรงบันดาลใจ แต่แค่นั้นอาจจะไม่พอ

โดยเฉพาะเมื่อพบว่า โปรไฟล์ของเขาที่มันฟ้องเราว่า ความไม่มีสังกัดอย่างสำนักข่าวดังต่างประเทศของโรลังด์ เนอวู ที่แม้ว่าจะร่วมงานกับ Getty Images เอเยนซี่ดูแลช่วงปีที่เขมรมีสงคราม ทว่าเครื่องหมายการค้าในฐานะช่างภาพอิสระของเขาคือส่วนสำคัญที่ทำให้โรลังด์ เนอวู ต้องทำงานหนักทุกขณะโดยขาดต้นสังกัดอย่างสำนักข่าวเวิร์ลด์เซอร์วิสเซสที่ปกป้องตนเองบนเซฟโซนและชื่อเสียงเครดิต

แต่มันกลับพิสูจน์ว่า เงินเดือนและสวัสดิการไม่อาจเป็นเครื่องการันตีผลงานเสมอไป ซึ่งโรลังด์ เนอวู ก็ทำให้เห็นอย่างดีแล้วข้อนี้ ไม่ว่าจะเป็นหนังสือภาพถ่าย Cambodia, the years of Turmoil และเล่มอื่นๆ ซึ่งภาพเหล่านั้นยังอยู่หัวแถวของเล่าเรื่องและถูกผลิตซ้ำ

โรลังด์ เนอวู สิบปีให้หลังที่เป็นช่างภาพอิสระอย่างเต็มตัวในแดนสงครามนอกพื้นที่อย่างตะวันออกกลางและอื่นๆ เยี่ยงเดียวกับช่างภาพสายนี้ทั่วไป

ที่ไหนมีสงคราม ที่นั่นมีเรา

แต่หลังปี 1996 เป็นต้นมาที่เขากับ Asia Horizons Books สำนักพิมพ์แถวหน้าที่มีสำนักงานในกรุงเทพฯ เราจึงได้เห็นผลงานภาพถ่ายของเนอวูในเขตเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (SE Asia) อีกครั้ง ซึ่งคราวนี้มิใช่เฉพาะในเขมร แต่มีทั้งลาวและไทย และเป็นผลงานในหมวดหมู่อื่นๆ รวมทั้งที่ฉันเกริ่นมาคือภาพถ่ายนูนต่ำทางโบราณคดี ก่อนที่โลกแห่งการคุกคามยุคไร้สายจะมาถึงและกวาดทิ้งไปทุกอย่างด้านการพิมพ์และภาพถ่ายของชาวอะนาล็อก

และด้วยจิตคารวะด้วยงานชิ้นแรกของเขาอันเกี่ยวกับศิลปะนูนต่ำแห่งนครวัด-นครธม

ตาฤๅษีหนีเสือ

บางทีบางครั้งเราก็ต้องก้าวข้ามเวลาอันบาดลึกที่ผ่านมา อย่างภาพข่าวสงครามของโรลังด์ เนอวู ที่ผ่านมา และภาพข่าวเหล่านั้นได้กลายเป็นส่วนของประวัติศาสตร์ร่วมสมัยไปแล้ว

ทิ้งไว้แต่แรงบันดาลใจที่เหล่านั้นที่ไม่อาจลบเลือนว่า เป็นบันทึกยุค ’70 ของชาวอะนาล็อกที่งดงามโดยมี โรลังด์ เนอวู บุกเบิกไว้

แม้จะก้าวข้ามยุคทองของวงการช่างภาพข่าวสงคราม แต่สิ่งที่ไม่อาจข้ามผ่านกลับเป็นความสมบูรณ์ที่แฝงเร้นอยู่ในลำเค็ญที่พบพานในงานยุคดังกล่าว โดยตั้งใจหรือไม่ ขอคารวะอีกครั้ง แด่นักล่าฝันอดีตกาล-อะนาล็อกทุกคน

อย่ากระนั้นเลย และเพื่อก้าวข้ามผ่านเวลาแห่งยุคฝัน เรามาชื่นชมอะนาล็อกนิยมในคราบนูนต่ำ (Bas-Reliefs) บันทึกพันปีที่ปราสาทนครวัด-นครธม

มาดูกันเถิดว่า นูนต่ำตามประติมากรผู้สร้างแห่ง 2 นครา ที่ผ่านมาพันปีแล้ว เขายั่วล้อเราไว้อย่างไรบ้าง?

ทั้งภาพฤๅษีตีนเปล่า-ตาเฒ่าหนีเสือป่า แต่หน้าตาเหมือนสิงโต (?) อย่าให้โม้ว่า ช่างศิลป์สมัยยุคพระนครเขาช่างมีอารมณ์ขัน ด้วยการประดิษฐ์ภาพเป็นช่องๆ เหมือนภาพถ่ายยังไงยังงั้น (เป็น shot/ช็อตๆ) ว่างั้น

ฮา ฮา ฮา ถึงต้องลุ้นกันว่า เฒ่าฤๅษีคนนี้ แกจะโดนเสือกินมั้ย?

ถ้าตาไม่ดีส่องไปเป็น ก็ไม่รู้หรอกนะว่าแกรอด เพราะหนีเสือขึ้นต้นไม้ (แบบจวนเจียนหน้าตาตื่น!)

หุ หุ ดีจัง นายช่างเมืองพระนครสมัยโน้น เขามีอารมณ์ขันและเก็บรายละเอียด กล้า เก่ง ดีมากไม่แพ้เทคโนโลยีทั้งหลายในยุคหลัง

ตั้งแต่ภาพลูกหมูหรือหมาน้อย (?) ดูดนมแม่ ไปยันแรดไล่ขวิดคนจนเตลิดขึ้นต้นไม้

ไม่ว่าจะนูนต่ำ ปิ้งปลาหรือย่างกล้วย (?)

และมิตินูนต่ำการหาอยู่หากิน เกี่ยวกับชีวิตความเป็นอยู่อันเรียบง่ายไม่ว่าจะเป็นการปิ้งย่างที่ทำจากไม้ไผ่และการหาอยู่หากินทั่วไป

อาทิ ภาพคนหามร่างหมูลำบอชะตาขาด คาดว่านำไปต้มลงหม้อก่อนชำแหละเนื้อหนังนำไปปรุงเป็นอาหาร

ในชุมชนที่ใหญ่ขึ้นนั้น นูนต่ำบายนยังเผยว่า ณ ระเบียงกำแพงด้านทิศเหนือ สมัยสมัย 800 ปีก่อน มีการนำอาหารใส่ถาดส่งไปรอบๆ แบบนั้นตาม “พิธีชุบเลี้ยง” หรือปาร์ตี้สังสรรค์

แต่นูนต่ำที่ฉันโปรดคือชุดทาสเชลยผู้เชิดคอแม้ถูกมีเชือกจองคอไว้

ตาฤๅษีหนีเสือ

ปูมักคะเนีย นานมากแล้วที่ฉันค้นหาเรื่องราวเกี่ยวกับศิลปะต่อสู้อันเก่าแก่ชองชนกลุ่มน้อยในเขมรแต่โบราณที่รู้จักกันในชื่อ “กบัจคุน” ที่ว่า

ไม่นึกว่าโลรังด์ เนอวู จะจัดให้ จนอยากให้เครดิตต่อบันทึกนูนต่ำชุดนี้ของโลรังด์ เนอวู ราวกับว่า เกิดมาเพื่อเป็นพอร์ตเทรตช่างภาพสงคราม ศิลปะการต่อสู้กบัจคุนของข้าไพร่และนักรบแห่งอาณาจักรขอม เมื่อเทียบกับงานยุคแรกซึ่งเกิดจากสงครามกลางเมืองและเป็นเรื่องเสมือนจริง ซึ่งต่างกรรมต่างวาระ

ภาพมวยปล้ำกบัจคุนนครธมชุดนี้ซึ่งต่อมามีการฟื้นฟูประยุกต์เป็นแรงบันดาลในการฝึกของกองกำลังเขมรภูมินทร์ซึ่งต่างฝึกกบัจคุนกันลือลั่นทั้งกองทัพ

แต่สมเด็จฮุน เซน นั้นไม่ได้จำลองเฉพาะแต่กบัจคุนแห่งองกอร์ไว้เฉพาะแต่กองทัพหรอกนะจ๊ะ หุ หุ เพราะแม้แต่ชนไก่นูนต่ำที่พบในบายน วงศ์วานลูก-หลานตระกูลท่านก็ยังจำลองเปิดบ่อนจนลือลั่นกันทั้งเขมร

นี่เองที่เรียกว่าหาอยู่หากิน ดำรงชีพกันมาตามยุคสมัย

และเกี่ยวกับนูนต่ำกบัจคุนนี้ ยังมีอีกหลายจุด ทั้งจากระเบียงกำแพงและตัวปราสาท เห็นได้จากโถงห้องปราสาทบายน และคือกบัจคุนเดียวกันที่กัมพูชาอ้างว่าเป็นศิลปะการต่อสู้โบราณและมรดกวัฒนธรรมกระทั่งนำมาเผยแพร่โปรโมทกว่า 2 ทศวรรษ

แต่ปูมักคะเนียอยากเห็นกบัจคุนเต็มตาต้องรอไปปี 2023 ในพิธีเปิดมหกรรมการแข่งขันกีฬาแห่งอาเซียนที่กัมพูชาเป็นเจ้าภาพ เขาจะโชว์ศิลปะแขนงนี้ต่อสายตาของชาวโลก

ถึงตอนนั้น ทั้งนูนต่ำและอะนาล็อกก็คงจะถูกลืมไป

(*) ร่วมกับฌักส์ เบ็กคาร์ท ใน Bas-Reliefs : Life at the Angkor Period, 2002

กบัจคุน
กบัจคุน
กบัจคุน