เรื่องเล่นๆ ของหมูๆ / ทะลุกรอบ ป๋วย อุ่นใจ

ดร. ป๋วย อุ่นใจ

ทะลุกรอบ

ป๋วย อุ่นใจ

 

เรื่องเล่นๆ ของหมูๆ

 

ในซีซั่นที่ 9 ของรายการ America’s Got Talent หนึ่งในนักแสดงที่เรียกความฮือฮาจากผู้ชมได้มากที่สุดก็คือ “มัดสลิงเกอร์ (Mudslinger)” น้องหมูสีขาวตัวอวบอ้วนที่สามารถร่วมแสดงบนเวทีกับเจ้าของได้อย่างน่ารักน่าเอ็นดู

ในรอบคัดตัว มัดสลิงเกอร์เรียกเสียงหัวเราะได้จากสกิลการชักธงชาติ เล่นกอล์ฟ และเตะบอลเข้าโกลได้เพอร์เฟ็กต์อย่างไม่มีที่ติ

แต่ความฝันที่จะเป็นผู้ชนะแห่ง Amerca’s Got Talent ก็ดับลง เพราะน้องดันบวกเลขผิดในรอบชิง

แต่แค่นั้น ความเฉลียวฉลาด น่ารักของน้องหมูมัดสลิงเกอร์ก็เป็นที่ติดตาตรึงใจของผู้ชมจำนวนมากมายหลายล้านคนแล้ว ถึงขนาดปลุกกระแสใหม่ในวงการสัตว์เลี้ยง

“หมูจิ๋วไซซ์มินิ (minipig)” กลายเป็นที่ต้องการอย่างมากอยู่พักใหญ่

ซึ่งการจะรับน้องหมูจิ๋วไปเลี้ยงก็ยังต้องลุ้นอีกนิดนึง เพราะบางทีการจะได้ดังที่หวัง คือน้องหมูน่ารักและตัวจิ๋วอยู่เสมอแม้เวลาจะผ่านไป และแล้วก็มีข่าวเหมือนกันว่าเจ้าของบางคนอาจจะได้แปลกใจ เพราะตอนที่ซื้อคนขายบอกมินิ แต่พอเลี้ยงไปไม่กี่เดือน ตัวขยายๆ กลายเป็นหมูยักษ์ตัวใหญ่กว่าสุนัขเซนต์เบอร์นาร์ดไปก็มี

แต่ไม่ว่าจะเป็นหมูจิ๋วหรือหมูยักษ์ ความฉลาดของพวกมันก็ยังคงเป็นที่น่าประทับใจสำหรับเจ้าของอยู่ดี

ภาพเขาวงกตการทดลองของไมค์ เมนเดล จากมหาวิทยาลัยบริสตอล (Image courtesy : University of Bristol)

สุกรกับสกิลเกมเมอร์

จากการทดลองให้หมูลองเล่นเกม โดยใช้จอยสติ๊ก น้องหมูแฮมเล็ตเดอะพิก (Hamlet the pig) สามารถชิงรางวัลเป็นขนมเล็กๆ น้อยๆ จากการเล่นเกมได้แทบทุกครั้งจากการเลื่อนเคอร์เซอร์ในจอเข้าไปในบริเวณที่กำหนดไว้ เฉือนเอาชนะน้องสุนัขพันธุ์แจ็ก รัสเซล เทอร์เรีย ผู้ท้าชิงที่ผ่านการสอนมาร่วมปีแต่ก็สู้น้องหมูไม่ได้

ฝีมือการเล่นเกมของแฮมเล็ตจึงกลายเป็นที่เลื่องลือ

จากการชนะในครั้งนั้นทำให้เกิดกระแสกระเพื่อมขึ้นมาว่า “หมูอาจจะฉลาดกว่าหมา”

และถ้าว่าตามจริง หมูอาจจะไม่ได้ฉลาดกว่าหมาทุกตัว อาจจะเป็นแค่หมาตัวนั้นก็ได้ เรื่องนี้คงต้องรอรีแมตช์เพื่อความชัดเจน แต่จวบจนถึงเวลานี้ แมตช์การประลองแก้มือยังไม่ถูกจัดขึ้น ผลสรุปว่าหมูเก่งกว่าหมาจริงๆ นั้นเร็วเกินไป

“หมูเป็นสัตว์ที่อยากรู้อยากเห็น ชอบสำรวจและเรียนรู้โลกใบใหญ่รอบตัวด้วยการเอาจมูกขนาดใหญ่ของพวกมันถูไถและดุนไปเรื่อยๆ” จอห์น เว็บสเตอร์ (John Webster) ศาสตราจารย์จากมหาวิทยาลัยบริสตอล (University of Bristol) ในประเทศอังกฤษกล่าว “พวกมันเหมือนเด็กเล็กๆ เลย”

งานวิจัยใหม่ล่าสุดที่เพิ่งจะลงตีพิมพ์เผยแพร่ในวารสาร Frontiers in Psychology ตอกย้ำว่า น้องหมูเป็นสัตว์ที่เฉลียวฉลาดแบบสุดๆ

และที่สำคัญ “พวกมันเล่นเกมเป็น แถมบางตัวเล่นเก่งราวกับเกมเมอร์”

ในเปเปอร์นี้ ทีมวิจัยของโครนี่ได้ออกแบบเกมที่มีความซับซ้อน เพื่อทดสอบระดับสติปัญญาของหมูน้อยธรรมดาว่าจะไม่ธรรมดาขนาดไหน

กฎของเกมก็คือ ต้องเลื่อนเคอร์เซอร์ไปชนเป้าหมายให้ได้ โดยเกมจะยากขึ้นเรื่อยๆ ตามด่าน

ซึ่งในด่านแรก จะมีเป้าหมายอยู่สี่ด้าน แค่เลื่อนเคอร์เซอร์ไปโดนด้านใดด้านหนึ่งก็ผ่านแล้ว และถ้าผ่านด่านไปได้ ขนมชิ้นเล็กๆ จะไหลออกมาเป็นรางวัลและขวัญกำลังใจในการเล่นต่อ

และหลังจากที่เคอร์เซอร์ไปชนถูกเป้าในด่านแรก ตัวเป้าเองจะค่อยๆ หายไป น้อยลงเรื่อยๆ เป็นสามด้าน สองด้าน และในท้ายที่สุดจะเหลือแค่เพียงด้านเดียว

ซึ่งหมูผู้เล่นจะต้องชนให้ถูกเป้า ไม่งั้นจะอดของกิน

สี่สหายสุกรจากเมืองลุงแซม ออมเล็ต (Omelet) แฮมเล็ต (Hamlet) ไอโวรี่ (Ivory) และอีโบนี่ (Ebony) คือข้อพิสูจน์ แม้จะไม่มีมือ แต่หมูน้อยทั้งสี่สามารถใช้จมูกดันจอยสติ๊กเล่นเกมได้อย่างคล่องแคล่ว ไม่ตะขิดตะขวงและฝ่าทุกด่านเก็บรางวัลกินไปได้อย่างอิ่มหนำ

“ชัดเจนว่าสัตว์เหล่านี้มีสติปัญญาและเข้าใจถึงพันธกิจที่ต้องทำ” แคนเดซ โครนี่ (Candace Croney) ผู้อำนวยการศูนย์วิทยาศาสตร์สวัสดิภาพสัตว์ (Center for animal welfare science) จากมหาวิทยาลัยเพอร์ดู (Purdue University) กล่าว

“การเล่นเกมแบบนี้นอกจากจะต้องใช้ความเข้าใจในเชิงคอนเซ็ปต์ ยังต้องมีทักษะในการควบคุม (จอยสติ๊ก) ที่ดีอีกด้วย”

แต่ไม่ใช่ว่าน้องหมูทั้งสี่จะสามารถทำโจทย์ได้อย่างถูกต้องทุกรอบ เพราะในความเป็นจริง ก็มีที่ผิดไปบ้างพอสมควร และถ้าเทียบกับพวกวานร สหายสุกรก็คงยังสู้ไม่ไหว แต่ถึงกระนั้นก็เถอะ ดูจากเปอร์เซ็นต์ความถูกต้อง พวกมันไม่ได้แค่เอาจมูกดุนๆ เขี่ยๆ จอยสติ๊กเล่นมั่วๆ แล้วฟลุกโดนอย่างแน่นอน

ถ้าเปรียบเทียบกันแบบแฟร์ๆ เกมแบบนี้ถือว่าไม่ยากในกรณีของวานรที่สามารถใช้มือควบคุมจอยสติ๊กได้อย่างง่ายดาย เพราะสำหรับสุกรแล้วนั้น เกมที่ใช้จอยสติ๊กแบบนี้คือความท้าทายที่ยิ่งใหญ่ ด้วยข้อจำกัดทางโครงสร้างร่างกาย พวกมันทำได้แค่เอาจมูกดุนๆ ดันๆ จอยสติ๊กเพื่อคุมทิศทาง ในขณะเดียวกันก็ยังต้องเหลือบมองจอเป็นระยะๆ เพื่อดูว่าเคอร์เซอร์เลื่อนไปถูกที่หรือเปล่าด้วย

แต่ที่ยากที่สุดก็คือ หมูเป็นสัตว์สายตายาว (far-sighted) การที่ต้องเล่นเกมในระยะประชิด ภาพที่มันเห็นในจอจึงอาจจะไม่ได้ชัดเจนมากนัก และนั่นทำให้ยากต่อการตีความซึ่งอาจนำไปสู่ความผิดพลาดเล็กๆ น้อยๆ ที่เห็นได้ในผลการทดลองก็เป็นได้

ด้วยเหตุนี้ ทางทีมวิจัยจึงยังไม่กล้าจะฟันธงชี้ชัดว่าลิงจะฉลาดกว่าหมูจริงหรือเปล่า แต่อย่างน้อยก็เห็นตรงกันได้ว่า “งานวิจัยนี้ได้แสดงให้เห็นแล้วว่าหมูเป็นสัตว์ที่ฉลาดเกินกว่าที่เราเคยคาดคิดกันไว้เยอะ”

“นี่มันไม่ค่อยแฟร์สำหรับหมู” เอมิลี่ เบเธล (Emily Bethell) จากมหาวิทยาลัยลิเวอร์พูล จอห์น มัวร์ส ให้สัมภาษณ์ “การทำการทดลองควรต้องถูกออกแบบใหม่เพื่อให้สมกับสภาพทางกายภาพของหมูที่เข้าร่วมด้วย”

และถ้าถามไปทางผู้วิจัย แคนเดซเผยว่า แผนถัดไปคือจะหาวิธีออกแบบ “นวัตกรรมระบบจอสัมผัสสำหรับหมู” ซึ่งอาจจะช่วยให้เธอและทีมวิจัยสามารถประเมินระดับสติปัญญาของน้องหมูได้แม่นยำมากยิ่งขึ้น

หนึ่งในสี่สุกรเกมเมอร์ในงานวิจัยของโครนี่ : Pensylvania State University)

กลยุทธ์แบบหมูๆ

จากหลักฐานที่เคยมีการศึกษามา หมูสามารถจดจำตัวเองในกระจกได้ แถมยังเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ ได้เร็วด้วย

ซูซาน เฮลด์ (Suzanne Held) จากมหาวิทยาลัยบริสตอล เผยว่า หมูเป็นพวกผู้เรียนแบบครั้งเดียว (one-trial learner) คือสอนแค่ครั้งเดียวก็พอ ไม่ต้องจ้ำจี้จ้ำไช หมูจะรู้แล้วว่าต้องทำอย่างไร

ที่สำคัญ ความฉลาดของพวกมันไม่ได้จำกัดอยู่แค่การเล่นเกมในคอมพิวเตอร์ เพราะในชีวิตจริง หมูก็รู้จักวางแผนเล่นเกมเป็นเหมือนกัน

และเพื่อให้เข้าใจพฤติกรรมการเรียนรู้และกระบวนการวางแผนแก้ปัญหาของหมู ไมก์ เมนเดล (Mike Mendel) จากมหาวิทยาลัยบริสตอล จึงได้ออกแบบเขาวงกต (maze) และปล่อยหมูเข้าไปข้างในทีละตัว โดยในรอบแรก จะปล่อยหมูเล็กเข้าไปก่อน เพื่อให้พวกมันได้มีโอกาสได้ตามหาถังที่มีอาหารอยู่ ซึ่งจะมีอยู่ถังเดียวและซ่อนอยู่ในเขาวงกตนั้น และเมื่อมันหาเจอ หมูเล็กก็จะกินได้อย่างอิ่มหนำ และจดจำตำแหน่งของถังได้

ไมก์พบว่า ในวันต่อๆ มา หมูเล็กที่รู้เส้นทางจะไม่วิ่งสะเปะสะปะ แต่จะตรงรี่ไปยังตำแหน่งของถังอาหารที่เคยอยู่แทบจะในทันที แสดงให้เห็นว่าพวกมันได้เรียนรู้แล้วว่าถังอาหารอยู่ตรงไหนในเขาวงกต

ในรอบที่สอง จะปล่อยหมูอีกตัวหนึ่ง ซึ่งตัวใหญ่กว่าที่ไม่เคยเห็นเขาวงกต ให้เข้าไปในเขาวงกตพร้อมๆ กับหมูเล็กที่รู้ทางแล้วด้วย

ในช่วงแรก หมูเล็กก็ยังคงจะตรงรี่เข้าไปยังพื้นที่ที่มีถังอาหารนั้นตั้งอยู่ได้อย่างรวดเร็ว ทว่าเรื่องนี้ยังไม่จบง่ายๆ แบบแฮปปี้เอนดิ้ง เพราะสิ่งที่หมูใหญ่ทำคือจะเกาะติด วิ่งตามหมูเล็กที่ดูจะรู้เส้นทางดีไปแบบไม่ยอมให้ทิ้งห่าง

ได้เปรียบในเรื่องขนาด พอเจอถังอาหาร หมูใหญ่ก็มักจะเบียดหมูเล็กออกมา แล้วแย่งอาหารในถังไปกินอย่างเบิกบานใจ

ลองจินตนาการถึงความเจ็บช้ำภายในลึกๆ ของหมูเล็กที่สู้อุตส่าห์นำพาหมูใหญ่ไปหาอาหาร แต่กลับถูกสนองคุณด้วยการแย่งอาหารกินจนหมด แบบนี้เข็ดอีกนาน

คำถามคือ หมูเล็กจะมีกลยุทธ์อะไรในการแก้ปัญหา

ในการทดลองครั้งต่อมา ไมก์พบว่า หมูเล็กแม้จะรู้เสียดิบดีว่าถังอาหารอยู่ตรงไหน แต่จะไม่พุ่งตรงไปหาอาหารอีกต่อไป แต่จะเดินเอ้อระเหยอยู่เหมือนไม่รู้ทาง ปล่อยให้หมูใหญ่เดินงงในเขาวงกต จากนั้นก็ได้เวลาของหมูเล็กแล้วสิ จะแอบเข้าไปกินตอนที่หมูใหญ่เผลอและเลิกเดินตามมัน

“การทดลองชี้ให้เห็นชัดว่ากระบวนการคิดของพวกมันลึกซึ้งมากๆ การจะรู้ได้ว่าในหัวของหมูตัวหนึ่งนั้นคิดอะไรอยู่เป็นสิ่งที่ซับซ้อนจริงๆ” ไมก์กล่าว

แต่แม้ว่าจะฉลาดเพียงไร หมูยังคงเป็นสัตว์อาหารที่เอร็ดอร่อยของหลายๆ คนซึ่งรับประทานกันอยู่ทั่วไป แม้ไขมันจะสูงไปหน่อยก็เถอะ

“ส่วนตัว ผมว่านักวิทย์ยังคงประเมินสติปัญญาของหมูและสัตว์อื่นๆ ในฟาร์มต่ำไป” คริสเตียน นาว์รอธ (Christian Nawroth) จากสถาบันไลบ์นิซเพื่อการศึกษาชีววิทยาปศุสัตว์ (Leibniz Institute for Farm Animal Biology) กล่าว

“เห็นได้ชัดว่ากระแสการศึกษากระบวนการรู้คิด (cognition) ของสัตว์ในฟาร์มนั้นกำลังจะย้อนมาอีกครั้ง และเราอาจจะได้ประหลาดใจกับทักษะการเรียนรู้สิ่งที่ซับซ้อนและกระบวนการพัฒนาการรู้คิดของพวกสัตว์ในฟาร์มในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า”

และเมื่อภาพจิ๊กซอว์ที่เว้าแหว่งนี้เริ่มเห็นเป็นภาพเด่นชัดขึ้น หมูอาจจะมีประโยชน์อื่นมากกว่าที่จะถูกยกเสิร์ฟมาในจานก็เป็นได้!