สิ่งแวดล้อม : เรียกหา ‘กม.อากาศสะอาด’/ทวีศักดิ์ บุตรตัน

ทวีศักดิ์ บุตรตัน

ทวีศักดิ์ บุตรตัน

[email protected]

 

เรียกหา ‘กม.อากาศสะอาด’

 

รัฐบาลใช้แผนปฏิบัติการแก้ฝุ่นพีเอ็ม 2.5 มาแล้ว 2 ปี แต่ประสบความล้มเหลว ปริมาณฝุ่นพิษสูงเกินค่ามาตรฐาน เป็นอันตรายต่อสุขภาพของประชาชน สื่อมวลชนตีแผ่ประเด็นนี้จนกลายเป็นข่าวซ้ำซากเหมือนกันทุกปี ฉะนั้น รัฐบาลน่าจะพิจารณาตัวเองว่าควรจะมีการบังคับใช้กฎหมายที่มีความเข้มข้นเด็ดขาดมากกว่านี้

เป็นที่รู้กันอยู่ว่ามาตรการแก้ปัญหาฝุ่นที่ออกมานับเป็น 10 ข้อนั้นใช้ไม่ได้ผล เป็นเพราะตัวปัญหาหลักที่ทำให้ฝุ่นพิษมีปริมาณสูงเกินมาตรฐานมาจากรถยนต์ โรงงานอุตสาหกรรม การเผาเศษวัสดุทางเกษตรและไฟป่า

ตราบใดที่รัฐบาลยังปล่อยให้รถยนต์วิ่งกันโครมๆ ในช่วงวิกฤตจราจรตั้งแต่เช้าจรดเย็น โดยไม่มีมาตรการอื่นมารองรับ นักธุรกิจอุตสาหกรรมปล่อยควันดำๆ ผ่านปล่องโรงงาน ชาวไร่ชาวนาจุดไฟเผาฟางข้าว ชานอ้อย ฯลฯ ฝุ่นพิษฟุ้งปกคลุมเมืองต่อไป

ในหลายๆ ประเทศใช้มาตรการคลี่คลายการจราจรในช่วงเวลาแออัด เช่น กำหนดให้รถยนต์ทีมีเลขทะเบียนคู่วิ่งในวันคู่ เลขทะเบียนคี่วิ่งในวันคี่ จะทำให้ปริมาณการใช้รถยนต์บนถนนลดลงอย่างเห็นได้ชัด นั่นเท่ากับลดปริมาณการปล่อยก๊าซพิษและฝุ่นพิษในชั้นบรรยากาศ

บางประเทศใช้มาตรการที่เข้มขึ้นยิ่งไปกว่านั้น นั่นคือกำหนดเป็นโซนๆ โซนที่อยู่อาศัย โซนอุตสาหกรรม โซนธุรกิจ

ในแต่ละโซนจะมีกฎข้อบังคับชัดเจน รถยนต์ทุกคันต้องขึ้นทะเบียนการเข้าไปในโซนนั้นๆ อาจเป็นระบบคูปองหรือเสียภาษีเป็นรายเดือน รายปี และตรวจสอบด้วยสัญญาณเซ็นเซอร์

รถคันไหนไม่ติดตั้งอุปกรณ์เซ็นเซอร์ ถ้าเข้าไปในเขตดังกล่าวจะเจอใบสั่งปรับในอัตราที่สูงมาก

 

มาตรการกำจัดรถยนต์เก่าและการควบคุมปริมาณการปล่อยควันพิษ ประเด็นนี้ในประเทศรวยๆ หรือประเทศที่ผลิตรถยนต์ได้เองใช้กันมานานแล้ว เพราะเป็นที่รู้กันว่า รถยนต์เก่า เครื่องยนต์ใช้งานมานานจะปล่อยควันพิษสูงกว่ารถใหม่

การออกกฎรถยนต์มีอายุใช้ได้ไม่เกิน 5 ปี ถ้าต้องการใช้ให้นานกว่านั้นต้องเสียภาษีแพงขึ้น นี่เป็นเกณฑ์มาตรฐาน

แต่ในบ้านเรา ประเด็นนี้ถกเถียงกันไม่จบเพราะยังมีคนจำนวนมากใช้รถยนต์เก่า เนื่องจากไม่มีเงินเพียงพอไปดาวน์หรือซื้อรถคันใหม่

มีผลสำรวจพบว่า ในปี 2550 ปริมาณรถเก่าอายุตั้งแต่ 11 ปี มี 7 ล้านคัน แต่มาถึงปี 2562 เพิ่มเป็นทวีคูณ เป็น 14 ล้านคัน

อีกประเด็นที่ต่อเนื่อง คือบ้านเรายังปล่อยให้รถบรรทุกขนาดเล็กใช้มาตรฐานการปล่อยไอเสียยูโร 4 (EUROPEAN EMISSION STANDARDS) และรถบรรทุกขนาดใหญ่ ใช้มาตรฐานยูโร 3

ขณะที่ประเทศอื่นๆ เช่นจีนขยับไปใช้มาตรฐานยูโร 5 ส่วนกลุ่มประเทศสหภาพยุโรปใช้ยูโร 6 กันแล้ว

รัฐบาลเพิ่งมาเห็นปัญหาฝุ่นพิษเป็นเรื่องใหญ่และกำหนดให้เป็นวาระแห่งชาติ จึงพลิกเอาเรื่องมาตรฐานยูโรมาปัดฝุ่นกันใหม่ กำหนดให้ใช้ยูโร 5 ภายในปี 2564 และยูโร 6 ภายในปี 2565

พร้อมกับกำหนดใช้มาตรฐานน้ำมันเชื้อเพลิงมีกำมะถันไม่เกิน 10 พีพีเอ็ม (ppm หรือส่วนต่อล้านส่วน) ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2567

แต่ปรากฏว่ากลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ สภาอุตสาหกรรม ยื่นเรื่องร้องเรียนกับรัฐบาลขอให้ขยับเวลาการกำหนดมาตรฐานยูโร 5 ออกไปก่อน

จากเดิมรถยนต์ที่ขายตั้งแต่ปี 2564 เป็นต้นไป ต้องผ่านมาตรฐานระดับยูโร 5 และปี พ.ศ.2565 เป็นยูโร 6 ทั้งรถเก๋ง ปิกอัพ และรถบรรทุกขนาดใหญ่ โดยอ้างเหตุผลว่าการพัฒนาและปรับเปลี่ยนเครื่องยนต์จำเป็นต้องใช้เม็ดเงินในการลงทุนอีกมหาศาล ที่สำคัญการพัฒนามาตรฐานรถยนต์และมาตรฐานนํ้ามันควรจะไปควบคู่กัน

ขณะที่กลุ่มโรงกลั่นน้ำมันก็อ้างยังไม่พร้อมในการผลิตน้ำมันตามมาตรฐานดังกล่าว อันเป็นผลจากวิกฤตโควิดมีการล็อกดาวน์ปิดสนามบิน ทำให้ผู้เชี่ยวชาญจากต่างประเทศเข้ามาประเทศไทยเพื่อตรวจงานปรับปรุงโรงกลั่นไทยไม่ได้

อีกทั้งการลงทุนทุกโรงกลั่นมูลค่ารวมกว่า 5 หมื่นล้านบาทต้องล่าช้าออกไป

ปรากฏว่าคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ มีความเห็นชอบให้เลื่อนมาตรฐานไอเสียรถยนต์ ยูโร 5 ยูโร 6 ออกไป ยูโร 5 เลื่อนออกไปเป็นปี 2567 (เดิม พ.ศ.2564) และยูโร 6 เป็นปี 2568 (เดิม พ.ศ.2565) หรือขยับช้าออกไปอีก 3 ปี ส่วนมาตรฐานนํ้ามันยูโร 5 ยังคงเดิมที่ 1 มกราคม 2567

 

เมื่อเป็นเช่นนี้ ประเทศไทยจะจมอยู่กับปัญหาฝุ่นพิษอีกต่อไปไม่น้อยกว่า 3 ปี

โดยเฉพาะชาวกรุงเทพมหานครจะต้องเจอกับฝุ่นพีเอ็ม 2.5 อีกยาวเลยเนื่องจากรถบรรทุกที่ใช้มาตรฐานยูโร 3 และยูโร 4 จดทะเบียน กทม.มีไม่น้อยกว่า 10 ล้านคัน

มองภาพรวมแล้ว มาตรการแก้ฝุ่นพิษของรัฐบาลยังคงงมโข่ง ไม่สามารถบรรลุเป้าหมายได้แน่

จึงเห็นด้วยกับกลุ่มนักธุรกิจและประชาชนที่ร่วมสนับสนุนให้รัฐบาลผลักดันร่างพระราชบัญญัติการบริหารจัดการเพื่ออากาศสะอาด พ.ศ. …

เหตุผลสำคัญที่เสนอร่างกฎหมายฉบับดังกล่าวเพราะเห็นว่าปัญหามลพิษทางอากาศกระทบต่อสิ่งมีชีวิตทุกชีวิตรุนแรงมากขึ้นติดต่อกันเป็นระยะเวลานาน มีสาเหตุจากระบบการขนส่ง โรงงานอุตสาหกรรมเขตพื้นที่ก่อสร้าง การเผาในที่โล่ง

ฝุ่นพิษไม่เพียงกระทบต่อสุขภาพ แต่ยังเป็นภาระด้านงบประมาณในด้านสุขภาพ สร้างความเสียหายต่อธุรกิจท่องเที่ยว ภาพลักษณ์ของประเทศที่สะท้อนถึงความล้มเหลวในการจัดการแก้ไขปัญหา ทั้งหมดล้วนแต่เชื่อมโยงต่อเศรษฐกิจภาพรวมของประเทศ

ร่างกฎหมายฉบับนี้ส่งถึงมือประธานสภาผู้แทนราษฎรแล้ว รายละเอียดเป็นอย่างไรค่อยมาว่ากันต่อ