ไทม์เอาต์ / SearchSri /’โควิด’ กับวิถีใหม่ที่ยังไม่ลงตัว

Fans watch as Serena Williams of the US hits a return against Russia's Anastasia Potapova during their women's singles match on day five of the Australian Open tennis tournament in Melbourne on February 12, 2021. (Photo by William WEST / AFP) / -- IMAGE RESTRICTED TO EDITORIAL USE - STRICTLY NO COMMERCIAL USE --

ไทม์เอาต์/SearchSri

‘โควิด’ กับวิถีใหม่ที่ยังไม่ลงตัว

 

เป็นเวลาร่วม 1 ปีแล้วที่ทั่วโลกต่างได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัส *โควิด-19* ซึ่งจนถึงขณะนี้แม้คนส่วนใหญ่จะเริ่มปรับตัวให้เข้ากับวิถี “นิวนอร์มอล” ได้แล้ว แต่ก็ยังไม่สามารถกลับไปดำเนินชีวิตได้ตามปกติ

สำหรับวงการกีฬาโลก ช่วงหลังๆ อาจจะเริ่มปรับตัวหรือวางมาตรการต่างๆ เพื่อผลักดันให้การแข่งขันต่างๆ เดินหน้าตามโปรแกรม แต่ก็ใช่ว่าทุกอย่างจะราบรื่น

ปัญหาหลักของการจัดการแข่งขันกีฬาเวลานี้คือ มาตรการการควบคุมโรคระบาดของรัฐบาลประเทศต่างๆ ซึ่งมีความเข้มงวดแตกต่างกันไป

ส่งผลให้การเดินทางไปแข่งขันข้ามประเทศเป็นไปอย่างยากลำบาก

 

เช่น แมตช์แข่งขันฟุตบอลยุโรปทั้งยูฟ่า แชมเปี้ยนส์ลีก และยูโรป้าลีก รอบ 16 ทีมสุดท้าย หลายแมตช์ต้องย้ายสนามแข่ง โดยเฉพาะสโมสรจากพรีเมียร์ลีก อังกฤษ เนื่องจากรัฐบาลของเยอรมนีและสเปนยังไม่อนุญาตให้ผู้เดินทางจากประเทศกลุ่มเสี่ยงที่มีการแพร่ระบาดสูงหรือมีการกลายพันธุ์ของไวรัสโควิด-19 เข้าประเทศ ทำให้ต้องย้ายไปเตะสนามกลางในประเทศอื่น อาทิ อิตาลี ฮังการี แทน

หรืออย่างการแข่งขันฟอร์มูล่าวันฤดูกาลใหม่ก็ต้องเปลี่ยนแปลงโปรแกรมแข่งขันกะทันหัน โดยเลื่อนการแข่งขัน *ออสเตรเลียน กรังด์ปรีซ์* ที่ประเทศออสเตรเลีย ซึ่งเดิมกำหนดให้เป็นรายการเปิดฤดูกาลในเดือนมีนาคม ไปแข่งช่วงเดือนพฤศจิกายนแทน

เนื่องจากรัฐบาลออสซี่มีกฎเข้มงวดให้ผู้เดินทางเข้าประเทศต้องกักตัว 14 วันก่อนจึงจะดำเนินกิจกรรมต่างๆ ได้ ขณะที่โปรแกรมทดสอบสนามกระชั้นเข้ามาแล้ว จึงต้องเปลี่ยนไปแข่งศึก *บาห์เรน กรังด์ปรีซ์* ที่บาห์เรน เป็นสนามแรกแทน

มาตรการกักตัวของออสเตรเลียดังกล่าวยังส่งผลโดยตรงกับการแข่งขันเทนนิสแกรนด์สแลม *ออสเตรเลียน โอเพ่น* ซึ่งต้องเลื่อนโปรแกรมแข่งขันออกไป 3 สัปดาห์ จากกำหนดการเดิมช่วงกลางเดือนมกราคมไปเป็นวันที่ 8 กุมภาพันธ์ โดยฝ่ายจัดการแข่งขันส่งเครื่องบินเช่าเหมาลำ 17 เที่ยวบินไปรับนักกีฬา สตาฟฟ์โค้ช และเจ้าหน้าที่จากทั่วโลก เพื่อไปกักตัวเป็นเวลา 14 วัน ก่อนได้รับอนุญาตให้ทำการแข่งขันได้

ฝ่ายจัดยอมผ่อนผันให้นักกีฬาสามารถไปซ้อมที่สนามได้วันละไม่เกิน 5 ชั่วโมง และอนุญาตให้นักกีฬาแต่ละคนมีทีมงานประกบไปไหนมาไหนด้วยไม่เกิน 1 คน

ช่วงแรกเกิดปัญหาขลุกขลักเนื่องจากพบผู้ติดเชื้อโควิด 5 รายจาก 3 เที่ยวบิน จึงต้องกักตัวแบบเข้มงวดนักกีฬา สตาฟฟ์ และเจ้าหน้าที่หลายร้อยชีวิต ในจำนวนนี้เป็นนักกีฬา 72 ราย โดยทั้งหมดนี้ห้ามออกจากห้องพักโรงแรม 24 ชั่วโมง เป็นเวลา 14 วัน ทำให้ไม่ได้ซ้อมเลย

ขณะที่บางคนก็โวยว่า การบริหารจัดการที่พักไม่ได้มาตรฐาน บ้างได้ห้องพักกว้าง มีเครื่องออกกำลังกายในตัว บางห้องพักแคบ ไม่สามารถบริหารร่างกายในห้องได้

ซึ่งเสียงบ่นเหล่านี้โดนวิจารณ์จากสื่อและนักการเมืองท้องถิ่นว่า นักกีฬาเคยชินกับอภิสิทธิ์และเรียกร้องแบบเห็นแก่ตัวมากเกินไป

 

พอเริ่มการแข่งขันก็เกิดปัญหาอีก เมื่อรัฐบาลรัฐวิกตอเรียสั่งล็อกดาวน์ฉุกเฉิน 5 วัน หลังพบผู้ติดเชื้อโควิดที่โรงแรมสนามบินของเมลเบิร์น (ซึ่งไม่เกี่ยวข้องกับนักกีฬา) ทำให้จากเดิมที่อนุญาตให้ผู้ชมเข้าสนามแบบจำกัดจำนวน ต้องปิดสนามแข่ง แล้วจึงกลับมาเปิดใหม่เมื่อพ้นการล็อกดาวน์ไปแล้ว

ขณะที่ฝั่งนักกีฬาก็มีเสียงสะท้อนว่า ผลจากการต้องกักตัวเป็นเวลานาน แทบไม่ได้ซ้อม จึงทำให้ร่างกายไม่ฟิตสมบูรณ์เท่าที่ควร เกิดปัญหาบาดเจ็บทั้งก่อนและระหว่างแข่งขันถ้วนหน้า ไม่ว่าจะเป็น *โนวัก โยโควิช, ราฟาเอล นาดาล, อังเกลิค แคร์เบอร์, มัตเตโอ แบร์เรตตินี่, กริกอร์ ดิมิตรอฟ*

สุดท้าย โนเล่ นักหวดมือ 1 โลกต้องออกมาบ่นผ่านสื่อว่า ได้คุยกับนักเทนนิสหลายคน เสียงส่วนใหญ่บอกว่า ถ้าต้องใช้วิธีการแบบนี้ คือต้องกักตัว 14 วันก่อนแข่งรายการใดๆ อีก ก็อาจจะไม่ไปแข่งขัน เพราะไม่เป็นผลดีกับสุขภาพกายและใจของนักกีฬา

หนึ่งในข้อเสนอแนะจากฝั่งนักกีฬาคือ ให้ลองพิจารณาแนวทางของลีกบาสเกตบอล *เอ็นบีเอ* ฤดูกาลก่อนซึ่งจัดพื้นที่ควบคุม หรือ “บับเบิล” ที่ดิสนีย์ เวิลด์ รีสอร์ต รัฐฟลอริดา ให้นักกีฬาเข้าพักและแข่งขันจนจบการแข่งขัน เพื่อจำกัดการเดินทาง

เป็นแนวทางคล้ายๆ กับการที่ไทยเราเป็นเจ้าภาพแบดมินตัน 3 รายการใหญ่ติดต่อกันเมื่อเดือนที่แล้ว ซึ่งถึงช่วงแรกจะขลุกขลักไปบ้าง แต่สุดท้ายก็ผ่านพ้นไปด้วยดี

นี่อาจเป็นวิถี “นิวนอร์มอล” สำหรับกีฬาประเภทบุคคลที่ต้องทัวร์แข่งขันไปตามประเทศต่างๆ ซึ่งวงการกีฬาโลกอาจต้องปรับตัวกันอีกครั้ง