การเสียชีวิตของวิชา รัตนภักดี กับปัญหาเหยียดผิวในสังคมอเมริกัน / บทความต่างประเทศ

บทความต่างประเทศ

 

การเสียชีวิตของวิชา รัตนภักดี

กับปัญหาเหยียดผิวในสังคมอเมริกัน

 

เมื่อวันที่ 28 มกราคมที่ผ่านมา วิชา รัตนภักดี ชาวไทยวัย 84 ปี จู่ๆ ถูกคนร้ายผลักอย่างแรงจนล้มลงกระแทกพื้นปูนซีเมนต์ ขณะเดินอยู่ริมถนนแอนซาวิสต้า เมืองซานฟรานซิสโก รัฐแคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา จนนายวิชาได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิตในเวลาต่อมา

เหตุการณ์สลดที่เกิดขึ้นกับนายวิชา ไม่ใช่อุบัติเหตุหรือฝีมือของวัยรุ่นคึกคะนองธรรมดา แต่มันสะท้อนปัญหาเกี่ยวกับการ “เหยียดผิว” เหยียดเชื้อชาติ ที่เกาะกินสังคมอเมริกันมาอย่างยาวนาน และคดีของนายวิชาก็เป็นชนวนให้สหรัฐอเมริกาทั้งประเทศหันมาสนใจปัญหาความเกลียดชังที่มีต่อคนเชื้อสายเอเชียมากขึ้น

หลังเกิดเหตุสลดกับนายวิชาไม่นาน วันที่ 30 มกราคม เกิดเหตุชายชาวเอเชียวัย 91 ปีถูกผลักล้มลงในย่านไชน่าทาวน์ เขตโอ๊กแลนด์ ซานฟรานซิสโก ได้รับบาดเจ็บ

3 กุมภาพันธ์ ชายชาวฟิลิปปินส์วัย 61 ปี ในนิวยอร์ก ถูกชายแปลกหน้าตบเข้าที่ใบหน้าอย่างแรง ขณะโดยสารรถไฟใต้ดินโดยไม่มีใครสนใจเข้ามาช่วยเหลือ

ไม่เฉพาะผู้สูงอายุเท่านั้น แต่หญิงไทยในนิวยอร์กอีกคนก็โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊กเช่นกันว่า เคยถูกชายผิวสีชกเข้าที่หน้าอย่างจังขณะกำลังขับสกู๊ตเตอร์ในละแวกบ้านจนล้มคว่ำได้รับบาดเจ็บ เมื่อวันที่ 19 มกราคมด้วยเช่นกัน

 

คดีอาชญากรรมจากความเกลียดชังและเหยียดผิวลักษณะนี้ไม่ได้ถูกพูดถึงมากนักก่อนหน้านี้

แต่กรณีของนายวิชา กลายเป็นข่าวโด่งดังไปทั่วโลก

คนดังอย่างเจมมา ชาน นักแสดงชาวอังกฤษ ปารีส ฮิลตัน เซเลบดังชาวอเมริกัน แดเนียล แด คิม นักแสดงเกาหลี-อเมริกัน และแดเนียล วู นักแสดงดังและผู้กำกับฯ ดังก็แชร์เรื่องราวของนายวิชาจนเกิดกระแสแฮชแท็ก #AsianAreHuman

รวมถึง #JusticeForVicha ติดเทรนด์ในทวิตเตอร์ในช่วงเวลานั้น

ข่าวการเสียชีวิตของนายวิชาและปัญหาการเหยียดชาวเอเชียถูกนำเสนอผ่านสื่อกระแสหลักจนผู้นำระดับท้องถิ่นออกมาประณามพฤติกรรมดังกล่าวอย่างจริงจัง

มีการส่งเจ้าหน้าที่ตำรวจลงพื้นที่ลาดตระเวนในชุมชนชาวเอเชียมากขึ้น

โดยเฉพาะในช่วงเวลาของการเฉลิมฉลองเทศกาลตรุษจีนที่ผ่านมา

 

ปัญหาอาชญากรรมจาก “ความเกลียดชัง” การ “เหยียดผิว” หรือ “เหยียดเชื้อชาติ” นั้นมีมาอย่างยาวนานในสังคมอเมริกัน

หลังเหตุการณ์ 9/11 เหตุกลุ่มก่อการร้ายใช้เครื่องบินพุ่งชนตึกเวิลด์เทรดเซ็นเตอร์จนถล่ม มีผู้เสียชีวิตจำนวนมาก ทำให้เกิดคดีอาชญากรรมจากความเกลียดชังและเหยียดเชื้อชาติชาวเอเชียเพิ่มสูงขึ้น โดยเฉพาะกับชาวตะวันออกกลาง คนนับถือศาสนาอิสลาม ศาสนาซิกข์ รวมถึงชาวเอเชียใต้ เป็นต้น

แต่เหตุการณ์ล่าสุดนี้กระแสความเกลียดชังกลับพุ่งเป้ามาที่ “ชาวเอเชียตะวันออก” และเป็นที่ชัดเจนว่าปรากฏการณ์นั้นมีขึ้นพร้อมๆ กับการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ตั้งแต่ช่วงปลายปี 2019 ที่ผ่านมา

จากการเก็บสถิติคดีอาชญากรรมเกี่ยวกับความเกลียดชังและเหยียดเชื้อชาติชาวเอเชียและเกี่ยวข้องกับโควิด-19 ในช่วงปี 2020 ที่ผ่านมาจะพบว่าสถิติคดีสูงขึ้นอย่างก้าวกระโดด หากนับเฉพาะเดือนมีนาคมและเดือนกันยายนปีก่อน พบคดีลักษณะนี้มากถึง 2,500 คดีทั่วประเทศ

และตัวเลขนี้ย่อมน้อยกว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจริง เนื่องจากส่วนใหญ่ไม่ได้ถูกนำมาแจ้งความดำเนินคดีนั่นเอง

 

หากนับสถิติในนิวยอร์กที่เดียวในปี 2020 มีจำนวนมากถึง 259 คดี ที่มีการรายงานผ่านศูนย์ Stop AAPI Hate ศูนย์รายงานคดีที่เกี่ยวข้องกับการเหยียดชาวเอเชีย โดยในจำนวนคดีที่มีการรายงานนั้น เป็นการคุกคามตั้งแต่การใช้คำพูดด่าทอ การถูกหลบเลี่ยง เช่น การปฏิเสธให้บริการแท็กซี่ การทำร้ายร่างกาย รวมถึงการถูกไอใส่ หรือถ่มน้ำลายใส่ เป็นต้น

นอกจากนี้ ยังพบว่าสถิติการเกิดคดีที่เกี่ยวข้องกับการเหยียดผิวนั้นพุ่งขึ้นอย่างก้าวกระโดดหลังเกิดการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 จากรายงานของตำรวจนครนิวยอร์กพบว่า ระหว่างวันที่ 1 มกราคม ถึง 1 พฤศจิกายน 2020 มีอาชญากรรมจากความเกลียดชังที่เกี่ยวข้องกับโควิด-19 มากถึง 24 คดี และเพิ่มสูงขึ้นจากคดีที่เกิดกับคนเอเชียในปีก่อนหน้าถึง 8 เท่าตัว

ความเกลียดชังที่เกิดขึ้นกับชาวเอเชียในสหรัฐอเมริกา ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการแพร่ระบาดของทฤษฎีสมคบคิดจากข่าวปลอมเรื่องการสร้างเชื้อไวรัสโคโรนาชนิดใหม่เพื่อใช้เป็นอาวุธชีวภาพโจมตีกันระหว่างสหรัฐและจีน

ขณะที่โดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐก็เติมเชื้อไฟเข้าไปในสังคมอเมริกันด้วยการเรียกโคโรนาไวรัสชนิดใหม่ว่า “ไวรัสอู่ฮั่น” ตามชื่อเมืองในจีนที่เกิดการแพร่ระบาดขึ้นเป็นแห่งแรกของโลก

ความพยายามในการโจมตีจีนของทรัมป์ไม่ได้ส่งผลในเชิงการเมืองอย่างเดียว แต่ส่งผลสะท้อนสู่สังคมและชุมชนชาวเอเชียในสหรัฐอเมริกา

 

ปัญหาเหยียดเชื้อชาติทวีความรุนแรงขึ้นจนโจ ไบเดน ประธานาธิบดีสหรัฐคนปัจจุบันนำมาใช้เป็นนโยบายหาเสียง

และล่าสุดหลังรับตำแหน่ง ไบเดนได้ลงนามในคำสั่งประธานาธิบดี ให้ทุกหน่วยงานแก้ไขปัญหาการเหยียดผิวในสังคมโดยเฉพาะกับชาวเอเชียในสหรัฐอเมริกาเป็นเรื่องแรกๆ

ยังคงตอบไม่ได้ว่า ปัญหาอาชญากรรมจากการเหยียดเชื้อชาติชาวเอเชียในสหรัฐอเมริกา จะเบาบางลงหรือไม่ แต่อย่างน้อย คดีของนายวิชาก็ทำให้ประเด็นปัญหานี้ถูกหยิบยกขึ้นมาถกเถียงมากขึ้น

ขณะที่นายอองตวน วัตสัน ผู้ถูกตั้งข้อหาฆาตกรรมนายวิชาก็ถูกศาลปฏิเสธการประกันตัวระหว่างการดำเนินคดี และหวังว่าระบบยุติธรรมสหรัฐจะนำความยุติธรรมมาให้กับคุณปู่วิชาผู้ล่วงลับได้ในที่สุด

รูปอยู่ใน weekly/ต่างประเทศ ชื่อไฟล์ ภาพประกอบบทความต่างประเทศ2-17ก.พ.64