เรื่องของชาวบ้าน คืองานของ ‘ลิง’ / ทะลุกรอบ ป๋วย อุ่นใจ

ดร. ป๋วย อุ่นใจ

ทะลุกรอบ

ป๋วย อุ่นใจ

 

เรื่องของชาวบ้าน

คืองานของ ‘ลิง’

 

เพราะ “เรื่องของชาวบ้านคืองานของเรา” จึงหยุดไม่ได้ที่จะอยากรู้เรื่องของคนอื่นๆ

บางทีความอยากรู้อยากเห็นนี่ก็ห้ามยากนะครับ!

พึ่งเปิดตัวกันไปแบบสุดเอ็กซ์คลูซีฟ กับ Clubhouse แอพพ์ใหม่ที่หลายๆ คนยังใฝ่หาอินไวต์เข้าร่วมเพื่อไปแอบฟังคนอื่นเขาเม้ากันอย่างสนุกสนาน

การได้นั่งฟังอีลอน มัสก์ (Elon Musk) มาร์ก ซักเคอร์เบิร์ก (Marc Zuckerberg) หรือ influencer ที่เราเป็นติ่งอยู่มาเล่าไอเดียใหม่ๆ ให้ฟังกันแบบสดๆ น้ำเสียง โทนเสียง อารมณ์มาแบบจัดเต็มก็เป็นเรื่องที่น่าตื่นตา ตื่นใจและตื่นหูอยู่ไม่น้อย

ประมาณเหมือนกับเราได้แอบไปฟังคนเขาคุยกัน อารมณ์แนวๆ เพื่อนบ้านชอบจุ้น แอบฟังเรื่องราวแล้วลุ้นไปจิ้นได้ร้อยแปด แต่ที่จริงอาจจะไม่มีอะไร

 

พฤติกรรมชอบแอบฟังเรื่องชาวบ้านนั้นไม่ได้พบแค่เพียงแต่ในคนเท่านั้น แม้แต่ในสัตว์ก็พบอยู่เหมือนกัน

เพราะเจ้าลิงมาร์โมเสต (Marmoset) ตัวจิ๋วจ้อยจากแถบตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศบราซิล ในทวีปอเมริกาใต้ ที่มีขนาดเพียงแค่สองขีดครึ่งนั้นมีพฤติกรรมที่สลับซับซ้อนมากมายคล้ายมนุษย์

และที่น่าสนใจที่สุดก็คือพวกมันถือคติ “รู้เขารู้เรา รบร้อยครั้งชนะร้อยครั้ง” ไม่ต่างจากคน (บางคน) เลย

ผลงานวิจัยที่พึ่งตีพิมพ์ในวารสาร Science Advances เมื่อเดือนต้นเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา นั้นแสดงให้เห็นว่ามาร์โมเสตสามารถเข้าใจบทสนทนาของเพื่อนลิงได้เป็นอย่างดี แม้จะไม่ได้เห็นหน้าค่าตาก็ตาม

อีกทั้งยังตัดสินเองเลยว่าสหายกลุ่มนี้น่าคบหา หรือจะกลายเป็นตัวดราม่าที่น่าจะอยู่ให้ห่างๆ

“งานวิจัยนี้เจ๋งมาก เพราะมันทำให้เราสามารถเข้าใจว่าเกิดอะไรขึ้นในสัตว์พวกนี้” ซอนย่า คอสกี (Sonia Koski) นักมานุษยวิทยาวิวัฒนาการ จากมหาวิทยาลัยเฮลซิงกิ (University of Helsinki) กล่าว

“จมูกคือสิ่งที่บ่งบอกอารมณ์ อุณหภูมิจมูกของมาร์โมเสตจะลดลงเมื่อพวกมันเครียดหรือหวั่นวิตก” ราเฮล บรู๊กเกอร์ (Rahel Br?gger) นักวิจัยระดับปริญญาเอก จากมหาวิทยาซูริก (University of Zurich) เผย

“เพราะตามหลักแล้วการเปลี่ยนแปลงอารมณ์จะเกิดขึ้นพร้อมๆ กับการเปลี่ยนแปลงในระบบประสาทอัตโนมัติ (autonomous nervous system, ANS) ซึ่งควบคุมการไหลของกระแสเลือดภายใต้ผิวหนังในระหว่างการตอบสนองแบบสู้หรือหนี (fight or flight) – ซึ่งจะมีการหลั่งอะดรีนาลินออกมาทำให้ซู่ซ่า พลุ่งพล่าน – ซึ่งจะทำให้อุณหภูมิใต้ผิวหนังในบางบริเวณที่เลือดเปลี่ยนทิศไปนั้นลดลงได้”

ทีมวิจัยตัดสินใจทำแผนที่อุณหภูมิบนใบหน้าของมาร์โมเสตด้วยกล้องจับภาพความร้อนอินฟราเรด (infrared thermography) ซึ่งก็คือการสแกนอุณหภูมิใบหน้าน้องลิง เหมือนกับการใช้กล้องส่องดูอุณหภูมิคนเดินเข้าห้างตรวจโควิดยังไงยังงั้น

ซึ่งก็จะโฟกัสที่จมูกเป็นหลัก เพราะว่าไม่มีขนปกคลุม

 

ปรากฏว่า จากลิงมาร์โมเสตกว่า 20 ตัวที่ราเฮลได้ทดลอง ลิงส่วนใหญ่จะสนใจและตอบสนองต่อเสียงงึมงำ เสียงคุยกันที่อัดมาจากลิงหลายตัว มากกว่าแค่เสียงเรียกธรรมดาจากลิงเดี่ยว

ซึ่งน่าสนใจมาก เพราะนั่นอาจจะหมายความว่าพวกมันอาจจะเข้าใจและอยากรู้อยากเห็นว่าลิงอื่นเขาคุยอะไรกันก็เป็นได้

เพื่อให้เห็นชัดเจนว่าน้อนนนน สามารถเข้าใจเรื่องชาวบ้านได้จริงๆ ไม่ได้แค่สุ่มสี่สุ่มห้าอินไปตามอารมณ์ ลิงมาร์โมเสตที่ฟังเสียงเสร็จแล้ว จะถูกฝึกให้เลือกไปต่อหรือเดินกลับ โดยให้เลือกระหว่างสองประตู

ประตูหนึ่งจะพาน้อนนนนย้อนกลับไปในห้องที่มันเคยอยู่อย่างแฮปปี้

ในขณะที่อีกประตูจะพาน้อนนนนไปสู่ห้องกระจกที่ซ่อนลำโพงกระจายเสียงที่พึ่งจะเปิดบทสนทนาให้พวกมันได้ฟังกันสดๆ ร้อนๆ

การตัดสินใจของน้องลิง น่าตื่นเต้นมาก ชัดเจนว่าพวกมันสามารถเข้าใจบริบทของบทสนทนาได้เป็นอย่างดี และพวกมันเลือกตัดสินลิงทันทีจากบทสนทนาที่พวกมันได้ยิน

พวกลิงจะเลือกเข้าไปในห้องกระจกเมื่อได้ยินบทสนทนาเชิงบวก เช่น เสียงเมาธ์ชวนพอตลักก์ potluck) – แชร์อาหารกินกัน (food-sharing call) และเมื่อมันได้เห็นตัวเองในกระจก พวกมาร์โมเสตส่วนใหญ่จะเข้าไปตีสนิทกับภาพสะท้อนของตัวเอง แนวว่าอยากคบค้าสมาคมด้วยในแทบจะทันที เพราะคิดว่าคือลิงต้นเสียง เนื่องจากมาร์โมเสตนั้นยังไม่สามารถจดจำภาพสะท้อนของตัวเองในกระจกได้

และแทบจะไม่สนใจที่จะเข้าไปเลยในห้องที่เคยเปิดบทสนทนาที่โหวกเหวกโวยวายแสดงถึงความก้าวร้าวหรือการแข่งขัน

และนั่นหมายความว่าที่น้อนนนนไปแอบฟังเขามา น้อนนนนฟังเขาคุยกันรู้เรื่อง

โดยปกติแล้ว มาร์โมเสตมักอยู่ร่วมกันเป็นครอบครัวใหญ่ หรือบางคนจะเรียกว่าเป็นครอบครัวขยาย (extended family) ซึ่งจะอยู่รวมกันตั้งแต่ปู่-ย่า ตา-ยาย ลุง-ป้า น้า-อา ญาติโกโหติกา อยู่ร่วมหัวจมท้ายด้วยกันหมด ซึ่งโดยเฉลี่ยแล้วครอบครัวหนึ่งก็จะมีลิงอยู่ราวๆ 15 ตัว คอยอยู่ด้วยกัน กินด้วยกัน สังสรรค์กันตลอด

แต่ในครอบครัวขยายใหญ่โตนี้ จะมีมาร์โมเสตโชคดีที่ได้มีคู่ตุนาหงัน (Breeder) เพียงแค่หนึ่งถึงสองคู่เท่านั้นที่จะผสมพันธุ์ให้ลูก-หลานทายาทลิงน้อยออกมาได้

ส่วนที่เหลือจะเป็นลิงโสด ซึ่งจะทำหน้าที่เป็นหน่วยสนับสนุน หรือในเปเปอร์นี้จะเรียกว่าตัวช่วย (helper) ที่จะมีความเสียสละ (altruism) คอยช่วยเลี้ยงดู กล่อมเกลี้ยง ประคบประหงมให้ลูก-หลานทายาทลิงรุ่นต่อไปได้เจริญเติบโตขึ้นมาสืบต่อเผ่าพันธุ์ต่อไป

ชัดเจนว่ามาร์โมเสตตัวช่วย (โสด) จะมีอารมณ์ที่แปรปรวนและตอบสนองด้วยอารมณ์มากกว่าตัวที่มีลูกแล้ว

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อได้ยินเสียงเรียกจากว่าที่เนื้อคู่

ลิงหนุ่มโสดจะสนใจใคร่รู้เป็นพิเศษกับเสียงเรียกหาคู่ของว่าลิงสาวที่ดูจะเป็นมิตร ไม่มีพิษภัยและไม่ใช่คู่แข่ง

ส่วนลิงสาวโสดจะเครียดทันทีที่ได้ยินเสียงลิงพ่อ-ลูกเล่นกัน อาจจะเป็นเพราะว่าถ้ามีลูกแล้ว ก็คือนกไปแล้วอีกหนึ่ง และแน่นอน ถ้าคู่ยังอยู่ ก็อาจจะมีลิงสาวอีกหนึ่งที่อาจจะกลายเป็นคู่แข่ง เป็นหอกข้างแคร่ต่อไปได้ในอนาคต

“เพราะมาร์โมเสตจะต้องช่วยกันเลี้ยงลูก มาร์โมเสตจึงมักจะสนใจตัวที่ดูจะมีคุณสมบัติเป็นพี่เลี้ยงของลูกได้ดี พวกมันจะประเมินว่าตัวไหนที่ถ้าเข้ามาในฝูงแล้วจะเสียสละ จะช่วยเข้ามาเลี้ยงเด็ก เพิ่มโอกาสอยู่รอดของรุ่นต่อไป และทำให้ฝูงสามารถสืบต่อทายาทได้สำเร็จ”

จูดิธ เบอร์การ์ต (Judith Burkart) นักมานุษยวิทยาวิวัฒนาการ มหาวิทยาลัยซูริก หัวหน้าทีมวิจัยตั้งสมมุติฐาน

 

การค้นพบครั้งนี้บ่งชี้ชัดว่ามาร์โมเสตไม่ใช่แค่ทำตัวเป็นนักสังเกตการณ์ สนใจใคร่รู้ว่าชาวบ้านเขาคุยอะไรกัน แต่ยังตัดสินตัวอื่นตามน้ำเสียง โทนเสียง และบทสนทนาที่พวกมันได้ยิน เฉกเช่นเดียวกับมนุษย์

เป็นอีกหนึ่งหลักฐานที่แสดงถึงระดับสติปัญญาที่น่าประทับใจ เพราะถ้าพวกมันสามารถเข้าใจบริบท ฟังบทสนทนาของลิงอื่นๆ รู้เรื่องแล้ว แถมยังติดสินลิงตัวอื่นๆ ในสังคมได้ไม่ต่างจากมนุษย์

ก็เป็นไปได้ว่าในอนาคต เราอาจได้เห็นการใช้ลิงเพื่อการศึกษาให้เข้าใจก้นบึ้งของแนวคิดทางวิวัฒนาการของพฤติกรรมที่สลับซับซ้อนจนเกิดคาดเดาของมนุษย์

และนั่นอาจจะทำให้เราสามารถเข้าใจเบื้องลึกของจิตใจของเรามากยิ่งขึ้นกว่าที่เป็นอยู่นี้ก็เป็นได้

QR code ลิงก์ไปยังคลิปเสียงลิงมาร์โมเสต