เกษียร เตชะพีระ : สถานการณ์ของเสรีประชาธิปไตยในโลกปัจจุบัน

เกษียร เตชะพีระ

เกษียร เตชะพีระ

 

สถานการณ์ของเสรีประชาธิปไตยในโลกปัจจุบัน

 

เอาเข้าจริงแนวคิดทฤษฎีเสรีนิยมกับประชาธิปไตย (Liberalism & Democracy) สามารถย้อนรอยประวัติในภูมิปัญญาการเมืองตะวันตกถอยหลังไปได้ถึงยุคกรีกและโรมันคลาสสิค

อย่างไรก็ตาม ความสำคัญเชิงปฏิบัติของมันต่อการเมืองโลกปรากฏชัดในระยะรอบศตวรรษที่ผ่านมา เมื่อระบอบเสรีประชาธิปไตย (Liberal Democracy) กลายเป็น 1 ใน 3 คู่แข่งหลักในเวทีการเมืองโลกเคียงข้างกับระบอบคอมมิวนิสต์ (Communism) และระบอบฟาสซิสต์ (Fascism)

ภายหลังทั้งสองฝ่ายร่วมมือเป็นพันธมิตรกันรบชนะและโค่นระบอบเผด็จการฟาสซิสต์ลงไปได้อย่างเด็ดขาดในสงครามโลกครั้งที่สอง (1939-1945) และเมื่อผ่านการประลองแข่งขันช่วงชิงกันตลอดช่วงสงครามเย็นต่อมา (1945-1991) ผลลัพธ์ก็ลงเอยโดยระบอบเสรีประชาธิปไตยเป็นฝ่ายมีชัยเหนือระบอบคอมมิวนิสต์ซึ่งโค่นล้มลงทั่วโลกเกือบหมด ที่เหลือไม่กี่ประเทศก็ต้องปรับเปลี่ยนแนวนโยบายไปอย่างสำคัญในขั้นพื้นฐาน

จนฟรานซิส ฟูกูยามา นักทฤษฎีการเมืองชาวอเมริกันเชื้อสายญี่ปุ่นเสนอไว้อย่างลือลั่นว่ามนุษยชาติได้มาถึง “อวสานแห่งประวัติศาสตร์” (the End of History) เพราะได้พบคำตอบสุดท้ายแล้วว่าต้องเป็นระบอบเสรีประชาธิปไตยในทางการเมือง และต้องเป็นระบบทุนนิยมตลาดเสรีเท่านั้นในทางเศรษฐกิจ

ทศวรรษ 1990 จึงได้ประสบพบเห็นกระบวนการเปลี่ยนแปลงการเมืองเป็นแบบประชาธิปไตย และเปลี่ยนแปลงเศรษฐกิจเป็นแบบเสรีนิยมใหม่ (Democratization & Neo-liberalization) ขนานใหญ่ในบรรดาประเทศอดีตเผด็จการอำนาจนิยมฝ่ายขวา และเผด็จการสังคมนิยม/คอมมิวนิสต์

ทว่าไม่ทันไร กระบวนการทั้งสองก็ค่อยมีอันชะลอตัวและสะดุดลง โดยเฉพาะอย่างยิ่งนับแต่วิกฤตซับไพรม์ในสหรัฐอเมริกาและกลุ่มประเทศทุนนิยมก้าวหน้าตะวันตกเมื่อปี 2008 ที่ลุกลามขยายตัวเป็นเศรษฐกิจถดถอยใหญ่ทั่วโลก (the Great Recession) ในปีถัดมา

นำไปสู่การวิพากษ์วิจารณ์ทบทวนตั้งคำถามปรับตัวปรับแนวนโยบายทางเศรษฐกิจที่ยังดำเนินสืบมา

(ดูงานของผมเรื่อง เศรษฐกิจโลกถดถอยครั้งใหญ่ : ความรุ่งเรืองและความล่มจมของเสรีนิยมใหม่/โลกาภิวัตน์, 2555 ประกอบ)

กล่าวเฉพาะแง่กระบวนการเปลี่ยนเป็นประชาธิปไตย อาการผิดเพี้ยนระส่ำระสายปรากฏให้เห็นตั้งแต่ปลายทศวรรษที่ 1990 เมื่อนักสังเกตการณ์เริ่มร้องทักว่าประชาธิปไตยในบรรดาประเทศอดีตเผด็จการทั้งหลายกำลังพัฒนาไปในทิศทางไม่เสรี (illiberal democracy – ศัพท์ของ Fareed Zakaria นักวิเคราะห์การเมืองชาวอเมริกันเชื้อสายอินเดีย) เป็นแค่ระบอบเลือกตั้งธิปไตย (electocracy) มากขึ้นเรื่อยๆ

พร้อมกันนั้นระบอบประชาธิปไตยในบรรดาประเทศทุนนิยมตะวันตกที่ก้าวหน้าก็แสดงแนวโน้มกลับตาลปัตรสวนทางกัน กล่าวคือ ลดลัดตัดทอนมิติแง่มุมสถาบันเชิงอำนาจเลือกตั้งโดยเสียงส่วนใหญ่ของประชาชนลงเรื่อยๆ แต่กลับเพิ่มพูนอำนาจของสถาบันที่ไม่ได้มาจากเสียงข้างมาก (non-majoritarian institutions) ขึ้นตามลำดับ

จนนับวันจะกลายเป็นระบอบประชาธิปไตยไส้กลวงหรือระบอบประชาธิปไตยที่ไร้ประชาชน (hollowed-out democracy or democracy without a demos – ศัพท์ของ Peter Mair นักรัฐศาสตร์ด้านการเมืองเปรียบเทียบชาวไอริชผู้ล่วงลับ)

พูดอีกอย่างก็คือเกิดปรากฏการณ์ที่คู่ประกบ [เสรี+ประชาธิปไตย] หรือ [liberalism+democracy] แยกห่างต่างหากออกจากกัน แตกกระจัดพลัดกระจาย แยกย้ายไปคนละทิศละทาง

[<-เสรีนิยมไปทาง ส่วนประชาธิปไตยไปอีกทาง–>]

จนเหลือแต่ประชาธิปไตยไม่เสรีที่เน้นแต่ด้านการเลือกตั้งประชาธิปไตย แต่ละเลยด้านการตรวจสอบ ถ่วงดุลจำกัดอำนาจรัฐแบบเสรีนิยม (illiberal democracy: elections = democracy เช่น ระบอบทักษิณ)

หรือมิฉะนั้นก็ประชาธิปไตยไส้กลวงหรือระบอบเสรีนิยมไม่ประชาธิปไตยที่เน้นแต่ด้านการตรวจสอบถ่วงดุลจำกัดอำนาจรัฐแบบเสรีนิยม แต่ละเลยด้านการเลือกตั้งประชาธิปไตย (hollowed-out democracy or undemocratic liberalism : NGOs + judges = democracy เช่น ข้อเสนอระบอบการเมืองของสนธิ ลิ้มทองกุล แห่ง พธม. และของสุเทพ เทือกสุบรรณ แห่ง กปปส.) อันใดอันหนึ่งมากขึ้นทั่วโลก

(ดูบทวิเคราะห์สรุปสั้นกระชับเรื่องนี้ของนักรัฐศาสตร์แห่งมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดได้ที่ Yascha Mounk, “Illiberal Democracy or Undemocratic Liberalism?”, Project Syndicate, 2016)

ยิ่งกว่านั้น นับแต่ราวปี 2000 เป็นต้นมา ก็เกิดกระแสคลื่นประชาธิปไตยพลิกกลับ (Reversals of Democracy) ที่ดัชนีชี้วัดค่าความเป็นประชาธิปไตย (Political Rights หรือสิทธิทางการเมือง) และค่าความเป็นเสรีนิยม (Civil Liberties หรือเสรีภาพพลเมือง) ของนานาประเทศทั่วโลกที่สำรวจตรวจวัดโดยองค์การ NGO ชื่อ Freedom House ของอเมริกาถดถอยต่อเนื่องกัน

จนกระทั่งพบว่าประเทศที่เสรีภาพถดถอย (ตัวเลขในวงกลมสีแดง) มีจำนวนมากกว่าประเทศที่เสรีภาพเพิ่มขึ้น (ตัวเลขในวงกลมสีเขียวด้านบน) ต่อกัน 14 ปี (2006-2019) อย่างไม่เคยปรากฏมาก่อน ดังแผนภูมิของ Freedom in the World 2020 ซึ่งจัดทำโดยองค์การ Freedom House (ดูแผนภูมิ)

สหรัฐอเมริกาถดถอยจากบทบาทแต่เดิมที่เป็นทั้งแบบอย่างและผู้ออกหน้าป่าวร้องสนับสนุนประชาธิปไตย ขณะที่สิทธิทางการเมืองและเสรีภาพพลเมืองของอเมริกาเองก็ตกต่ำลงในอัตราเร่งสูงขึ้น

ทำให้เกิดสภาพที่การต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยของประเทศต่างๆ ปราศไร้ประเทศอภิมหาอำนาจผู้นำอันแข็งขันระดับโลกอย่างที่เคยมีหลังสงครามโลกครั้งที่สอง ปรากฏระบอบอำนาจนิยมใหม่แห่งคริสต์ศตวรรษที่ 21 ขึ้นในหลายประเทศ ที่สำคัญ เช่น รัสเซีย, จีน, อิหร่าน, เวเนซุเอลา, ปากีสถาน และทยอยเกิดรัฐประหารหรือความพยายามก่อรัฐประหารแต่ไม่สำเร็จในประเทศต่างๆ ทุกทวีปสืบต่อกันรวม 84 ครั้งนับแต่ปี 2000 ถึงกุมภาพันธ์ 2021 ในปัจจุบัน (ปรับปรุงเพิ่มเติมจากการรวบรวมสถิติเรื่องนี้ของวิกิพีเดียที่ https://en.wikipedia.org/wiki/List_of_coups_and_coup_attempts & https://en.wikipedia.org/wiki/List_of_coups_d%27%C3%A9tat_and_coup_attempts_since_2010)

น่าสนใจว่าวิกิพีเดียจัดให้กรณีก่อจลาจลที่สหรัฐอเมริกาในวันที่ 6 มกราคมศกนี้เป็นความพยายามก่อรัฐประหารครั้งสุดท้ายด้วย เมื่อม็อบขวาจัดผู้สนับสนุนประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ บุกทะลวงเข้าตึกรัฐสภาคองเกรสอเมริกันในกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. เพื่อยุติการประกาศรับรองผลการเลือกตั้งประธานาธิบดีอย่างเป็นทางการโดยสภาคองเกรส ซึ่งว่าที่ประธานาธิบดีคนที่ 46 นายโจ ไบเดน แห่งพรรคเดโมแครตชนะประธานาธิบดีทรัมป์แห่งพรรครีพับลิกัน

แต่ในที่สุดเจ้าหน้าที่ตำรวจและทหารรักษาดินแดน (national guards) ก็เข้ายึดพื้นที่คืนและขับไล่ม็อบสลายตัวไป มีผู้เสียชีวิตในเหตุการณ์นี้ 5 คน หนึ่งในนั้นเป็นตำรวจ (ดูบทรายงานและวิเคราะห์เรื่องนี้ของอุกฤษฏ์ ปัทมานันท์, “จลาจลที่เมืองหลวงสหรัฐ” และนิธิ เอียวศรีวงศ์, “นกหวีดอเมริกัน” ในมติชนสุดสัปดาห์, ฉบับ 22-28 ม.ค. 2564 & 29 ม.ค.-4 ก.พ. 2564)

 

ในจำนวนการรัฐประหารและความพยายามก่อรัฐประหาร 84 ครั้งนี้ มีที่ประสบความสำเร็จ 29 ครั้ง ได้แก่ สาธารณรัฐแอฟริกากลาง (2003), เอกวาดอร์ (2000, 2005), อียิปต์ (2013), ฟิจิ (2006), กินี (2008), กินีบิสเซา (2003, 2012), ไฮติ (2004), ฮอนดูรัส (2009), มาดากัสการ์ (2009), มาลี (2012, 2020), มอริเตเนีย (2005, 2008), เนปาล (2005), ไนเจอร์ (2010), เซาตูเมและปรินซิปี (2003), หมู่เกาะโซโลมอน (2000), ประเทศไทย (2006, 2014), โตโก (2005), เยเมน (2014-2015, 2018), เวเนซุเอลา (2017), ซิมบับเว (2017), ซูดาน (2019), โบลิเวีย (2019) และเมียนมาล่าสุด (2021)

และเมื่อปี ค.ศ.2016 ก็เกิดกระแสพลิกกลับทางการเมืองอย่างคาดไม่ถึงในบางประเทศทุนนิยมพัฒนาที่เป็นประชาธิปไตยเต็มใบ ที่สำคัญได้แก่ การลงประชามติ Brexit ในสหราชอาณาจักรที่เสียงข้างมาก 52% โหวตให้ถอนตัวออกจากสหภาพยุโรปเมื่อวันที่ 23 มิถุนายน และการที่โดนัลด์ ทรัมป์ ตัวแทนผู้สมัครจากพรรครีพับลิกันชนะเลือกตั้งได้เป็นประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาคนที่ 45 เมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน

ซึ่งสะท้อนการที่ผู้คนจำนวนมากขึ้นในยุโรปและอเมริกาพากันปลีกตัวเอาใจออกห่างโลกาภิวัตน์ทางเศรษฐกิจและเสรีประชาธิปไตยทางการเมือง (economic globalization & liberal democracy) และหันไปหา –> ชาตินิยมทางเศรษฐกิจและประชานิยมทางการเมือง (economic nationalism & political populism) แทน

แน่นอนว่ากระแสคลื่นประชาธิปไตยพลิกกลับและประชานิยม-ชาตินิยมระลอกล่าสุดนี้ย่อมมีสาเหตุจากปัญหาความแตกต่างขัดแย้งนานัปการ ทั้งด้านนโยบายเศรษฐกิจ, โครงสร้างการเมืองการปกครอง, ชนชั้น, ชาติพันธุ์, วัฒนธรรม/อุดมการณ์, ประวัติศาสตร์ ฯลฯ

ทว่ามูลเหตุพื้นฐานสำคัญประการหนึ่งก็คือปัญหาแตกต่าง ลักลั่นขัดแย้งกันในแนวคิดทฤษฎี [เสรี+ประชาธิปไตย] ที่แพร่หลายมาจากตะวันตกด้วยนั่นเอง

ใต้ภาพ 1 – แผนภูมิลำดับตรรกะความคิดประกอบ